"ไครซิสกรุ๊ป"เสนอแนวทางดับไฟใต้...ชำระอยุติธรรม-หาโมเดลปกครองใหม่
อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิสกรุ๊ป องค์กรที่ติดตามปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงทั่วโลก ได้นำเสนอรายงานชิ้นล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 3 พ.ย.2553 ระบุว่า รัฐบาลไทยจะต้องฝ่าสภาวการณ์ชะงักงันของปัญหาความไม่สงบและความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยผลักดันการแก้ปัญหาด้วย "การเมือง" อย่างจริงจัง ด้วยการชำระปัญหาความอยุติธรรมในอดีต พร้อมทั้งพูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบและแสวงหารูปแบบการปกครองแบบใหม่
"สภาวการณ์ชะงักงันในภาคใต้ของไทย" เป็นชื่อรายงานชิ้นล่าสุดของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิสกรุ๊ป ที่วิเคราะห์ถึงปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ในช่วงปีที่ 2 ของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะที่การชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯในช่วงต้นปี 2553 ได้สะกดความสนใจของผู้คน แต่ความรุนแรงในภาคใต้ก็ยังคงดำเนินต่อไป
ปัญหาภาคใต้กลายเป็นประเด็นชายขอบของความสนใจสาธารณะ และยังคงไม่อาจแก้ไขได้ มีผู้คนเสียชีวิตไปกว่า 4,400 คนในความขัดแย้งซึ่งปะทุขึ้นเมื่อกว่าหกปีที่แล้ว
“ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตระหนักว่าการแก้ปัญหาด้วยการเมืองนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการยุติความขัดแย้ง แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพูดที่กล่าวไว้ได้” รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์ประจำประเทศไทยของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิสกรุ๊ป กล่าว และว่า
“การเปลี่ยนกระบวนทัศน์เป็นสิ่งที่จำเป็น ควรจะมีการยอมรับว่าการผนวกกลืนเอาคนมลายูมุสลิมเข้ากับวัฒนธรรมของสังคมใหญ่นั้นล้มเหลว การยอมรับถึงอัตลักษณ์เฉพาะทางศาสนาและเชื้อชาติของพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญต่อการแก้ปัญหาภาคใต้”
รายงานยังระบุว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถทำตามสิ่งที่เคยประกาศไว้ว่าจะพิจารณายกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ในทางตรงกันข้าม กฎหมายฉบับนี้กลับถูกนำไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ เพื่อปราบปรามผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าในการนำเอาผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในขณะที่การซ้อมทรมานและการละเมิดอื่นๆ ต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ตอกย้ำถึงปัญหาการละเว้นการลงโทษผู้กระทำผิดและสนับสนุนคำอธิบายของขบวนการถึงการปกครองอันอยุติธรรม ทั้งยังมีส่วนผลักดันให้คนเข้าสู่ขบวนการอีกด้วย
การปฏิรูปการบริหารการปกครองโดยเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการกับปัญหาของตนเองจะเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างพื้นที่ให้คนมลายูมุสลิมได้พูดถึงความอึดอัดคับข้องใจและผลักดันความต้องการของพวกเขาอย่างสันติ แม้ว่าจะมีการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ได้อย่างเปิดเผยขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่มีความพยายามอย่างจริงจังในการแสวงหารูปแบบการปกครองที่เป็นไปได้ของการกระจายอำนาจภายใต้กรอบความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทย
รัฐบาลจะต้องพยายามอย่างจริงจังที่จะพูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบ และพร้อมที่จะยินยอมตามข้อเสนอบางอย่าง ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เพิกเฉยต่อการประกาศหยุดปฏิบัติการรุนแรงแบบฝ่ายเดียวในพื้นที่จำกัดของกลุ่มก่อความไม่สงบ 2 กลุ่ม รัฐบาลควรจะดำเนินตามนโยบายที่วางไว้ในการลดจำนวนทหาร โดยใช้กำลังตำรวจและอาสาสมัครในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยแทนในบางส่วน
ในขณะที่กองทัพคาดหวังว่านโยบายตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ที่คล้ายกับการนิรโทษกรรม ซึ่งคาดว่าจะมีการบังคับใช้ในเร็ววันนี้ จะสามารถโน้มน้าวให้ผู้ก่อความไม่สงบเข้ามอบตัวได้ แต่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนกลับเกรงว่ามาตรการนี้อาจนำไปสู่การบังคับให้สารภาพ อย่างไรก็ดี มาตรการนี้เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ตราบใดที่บริบททางสังคมการเมืองที่เป็นปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไข
หากการเมืองในกรุงเทพฯยังคงไร้เสถียรภาพ รัฐบาลซึ่งวุ่นวายกับการจัดการปัญหาของตนเองเพื่อความอยู่รอดก็จะยังคงเพิกเฉยต่อปัญหาภาคใต้
“แม้ว่าจะมีเรื่องอื่นๆ มาดึงความสนใจ แต่ในทุกภาคส่วนของรัฐบาลก็ควรจะครุ่นคิดว่าจะตอบสนองต่อท่าทีของขบวนการอย่างไร” จิม เดลลา-จิอาโคม่า ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิสกรุ๊ป กล่าว และว่า
“ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักว่าไม่สามารถเอาชนะกันได้ด้วยการทหาร การแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้จึงต้องแก้ด้วยการพูดคุยและประนีประนอม ซึ่งหมายถึงว่าฝ่ายขบวนการเองก็จำเป็นต้องมีข้อเสนอทางการเมืองที่เป็นเอกภาพด้วย”