คอร์รัปชั่นไทยก้าวหน้าเกินใคร โดยศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา
คอร์รัปชั่นไทย ก้าวหน้าเกินใคร โดยศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา
แต่ก่อน คนฝรั่งและคนไทยเรารู้จักการคอร์รัปชั่นแบบ “เงินทอน” (Kickback corruption) เท่านั้น การคอร์รัปชั่นในระบบเงินทอนนี้ ผู้ก่อการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นข้าราชการและนักการเมือง จะได้รับเงิน “เงินทอน” หลังจากงานเสร็จ เบิกจ่ายเงินกันจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว บริษัทผู้รับเหมาจึงจะจ่าย “เงินทอน” ให้ผู้ก่อการคอร์รัปชั่น ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ จะเป็น 30-45% ก็ว่ากันไป ถ้างานยังไม่เสร็จ ยังเบิกจ่ายไม่ได้ ผู้ก่อการคอร์รัปชั่นทั้งหลายก็ต้องรอไปก่อน
การคอร์รัปชั่นแบบเงินทอนนี้ มีข้อเสียสำหรับผู้ก่อการคอร์รัปชั่น ตรงที่ช้าและมีความเสี่ยง ช้าเพราะต้องรอให้งานเสร็จ และให้ผู้รับเหมาได้รับเงินค่าจ้างมาเสียก่อน จึงจะได้เงินทอน โครงการทุน Mega project ใหญ่ๆ มักจะมีระยะเวลาการดำเนินงานนานหลายปี อาจจะเป็น 2-3 ปี หรือมากกว่านั้น
ที่ว่า “เสี่ยง” เพราะทุกวันนี้การเมืองเปลี่ยนแปลงเร็ว นักการเมืองและข้าราชการที่ครองตำแหน่งต่างๆ ต้องเปลี่ยนตำแหน่ง โยกย้ายกันเร็วมาก เพราะตลาดการซื้อขายตำแหน่งในภาครัฐสะพัดสูงมาก ใครที่สามารถครองตำแหน่งสำคัญๆ เกิน 2 ปี ต้องถือว่าทั้งเก่งทั้งเฮงจริง ฉะนั้น ยิ่งรอนานเกิน 1 ปี ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการไม่ได้รับเงินทอนจากโครงการที่เพาะเลี้ยงไว้ เพราะคนอื่นที่เข้ามาครองตำแหน่งแทนอาจไม่ร่วมมือ หรืออาจรับเงินทอนไปเสียเอง เป็นทำนอง “กินตามน้ำ” อะไรทำนองนั้น
แต่วันนี้ กลุ่มผู้ประกอบ การคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ได้มีการออกแบบระบบการคอร์รัปชั่นเสียใหม่ ให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้การลงทุนในระบบคอร์รัปชั่นในภาครัฐของไทยสามารถให้ผลตอบแทนที่รวดเร็ว แน่นอน อีกทั้งมีผลตอบแทนสูงกว่าเดิมอีกด้วย นับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีสำหรับผู้ประกอบการคอร์รัปชั่นไทยทั้งหลาย
ระบบคอร์รัปชั่นใหม่ของประเทศไทย เป็นอย่างไร
ระบบการคอร์รัปชั่นใหม่นี้ ว่ากันว่าได้เริ่มใช้กันแล้วในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ประเภท Mega projects ที่มีวงเงินงบประมาณหลักพันล้านขึ้นไป สำหรับงบประมาณลงทุนก้อนเล็กๆ หลักสิบล้านยี่สิบล้าน หรือไม่เกิน 100 ล้าน ก็ยังคงใช้ระบบเงินทอนแบบเดิมๆ ต่อไป
เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ จะขอแบ่งโครงสร้างตลาดค้างบประมาณในระบบคอร์รัปชั่นแบบใหม่ออกเป็น 3 ตลาด (คล้ายกับตลาดทุน) คือ ตลาดหลัก ตลองรอง และตลาดย่อย
ตลาดหลัก
ต้นทางของระบบการคอร์รัปชั่นโครงการ Mega project ทั้งหลาย เริ่มต้นกันที่ระดับชาติ โดยกลุ่มธุรกิจการเมืองระดับชาติ ซึ่งมีอำนาจอยู่ในมือ ทำการรวบรวมตัวเลขงบประมาณโครงการ Mega project ของส่วนราชการต่างๆ ที่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาไปแล้ว มาไว้ในมือทั้งหมด จากนั้นก็ “เปิดประมูลงบประมาณ” ให้บรรดา “กลุ่มนายหน้าค้างบประมาณ” มาแข่งกันประมูลเอาไปบริหารจัดการต่ออีกทอดหนึ่ง
