เอ็กซเรย์ "อ.แม่ลาน ปัตตานี" นำร่องพื้นที่ยกเลิก "พ.ร.ก.ใต้"
พลันที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานด้านความมั่นคงขานชื่อ "อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี" เป็นพื้นที่นำร่องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้สปอตไลท์ทุกดวงฉายจับไปที่อำเภอเล็กๆ แห่งนี้
หลายคนสงสัยว่า "แม่ลานมีดีอะไร?" ทำไมจึงได้รับเลือกให้ยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เป็นอำเภอแรก ทั้งๆ ที่ประกาศใช้มานานเกือบ 5 ปีครึ่ง
ก่อนอื่นควรไปทำความรู้จัก อ.แม่ลาน กันก่อน...
เอ็กซเรย์ "แม่ลาน"
เดิม อ.แม่ลาน เป็นตำบลหนึ่งของ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ได้รับการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2532 ประกอบด้วย 3 ตำบล คือ ต.แม่ลาน ต.ม่วงเตี้ย และ ต.ป่าไร่ มีชุมชนกระจายอยู่ 22 หมู่บ้าน กระทั่งในปี 2538 จึงได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ
ที่ตั้งของ อ.แม่ลาน อยู่ทางทิศใต้ของ จ.ปัตตานี ติดกับ อ.เมืองยะลา ทิศเหนือจรด อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทิศตะวันออกจรด อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และทิศตะวันตกติดต่อกับ อ.โคกโพธิ์ มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามประมาณ 70% ศาสนาพุทธ 30% ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน ลองกอง และปลูกยางพารา นอกจากนั้นยังทำนาและเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม
อ.แม่ลาน เคยถูกเรียกขานว่าเป็น "อำเภอฝุ่นตลบ" เพราะถนนหนทางส่วนใหญ่เป็นถนนลูกรัง ซ้ำยังเป็นอำเภอที่เงียบสงบ ซ่อนตัวอยู่ในแวดล้อมของอำเภอใหญ่ๆ จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของใครต่อใครมากนัก
กระทั่งเมื่อรัฐบาลเปิดใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 เมื่อต้นปี 2553 ซึ่งเป็นถนนสายใหม่ 4 ช่องจราจรเชื่อมระหว่าง จ.ปัตตานี กับ จ.ยะลา ถนนสายดังกล่าวเสมือนเป็นการเปิดประตูสู่ อ.แม่ลาน ด้วย เพราะเป็นอำเภอหลักที่ถนนสายนี้ตัดผ่าน และทำให้คนต่างพื้นที่ได้แลเห็นว่า อ.แม่ลาน มีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยป่ายางและสวนผลไม้นานาพันธุ์
สงบเพราะเป็นแหล่งกบดาน?
แม้ นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ให้ข้อมูลกับสังคมตรงกันว่า สาเหตุที่เลือก อ.แม่ลาน เป็นอำเภอนำร่องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นหนึ่งในอำเภอที่มีเหตุรุนแรงน้อยที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือตลอดทั้งปีมีไม่กี่เหตุการณ์ ซ้ำยังเป็นอาชญากรรมธรรมดาที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเลยก็ตาม
ทว่าในมุมมองของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในอำเภอเล็กๆ แห่งนี้มานาน กลับเห็นตรงกันข้าม
"ผมคิดว่าด้วยสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของอำเภอเป็นสวนผลไม้และป่ายาง ทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบบางกลุ่มใช้เป็นสถานที่กบดาน ทั้งวางแผนและหลบหนีการติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่ ตรงนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ อ.แม่ลาน ไม่ค่อยมีเหตุการณ์ความไม่สงบ เพราะโดยหลักแล้วกลุ่มขบวนการจะไม่ทุบหม้อข้าวตัวเอง" แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใน อ.แม่ลาน ระบุ
เขาย้ำว่า จากข้อมูลการข่าวและการสืบสวน พบว่า อ.แม่ลาน เป็นพื้นที่ซ่อนตัวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ก่อนจะออกไปเคลื่อนไหวก่อเหตุในพื้นที่โดยรอบ คือ อ.หนองจิก โคกโพธิ์ ยะรัง รวมทั้ง อ.เมืองยะลา เมื่อก่อเหตุเสร็จเรียบร้อยก็หนีเข้ามาหลบในแม่ลาน
นอกจากนั้น ฝ่ายข่าวยังแจ้งเตือนมาด้วยว่า กลุ่มก่อความไม่สงบเตรียมแผนก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่นี้ ก่อนที่รัฐบาลจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะไม่ต้องการให้ อ.แม่ลาน เกิดความสงบ มิฉะนั้นจะกลายเป็นสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ
"ฝ่ายขบวนการไม่อยากให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะถ้ายังมีการใช้กฎหมายพิเศษ และสถานการณ์ยังตรึงอยู่แบบนี้ ฝ่ายขบวนการถือว่าพวกเขายังถือไพ่เหนือกว่ารัฐ" แหล่งข่าว ระบุ
ไม่รู้"โชคร้าย"หรือ"โชคดี"
ด้านความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งมีการจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางตามร้านน้ำชาทุกหัวระแหงของอำเภอ นางวไล สังข์ชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่ลาน กล่าวว่า รู้สึกเป็นข่าวร้ายเมื่อนายกฯเตรียมยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยนำร่องที่ อ.แม่ลาน โดยเฉพาะหากยกเลิกก่อนเพียงแค่อำเภอเดียว
"ต้องเข้าใจสภาพพื้นที่ว่าแม่ลานเป็นเขตรอยต่อกับ อ.เมืองยะลา อ.โคกโพธิ์ อ.หนองจิก และ อ.ยะรัง ซึ่งแต่ละอำเภอล้วนมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบในระดับรุนแรง ฉะนั้นหากพื้นที่เหล่านั้นยังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่ มีแต่แม่ลานอำเภอเดียวที่ใช้กฎหมายปกติ ย่อมจะไม่ส่งผลดีกับคนในแม่ลานอย่างแน่นอน หากเลิกก็ต้องเลิกหมดทุกอำเภอ"
นางวไล กล่าวด้วยว่า ตอนนี้คนในพื้นที่รู้สึกชินกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว เนื่องจากประกาศมาตั้งแต่ปี 2548 ทุกคนก็ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถทำงาน ไปไหนมาไหนได้ถ้าไม่ได้ทำผิด
"การทำงานของข้าราชการกับชาวบ้านก็เป็นปกติ เวลาจะไปไหนก็มีเจ้าหน้าที่คอยเป็นหูเป็นตาให้ ฉะนั้นถ้ายกเลิกกฎหมายพิเศษ เราคงต้องอยู่กันอย่างหวาดผวา ฉะนั้นจึงไม่รู้สึกดีใจเลยที่รัฐบาลจะเลือกแม่ลานเป็นอำเภอนำร่องยกเลิก พ.ร.ก."
“ตอนที่ได้ยินข่าวว่านายกฯเตรียมประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพูดถึง อ.แม่ลาน ก็ยังงงว่าทำไมต้องเป็นแม่ลานด้วย อยากหาคำตอบแต่ก็ไม่มีใครตอบได้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้นายกฯตอบว่าทำไมต้องเป็นเมืองเล็กๆ แถมยังอยู่ในชนบทอีกต่างหาก ทำไมไม่เป็น อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งน่าจะมีความพร้อมมากกว่า" นายก อบต.แม่ลาน ตั้งคำถาม
อย่างไรก็ตาม นางวไล ยอมรับว่า อ.แม่ลาน อยู่กันอย่างสงบสุขมาตลอด ประชาชนทั้งไทยพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันแบบพี่แบบน้อง มีอะไรก็แบ่งปันกัน ไม่หวาดระแวงกัน และไม่ค่อยเกิดเหตุรุนแรงจากกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ยังไม่มั่นใจสถานการณ์ จึงอยากให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอาไว้ น่าจะทำให้อุ่นใจกว่า
ตำรวจชี้แม่ลานเหมาะสุด
แม่ทัพ 4 เตรียมแผนรองรับ
พ.ต.อ.กำธร จันที ผู้กำกับการ สภ.แม่ลาน กล่าวว่า เห็นด้วยกับการนำร่องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ อ.แม่ลาน เนื่องจากเป็นอำเภอที่ไม่ค่อยมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มก่อความไม่สงบ และยังพบว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้งนั้น ล้วนเป็นฝีมือของคนนอกพื้นที่ ไม่ใช่คนใน
"ผมคิดว่าในพื้นที่อย่างแม่ลาน ถึงจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ประกาศก็มีค่าเท่ากัน เพราะ พ.ร.ก.ให้อำนาจแค่เชิญตัวผู้ต้องสงสัยมาซักถามเป็นเวลา 30 วันเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องอื่นก็ไม่มีอะไร จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าจะยกเลิก พ.ร.ก.ใน อ.แม่ลาน ที่สำคัญประชาชนในอำเภอนี้ก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สามัคคี ไม่มีปัญหาขัดแย้งหรือหวาดระแวงระหว่างคนต่างศาสนา”
พ.ต.อ.กำธร กล่าวด้วยว่า แม้รัฐบาลจะส่งสัญญาณชัดเจนให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ อ.แม่ลาน แต่การทำงานก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ ไม่หนักไม่เบา ใช้การสร้างความเข้าใจอันดีกับพี่น้องประชาชน และเน้นการป้องกันเป็นหลัก ทำให้เหตุร้ายลดลงจนเกือบไม่มีเลย จากข้อมูลสถิติพบว่า อ.แม่ลาน มีเหตุรุนแรงต่ำกว่า 5 ครั้งต่อปี จึงสมควรกลับมาใช้กฎหมายปกติได้แล้ว
ขณะที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ไม่รู้สึกหนักใจกับนโยบายการทะยอยยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล เพราะได้เตรียมแผนยุทธการและกฎหมายรองรับไว้เรียบร้อยหมดแล้ว โดยจะเป็นการดำเนินการตามกรอบของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
--------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :
1 ภาพประกอบโดย อับดุลเลาะ หวังนิ (ภาพผ่านการตกแต่งโดยฝ่ายศิลป์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)
2 สกู๊ปชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 1 ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 ธ.ค.2553