นาทีชีวิตของชาวบ้านดาโต๊ะ ความเสียหายของประมงพื้นบ้านปัตตานี และคาราวานน้ำใจสู่ปลายขวาน
“คืนนั้นฉันกำลังละหมาดมักริบอยู่ที่บ้าน ฝนตกหนัก ในบ้านอยู่กันสองคนกับสามี น้ำและลมมาเร็วมาก บ้านมีใต้ถุนแต่น้ำเกือบถึงอก น่ากลัวมาก เกิดมาไม่เคยเห็น ดีที่หลานเอาเรือมารับทัน ต้องหนีไปอยู่ที่มัสยิดข้างนอก อีกสองวันเข้ามาดูบ้านแทบเป็นลม เหลือหลังคาไม่กี่แผ่นกับไม้กระดานในบ้านพอนั่งได้ ของใช้และเสื้อผ้าเสียหายหมด ฉันอยากให้ช่วยซ่อมแซมบ้านให้พออยู่ได้ก็พอแล้ว”
เป็นเสียงเล่าปนสะอื้นย้อนถึงนาทีชีวิตของ เยาะ มะดิง คุณป้าวัย 60 ปี ชาวบ้านดาโต๊ะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่ต้องสูญเสียบ้านและทรัพย์สินจนเกือบสิ้นเนื้อประดาตัวจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นมฤตยูเมื่อคืนวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา
เยาะในวัย 60 ยังต้องดูแลสามีที่ชรากว่านางถึง 10 ปี และป่วยเป็นโรคปวดข้อเข่าจนทำงานไม่ได้ เมื่อต้องมาเผชิญกับวิกกฤติจากภัยธรรมชาติซ้ำเติมอีกเช่นนี้ ทำให้อาการของเขาทรุดลงไปอีก และยังต้องนอนอยู่บนไม้กระดานในบ้านที่แทบไม่เหลือความเป็นบ้าน เพราะมีแต่โครงไม้กับหลังคาอีกไม่กี่แผ่น ทั้งคู่ปฏิเสธที่จะไปอาศัยนอนที่โรงเรียนตาดีกาประจำหมู่บ้าน เพราะมีเพื่อนบ้านอาศัยอยู่กันแออัดแล้ว
หนึ่งสัปดาห์แห่งความโศกเศร้าและความสูญเสียจากภัยธรรมชาติที่กระหน่ำเข้าใส่บ้านดาโต๊ะ ถึงวันนี้ยังคงปรากฏร่องรอยให้เห็น แม้จะมีพี่น้องประชาชน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนนับพันเข้าไปช่วยเหลือ ให้กำลังใจ และบริจาคสิ่งของที่ขาดแคลน แต่ซากบ้านเรือนที่พังทลายยังคงตอกย้ำความรู้สึกลึกๆ ในใจของชาวบ้านดาโต๊ะทุกคน และน้ำยังคงท่วมขังอยู่อีกหลายแห่ง
แวนีซะ สุหลง บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งเป็นลูกหลานชาวดาโต๊ะอีกคนที่ครอบครัวของเธอต้องรับความเสียหายจากพายุฝนและคลื่นลมที่พัดกระหน่ำ เธอเล่าว่าบ้านของเธอเหลือแต่หลังคาไม่กี่แผ่นเหมือนกัน ส่วนทรัพย์สินอย่างอื่นไม่มีเหลือ ต้องไปอาศัยบ้านญาติเป็นที่หลับนอน ส่วนอาหารก็อาศัยจากโรงเรียนตาดีกาของชุมชน
“ไม่รู้ว่าจะต้องใช้ชีวิตแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน มันทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ เห็นสภาพบ้าน สภาพตัวเองและเพื่อนบ้านที่เดือดร้อนทีไรช้ำใจทุกที ดีที่มีหน่วยงานต่างๆ และผู้ใจบุญบริจาคอาหาร น้ำดื่ม และเสื้อผ้ามาให้จำนวนมาก เพราะพวกเราไม่เหลืออะไรติดตัวกันเลย หยิบจับอะไรออกมาไม่ทัน เรื่องอาหารและน้ำดื่มเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ควรมีการบริหารจัดการในชุมชนให้ดีกว่านี้ ความช่วยเหลือจะได้ถึงมือผู้เดือดร้อนทุกคนอย่างทั่วถึง” แวนีซะ กล่าว
คาราวานน้ำใจหลั่งไหลสู่ปลายขวาน
ภาพดีๆ ที่ตัดกับภาพแห่งความโหดร้ายของธรรมชาติ ก็คือ “คาราวานน้ำใจ” ที่ไหลหลั่งสู่พื้นที่ประสบภัย สมดังคำกล่าวที่ว่าเมื่อฟ้าหลังฝนผ่านไป ความสดใสก็จะเข้ามาแทนที่
ภาพดีๆ เหล่านี้เห็นได้อย่างชัดเจนที่บ้านดาโต๊ะ เพราะนอกจากจะมีผู้คนจำนวนมากหอบเครื่องอุปโภคบริโภค ทั้งน้ำดื่ม อาหารแห้ง และเสื้อผ้าเข้าไปให้ความช่วยเหลือแล้ว ยังมีอาสาสมัครจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ช่วยกันปรุงอาหารครบทั้ง 3 มื้อ แจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยด้วย
ปัญหาใหม่ที่ชาวบ้านกำลังประสบอยู่ก็คือ การบริหารจัดการเกี่ยวกับ “ของบริจาค” เพื่อให้ถึงมือผู้ที่เดือดร้อนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมจริงๆ หลายครั้งจึงได้ยินเสียงประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงในชุมชนว่า เมื่อมีคนมาบริจาคข้าวของขอให้อยู่กันอย่างสงบ อย่าสร้างปัญหาขึ้นอีก เพราะในชุมชนมีปัญหามากพออยู่แล้วจากภัยธรรมชาติ
แน่นอนว่าการจัดการที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อธารน้ำใจหลั่งไหลมา และถนนทุกสายมุ่งสู่บ้านดาโต๊ะ ความเห็นอกเห็นใจกัน แบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม และไม่เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะตัวของผู้ประสบภัยเองก็เป็นสิ่งสำคัญ...
มิฉะนั้นจะกลายเป็นวิกฤติซ้ำเติมวิกฤติ!
ประมงพื้นบ้านปัตตานีวอนขอความช่วยเหลือ
ความเสียหายจากภัยธรรมชาติเที่ยวล่าสุดไม่ได้เกิดขึ้นกับบ้านดาโต๊ะเพียงแห่งเดียว ทว่าชุมชนริมฝั่งทะเลของปัตตานีตั้งแต่บ้านดาโต๊ะ เรื่อยไปถึงแหลมโพธิ์สุดเขต อ.ยะหริ่ง ข้ามไปยังแหลมนก อ.เมืองปัตตานี และบ้านตันหยงเปาว์ อ.หนองจิก ล้วนตกเป็นเหยื่อ
สมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของภาคประชาชนที่เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งในพื้นที่ ยังต้องทำจดหมายขอรับการสนับสนุนเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
จดหมายดังกล่าวระบุว่า พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านได้รับความเดือดร้อนทั้งในเรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ฯลฯ แต่ทางสมาคมฯเชื่อมั่นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นอยู่ในวิสัยที่ทางสมาคมฯสามารถประสานขอรับความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นได้
ในขณะที่การประสานขอรับการสนับสนุนด้านเครื่องมือในการประกอบอาชีพนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับความช่วยเหลือ และเครื่องมือประมง ทั้งเรือ เครื่องยนต์ และอวนต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวบ้านรู้สึกเป็นความหวังในการมีชีวิตอยู่ ชาวประมงพื้นบ้านมีความรู้สึกผูกพันกับเครื่องมือในการประกอบอาชีพเหล่านี้ การที่ต้องนั่งรอดูเครื่องมือประมงเหล่านี้อยู่ในสภาพแตกหัก เสียหาย ใช้การไม่ได้ เป็นความรู้สึกที่หดหู่ สิ้นหวัง และไร้อนาคต
การร่วมสนับสนุนเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้กับพี่น้องประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานีที่ประสบปัญหาอุทกภัยและวาตภัยจึงเป็นการสนับสนุนให้พี่น้องประมงพื้นบ้านสามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
สำหรับรายละเอียดความเสียหายของชาวประมงพื้นที่ แบ่งเป็น ที่บ้านปาตาบูดี หมู่ 3 ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง เรือประมงพื้นบ้านเสียหายทั้งลำ จำนวน 10 ราย รายละ 40,000-45,000 บาท
เรือประมงพื้นบ้านเสียหายบางส่วน สามารถซ่อมแซมได้ จำนวน 30 ราย รายละ 3,000-5,000 บาท เครื่องยนต์เรือเสียหายและสามารถซ่อมแซมได้ จำนวน 40 ราย รายละ 1,000 บาท เครื่องมือประมงพื้นบ้านเสียหาย เช่น อวนลอยกุ้ง จำนวน 40 ราย รายละ 24 ผืน ผืนละ 350 บาท
ส่วนที่บ้านตันหยงเปาว์ หมู่ 4 ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก เรือประมงพื้นบ้านเสียหายบางส่วนสามารถซ่อมแซมได้ จำนวน 32 ราย รายละ 3,000-5,000 บาท
เครื่องยนต์เรือเสียหายและสามารถซ่อมแซมได้ จำนวน 40 ราย รายละ 1,000 บาท
เครื่องมือประมงพื้นบ้านเสียหาย เช่น อวนลอยกุ้ง จำนวน 32 ราย รายละ 24 ผืน ผืนละ 350 บาท อวนปู จำนวน 32 ราย รายละ 25 ผืน ผืนละ 350 บาท อวนปลากะพงขาว จำนวน 10 รายรายละ 8 ผืน ผืนละ 1,800 บาท
ผู้มีจิตศรัทธาและต้องการให้ความช่วยเหลือ สามารถบริจาคได้โดยโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ชื่อ สมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ธนาคารกรุงไทย สาขาเจริญประดิษฐ์ เลขที่บัญชี 929-007675-5 และส่งสำเนาหลักฐานการบริจาคได้ที่ 073-333227 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุวิมล พิริยธนาลัย 089-8766300 หรือ [email protected]
ช่วยกันคนละไม้คนละมือ
การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องบอกว่าเป็นการร่วมแรงร่วมใจจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง
ที่บ้านดาโต๊ะ กรมทหารช่าง และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เตรียมเข้าไปสร้างบ้านใหม่ให้กับชาวบ้าน โดยมีโยธาธิการจังหวัดเป็นผู้ออกแบบ ทั้งนี้จะเร่งสร้างบ้านตัวอย่าง 2 หลังก่อน โดยใช้เงินจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นบ้านต้นแบบเหมือน “บ้านสึนามิ” ส่วนหลังต่อๆ ไป จะใช้เงินบริจาคและงบประมาณของรัฐบาลในการดำเนินการ
ขณะที่หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี (ฉก.ปัตตานี) ได้จัดส่งกำลังพลเข้าไปช่วยซ่อมแซมบ้านของชาวบ้านดาโต๊ะอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะหลังที่ยังพอซ่อมแซมได้ เพื่อให้ประชาชนมีที่หลับที่นอน และลดความแออัดที่โรงเรียนตาดีกา
ด้านสื่อมวลชนเองก็ทำหน้าที่เป็น “สื่อกลาง” คอยประสานความช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัย โดยเมื่อ 2-3 วันก่อน ชาวบ้านดาโต๊ะโทรศัพท์หาผู้สื่อข่าวของ “ศูนย์ข่าวอิศรา” แจ้งว่ายายที่ชื่อ “เมาะเยาะ” กำลังป่วยหนัก าเจียน หมดแรง อยากไปโรงพยาบาล แต่ไม่รู้ว่าจะแจ้งใครดี ผู้สื่อข่าวจึงจึงประสานงานกับนายอำเภอยะหริ่งให้ส่งทีมแพทย์และพยาบาลเข้าไปรับ และส่งต่อไปรักษาโรงพยาบาลยะหริ่งได้อย่างปลอดภัย
