รู้จัก "ยุติธรรมสมานฉันท์" จุดเปลี่ยนไฟใต้เริ่มที่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง
"คีย์เวิร์ด" หรือ "คำสำคัญ" คำหนึ่งในรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่เสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้เป็นแนวทางในการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองว่าด้วยเรื่อง "คนเสื้อแดง" คือการใช้ "กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" กับผู้ต้องหาคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำกว่า 200 ชีวิต
สาระหลักของข้อเสนอในส่วนนี้นอกเหนือจากการเรียกร้องให้ "ปล่อยชั่วคราว" หรือ "ประกันตัว" ผู้ต้องหาเสื้อแดงแล้ว ยังมีข้อความที่ต้องขีดเส้นใต้อยู่ตรงที่..."เปิดโอกาสให้มีการ ‘พูดคุย’ กับ คนที่คิดต่างทางการเมือง หรือไม่เห็นด้วยกับรัฐ เพื่อให้เกิดการรับฟัง แลกเปลี่ยนทัศนะ และแก้ไขปัญหาบนแนวทางสันติวิธี ภายใต้กระบวนการที่เรียกว่า ‘ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ ซึ่งไม่ใช่การมุ่งเอาผิดกันในแบบ ‘แก้แค้นทดแทน’ แต่เน้นใช้การทำความเข้าใจ และชี้ให้เห็นความเสียหายหากเลือกใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา"
ข้อเสนอที่ว่านี้นับว่าน่าศึกษาว่ามีรายละเอียดอย่างไร เพราะน่าจะ "ใช้ได้" และ "เป็นประโยชน์" ทั้งกับการลดดีกรีความขัดแย้งทางการเมืองว่าด้วย "สีเสื้อ" และการปลดชนวนความรู้สึก "อยุติธรรม" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการ "จับกุม-คุมขัง" ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงเอาไว้กว่า 500 คนโดยไม่ได้รับการประกันตัว
เพราะแนวทางว่าด้วยการ "พูดคุยเจรจา" เพื่อหาทางออกร่วมกัน เป็นสิ่งที่พูดกันมาเนิ่นนาน แต่ไม่เคยมีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ฉะนั้นหากฝ่ายความมั่นคงเกรงว่าการ "เปิดโต๊ะเจรจา" กับผู้ก่อความไม่สงบ หรือผู้ที่ "คิดต่างจากรัฐ" จะเป็นเรื่องของการ "เสียหน้า" หรือคล้ายๆ กับรัฐไทย "กำลังเพลี่ยงพล้ำ" แล้วล่ะก็ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ อาจเป็นจุดเริ่มของการ "พูดคุย" โดยตั้งต้นที่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ซึ่งรัฐจะไม่เสียหน้าแต่ประการใด
ที่น่าสนใจก็คือ กระบวนการที่ว่านี้มีบางส่วน "ซ้อนทับ" และน่าจะ "หนุนเสริม" บทบัญญัติมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ "กฎหมายความมั่นคง" ที่รัฐบาลกำลังเร่งรัดให้นำมาใช้แทนมาตรการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยการเพิ่มช่องทางให้ "ผู้หลงผิด" หรือผู้ที่อยู่ในขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนสามารถ "กลับใจ" ยอมเข้ามอบตัวกับฝ่ายรัฐได้ โดยรัฐจะพิจารณา "ไม่ดำเนินคดี" ในความผิดอาญาบางประเภทที่เคยก่อเอาไว้
แม้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่หลักการ "เพิ่มช่องทาง" และ "พูดคุยเจรจา" ย่อมเป็นแนวทางที่มิอาจมองข้าม!
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คืออะไร?
โดยทั่วไปกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีวัตถุประสงค์หลักในการนำตัวผู้กระทำผิดที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมมารับโทษ โดยมีการนำแนวคิดและทฤษฎีทางอาชญาวิทยาที่สำคัญมาอธิบายเจตนารมณ์ในการลงโทษทั้ง 2 แนวคิด กล่าวคือ
แนวคิดที่หนึ่ง ใช้การลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนให้สาสมกับการกระทำความผิด หรือการลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้งป้องกัน
แนวคิดที่สอง ใช้การลงโทษเพื่อปรับปรุงแก้ไขหรือฟื้นฟูให้จำเลยกลับตนเป็นคนดี และเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติ
ที่ผ่านมาแม้ในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) อย่างประเทศไทยจะสามารถค้นพบเจตนารมณ์ในการลงโทษนี้ได้จากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ระบุอัตราโทษไว้ และศาลยังคงมีหน้าที่ใช้ดุลยพินิจว่าการกระทำของจำเลยสมควรได้รับโทษเพียงใดภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และเกิดผลตามเจตนารมณ์ของกฏหมาย
แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กฎหมายในระบบลายลักษณ์อักษรมีความแข็งกระด้าง มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องอัตราโทษซึ่งเทียบเคียงได้กับ "ทฤษฎีแนวคิดในการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน" เท่านั้น กฎหมายอาญาโดยทั่วไปของประเทศไทยจึงไม่มีบัญญัติที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้จำเลยได้กลับตนเป็นคนดีตามทฤษฎีแนวคิดในการลงโทษเพื่อบำบัดแก้ไขฟื้นฟู
ที่น่าสังเกตก็คือการลงโทษตามเจตนารมณ์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้ผู้กระทำผิดลดจำนวนลง หนำซ้ำยิ่งเพิ่มมากขึ้น และกระทำความผิดซ้ำอีกเมื่อพ้นโทษ!
