แปลงผักโป่งลึก-บางกลอยงอกงามบนความหวังอยู่ร่วมกับผืนป่าแก่งกระจาน
แปลงผักที่งอกงามกลางหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยวันนี้ แม้ไม่อาจลบรอยความขัดแย้งที่มีมานานกับอุทยานฯ แต่ชาวบ้านก็มีความหวังท่ามกลางคำสัญญาว่าจะได้รับการจัดสรรที่ทำกินให้อยู่ร่วมกับผืนป่าแก่งกระจานได้
เรื่องเล่าจากแปลงผัก – วิถีใหม่สร้างความพอกิน
“ทุกวันนี้พอเก็บผักกลับไปบ้าน เมียจะบอกว่าเอามาทำไมเยอะแยะ กินไม่ทันแล้ว” ‘ทินกร ชิ้นทอง’ หรือ ‘ห้าโมง’ ชาวกะหร่าง ประธานแปลงผักสาธิต หมู่บ้านบางกลอย เล่าอย่างอารมณ์ดีถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ในผืนที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรีที่เริ่มพอมีพอกินเพราะ ‘แปลงผักสาธิต’ ที่งอกงามด้วยผักสวนครัวหลากชนิดให้ชาวบ้านเก็บกินกันทุกวัน ปัญหาความขาดแคลนอาหารที่ชาวกะหร่างต้องเผชิญมานานจึงเบาบางลง
การเข้ามาของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือหน่วยงานต่างๆในการพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยวันนี้เริ่มเห็นผล ด้วยแปลงผักขนาด 3 งาน 2 แปลงใน 2 หมู่บ้าน ที่ปิดทองหลังพระฯสนับสนุนเมล็ดพันธุ์โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรีเข้ามาสอนชาวบ้านให้’ปลูกผักเป็น’
“แต่ก่อนชาวบ้านทำเป็นปลูกข้าว ผมเองก็ไม่เคยปลูกผักมาก่อนในชีวิตนี่เป็นครั้งแรก”
“เมื่อก่อนไม่ต้องชวนชาวบ้านเขาปลูกผักหรอก เพราะเขามีพื้นที่ทำกินเต็มที่ แต่พอมาขัดกับกฎของอุทยาน แปลงใหม่ก็เปิดไม่ได้ แปลงเก่าก็ทำซ้ำซาก พืชผลเลยไม่งาม “
เสียงส่วนหนึ่งของชาวกะหร่างในหมู่บ้าน สะท้อนให้เข้าใจว่าเพราะการขาดความรู้ในการเพาะปลูกประกอบกับแต่เดิมการทำมาหากินของชาวบ้านยังไม่ถูกจำกัดด้วยข้อห้ามของการเป็นอุทยานแห่งชาติ พวกเขาจึงไม่เห็นถึงความจำเป็นของการผลิตอาหารกินเองบนผืนป่าที่มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญที่ชาวบ้านต้องเรียนรู้ในวันนี้ คือ ‘การปรับตัว’
“ชาวบ้านแบ่งเวรดูแลแปลงผักกันในแต่ละวัน รดน้ำเช้า-เย็น ถอนหญ้ากำจัดวัชพืช จะปลูกอะไรก็จะมาถามกัน แล้วแบ่งผลผลิตให้คนที่มาช่วยกันทำ คนที่ไม่ทำก็ไม่ได้แบ่งแต่ก็เป็นส่วนน้อย” นายกิติชัย ชื่นฤทัย รองนายกอบต.ห้วยแม่เพรียง ชาวบ้านหมู่บ้านโป่งลึกเล่าให้ฟังถึงการบริหารจัดการแปลงผักกันเองของชาวบ้าน โดยมีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือตนเองขึ้นมา เก็บเงินคนละ 10 บาทต่อเดือน เพื่อเอาไว้เป็นค่าน้ำมันในการสูบน้ำขึ้นมาใช้รดแปลงผักด้วย
คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ฯลฯ ผลิตผลหลากพันธุ์ที่งอกงามจากแปลงผักสาธิตเล็กๆในวันนี้ ทำให้ชาวบ้านมีความหวังว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลายคนบอกว่าอยากจะนำความรู้จากการปลูกผักบนแปลงสาธิตไปปลูกเองที่บ้าน ถ้าต่างคนต่างทำ ต้องพอมีพอกินและอาจเก็บไปขายสร้างรายได้ได้อีกด้วย แต่ติดที่ว่าเวลานี้ชาวบ้านครึ่งหมู่บ้านยังไม่มี ‘พื้นที่ทำกิน’
พื้นที่ทำกิน – ปัจจัยพื้นฐานที่ชาวบ้านขาดแคลน
นับจากวันที่ผืนป่าแก่งกระจานประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2522 และเริ่มผลักดันชาวกะหร่างบางส่วนที่อาศัยอยู่ใจกลางป่าลงมายังหมู่บ้านบางกลอยในปี 2539 (กระทั่งเกิดเป็นความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวบ้านและอุทยานฯหลังจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อปี 2554) ทำให้พื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านจำต้องถูกจำกัด ที่ดินผืนเดิมถูกใช้ซ้ำซากจนดินเสื่อมโทรม ผลผลิตไม่งอกงาม ชาวบ้านต้องไปกู้ยืมเงิน กองทุนเกษตรกรต่างๆมาลงทุนทำไร่ใหม่ จนหนี้ต่อหนี้พอกพูนขึ้นครอบครัวละหลายหมื่นบาท บางครอบครัวเป็นหนี้ถึงหลักแสน และแม้ว่าการปลูกผักให้งอกงามได้จะเป็นความหวังใหม่ในการทำมาหากินลบหนี้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยคือ หลายครอบครัวไม่มีแม้แต่พื้นที่ให้ปลูกผัก
นายปลุ จีโบ้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบางกลอย เล่าว่า ชาวบ้านกว่า 40 ครอบครัว (จาก 76 ครอบครัว)ในหมู่บ้านบางกลอยเวลานี้ไม่มีพื้นที่ทำกิน เนื่องจากบางส่วนถูกผลักดันลงมาอยู่ใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บางส่วนแต่งงานแยกครอบครัวออกไป และไม่ได้รับการจัดสรรพื้นที่เพิ่ม แม้จะอยากให้พี่น้องในหมู่บ้านคนอื่นๆมีพื้นที่ทำกินเช่นตนและคนเก่าแก่ที่อยู่มาก่อน แต่หากจะให้ชาวบ้านแบ่งพื้นที่ซึ่งมีอยู่จำกัดให้คนที่ไม่มีอีกนั้น ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบอกว่า “ชาวบ้านคงยอมกันไม่ได้” และคิดว่าทางออกที่ดี คือ อุทยานฯน่าจะจัดสรรที่เพิ่มให้
จัดสรรที่ดินใหม่ – ความเป็นไปได้ภายใต้ปมปัญหา
ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของชาวกะหร่างปัญหาเรื้อรังที่อุทยานฯเคยพยายามหาทางแก้ไขไว้ด้วยการเสนอให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ในพื้นที่ใหม่บริเวณป่ามะเร็วบนเนื้อที่กว้างขวางกว่า 4 พันไร่พร้อมเตรียมสร้างระบบน้ำและที่อยู่อาศัยให้ใหม่ แต่ก็ไม่ประสบผล เนื่องจากชาวบ้านไม่ยอมย้ายไป โดยบางส่วนให้เหตุผลว่า “เพราะน้ำและดินแย่กว่าตรงนี้หลายเท่า”
อย่างไรก็ดีเมื่อสอบถามนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน ถึงความเป็นไปได้ในการจัดสรรพื้นที่เพิ่มจากพื้นที่เดิมโดยที่ชาวบ้านไม่ต้องย้ายไปไหนนั้น ก็ได้รับคำยืนยันว่าอุทยานฯสามารถหาที่เพิ่มเติมให้ได้อีก 500-1000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดี หรือ พื้นที่รกร้าง และคาดการณ์ว่าชาวบ้านกว่า 150 ครอบครัวจะมีที่ทำกินได้อย่างน้อยครอบครัวละ 5 ไร่
ดูเหมือนว่าปัญหาเรื่องที่ทำกินจะมีทางออกที่สดใส แต่เส้นทางที่นำไปสู่ทางออกนั้นกลับมีอุปสรรคขวางกั้นมากมายเมื่ออุทยานฯชี้แจงคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการจัดสรรพื้นที่เพิ่มว่า จะต้องเป็นชาวบ้านดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในป่าต้นน้ำเพชรบุรีเท่านั้น
แต่ความละเอียดอ่อนของปมปัญหาในหมู่บ้านชาวกะหร่างโป่งลึก-บางกลอยอีกประการ คือ เรื่องจำนวนประชากรแท้จริง จากการตรวจสอบจำนวนประชากรในหมู่บ้านโดยอุทยานฯซึ่งแตกต่างกับจำนวนประชากรที่จดทะเบียนกับทางอำเภอแก่งกระจานเป็นสัดส่วนสำคัญนั้น ทำให้อุทยานฯมั่นใจที่ผ่านมาว่ามีคนนอกพื้นที่และกลุ่มชาติพันธุ์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมรอยจดทะเบียนกับทางอำเภอด้วย
ปัญหาคือเมื่อไม่ยอมรับข้อมูลของทางอำเภอ แล้วจะพิสูจน์อย่างไรว่าใครคือตัวจริง ?!?
หัวหน้าอุทยานฯมั่นใจว่าการตรวจสอบสิทธิ์ของชาวบ้านตัวจริงสามารถจัดการได้ด้วยการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งเป็นคนของหมู่บ้านเป็นผู้สำรวจ แต่ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นคือ ชาวบ้านจะเชื่อถือผลการสำรวจนั้นมากน้อยแค่ไหน แล้วหากมีใครในหมู่บ้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ‘ตัวจริง’ จะเกิดความขัดแย้งเช่นไรตามมา นอกจากนี้อีกหนึ่งปัญหาคือจะแบ่งสรรพื้นที่อย่างไรให้ทุกคนเท่าเทียม
และนี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวหน้าอุทยานฯไม่กล้ารับปากว่าแผนการจัดสรรพื้นที่เพิ่มเติมให้ชาวโป่งลึก-บางกลอยซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในเดือนเมษายน 2556 จะสำเร็จลุล่วงไปได้
อนาคตของทางออก – อยู่รอดบนทางตัน?
ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านภายใต้แนวทางของปิดทองหลังพระฯที่เน้นให้ชาวบ้านพึ่งพาและช่วยเหลือตนเอง ก้าวต่อไปของโป่งลึก-บางกลอย คือ การมีระบบท่อส่งน้ำจากต้นน้ำต่อลงมาเป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร สู่ทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมู เป็ดเทศ โดยไม่เกิน 1 ปีนับจากนี้ ชาวบ้านจะมีน้ำใช้ มีผัก มีเนื้อไว้กินได้อย่างพอเพียง
แม้หนทางข้างหน้าสดใส แต่สิ่งที่ยังต้องติดค้างในใจอาจสะท้อนได้ด้วยคำพูดของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบางกลอยที่กล่าวว่า “แม้ว่าชาวบ้านมีน้ำใช้ แต่ไม่มีพื้นที่ทำกิน ก็ไปไม่รอด”
……………..
การพัฒนาโป่งลึก-บางกลอยพื้นที่ที่เต็มไปด้วยปมปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้แม้ชาวบ้านจะเริ่มอิ่มท้อง แต่ก็ยังไม่อุ่นใจด้วยปัญหาของคนกับการใช้พื้นที่ป่าที่ยังไม่เห็นทางออกใดชัดเจน
บทความที่เกี่ยวข้อง ::: 'โป่งลึก บางกลอย&อุทยานแก่งกระจาน : "ปิดทองหลังพระ" คิดใหม่แก้ปมคนกับป่า' http://bit.ly/WRV3sZ