"เบตง-แม่ลาน-แว้ง-สุคิริน" ลุ้นเลิก พ.ร.ก. "ถาวร"ลั่นพร้อมฟังข้อเสนอใช้ภาษามลายู-เพิ่มอำนาจท้องถิ่น
เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นทุกขณะว่ารัฐบาลอาจยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในบางพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงก่อนหรือหลังเทศกาลปีใหม่ หลังจากพื้นที่แห่งนี้ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มาเป็นเวลาถึง 5 ปีครึ่ง
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.แว้ง และอ.สุคิริน จ.นราธิวาส โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมตำรวจ ทหาร และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในเร็ววันนี้
"ใน 4 อำเภอที่กล่าวมา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นไม่เกิน 2 ครั้ง แต่การเกิดเหตุมากหรือน้อยไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าจะเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ แต่การยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก. เป็นการยกเลิกอำนาจพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของประชาชน เช่น การจำกัดเวลาออกจากบ้าน หรือถูกกักตัวบุคคลเป็นเวลาถึง 1 เดือนเพื่อสอบถามหรือสืบสวน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่น่าจะเกี่ยวกับความถี่ของเหตุที่เกิด แต่การป้องกันเหตุรุนแรงมาจากประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่มากกว่า" นายถาวร ระบุ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังกล่าวถึงผลงานดับไฟใต้ว่า หากย้อนหลังไป 2 ปีที่แล้วจะพบว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเกิน 1,000 ครั้งต่อปี แต่ปัจจุบันเหตุเกิดไม่ถึง 1,000 ครั้ง จึงถือว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาก ประชาชนอยากได้สิทธิในการดำเนินชีวิตประจำวันเหมือนกับประชาชนคนไทยในพื้นที่อื่นๆ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เหตุร้ายลดน้อยลงเกิดจากประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลผ่าน ศอ.บต. โดยได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ พบว่าร้อยละ 54 พึงพอใจการแก้ปัญหาของรัฐบาล
“ผมคิดว่าแนวทางการเมืองนำการทหารนั้นถูกต้องแล้ว และในวันที่ 16 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ผมจะเดินทางไปศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเคยมีประเด็นขัดแย้งกันกับอังกฤษและเกี่ยวโยงถึงนิกายทางศาสนา เราจะไปดูว่าระบบการสร้างสันติสุขของเขาทำอย่างไร ผมศึกษาเบื้องต้น 10 ประเทศที่มีความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ ประเพณี และวัฒนธรรม จนนำไปสู่ความไม่ยุติธรรมและความรุนแรง ท้ายที่สุดแล้วจะจบลงด้วยการเมืองนำการทหารทั้งหมด” นายถาวร กล่าว
ส่วนจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ก่อนปีใหม่หรือไม่นั้น นายถาวร กล่าวว่า อยู่ที่นายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจเต็มในการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ผ่านมาได้รับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายว่าเมื่อถึงเวลายกเลิกอำนาจพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐแล้วจะเป็นปัญหาหรือไม่ จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร แต่ทั้งนี้เมื่อยกเลิกแล้วจะใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แทน
นายถาวร กล่าวด้วยว่า การยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ขอยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง เพราะใช้นโยบายการการเมืองนำการทหาร ใครเรียกร้องอะไรเรารับฟังหมด
"เราจะไปรับฟังว่าเขาต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ ต้องการหยุดงานวันศุกร์หรือเปล่า หรือว่าต้องการพัฒนาอาชีพ ไม่ต้องการให้มีอบายมุข และต้องการใช้ภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาถิ่นแทนการใช้ภาษาไทยหรือไม่ เราต้องรับฟังในสิ่งที่ร้องขอว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรหรือไม่ หรือเป็นการร้องขอจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ขยายอำนาจมากขึ้น ฉะนั้นการเปิดใจกว้างถือเป็นการลดอุณหภูมิความคิดเห็นที่แตกต่างในสิ่งที่คนในพื้นที่ไม่ได้รับการดูแลหรือการพัฒนาในอดีต” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในที่สุด
---------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : สำนักข่าวเนชั่นและศูนย์ภาพเนชั่น เอื้อเฟื้อข่าวและภาพ นายถาวร เสนเนียม