“กลุ่มนายหน้าค้างบประมาณ” ที่ว่านี้เป็นใคร? กลุ่มเหล่านี้ก็คือบรรดาเจ้าพ่อค้างบประมาณ ทั้งในส่วนกลาง และในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของบรรดาผู้รับเหมางานของรัฐรายใหญ่ๆ และกลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มเหล่านี้มีกำลังเงินมากพอที่จะเหมาซื้องบประมาณของรัฐจากกลุ่มธุรกิจ การเมืองระดับชาติ แต่ละกลุ่มมีการจัดองค์กรแบบทันสมัย พร้อมสรรพด้วยคนทำงานที่มีความชำนาญในการบริหารการจัดซื้อจัดจ้างงานภาครัฐ ทุกกลุ่มมีสิทธิเข้าไปแข่งขันประมูลซื้องบประมาณ โดยไม่เลือกว่าจะมีสี หรือไม่มีสีทางการเมือง ขอเพียงให้มีเงินทุนและมีใจถึง ก็ใช้ได้
เขาประมูลกันอย่างไร? ง่ายมาก ในเบื้องต้นกลุ่มธุรกิจการเมืองระดับชาติ เขาจัดกลุ่มงบประมาณไว้เป็นกองใหญ่ๆ ตามกระทรวง และโครงการต่างๆ ไว้ให้เสร็จเรียบร้อย บ้างก็กำหนดพื้นที่การปฏิบัติการมาให้แล้ว บ้างก็ยังไม่กำหนดพื้นที่ดำเนินการชัดเจน กลุ่มผู้ที่ต้องการประมูลงบประมาณ จะประมูลงบประมาณก้อนไหน โครงการไหน ของหน่วยงานไหน ก็จะแข่งกัน “เสนอค่าหัวคิว” ให้แก่กลุ่มธุรกิจการเมือง เช่น ยินดีจ่าย ค่าหัวคิว 20-30% ของวงเงินงบประมาณที่ต้องการจะได้ เป็นต้น ใครเสนอเปอร์เซ็นต์ค่าหัวคิวสูงกว่าก็ได้รับเหมางบประมาณไป
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ในระบบคอร์รัปชั่นใหม่นี้ กลุ่มไหนประมูลได้ ต้องจ่ายค่าหัวคิวให้กลุ่มธุรกิจการเมืองเงินสดทันที โดยวิธีนี้ นักลงทุนในระบบธุรกิจทางการเมืองจะได้ผลตอบแทนการลงทุนทันที ไม่ต้องรอเงินทอนเหมือนแต่ก่อน
ตลาดรอง
กลุ่มผู้ค้างบประมาณ ที่เหมาซื้องบประมาณมาจากกลุ่มธุรกิจการเมืองระดับชาติ จะมีวิธีค้ากำไรจากงบประมาณที่ซื้อมาได้อย่างไร? เรื่องนี้ทำได้ง่ายๆ ด้วยการเอาโครงการและงบประมาณที่ซื้อมา ไปขายต่อให้แก่บริษัทรับเหมาโครงการลงทุนรายใหญ่ๆ ทั้งหลาย วิธีการซื้อขายงบประมาณในตลาดรองนี้ ก็ใช้การประมูลเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น บริษัทที่ต้องการรับเหมา หรือขายสินค้าให้กับหน่วยงานในภาครัฐ ก็ต้องเสนอค่าหิวคิวให้แก่กลุ่มผู้ค้างบประมาณ เช่น เสนอค่าหัวคิวให้ 30-40% ของวงเงินงบประมาณ ใครเสนอสูงกว่าก็ได้โครงการและงบประมาณไป เป็นต้น
ว่ากันว่า ค่าหัวคิวใน “ตลาดรอง” นี้สูงกว่าตลาดแรก 10-15% ส่วนที่เกินมานี้คือผลตอบแทนจากการลงทุนของบรรดากลุ่มผู้ค้างบประมาณ ซึ่งเป็นคนกลางในตลาดรองนั่นเอง
และเป็นที่แน่นอนว่า การซื้อขายโครงการและงบประมาณในตลาดรองนี้ ก็ต้องจ่ายเงินสดทันที ไม่ต้องรอเงินทอนเช่นเดียวกัน ดังนั้น กลุ่มผู้ค้างบประมาณซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางในตลาดรอง จึงได้ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นเงินสดทันทีเช่นกัน
ตลาดย่อย
บรรดาบริษัทที่ซื้องบประมาณโครงการใหญ่ๆ เมื่อได้โครงการมา ก็มาว่าจ้างผู้รับเหมารายย่อย ไปดำเนินการต่อ พร้อมกับหักค่าหัวคิวเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง เช่น 5-10% เป็นต้น ทำให้ค่าหัวคิวที่ปลายทางเพิ่มขึ้นไปเป็น 40-50% ผู้รับเหมางานรายย่อย จึงมีเงินเหลือไปทำโครงการจริงๆ แค่ 50-60% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมา บางโครงการอาจเหลือน้อยกว่านั้น
ระบบคอร์รัปชั่นที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ เพิ่มจุดแข็ง และปิดจุดอ่อนของระบบของระคอร์รัปชั่นแบบเงินทอน ซึ่งนิยมใช้กันแพร่หลายก่อนหน้านี้ ดังต่อไปนี้
ประการแรก ระบบใหม่นี้ สามารถลดความเสี่ยง อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง เพราะการเมืองวันนี้เปลี่ยนเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี หรือเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยราชการ นักลงทุนในธุรกิจการเมืองระดับชาติ และข้าราชการที่อยู่ในวงการซื้อขายตำแหน่งทั้งหลาย จึงต้องการระบบคอร์รัปชั่นที่ตอบโจทย์ “มาเร็ว ไปเร็ว เคลมเร็ว” ได้ ระบบคอร์รัปชั่นใหม่นี้ ช่วยให้นักลงทุนในธุรกิจการเมือง ผู้ค้างบประมาณ และข้าราชการทั้งหลาย ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นเงินสด และจ่ายทันที ไม่ต้องเงินทอน
ประการที่สอง ระบบคอร์รัปชั่นแบบเดิม (ระบบเงินทอน) มักจะเปิดช่องให้องค์กรตรวจสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สตง.ปปช. สามารถเข้าไปตรวจพบข้อบกพร่องในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการเบิกจ่ายเงินได้ ไม่มากก็น้อย
แต่ในระบบคอร์รัปชั่นใหม่นี้ ไม่มีช่องว่างเหลือให้องค์กรตรวจสอบฯ สามารถตรวจพบหลักฐานการทุจริต ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายเงินได้ เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง และกลุ่มผู้รับเหมางบประมาณในพื้นที่ ช่วยกันจัดการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายแบบไม่มีที่ติ ไม่ว่าจะเป็นการจจัดซื้อจัดจ้างแบบใด อีกทั้งการเบิกจ่ายเงินก็เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบกฎหมายทุกประการ ไม่มีการทอนเงินเกิดขึ้นแต่อย่างใด
ประการสุดท้าย และน่าทึ่งมากที่สุดก็คือ ระบบการคอร์รัปชั่นแบบใหม่ สามารถกีดกัน “บริษัทธุรกิจน้ำดี มีคุณธรรม” ทั้งหลาย ให้ออกไปจากตลาดการแข่งกันการประมูลรับเหมางานของรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะในระบบคอร์รัปชั่นใหม่นี้ กลุ่มผู้ค้างบประมาณ ได้เหมาซื้องบประมาณโครงการ Mega Project มากอดไว้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นทาง ใครอยากได้ ต้องมาซื้อเอาจากกลุ่มนี้เท่านั้น พวกธุรกิจน้ำดี ที่เคยร่วมกับสภาหอการค้าเพื่อต่อต้านระบบคอร์รัปชั่น ด้วยการไม่จ่ายไต้โต๊ะ หรือไม่จ่ายเงินทอนให้นักการเมืองและข้าราชการก็จะไม่มีวันได้รับเหมางานของ ส่วนราชการ
นี่คือการคอร์รัปชั่นที่มีการจัดโครงสร้างองค์กร ให้สามารถกินรวบหัวคิวการบริหารงบประมาณได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ไม่ให้หลุดรอดออกไปภายนอกได้ ทำให้ธุรกิจทั้งหลายต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ต่อไปนี้ จะไม่มีใครได้งานมาทำฟรีๆ เพราะงบประมาณมีต้นทุน มีเจ้าของ ใครอยากได้ก็ต้องซื้อ และต้องซื้อด้วยเงินสดเท่านั้น
ระบบคอร์รัปชั่นแบบใหม่ล่าสุดนี้ ถ้าเป็นเปรียบเป็นเชื้อโรค ก็ต้องบอกว่าเป็นเชื้อที่ร้ายแรงที่สุด ที่เราเคยรู้จักกันมา เป็นโรคที่เฝ้าระวังป้องกันไม่ได้ เพราะเกิดจากภายในร่างกายของเราเอง ในขณะเดียวกัน ระบบการดับจับและทำลายเชื้อโรค ที่มีอยู่ในตัวเราเองก็ช่วยอะไรไม่ได้ เป็นโรคที่ไม่มียารักษา ใครเป็นแล้วต้องตาย และตายแบบเฉียบพลัน
เพราะคนไทยเรายอมรับคอร์รัปชั่น ยอมรับระบบธุรกิจการเมืองมานานเกินไป เราปล่อยให้การคอร์รัปชั่นในสังคมไทยเราเติบโตขยายตัวนาน จนมันสามารถสร้างองค์กรของมันเองได้ จนกลายเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง สามารถจัดระบบการคอร์รัปชั่นได้อย่างเบ็ดเสร็จ และมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าองค์กรอาชญากรรมใดๆ ที่เคยมีมา
บทความนี้จึงเรียกระบบคอร์รัปชั่นที่อุบัติขึ้นในประเทศไทย เป็นที่แรกของโลกว่า “องค์กรคอร์รัปชั่นแบบเบ็ดเสร็จ (Inclusive Structural Corruption)”