แกะกล่อง "ศอ.บต.โฉมใหม่" ติดดาบย้าย จนท.รัฐนอกแถว-ตรวจสอบคดีความมั่นคง
ในช่วงที่พายุฝนถล่มและเกิดอุทกภัยในทั่วทุกภาคของประเทศไทยรวมทั้งชายแดนใต้เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ..... หรือที่รู้จักกันในนามกฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่ไปเรียบร้อยแล้วอย่างเงียบๆ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.
ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ เป็นร่างที่ผ่านการพิจารณาแก้ไขจากวุฒิสภา ซึ่งถือว่าเหนือความคาดหมายพอสมควร เนื่องจากวุฒิสภาแก้ไขมาไม่น้อย คือแก้ถึง 12 มาตรา และตัดทิ้ง 2 มาตรา สะท้อนว่ารัฐบาลต้องการผลักดันให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และต้องถือว่าร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว หลังจากนี้เป็นกระบวนการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
จากนั้นประเทศไทยก็จะมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ "ศอ.บต." โฉมใหม่มารับผิดชอบการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบเสียที
ชายแดนใต้มี 5 จังหวัด-นายกฯนั่ง ผอ.ศอ.บต.
"ทีมข่าวอิศรา" สรุปสาระสำคัญในร่างกฎหมาย โดยเฉพาะส่วนที่วุฒิสภาแก้ไข และสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
- มาตรา 3 นิยามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมายถึง จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา
- นิยามของ ศอ.บต. กำหนดไว้ในมาตรา 8 ว่า เป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง มีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ผู้อำนวยการ ศอ.บต.คือนายกรัฐมนตรี เพราะวุฒิสภาได้ตัดเนื้อหาที่ว่า ให้นายกรัฐมนตรีตั้งรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็น ผอ.ศอ.บต.ออกไป (มาตรา 8 วรรค 2 เดิม)
- เลขาธิการ ศอ.บต. มีฐานะเทียบเท่าปลัดกระทรวง (ปัจจุบันมีฐานะเทียบเท่ารองปลัดกระทรวงมหาดไทย) ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และให้มีรองเลขาธิการตามจำนวนที่นายกรัฐมนตรีกำหนด (มาตรา 14)
- ในมาตรา 9 กำหนดอำนาจหน้าที่ของ ศอ.บต.ไว้รวม 14 ประการ หลักๆ ก็คือ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.ให้ความเห็นชอบ นอกจากนั้นยังมีหน้าที่กำกับ เร่งรัด และติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐฝ่ายพลเรือน ซึ่งหมายถึงหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ฝ่ายทหาร อัยการ และตุลาการ, คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน โดยการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ให้ความช่วยเหลือ และประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐ เสนอแนะและแนะนำต่อหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับลักษณะอันพึงประสงค์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งจะสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
อำนาจหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ส่งเสริมแนวคิดด้านพหุวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมแห่งชาติ รวมทั้งลดการผูกขาดทางวัฒนธรรมหรือการขจัดการเลือกปฏิบัติทางวัฒนธรรมโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล
- ในมาตรา 10 บัญญัติให้ ศอ.บต.โดยความเห็นชอบของ กพต.มีอำนาจกำหนดให้พื้นที่ใดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และกำหนดกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาในพื้นที่นั้นได้
ติดดาบย้าย จนท.รัฐนอกแถว-ตรวจสอบคดีความมั่นคง
อำนาจหน้าที่ที่ถือเป็นการ "ติดดาบ" ให้กับ ศอ.บต.ยุคใหม่นี้ กำหนดไว้ในมาตรา 12 ที่ว่า ในกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏแก่เลขาธิการ ศอ.บต. หรือโดยการเสนอของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนผู้ใดมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม จนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อน หรือไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ให้เลขาธิการ ศอ.บต.มีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้แจ้งหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นสังกัดทราบพร้อมด้วยเหตุผล
