เงื่อนปมคดียิงทหารคุ้มครองพระ กับภาวะ "ฝุ่นตลบ" ที่ชายแดนใต้
บทเรียนที่ได้จากคดีคนร้าย 6 คนใช้อาวุธสงครามกราดยิงทหารชุดคุ้มครองพระต่อหน้ากล้องโทรทัศน์วงจรปิดในเขตเทศบาลนครยะลาก็คือ เหตุร้ายรายวันที่ชายแดนใต้ทุกวันนี้ บางทีก็สรุปไม่ได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ เพราะแม้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะเป็นกลุ่มที่เคยอยู่ในบัญชีสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่หลายๆ ครั้งสาเหตุที่อยู่เบื้องหลัง หรือตัวคนที่บงการ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับปมแบ่งแยกดินแดน
พูดง่ายๆ คือ กลุ่มติดอาวุธและเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐในปัจจุบันไม่ได้มีแค่กลุ่มอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเท่านั้น แต่ได้ขยายปริมณฑลไปมากเนื่องจากอำนาจรัฐอ่อนแอลง และกลุ่มอื่นๆ ที่ว่านี้ก็ฉวยสถานการณ์ที่กลุ่มอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนก่อขึ้น มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับกลุ่มพวกของตัวเองด้วย
คดียิงชุดคุ้มครองพระกลางเมืองยะลา เป็นอีกคดีหนึ่งที่ฝ่ายความมั่นคงกำลังตั้งข้อสังเกต โดยข้อมูลจากการวิเคราะห์ของทหารพบปมน่าสงสัยหลายประการ อาทิ
1.ปฏิบัติการโหดที่เปิดฉากกันในเขตเทศบาลนครยะลา เหตุใดคนร้ายจึงใจกล้ากราดยิงต่อหน้ากล้องโทรทัศน์วงจรปิด และภาพจากกล้องก็ถูกเผยแพร่ต่ออย่างรวดเร็ว ทหารบางนายถึงกับเปรยว่าเป็นการ "ยิงโชว์" ทั้งๆ ที่หากเป็นปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบทั่วๆ ไป มักจะเลือกมุมที่กล้องถ่ายไม่เห็น หรือถ่ายเห็นแต่ก็ไม่ชัด ตามยุทธการของกลุ่มขบวนการที่ต้องก่อเหตุในพื้นที่ปลอดภัย 100% เท่านั้น (สกรีนพื้นที่ มีเส้นทางหลบหนี และมีแนวร่วมคอยช่วยเหลือ)
2.ปฏิบัติการ "เปิดหน้ายิงกลางเมือง" เที่ยวนี้ ใช้เวลาทั้งสิ้นแค่ 29 วินาที คนร้ายมีกัน 6 คน แต่ละคนน่าจะผ่านการฝึกมาอย่างโชกโชน เพราะแบ่งงานกันทำแบบมืออาชีพ มีทีมยิง ทีมคัฟเวอร์ ทีมระวังป้องกันพร้อมสรรพ
3.คนร้ายไม่ได้สังหารพระ ทั้งๆ ที่มีโอกาสทำได้ แสดงว่ากำหนดเป้าหมายมาเป็นการเฉพาะ
4.ข้อมูลจากฝ่ายปกครองระดับสูงของพื้นที่ ยืนยันว่าไม่ใช่การกระทำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน
แม้ขณะนี้ตำรวจจะมีหลักฐานและข้อมูลจากการสืบสวนระดับหนึ่ง จนสามารถชี้เป้าคนร้ายบางรายในทีมปฏิบัติการได้แล้วว่ามีชื่ออยู่ในบัญชีขบวนการก่อเหตุรุนแรงก็ตาม แต่ก็อย่างที่เกริ่นเอาไว้ตอนต้นว่า หลายๆ ครั้งบางเรื่องก็มีเบื้องหลังซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่านั้น
ต้องไม่ลืมว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับปัญหายาเสพติด ของเถื่อน สินค้าหนีภาษี โต๊ะบอล และสถานบริการที่มีอยู่เดิมแล้ว และเบ่งบานขึ้นอย่างมากในระยะหลัง เหตุรุนแรงหลายๆ กรณีจึงเป็นเรื่องที่มีมูลเหตุมาจากธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านั้น
ขณะเดียวกัน ดุลอำนาจที่เปลี่ยนแปลงในพื้นที่หลังจากมีเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้อำนาจรัฐไม่ใช่ "คำตอบเดียว" และไม่ใช่ "คำตอบสุดท้าย" อีกต่อไป ทำให้เกิดความขัดแย้งจากการแข่งขันในสนามเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นสูงมาก เหตุรุนแรงหลายๆ กรณีจึงเป็นเรื่องที่มีมูลเหตุมาจากปมการเมืองท้องถิ่นด้วย
ทหารนักวิชาการนายหนึ่งเรียกสภาพที่เกิดขึ้นนี้ว่า "ปัญหาข้าวยำ" คือมีหลายสิ่งหลายอย่างผสมปนเปกันจนมั่วไปหมด
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่ง และเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ กรณีไล่ยิงผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส ชนวนเหตุมาจาก "ผู้นำฝ่ายปกครองท้องที่" ขัดแย้งกับ "ผู้นำฝ่ายปกครองท้องถิ่น" เมื่อตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายหนึ่งจึงเลือกใช้บริการ "นักรบประชาชน" ส่วนอีกฝ่ายใช้ "นักรบอาร์เคเค" เมื่อสาดกระสุนใส่กันจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย ก็อ้างเป็นการตายจากสถานการณ์ความไม่สงบ!