ส่วนชาวบ้านที่ตันหยงเปาว์ ได้โทรศัพท์เจ้งให้ผู้สื่อข่าวของ “ศูนย์ข่าวอิศรา” ว่าชาวบ้านที่นั่นไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรเลย ทั้งๆ ที่ได้รับความเสียหายคล้ายคลึงกับที่บ้านดาโต๊ะ ผู้สื่อข่าวจึงประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ กระทั่งชาวบ้านได้รับความช่วยเหลืออย่างครบถ้วน
ชาวบ้านที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โทรศัพท์มาขอให้ผู้สื่อข่าว “ศูนย์ข่าวอิศรา” ประสานขอไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าดับมาหลายวันตั้งแต่คืนวันที่ 1 พ.ย. ผู้สื่อข่าวจึงได้ประสานไปยังจังหวัด กระทั่งทางจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปต่อไฟฟ้าให้เรียบร้อย ล่าสุดใช้ไฟฟ้าได้ตามปกติแล้ว
น.ส.รอฮานา กามา ชาวบ้าน ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา โทรศัพท์แจ้ง “ทีมข่าวอิศรา” ว่ามีชาวบ้านติดอยู่ในบ้านขณะที่น้ำท่วมสูง ไม่สามารถหนีออกได้ทัน ทางผู้สื่อข่าวจึงประสานให้ทหารนำเรือท้องแบนเข้าไปช่วยเหลือกระทั่งพาออกมาได้อย่างปลอดภัย
สรุปความเสียหาย 3 จังหวัดชายแดน
ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยวาตภัยและดินถล่มจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประเมินความเสียหายของประชาชนในพื้นที่ ณ วันที่ 5-6 พ.ย.2553 พบว่า
จ.ปัตตานี มีผู้ประสบภัยจำนวน 405 หมู่บ้าน กว่า 95,305 คน ใน 12 อำเภอ และต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ 1,160 คน เสียชีวิต 19 ศพ (รวมลูกเรือประมงที่เรืออับปางกลางพายุ 17 ศพ) มีพื้นที่การเกษตรเสียหายรวม 88,102 ไร่ บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 133 หลัง เสียหายบางส่วน 4,917 หลัง ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.เมืองปัตตานี อ.แม่ลาน และ อ.หนองจิก
จ.ยะลา มีผู้ประสบภัย 13,616 หมู่บ้าน จำนวน 53,361 คน ต้องอพยพออกจากพื้นที่จำนวน 5,877 คน กว่า 341 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 30,119 ไร่ บ้านเรือนของประชาชนเสียหายทั้งหลัง 1 ราย เสียหายบางส่วน 640 หลัง ถนนเสียหาย 298 สาย โรงเรียน วัดและมัสยิดรวม 40 แห่งและ 10 แห่งตามลำดับ
จ.นราธิวาส มีพื้นที่ประสบภัยทั้ง 13 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อนกว่า 15,687 คน ต้องอพยพชาวบ้านใน อ.สุไหงโก-ลก จำนวน 200 คน สำหรับความเสียหายของพื้นที่เกษตรกรรม ทางจังหวัดอยู่ระหว่างการสำรวจ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บ้านที่ถูกกระแสน้ำและลมพัดพังจนเหลือแต่ตอ
2 ถนนทุกสายมุ่งสู่บ้านดาโต๊ะ
3 ร่องรอยความเสียหาย
4-5 บ้านพังจนต้องหนีไปอาศัยอยู่ในมัสยิด
6 น้ำใจที่หลั่งไหลทำให้ผู้ประสบภัยพอยิ้มได้