ถอดรหัสไฟใต้เดือดข้ามปี "การเมือง - อิทธิพลมืด"ผสมโรง
กลายเป็นข่าวร้ายสวนทางข่าวดีช่วงปีใหม่ สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเหตุรุนแรงรายวัน ทั้งไล่ยิง ไล่ฆ่า ไปจนกระทั่งลอบวางระเบิด เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินไปไม่น้อย
ถือเป็นข่าวร้ายในห้วงใกล้ครบ "7 ปีไฟใต้" วันที่ 4 ม.ค.นี้ ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจำนวน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547
ที่สำคัญยังเป็นข่าวร้ายที่สวนทางการข่าวของกองทัพและรัฐบาลที่ยืนยันว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น มีเหตุรุนแรงตลอดปี 2553 ลดต่ำกว่า 1,000 ครั้งเป็นปีแรกในรอบ 7 ปี ทว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่คือเครื่องยืนยันว่า สถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่ดีขึ้น
โดยเฉพาะหากพิจารณาในแง่ความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ในแง่ตัวเลขเชิงสถิติที่หน่วยงานความมั่นคงนับเองและสรุปเอง!
คลื่นความรุนแรงเริ่มถาโถมเป็นระลอก จากปฏิบัติการสังหารทหารชุดคุ้มครองพระขณะออกบิณฑบาตในเขตเทศบาลนครยะลา ต่อหน้ากล้องโทรทัศน์วงจรปิด เมื่อเช้าตรู่วันเสาร์ที่ 18 ธ.ค.2553 ทำให้ทหารเสียชีวิต 2 นาย ตามด้วย "คาร์บอมบ์" หน้าสำนักงานหมวดการทาง อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ริมทางหลวงแผ่นดินระหว่างจังหวัด (ปัตตานี-นราธิวาส) ห่างจากโรงพัก สภ.บาเจาะ เพียง 150 เมตร เมื่อเช้าวันพุธที่ 29 ธ.ค. ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย
และล่าสุดคือเหตุลอบวางระเบิดที่ ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อเช้าวันที่ 1 ม.ค.2554 ซึ่งเป็นวันแรกของศักราชใหม่ แรงระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี ของ ตชด.447 เสียชีวิตพร้อมกับตำรวจ สภ.สุไหงปาดี และยังมีอาสารักษาดินแดน (อส.) และชาวบ้านได้รับบาดเจ็บอีก 9 คน
เป็นการก่อเหตุท่ามกลางข่าวสารการแจ้งเตือนของฝ่ายความมั่นคงว่าจะมีเหตุรุนแรงระดับ "คาร์บอมบ์" รับปีใหม่ที่ชายแดนใต้ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ออกมายอมรับว่าได้รับรายงานมาจริง แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้
น่าคิดว่าเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นทำให้มองเห็น "จุดอ่อน-จุดบกพร่อง" อะไรบ้างกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบของหน่วยงานความมั่นคง และหากมองไปข้างหน้ากับการก้าวขึ้นสู่ปีที่ 8 ของปัญหาไฟใต้ ทิศทางของสถานการณ์จะเป็นเช่นไร "ทีมข่าวอิศรา" รวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่ายมาสังเคราะห์ได้ดังนี้
1.ยังพบปัญหาในแง่ยุทธการที่ใช้ในการเฝ้าระวังป้องกันเหตุร้าย เนื่องจากการก่อเหตุรุนแรงรอบนี้มีการแจ้งเตือนมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 15 ธ.ค. นายกฯเองก็ทราบ และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถึงขั้นส่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร.ที่ชำนาญพื้นที่ลงไปบัญชาการด้วยตนเอง มีการตั้งด่านตรวจด่านสกัดบนถนนแทบทุกสาย แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการก่อเหตุของคนร้ายได้ ถือเป็นจุดที่ต้องทบทวนแผนยุทธการเป็นการด่วน
2.มีปัญหาด้านการประสาน "การข่าว" ระหว่างหน่วยงานความมั่นคงด้วยกันเอง เพราะข้อมูลจาก "วงใน" ชัดเจนว่า ฝ่ายทหารที่คุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ประเมินสถานการณ์ช่วงปีใหม่ว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงขนาดใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมาได้ปฏิบัติการเชิงรุกและเข้าถึงตัวแกนนำผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมาก ประกอบกับตลอดปี 2553 คลื่นความรุนแรงได้ลดระดับลงอย่างน่าพอใจ
แต่ข้อมูลจากฝ่ายตำรวจกลับประเมินว่า สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ช่วงปีใหม่จะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน และได้แจ้งเตือนความเคลื่อนไหวทั้งกลุ่มคนและยานพาหนะที่ใช้อย่างละเอียด แม้จะไม่ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเป็นการประเมินที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริง
และผลจากการประเมินสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ได้ปรากฏผ่านเหตุรุนแรงหลายต่อหลายครั้งอย่างที่เห็น...