สรุปก็คือกองกำลังที่ถูกเรียกใช้บริการให้ปฏิบัติการความรุนแรง ณ วันนี้ ได้แก่ "กลุ่มติดอาวุธ" ที่อยู่ในเครือข่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนบางส่วน กับอีกส่วนหนึ่งคือคนของรัฐ "นอกแถว"
ขณะที่ในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งการเลือกตั้งใหญ่หนนี้มีเดิมพันระหว่างขั้วอำนาจสูงมาก และพื้นที่ "แข่งเดือด" จะรวมถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่มีพรรคใดหรือขั้วไหนครองที่นั่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วย
หลายคนประเมินว่า ความรุนแรงจากมูลเหตุทางการเมืองจะเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่นี้ไป...
ฝ่ายทหารชี้ว่า สภาพการณ์ลักษณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่รู้ดี จึงไม่ได้วิตกกังวลกับปัญหาความไม่สงบกันแล้ว เพราะสถานการณ์ร้ายหลายครั้งที่เกิดขึ้นเป็นการตอบโต้กันเฉพาะกลุ่ม แต่ที่ชาวบ้านยังหนักใจคือปัญหายาเสพติดและธุรกิจผิดกฎหมาย รวมถึงผู้มีอิทธิพล เพราะลามเข้าไปสร้างความเดือดร้อนในระดับหมู่บ้าน ทำให้เด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานถึงกับหมดสิ้นอนาคต
ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่จัดทำโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ระบุว่า ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้มากถึง 76% วิตกกับปัญหายาเสพติด ส่วนปัญหาความไม่สงบนั้นมีแค่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ และตามมาเป็นลำดับ 4 ในประเด็นที่ประชาชนห่วงกังวล
สมมติฐานเหล่านี้นับว่าน่าสนใจ และน่าหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์วิจัยกันให้ชัดเจน เพราะนายทหารที่คร่ำหวอดในพื้นที่มาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน กับนายทหารที่พบปะพูดคุยกับกลุ่มที่ "คิดต่าง-เห็นต่าง" และกลุ่มที่เคยปฏิบัติการต่อต้านอำนาจรัฐมาแล้วนับพันคน ยืนยันว่า ถึงวันนี้กลุ่มก่อความไม่สงบมีน้อยลงมาก แนวร่วมในพื้นที่ก็ลดลงเป็นลำดับ และมีบางส่วนที่เริ่มแตะมือกับรัฐ แม้จะยังไม่หยุดปฏิบัติการหรือสนับสนุนปฏิบัติการความรุนแรงก็ตาม
แต่ฝ่ายความมั่นคงก็เข้าถึง และยกหูคุยได้...ประมาณนั้น
ทหารกลุ่มนี้ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้กุมบังเหียน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงเชื่อมั่นว่าเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา ย่อมจับทางได้ว่ามาจากการกระทำของฝ่ายใด บทสรุปที่เป็นการพูดคุยกันภายในก็คือ เหตุร้ายส่วนหนึ่งที่เกือบๆ จะเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนโดยตรง
บางกรณีถูกยืมมือไปใช้ บางกรณีก็ยอมให้ใช้ เพราะได้ประโยชน์ 2 เด้ง!
ปัญหาขัดแย้งกันเรื่องผลการเลือกตั้ง ทั้งผู้นำปกครองท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) และผู้นำปกครองท้องถิ่น (นายก อบต.) คือตัวอย่างอันดี และเกิดขึ้นบ่อย โดยฝ่ายแพ้ที่ไม่ยอมแพ้มักจะพกความแค้นไปขอใช้บริการกองกำลังของกลุ่มก่อความไม่สงบให้ช่วยจัดการ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็ปฏิบัติการให้ ด้านหนึ่งก็เพราะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน อาจเป็นในรูปตัวเงินหรือความช่วยเหลือ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็จะใช้ขบวนการข่าวลือแพร่ข่าวว่า พวกที่ถูกฆ่าคือ "มูนาฟิก" (คนกลับกลอก) ไปร่วมมือกับรัฐ (ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อไปเป็นกลไกของรัฐ) จึงต้องตาย
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า "ได้ประโยชน์ 2 เด้ง"
เมื่อข้อเท็จจริงในพื้นที่เป็นเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายทหารมีแนวคิดนำสถิติตัวเลขเหตุรุนแรงและยอดผู้เสียชีวิตมาสังเคราะห์กันใหม่ว่า ยอดความสูญเสียที่แท้จริงจากสถานการณ์ด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากมายถึง 4,500 ศพ ดังที่บางองค์กรนับจริงหรือ
น่าสนใจว่าหากข้อพิจารณาเรื่องนี้เป็นจริง กล่าวคือเหตุรุนแรงจำนวนไม่น้อยมาจากเรื่องยาเสพติด อิทธิพล อำนาจมืด และขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่น งบก้อนมหาศาลจำนวน 1.44 แสนล้านบาทที่ทุ่มลงมา 9 ปีงบประมาณเพื่อดับไฟใต้ โดยตั้งโจทย์ไว้ที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน จึงน่าจะถึงเวลาต้องทบทวนใหม่
มิพักต้องไปค้นหาความรับผิดชอบจากรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย หรือผู้รับผิดชอบฝ่ายความมั่นคงที่ผ่านๆ มา เพราะคงไม่ได้เห็นการแสดงความรับผิดชอบอยู่แล้ว
แต่เรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นที่แหลมคม เพราะจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายใหม่ จัดงบประมาณใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด หลังจากที่ทุกฝ่ายละเลยและปล่อยให้ "รบกับผี" มาเนิ่นนาน!
-----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในวินาทีก่อนคนร้ายจากรถกระบะจะลั่นไกยิงทหารชุดคุ้มครองพระ บนถนนในเขตเทศบาลนครยะลา เมื่อวันเสาร์ที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา