รัฐตื่นปราบยาเสพติดใต้-ใช้กฎอัยการศึกลุย คนพื้นที่แฉระบาดทุกหมู่บ้าน
ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน และเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นด้วย แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมากลับไม่มีนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐในการแก้ไขปัญหา นอกจากโครงการ "ญาลันนันบารู" หรือ "โครงการทางสายใหม่" ที่นำเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ไปเข้ารับการอบรมเท่านั้น ทั้งๆ ที่คนในพื้นที่แม้กระทั่ง ส.ส.เองยังให้ข้อมูลว่า ยาเสพติดโดยเฉพาะ "น้ำใบกระท่อม" ต้มกันเกลื่อนทุกหมู่บ้านแล้วในขณะนี้
ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 ธ.ค.2553 มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บอร์ด ป.ป.ส.) โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน ภายหลังการประชุม นายสุเทพ แถลงว่า ได้เน้นย้ำให้ทุกส่วนราชการนำคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องปฏิบัติการประเทศไทยเข้มแข็งชนะยาเสพติดยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกันระยะที่ 3 ซึ่งนายกรัฐมนตรีลงนามไว้เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ไปแปลงเป็นแผนปฏิบัติงานในหน่วยงานของตัวเองให้ชัดเจน ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และหน่วยงานในภูมิภาคทุกจังหวัด
สามจังหวัดใต้เป้าหมายปราบปรามพิเศษ
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า จะต้องดำเนินมาตรการเฉพาะใน 3 พื้นที่สำคัญที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างรุนแรง และเป็นเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด คือ 1.ภาคเหนือตอนบน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน 2.พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ 3.พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
"ทั้ง 3 พื้นที่ถือเป็นเป้าหมายหลักของคำสั่งนี้ โดยให้ทุกหน่วยบูรณาการกำลังเข้าไปทำงาน นอกจากนั้นในระดับอำเภอจะเน้นหนักการปราบปรามและป้องกันยาเสพติดทั้งสิ้น 175 อำเภอด้วย และที่ประชุมยังหารือถึงการกำหนดเรื่องความดีความชอบให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านยาเสพติดด้วยว่าไม่ให้ใช้ระบบโควต้า แต่คนที่ทำงานจริง ทำงานดีเด่นต้องได้รับรางวัล สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติตาม หากเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดโดยไม่จำเป็นต้องคาดโทษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องไปจัดทำแผนเพื่อแสดงให้ประชาชนทั้งประเทศได้เห็นว่าภายใน 3 เดือนนี้ยาเสพติดจะลดลงอย่างไร" นายสุเทพ กล่าว
แม่ทัพ 4 สั่งใช้ "กฎอัยการศึก" ลุยแก๊งค้ายา
ด้าน พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) กล่าวว่า ปัญหาขบวนการทำธุรกิจผิดกฎหมายและค้ายาเสพติดในพื้นที่นั้น ถือเป็นปัญหาแทรกซ้อนสถานการณ์ความรุนแรง บางส่วนทำเพื่อเป็นแหล่งทุนสนับสนุนหรือส่งผ่านให้คนบางกลุ่มต่อสู้กับรัฐ และจากการสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน พบว่ากว่าร้อย 76 วิตกกังวลปัญหายาเสพติดในชุมชนมากกว่าปัญหาการก่อความไม่สงบเสียอีก
ฉะนั้น เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา จึงได้ประชุมร่วมกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) และได้ขอร้องให้ตำรวจเคร่งครัดในมาตรการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจังมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ได้ผสานความร่วมมือกับชุมชนเพื่อให้ช่วยกันขับเคลื่อนด้วย
"สำหรับกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ ถ้ากฎหมายธรรมดาเอื้อมไม่ถึง ผมจะใช้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) เข้าไปจัดการ จะมีการเชิญตัวหรือเรียกมาซักถามและดำเนินมาตรการเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรม"
พบเส้นทางเงินหนุน "กลุ่มป่วนใต้"
พล.ท.อุดมชัย กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบเส้นทางเงินของกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย แก๊งค้ายาเสพติด และขบวนการลักลอบขนน้ำมันเถื่อน พบมีการนำเงินไปสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง บางส่วนนำไปบริจาคให้กับองค์กรบางแห่งเพื่อฟอกเงิน ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นเงินสะอาด ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญซึ่งต้องใช้กฎหมายพิเศษเข้าไปจัดการ
ต่อข้อถามถึงเสียงวิจารณ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหาร ตำรวจ เข้าไปพัวพันกับธุรกิจเถื่อน จนทำให้ปัญหาแก้ได้ไม่จบนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ขอยืนยันว่าเราไม่มีนโยบายปล่อยยาเสพติดหรือสินค้าเถื่อนไปทำลายสังคมมุสลิม นโยบายของกองทัพบกตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ลงมา คือป้องกันและปราบปรามยาเสพติดรวมทั้งการกระทำผิดกฎหมายรูปแบบต่างๆ อย่างจริงจัง ซึ่งทาง กอ.รมน.ภาค 4 ก็รับมาปฏิบัติ
"เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ผบ.ทบ.ยังบอกว่าถ้าแม่ทัพให้ท้ายใคร แม่ทัพต้องโดนก่อน ฉะนั้นกำลังพลทุกนายที่ต่ำกว่าผมลงไป ถ้ากระทำอะไรนอกลู่นอกทาง ต้องถูกลงโทษทั้งสิ้น"
พล.ท.อุดมชัย กล่าวด้วยว่า ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งร่วมกับ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เปิดโครงการ “มัสยิดสานใจ ป้องกันภัยยาเสพติด” โดยดึงมัสยิดในพื้นที่เกือบ 1,000 แห่ง มาร่วมแก้ปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในชุมชน เพราะมัสยิดอยู่ใกล้ชิดชุมชนและสถาบันครอบครัวมากที่สุด น่าจะสามารถขับเคลื่อนเพื่อป้องกันภัยยาเสพติดได้เป็นอย่างดี
"โครงการนี้จะทำเชื่อมต่อกับโครงการญาลันนันบารู และโครงการทำดีมีอาชีพ เพื่อดึงเยาวชนกลุ่มเสี่ยงออกมา แล้วฝึกอาชีพให้ มั่นใจว่าในที่สุดแล้วยาเสพติดจะลดลงอย่างแน่นอน" แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
ดึง 1,000 มัสยิดร่วมสกัดยาเสพติดในชุมชน
สำหรับโครงการ "มัสยิดสานใจ ป้องกันภัยยาเสพติด" นั้น ได้มีการเปิดแถลงข่าวร่วมกันไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.โดยแม่ทัพภาคที่ 4 เลขาธิการ ป.ป.ส. และ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี หลักการสำคัญคือใช้หลักศาสนาและมัสยิดเป็นแกนกลางในการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน
พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก โฆษกประจำตัวแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงมุ่งแก้ไขปัญหาความมั่นคงเป็นลำดับแรก แต่แม่ทัพภาคที่ 4 เห็นว่าปัญหาความไม่สงบนั้นมีความเชื่อมโยงกับปัญหายาเสพติดอย่างแยกไม่ออก ฉะนั้นหากแก้ปัญหายาเสพติดได้ ก็น่าจะลดปัญหาด้านความมั่นคงลงได้ด้วย โดยเฉพาะหากขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากชุมชน ก็จะสามารถได้ใจชาวบ้าน และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในเรื่องงานด้านความมั่นคงมากขึ้นกว่าเดิม
"แต่การแก้ไขปัญหาเราจะไม่เน้นการปราบปรามโดยใช้กำลัง เพราะจะยิ่งสร้างปัญหา เนื่องจากเป็นพื้นที่อ่อนไหวอยู่แล้ว ฉะนั้นเราจึงใช้หลักศาสนาเข้าไปดำเนินการ โดยร่วมกับท่านจุฬาราชมนตรีเชิญมัสยิดในพื้นที่เกือบ 1,000 มัสยิดเข้ามาร่วมโครงการและขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน หากเด็กและเยาวชนคนไหนต้องการเข้าอบรม ก็จะมีโครงการญาลันนันบารูรองรับ หรือหากต้องการให้ข้อมูลข่าวสาร ก็จะมีกลไกเชื่อมประสานระหว่างรัฐกับมัสยิด เพื่อทำชุมชนให้หลุดพ้นจากยาเสพติด" พ.อ.ปริญญา ระบุ
ส.ส.แฉเอง"กระท่อม"ระบาดทุกหมู่บ้าน
ด้านข้อมูลการแพร่ระบาดจากคนในพื้นที่ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.นราธิวาส พรรคมาตุภูมิ กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นไปอย่างรุนแรงมาก ขณะนี้กล่าวได้ว่าทุกหมู่บ้านมีวัยรุ่นเสพน้ำใบกระท่อม ส่วนรัฐบาลรวมทั้งฝ่ายความมั่นคงก็ไม่เห็นมีนโยบายอะไรที่จะมาแก้ปัญหา นอกเสียจากติดป้ายประชาสัมพันธ์ตามริมทางหลวงเท่านั้น
“คนที่ค้ายาเสพติดในพื้นที่ขณะนี้ทำรายได้มหาศาล ชาวบ้านเขารู้กันอยู่ว่าใครเป็นใคร เจ้าหน้าที่ก็น่าจะรู้ แต่ไม่จัดการ บางคนนำเงินไปซื้อสวนยางพารา 300-400 ไร่ ทั้งๆ ที่โดยศักยภาพแล้วไม่น่าจะซื้อได้ หนำซ้ำยังซื้อโดยใช้ชื่อคนอื่นมาถือครองแทนด้วย” นายอารีเพ็ญ กล่าว
อดีต กอส.ปูดมีเอื้อประโยชน์ จนท.รัฐ
ขณะที่ นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่สงบในปัจจุบันมีส่วนสนับสนุนทำให้ธุรกิจผิดกฎหมายเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะยาเสพติด เห็นได้ชัดว่าพื้นที่ไหนมีเจ้าหน้าที่อยู่ ยาเสพติดจะมีมากกว่าพื้นที่ทีไม่มีเจ้าหน้าที่คุม ถือเป็นอะไรที่น่าแปลกใจมาก ที่ผ่านมาเคยพูดเคยเสนอให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนได้รับทราบและนำไปแก้ไข แต่ก็ไม่มีหน่วยงานไหนรับลูกเลย สาเหตุเพราะอะไรคงไม่ต้องบอก น่าจะเข้าใจกันได้
“ปัญหาสินค้าหนีภาษีก็เช่นกัน ทุกวันนี้ไปไหนมาไหนแทบทุกซอย จากสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ถึง อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เจอของหนีภาษีวางขายตามข้างถนนเต็มไปหมด แทบหาของถูกกฎหมายไม่ได้ด้วยซ้ำ น้ำมันเถื่อนก็มาก ทั้งๆ ที่ทหาร ตำรวจมีกำลังจำนวนมากในพื้นที่ แต่กลับไม่ส่งผลต่อการแก้ปัญหาเลย แสดงว่ามีการเอื้อประโยชน์กัน”
ชี้งบแสนล้านละลาย-จนท.รัฐได้ประโยชน์
นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดมารัฐบาลหรือฝ่ายความมั่นคงไม่เคยกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหานี้อย่างชัดเจนเลย ทำให้ปัญหาธุรกิจผิดกฎหมายรุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหาความไม่สงบก็แก้ไม่ได้ ฉะนั้นงบประมาณที่ทุ่มลงมากว่า 1 แสนล้านบาทจึงสูญเปล่า ชาวบ้านไม่ได้อะไร มีแต่เสีย ส่วนคนที่ได้ประโยชน์คือเจ้าหน้าที่
“ทุกวันนี้ทุกคนก็รู้ว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร แต่ไม่มีใครพูดความจริง เพราะพูดไปแล้วสูญเปล่า จึงกลายเป็นการนำเงินงบประมาณของประเทศจำนวนมหาศาลมาละลายในกระเป๋าเจ้าหน้าที่ ส่วนประชาชนก็ตายทุกวัน มากกว่า 4 พันศพแล้ว” อดีต กอส.กล่าว พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาพิจารณาปัญหาที่ต้นเหตุ และกำหนดนโยบายแก้ไขให้ถูกทาง
ขณะที่ นายสมพร สังข์สมบูรณ์ นักวิจัยอิสระซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่มาหลายปี กล่าวว่า ปัญหาความไม่สงบมีทั้งปัจจัยทางการเมือง ยาเสพติด แบ่งแยกดินแดน กลุ่มผู้มีอิทธิพล รวมถึงธุรกิจผิดกฎหมาย ต้องตั้งหลักตรงนี้ แต่ที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยสนใจ จึงต้องให้ชุมชนคิดหาวิธีการแก้ปัญหากันเอง หากชุมชนเข้มแข็งก็จะป้องกันปัญหาได้ทั้งหมด
------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ขบวนพาเหรดในการแข่งขันกีฬาต้านภัยยาเสพติดที่ จ.ปัตตานี เมื่อปี 2552
2 เจ้าหน้าที่จับใบกระท่อมสดล็อตใหญ่ที่ขนใส่รถกระบะเข้าไปส่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ขอบคุณ : จรูญ ทองนวล ช่างภาพมือรางวัลจากเครือเนชั่น เอื้อเฟื้อภาพสวยๆ ประกอบเรื่อง