ที่สำคัญนักวิชาการด้านเหยื่อวิทยา และนักสังคมวิทยาเองก็มองว่า ศาลไทยไม่ค่อยใส่ใจกับความเดือดร้อนของผู้เสียหายในคดีอาญามากนัก โดยดูจากคำพิพากษาส่วนใหญ่ยังพบว่า มิได้มุ่งเน้นว่าเหยื่อจะได้รับการดูแลหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษ ซึ่งมิได้มุ่งเน้นเยียวยาทางด้านความรู้สึกและสภาพจิตใจของผู้เสียหายหรือเหยื่อ ทำให้ผู้เสียหายในคดีอาญาถูกละเลยไม่ให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่เมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้น ผู้เสียหายคือบุคคลแรกที่ได้รับความเสียหาย และสังคมควรจะเข้าไปดูแลและเยียวยาให้มากที่สุด ส่วนการลงโทษผู้ก่อให้เกิดความเสียหายนั้น ไม่ว่าจะเน้นเพื่อแก้แค้นทดแทนหรือมุ่งเน้นเพื่อแก้ไขผู้กระทำผิด ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองลงไป
นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลก็ไม่อาจแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยกลับตัวเป็นคนดีได้ เพราะมุ่งเน้นเรื่องโทษมากเกินไป จึงอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันคำพิพากษาคดีอาญาของศาลมีลักษณะไม่ยืดหยุ่น ไม่คำนึงถึงผู้เสียหายมากนัก และไม่มีแนวทางในการแก้ไขผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน
ด้วยเหตุนี้กระบวนทัศน์ใหม่ในสังคมโลก นักวิชาการจึงเริ่มให้ความสำคัญแก่เหยื่ออาชญากรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้กระทำผิดเกิดความตระหนักและรู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนเสียหายที่เหยื่อได้รับ อันจะเกิดความรู้สึกต่อการกระทำผิดของตน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือบรรเทาผลร้ายที่ได้กระทำไว้ และจะไม่กลับมากระทำความผิดซ้ำอีก
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของแนวคิด "กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" หรือ Restorative Justice (RJ) ซึ่งหมายถึง การบรรเทาความเสียหายแก่เหยื่ออาชญากรรมให้กลับสู่สภาพดีดังเดิม ทำให้เหยื่ออาชญากรรมเป็นศูนย์กลางของกระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นการบูรณาการผู้กระทำผิดและสังคมเข้าด้วยกัน
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นประการแรกของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือ การบรรเทาความเสียหายแก่เหยื่ออาชญากรรม ซึ่งหมายถึงการที่เหยื่ออาชญากรรมได้รับการชดใช้ทดแทนมูลค่าของทรัพย์สินที่เสียหาย รวมทั้งความเสียหายส่วนบุคคลอื่นๆ กลับคืน ซึ่งโดยรวมแล้วหมายถึงการเยียวยาสมานฉันท์ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย เช่น ความรู้สึกของเหยื่ออาชญากรรมที่ถูกโจรกรรมซึ่งต้องทุกข์ทรมานเมื่อความเป็นส่วนตัวถูกล่วงละเมิด และความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยให้กลับคืนมาอีกครั้ง
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จึงเป็นกระบวนการยุติธรรมเพื่อการเยียวยา ฟื้นฟู หรือฟื้นสำนึก ถือเป็นแนวทางในการระงับข้อพิพาทด้วยความกลมเกลียว โดยเป็นการระงับข้อพิพาทที่มิได้มุ่งพิสูจน์ความผิดของจำเลยซึ่งต้องพิสูจน์กันด้วยพยานหลักฐานหักล้างซึ่งกันและกันเหมือนในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก แต่มุ่งเน้นที่ตัวผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำความผิดมากขึ้น เพราะมองว่าการระงับความขัดแย้งด้วยวิธีการสมานฉันท์นั้น เป็นการให้สังคมและจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเข้ามามีส่วนร่วมในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงความรู้สึก อารมณ์ และความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ
ในขณะเดียวกันก็มีกระบวนการที่ทำให้จำเลยได้รู้สำนึกเข้าใจในผลอันเกิดจากการกระทำของตน เพื่อเป็นการเตือนใจมิให้กระทำความผิดพลาดอย่างเดียวกันอีกในอนาคต โดยกระบวนการจะกระตุ้นและดำเนินการให้จำเลยรับผิดชอบในผลเสียหาย รวมทั้งหามาตรการเยียวยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้เสียหาย อันเป็นการสมานฉันท์ระหว่างเหยื่อและจำเลยได้เป็นอย่างดี ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการทำให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อและจำเลยกลับคืนสู่สังคมได้ดังเดิมอย่างสันติสุข
คนละเรื่องกับ "ไกล่เกลี่ย-ยกโทษ"
หลายคนเข้าใจสับสนว่า "กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" คือการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท แต่ในความเป็นจริงแล้วมีรายละเอียดและวิธีการลึกซึ้งกว่านั้นมาก
ในงานวิจัยหัวข้อ "การนำหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้ในการประนอมข้อพิพาทในคดีอาญา: ศึกษากรณีของศาลอาญา" ของ วิชัย ช้างหัวหน้า ผู้พิพากษาชื่อดัง ได้ระบุถึงหัวใจของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เอาไว้ว่า เป็นกระบวนการที่ลึกกว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั่วไป เพราะนอกจากจะพิจารณาความพึงพอใจของคู่ความแล้ว ยังมีผู้เกี่ยวข้องถึง 3 ฝ่ายในกรณีพิพาท ได้แก่ ผู้กระทำความผิด ผู้เสียหายหรือเหยื่อ และรัฐ
ทั้งนี้ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั่วไปมีผู้เกี่ยวข้องเพียง 2 ฝ่าย จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ผู้เสียหายในคดีอาญาได้รับการเยียวยา ส่วนผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษอย่างไร ตรงนั้นเป็นประเด็นรอง ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักหรือจะเรียกกว่ากระบวนการยุติธรรมปกติที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่พูดถึงตัวผู้เสียหายเลย
ขณะที่ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่จะควบคู่กันไปกับกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักซึ่งมักเน้นไปที่ทฤษฎีการลงโทษ ประกอบด้วย การแก้แค้นทดแทน การข่มขู่ยับยั้ง การตัดโอกาสผู้กระทำความผิด การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และการนำผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคม ในต่างประเทศมีแนวคิดว่าวัตถุประสงค์การลงโทษทั้ง 5 ประการดังกล่าว ข้อใดจะเป็นการเหมาะสมในการลงโทษมากที่สุด เช่น กรณีนาย ก. ฆ่า นาย ข. ถึงแก่ความตาย วิธีในการพิจารณาคดีให้ยุติจะพิจารณาโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการลงโทษทั้ง 5 ประการนี้ จึงทำให้การตัดสินลงโทษในบางเรื่องอาจไม่ทำให้หมดเรื่องไป
ดังเช่นคดีฆ่าคนตายที่ใช้วิธีการลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตนั้น ถือเป็นการลงโทษด้วยวิธีการแก้แค้นทดแทน หรือการตัดโอกาสผู้กระทำความผิด ซึ่งก็มีสังคมบางส่วนไม่เห็นด้วยกับวิธีการตัดสินดังกล่าวนี้ เนื่องจากไม่ได้มีการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเพื่อนำผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคม ทำให้ปัญหาสังคมยังไม่หมดไป ต้องไม่ลืมว่าสังคมและชุมชนก็ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดด้วย
เหตุผลเหล่านี้ทำให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีผู้ให้ความสำคัญมากขึ้น โดยตั้งสมมติฐานว่ากระบวนยุติธรรมว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในปัจจุบันนั้น เน้นไปที่การแก้ไขฟื้นฟูตัวจำเลย แต่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้ความสำคัญแก่เหยื่อหรือผู้เสียหายที่ถูกละเลยไปด้วย
อุดช่องโหว่มาตรา 21
จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญที่เป็นดั่ง "หัวใจ" ของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือการพูดคุยทำความเข้าใจเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของผู้กระทำความผิด โดยให้ผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ ผู้กระทำความผิด ผู้เสียหาย หรือเหยื่อ และรัฐ ได้รับฟังซึ่งกันและกัน
ฉะนั้นหากนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ควบคู่กับกระบวนการตามมาตรา 21 ของกฎหมายความมั่นคง ย่อมทำให้เกิด "เวทีเล็กๆ" สำหรับการพูดคุยเจรจา แลกเปลี่ยนความเห็น และรับฟังความคิดของอีกฝ่าย อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ "สันติวิธี" แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
ที่สำคัญกระบวนการนี้ยังน่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการลดความหวาดระแวงและอุดช่องโหว่ของการใช้แนวทางตามมาตรา 21 แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมาตรการดังกล่าวผูกขาดอำนาจการตัดสินใจ "ไม่เอาผิด" หรือกำหนดตัว "ผู้หลงผิด" ไว้ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการ "บังคับให้สารภาพ" เพื่อแลกกับการ "ไม่ถูกดำเนินคดี" อีกด้วย
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงน่าจะสอดรับกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดจาก "คนที่คิดต่างทางการเมือง" หรือ "ไม่เห็นด้วยกับรัฐ" ในบริบทของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดการรับฟัง แลกเปลี่ยนทัศนะ และแก้ไขปัญหาบนแนวทางสันติวิธี
โดยมีผู้ต้องขังคดีความมั่นคง เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างความเข้าใจและร่วมกันสร้างสันติสุข!
-----------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ตรวจความพร้อม “มาตรา 21” เมื่อทุกฝ่ายขานรับ แล้วกองทัพมีคำตอบหรือยัง?
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/scoop-news-documentary/622--21-.html