อำนาจนี้ถือเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะกฎหมายเขียนบังคับไว้ในวรรคต่อไปว่า เจ้าหน้าทีรัฐผู้นั้นต้องไปรายงานตัวยังต้นสังกัดภายใน 7 วัน และหน่วยงานของรัฐเจ้าสังกัดต้องมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นออกจากพื้นที่โดยเร็ว พร้อมแจ้งผลต่อเลขาธิการ ศอ.บต.ภายใน 15 วัน
อย่างไรก็ดี กฎหมายไม่ตัดสิทธิเจ้าหน้าที่ที่ถูกออกคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ไปร้องต่อศาลปกครอง รวมทั้งยังให้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรีด้วย
ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ใช่ฝ่ายพลเรือน (ทหาร อัยการ ตุลาการ) หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้เลขาธิการ ศอ.บต.ส่งรายงานพร้อมหลักฐานไปยังหน่วยงานต้นสังกัดหรือผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นภายใน 3 วันนับแต่ได้รับรายงาน
นอกจากนั้นในมาตรา 13 ยังให้อำนาจเลขาธิการ ศอ.บต.สามารถเรียกพนักงานสอบสวนหรือหัวหน้าพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีเข้าชี้แจง กรณีมีผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือครอบครัวของบุคคลเหล่านั้น หรือแม้แต่ญาติสนิท ร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวนคดีอาญา ทั้งนี้ หากพบว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจริง ให้เลขาธิการ ศอ.บต.แจ้งหัวหน้าของพนักงานสอบสวนนั้นพิจารณาดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป
ร่างกฎหมายที่ผ่านวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ได้ตัดเนื้อหาในมาตรา 17 ที่ให้อำนาจ ศอ.บต.วางระเบียบเกี่ยวกับการเงิน การพัสดุ เบี้ยเสี่ยงภัย ค่าชดเชย และงานสารบรรณขึ้นเป็นการเฉพาะออกไป
ต้องมีกรอบนโยบายดับไฟใต้-ปรับปรุงทุก 3 ปี
สำหรับหลักการสำคัญอื่นๆ ที่วุฒิสภาไม่ได้แก้ไข แต่คงตามร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร และสุดท้ายสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเห็นชอบ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปนั้น มีดังนี้
- ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และ ครม.ต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ แล้วให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องด้วย โดยนโยบายดังกล่าวนี้ ให้ สมช.พิจารณาเพื่อทบทวนหรือปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทุกๆ 3 ปี หรือกรณีที่มีความจำเป็น ครม.จะกำหนดให้เร็วกว่านั้นก็ได้ (มาตรา 4)
- นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องมีสาระสำคัญครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาและด้านความมั่นคง และต้องนำความคิดเห็นของประชาชนจากทุกภาคส่วนมาใช้จัดทำนโยบายด้วย เพื่อให้ตรงตามความต้องการและสอดคล้องกับวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (มาตรา 4)
ตั้งสภาที่ปรึกษา-ดึงผู้แทนจากทุกภาคส่วน
- ให้มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นต่อนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยสภาที่ปรึกษาฯ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 49 คน ได้แก่
1.ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดละ 1 คน
2.ผู้แทนกำนันและผู้ใหญ่บ้านจังหวัดละ 1 คน
3.ผู้แทนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและอิหม่ามประจำมัสยิดจังหวัดละ 1 คน ผู้แทนเจ้าอาวาสในพระพุทธศาสนาจังหวัดละ 1 คน และผู้แทนศาสนาอื่นจำนวน 1 คน
4.ผู้แทนซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดละ 1 คน
5.ผู้แทนผู้สอนและบุคลาการทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติจังหวัดละ 1 คน ผู้แทนสถาบันศึกษาปอเนาะตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ และผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา อย่างละ 1 คน
6.ผู้แทนกลุ่มสตรีจังหวัดละ 1 คน
7.ผู้แทนหอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด จังหวัดละ 1 คน
8.ผู้แทนสื่อมวลชนจำนวน 1 คน
9.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่ใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ไม่เกิน 5 คน
ทั้งนี้ผู้แทนกลุ่มต่างๆ ตามข้อ 1-8 ให้เลือกกันเองในกลุ่มของตน
เมื่อได้สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว ให้สมาชิกเลือกประธาน 1 คน และรองประธาน 2 คน สมาชิกมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน (มาตรา 20)
- สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอำนาจหน้าที่ 9 ประการ หลักๆ คือ ให้ความเห็นในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ สมช.จัดทำ, ให้คำปรึกษา เสนอแนะ ร่วมมือ และประสานงานกับ ศอ.บต. ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานของ ศอ.บต.พร้อมรายงานต่อเลขาธิการ ศอ.บต.และนายกฯ, เสนอความเห็นต่อเลขาธิการ ศอ.บต.เพื่อประกอบการพิจารณาในการสั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมออกไปจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพิจารณาเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่เกี่ยวกับปัญหาความไม่เป็นธรรม หรือได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจเชิญเจ้าหน้าทีรัฐที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงหรือส่งเอกสารข้อมูลได้
ให้มีกรรมการยุทธศาสตร์ชายแดนใต้-นายกฯนั่งประธาน
- กอ.รมน.ต้องปรับปรุงแผนและแนวทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (มาตรา 5)
- ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. โดย กพต.มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการระดับรัฐมนตรีจากเกือบทุกกระทรวง ตลอดจนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กอ.รมน. สำนักงบประมาณ และมีผู้แทนภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดละ 1 คนที่ได้รับคัดเลือกจากสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกรรมการด้วย (มาตรา 6)
- กพต.มีอำนาจหน้าที่สำคัญๆ อาทิ พิจารณาให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แผนงาน และงบประมาณ รวมทั้งกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษที่ ศอ.บต.เสนอ (มาตรา 7)
พิจารณาจากเนื้อหาในกฎหมายแล้ว จะเห็นได้ว่า ศอ.บต.โฉมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น จะทำให้ประเทศไทยมีนโยบายการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นเอกภาพ และประชาชนในพื้นที่มีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งป้องกันการถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิโดยมิชอบได้มากขึ้น ที่สำคัญยังมีหลักการการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างชัดแจ้งด้วย
จึงเหลือเพียงการแปรนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติเท่านั้นว่าจะทำได้จริงดังที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้หรือไม่!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :
วันศุกร์ที่ 19 พ.ย.นี้ มีการเสวนาเกี่ยวกับกฏหมายว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องประชุม 213-216 อาคารรัฐสภา 2 เวลา 08.30-15.00 น. มี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรี่ช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแล ศอ.บต. เป็นผู้กล่าวเปิดการเสวนา และมี พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ นายคำนูณ สิทธิสมาน และ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ร่วมแสดงความคิดเห็น
อ่านประกอบ :
- ภาณุ อุทัยรัตน์ กับ ศอ.บต.ในความหมายใหม่
http://south.isranews.org/interviews/281-2010-04-08-16-09-49.html
- ร่างกฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่...ติดตามย้าย "ขรก.-ทหาร-ตำรวจ" พ้นพื้นที่
http://south.isranews.org/academic-arena/178--q-q-.html
- ครม.ไฟเขียวตั้งองค์กรดับไฟใต้ ใช้ชื่อ "ศอ.บต." ยกระดับเทียบ กอ.รมน. นายกฯนั่งผู้อำนวยการ
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4928&Itemid=47
- ศอ.บต.ผลัดใบ "พระนาย"อำลา-"ภาณุ"หวนคืนชายแดนใต้ผงาดนั่ง ผอ.
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4921&Itemid=86
- เปิดวิวัฒนาการองค์กรดับไฟใต้ จาก ศอ.บต.ถึง กอ.สสส.-กอ.รมน. แล้วจะไปทางไหน?
http://south.isranews.org/scoop-and-documentary/10-2009-11-15-11-15-01/23-2009-11-24-07-33-52.html