3.มีความพยายามท้าทายและดิสเครดิตรัฐบาลที่เริ่มทยอยยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จในภารกิจ "ดับไฟใต้" จึงต้องเร่งก่อเหตุรุนแรงเพื่อตรึงสถานการณ์เอาไว้
ที่สำคัญการใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" มีความอ่อนไหวด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือว่า "เข้าทาง" กลุ่มขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐ กลุ่มขบวนการจึงไม่ต้องการให้ยกเลิก
4.ทิศทางไฟใต้ปี 2554 หลายฝ่ายประเมินว่าน่าจะเป็นปีแห่งความรุนแรง เพราะจะมีการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติเกือบตลอดทั้งปี
ประเด็นการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ ระยะหลังได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายแล้วว่าเป็นความจริง เพราะเหตุรุนแรงรายวันจำนวนหนึ่งเกิดจากการขัดผลประโยชน์หรือล้างแค้นกันเองของ "กลุ่มการเมืองท้องถิ่น" ส่วนการเมืองระดับชาติก็มีฐานคะแนนจากการเมืองท้องถิ่น หรือใช้การเมืองท้องถิ่นเป็น "หัวคะแนน" จึงมิอาจปฏิเสธความเกี่ยวพันได้
5.เป็นที่ทราบกันดีว่า "กลุ่มติดอาวุธ" ที่อาจเรียกเหมารวมว่า "กลุ่มก่อความไม่สงบ" นั้น ปัจจุบันไม่ได้ปฏิบัติการเพื่อให้เกิดผลด้านความมั่นคงหรือแบ่งแยกดินแดนแต่เพียงด้านเดียว เพราะมีหลายกรณีที่ปรากฏปัญหาขัดแย้งเรื่องผลการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ปรากฏว่าฝ่ายแพ้ได้เรียกใช้บริการกองกำลังของกลุ่มก่อความไม่สงบให้ช่วยจัดการศัตรูทางการเมืองของตน
หลายกรณีกลุ่มขบวนการก็ปฏิบัติการให้ ด้านหนึ่งก็เพราะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็สามารถใช้ขบวนการข่าวลือแพร่ข่าวว่า พวกที่ถูกฆ่าคือ "มูนาฟิก" (คนกลับกลอก) ไปร่วมมือกับรัฐ (ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อไปเป็นกลไกของรัฐ) จึงต้องตาย
กรณีเช่นนี้มีการสรุปกันอย่างเป็นทางการมาแล้วว่าเป็นความจริง อาทิ เหตุลอบยิงผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
6.ปัญหายาเสพติด ผู้มีอิทธิพลที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย ทั้งสินค้าเถื่อน น้ำมันเถื่อน และสถานบริการ เป็นปัญหาที่ถูกละเลยมานาน เพราะไปมุ่งแก้เฉพาะปัญหาความไม่สงบที่ถูกตีโจทย์เฉพาะการ "แบ่งแยกดินแดน" ทำให้กลุ่มที่พัวพันธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้สามารถสร้างกองกำลังและอาณาจักรของตนเอง หลายๆ ครั้งก็ก่อเหตุรุนแรงผสมโรงขึ้นเพื่อให้เกิดสภาวะ "อำนาจรัฐอ่อนแอถาวร" ขณะที่บางครั้งก็เป็นการก่อเหตุเพื่อ "เช็คบิล" กันเอง เนื่องจากขัดผลประโยชน์ระหว่างกลุ่ม
ปัญหานี้กำลังเข้าขั้นวิกฤต เพราะแม้แต่นายกรัฐมนตรีเองก็พูดเอาไว้ในงานวันสถาปนาสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า "กรณีของ 3 จังหวัดภาคใต้ บางครั้งไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์แล้ว แต่เป็นเรื่องยาเสพติด เป็นเรื่องค้าอาวุธ เป็นเรื่องอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบทั้งสิ้น"
ดูเหมือนไฟใต้จะยังไม่ดับมอดลงง่ายๆ แม้จะก้าวขึ้นสู่ปีที่ 8 แล้วก็ตาม!
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตั้งด่านตรวจด่านสกัดอย่างเข้มข้นช่วงปีใหม่ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้ทั้งหมด (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังนิ)