"17 ผู้ต้องหา"จ่อเข้ามาตรา 21 หลังศาลสั่ง "ระงับฟ้อง-ปล่อยตัว"2ผู้เข้ารับอบรมชุดแรก
ศาลจังหวัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา ได้มีคำสั่งเมื่อวันจันทร์ที่ 29 ต.ค.2555 ระงับการฟ้องคดีและสั่งปล่อยตัวผู้เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) จำนวน 2 คนซึ่งยอมเข้ารับการอบรมแทนการฟ้องคดีตามหลักสูตรสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง นับเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 2 คนแรกที่ผ่านกระบวนการตามมาตรา 21 และศาลสั่งให้ระงับการฟ้องคดีอาญาทั้งหมด
ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 2 รายดังกล่าว คือ นายรอยาลี บือราเฮง อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56/1 หมู่ 1 ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เคยมีหมายจับศาลจังหวัดนาทวี ที่ 244/2554 ลงวันที่ 28 ก.ย.2554 ในคดีร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงานโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กรณีร่วมกับพวกโจมตีฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองหมู่บ้านเกาะแลหนัง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อค่ำวันที่ 24 ส.ค.2554 ทำให้อาสาสมัครทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย
ส่วนอีกรายคือ นายยาซะ เจะหมะ อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 52/6 หมู่ 6 ต.คูหา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เคยมีหมายจับศาลจังหวัดสงขลา ที่ 611/2551 ลงวันที่ 9 ก.ค.2551 ในคดีร่วมกันก่อการร้าย พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กรณีใช้อาวุธปืนยิง นายสุชาติ อุดม อายุ 45 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดในท้องที่หมู่ 1 ต.สะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2547
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงทั้ง 2 รายได้ตัดสินใจเข้ามอบตัวและเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 เมื่อต้นปี 2555 และเริ่มฝึกอบรมตามคำสั่งศาลเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.2555 สิ้นสุดการฝึกอบรมเมื่อวันที่ 26 ต.ค.2555 กระทั่งศาลจังหวัดนาทวีได้พิจารณาข้อมูลประกอบการฝึกอบรมทั้งหมด และอ่านคำสั่งปล่อยตัวทั้งสองคนเมื่อวันจันทร์ที่ 29 ต.ค.ดังกล่าว
ภายหลังศาลมีคำสั่งปล่อยตัว พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ได้เดินทางไปพบและพูดคุยกับผู้สำเร็จการอบรมทั้งสองคนด้วยตนเอง และได้มอบวุฒิบัตรให้กับผู้สำเร็จการฝึกอบรมแทนการฟ้อง อีกทั้ง นางอารี เตชะวันโต ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนราธิวาส ได้มอบวุฒิบัตรการฝึกอบรมวิชาชีพช่างถ่ายภาพ ช่างตัดผม และช่างซ่อมคอมพิวเตอร์แก่ผู้สำเร็จการอบรมด้วย โดยมีครอบครัวและญาติของผู้สำเร็จการอบรมเข้าให้กำลังใจและรอต้อนรับกลับบ้านอย่างคับคั่ง
"มาตรา 21" กับข้อปฏิบัติ 6 ขั้นตอน
สำหรับบทบัญญัติของมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ระบุเอาไว้ว่า "หากปรากฏว่าผู้ใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าผู้นั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการนี้ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหานั้น พร้อมทั้งความเห็นของพนักงานสอบสวนไปให้ผู้อำนวยการ
ในกรณีที่ผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล หากเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการเพื่อเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน และปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนดด้วยก็ได้
การดำเนินการตามวรรคสอง ให้ศาลสั่งได้ต่อเมื่อผู้ต้องหานั้นยินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว
เมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าวแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นอันระงับไป"
จากเนื้อความตามมาตรา 21 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ถอดออกมาจัดทำเป็นกระบวนการปฏิบัติ 6 ขั้นตอน คือ
1.เมื่อผู้ต้องหากลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าบุคคลนั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้บุคคลนั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
2.ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนรายงานการสอบสวนและความเห็นไปให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผอ.รมน. (เฉพาะกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้หมายถึง ผอ.รมน.ภาค 4 คือ แม่ทัพภาคที่ 4)
3.เมื่อ ผอ.รมน.เห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน และตรงกับเงื่อนไขข้างต้นครบถ้วน ให้ ผอ.รมน.ส่งบันทึกสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการ
4.พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรม
5.หากผู้ต้องหายินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ และศาลเห็นสมควร ศาลจะสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลกำหนด
และ 6.เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ารับการอบรม รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลกำหนดเสร็จสิ้น ผลคือสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหาเป็นอันระงับไป
ปัจจุบันกระบวนการตามมาตรา 21 ใช้อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี อันเป็นพื้นที่รอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่นี้เคยเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกมาก่อน แต่ภายหลังยกเลิกและประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน
เส้นทางมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2552 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และได้ขยายเวลาประกาศไปแล้ว 2 ครั้งในปี 2553 (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์) และปี 2554 ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยประกาศล่าสุดจะมีผลถึงวันที่ 30 พ.ย.2555
ผู้ต้องหาชุดแรกที่เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 มี 4 ราย โดยเริ่มเข้ากระบวนการตั้งแต่กลางปี 2553 ทั้ง 4 คนมีหมายจับ ป.วิอาญา ในคดีลอบวางระเบิดและยุยงปลุกปั่นให้ผู้อื่นกระทำความผิด ทว่าเมื่อกระบวนการเดินไปถึงขั้นตอนที่ 4-5 คือให้ศาลส่งผู้ต้องหาเข้าอบรม ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คนได้ยืนยันต่อศาลจังหวัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2555 ว่าไม่สมัครใจเข้ารับการอบรมแทนการถูกฟ้องคดี ทำให้กระบวนการต้องล่มกลางคัน
ต่อมาช่วงต้นปี 2555 ได้มีผู้ต้องหาชุดที่ 2 ซึ่งก็คือ นายรอยาลี บือราเฮง และ นายยาซะ เจะหมะ ตัดสินใจเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 อีก 2 ราย และได้ผ่านกระบวนการฝึกอบรมกระทั่งศาลสั่งระงับการฟ้องคดีอาญาในที่สุด
มอบหมาย ฉก.ดูแลความปลอดภัย
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า บทบัญญัติตามมาตรา 21 เป็นมิติใหม่ในการบริหารงานยุติธรรม เป็นการอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นทั้งกับผู้ต้องหาและผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักก็คือ บทบัญญัตินี้ให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเข้ารับการอบรมแทนการฟ้องคดีก็ต่อเมื่อผู้ต้องหายินยอมเท่านั้น ไม่มีบุคคลใดสามารถใช้อำนาจบังคับได้โดยเด็ดขาด และฝ่ายผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ต้องหาต้องเห็นชอบและให้อภัย มาตรา 21 จึงเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพื่อมุ่งสู่ความสมานฉันท์อย่างแท้จริง
"หลังจากนี้ทั้ง 2 คนก็จะกลับคืนสู่ภูมิลำเนาของตนเอง ได้อยู่กับครอบครัวอย่างปกติสุข ไม่ต้องหลบหนีไปไหนอีก และจะได้ประกอบอาชีพตามที่ได้ฝึกอบรมมา โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้มอบอุปกรณ์การประกอบอาชีพให้กับทั้งคู่ด้วย โดยคนหนึ่งจะไปเปิดร้านตัดผม อีกคนหนึ่งเปิดร้านซ่อมคอมพิวเตอร์"
ส่วนมาตรการการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้สำเร็จการอบรมทั้งสองรายนั้น พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ต้องดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการ เพราะการคุ้มครองตามคำสั่งศาลและกระบวนการตามมาตรา 21 สิ้นสุดลงแล้ว ฉะนั้นหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ก็จะรับผิดชอบดูแลต่อไป
17 ผู้ต้องหาจ่อเข้ามาตรา 21
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงอีก 1 คนอยู่ในกระบวนการตามมาตรา 21 เป็นผู้ต้องหาคดีลอบวางเพลิงซึ่งได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นยังมีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่อยู่ในข่ายสามารถเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ได้อีก 17 ราย ทั้งหมดเป็นคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เมื่อทั้ง 17 คนได้เห็นความสำเร็จของกระบวนการฝึกอบรมและศาลสั่งระงับการดำเนินคดีอาญาแล้ว ก็เชื่อว่าจะทะยอยเข้ากระบวนการต่อไป
ขณะนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้พยายามกระชับขั้นตอนตามมาตรา 21 แต่เดิมเมื่อมีผู้ต้องหาเข้ามอบตัว ต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบถึง 4 ชุด โดยเฉพาะชุดเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ต้องหา แต่ต่อไปจะยุบเหลือชุดเดียว เพื่อความรวดเร็ว
เผยเป็นช่องทางเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
"ที่ผ่านมายอมรับว่ากลุ่มผู้ต้องหาคดีความมั่นคงไม่ค่อยกล้าเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 พูดตรงๆ ก็คือกลัวเราตุกติก แต่เมื่อผลออกมาแบบนี้ ก็เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจได้ ยิ่งบรรยากาศที่ศาลนาทวีมีครอบครัวผู้สำเร็จการอบรมมารอรับ กลุ่มผู้เสียหายก็มาจับไม้จับมือให้อภัยกัน และยังมีอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 มาร่วมเป็นสักขีพยาน ก็ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นได้มากขึ้น"
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า แม่ทัพภาค 4 บอกว่าจะเดินหน้ากระบวนการนี้ต่อไป และจะเป็นช่องทางในการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) แล้วประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทนด้วย
อนุกรรมการ ยธ.ศึกษาลดขั้นตอนมาตรา 21
แหล่งข่าวจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช) เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะใช้กลไกที่แม่ทัพภาคที่ 4 ตั้งขึ้น คือ คณะกรรมการประสานงานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน และมีตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 93 คนที่ร่วมแสดงตัวต่อแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2555 ร่วมเป็นกรรมการด้วย เดินหน้ารณรงค์ในพื้นที่เพื่อให้กลุ่มแนวร่วมกลับใจยอมเข้าแสดงตัวและเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ต่อไป
ขณะเดียวกันทาง สมช.ก็กำลังดำเนินการปรับปรุงการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ให้มีกระบวนการที่กระชับมากขึ้น เพื่อจูงใจให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐและผู้ต้องหาคดีความมั่นคงตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการมากกว่าเดิม โดยการพิจารณาศึกษาปรับปรุงกฎหมายพิเศษดังกล่าวมี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมในคณะอนุกรรมการ
ผู้นำมุสลิมเผยทัศนคติ 2 ผู้เข้าอบรมดีขึ้น
ด้าน นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา หนึ่งในผู้นำศาสนาชื่อดังที่เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 กล่าวว่า หลักสูตรการอบรมไม่ได้มีแค่การฝึกอาชีพ แต่มีวิชาศาสนา วิชาที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต การปรับตัวปรับความคิด และทัศนคติการมองสังคม ตลอดจนวิชาประวัติศาสตร์ และกระบวนการยุติธรรม เป็นเนื้อหาหลักในการฝึกอบรมตลอด 6 เดือนด้วย
"การอบรมทำกันแบบมืออาชีพ มีกรรมการ 2 ชุดคอยติดตามประเมินผล ทั้งการสอบก่อนและหลังการศึกษาอบรม (pretest กับ post test) และพิจารณาการปรับตัวของผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งทั้งสองคนก็ทำได้ดี ถือเป็นกระบวนการที่จัดทำได้อย่างรัดกุมมากที่สุดกระบวนการหนึ่ง เท่าที่ผมได้สัมผัสกับผู้เข้ารับการอบรม ก็เห็นว่ามีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ มากขึ้น คิดวิเคราะห์โจทย์ที่ตั้งไว้ได้เป็นอย่างดี โดยทั้งสองคนยังบอกว่าที่ผ่านมาเขาคิดผิดไป ตอนนี้เข้าใจทุกอย่างแล้ว" นายนิมุ กล่าว
และย้ำว่าหลังจากนี้อยากฝากทางฝ่ายความมั่นคงให้ติดตามดูแลความปลอดภัยของผู้เข้ารับการอบรมทั้งสองรายอย่างดีที่สุดด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ผู้สำเร็จการอบรมถ่ายภาพร่วมกับแม่ทัพภาคที่ 4 และข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้อง
2-3 พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 มอบวุฒิบัตรให้กับผู้สำเร็จการอบรม
4 นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เข้าร่วมงานด้วย
อ่านประกอบ :
แง้มหลักสูตรอบรม "มาตรา 21" เปิดประตูรับกลุ่มป่วนใต้กลับใจ?
http://www.isranews.org/south-news/scoop/38-2009-11-15-11-15-01/16365--q-21q-.html