"กษิต"ไม่ปฏิเสธ "โอไอซี"ถกกลุ่มป่วนใต้ แต่ขวางเป็น "คนกลาง" เปิดโต๊ะเจรจา
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ปฏิเสธข่าวที่ระบุว่า องค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) เปิดโต๊ะหารือร่วมกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และนครเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย แต่ได้ย้ำจุดยืนว่าประเทศไทยและรัฐบาลไทยมองปัญหานี้เป็นปัญหาภายใน ไม่ต้องการให้ชาติใดเข้ามายุ่งหรือแทรกแซง พร้อมปฏิเสธการให้โอไอซีเป็น "คนกลาง" เจรจาระหว่างแกนนำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลไทย
"ผมได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว แต่ขณะนี้เป็นเพียงข่าว ทางการไทยยังไม่ทราบข้อมูลใดๆ จากโอไอซีโดยตรง" นายกษิต ระบุถึงข่าวการหารือที่ออกมา และว่า จากการประชุมอย่างเป็นทางการของโอไอซีครั้งล่าสุด ที่ประชุมมีความเห็นว่า 1.ประเทศโลกอิสลามปฏิเสธการบิดเบือนคำสอนของศาสนาที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงใดๆ และ 2.ปฏิเสธที่โลกบางส่วนพยายามมองว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของความรุนแรง
"ผมหวังว่าโอไอซีจะบอกกับผู้ที่อยู่ในภาคใต้ของไทยว่าโลกของโอไอซีไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง" นายกษิต กล่าว
ย้ำไฟใต้เป็นกิจการภายใน-ปัดโอไอซี "คนกลาง"
นายกษิต กล่าวต่อว่า การพบปะกันระหว่างโอไอซีกับแกนนำทางภาคใต้ก็มีมาโดยตลอด และเป็นที่ทราบกันดี เพราะทางโอไอซีก็เล่าให้ไทยฟังบ้าง ขณะที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้บอกให้นายกรัฐมนตรีไทยทราบถึงการพบปะดังกล่าว ซึ่งไทยมีเงื่อนไขประการเดียวว่าเรื่องภาคใต้ไม่ใช่เรื่องของประชาคมโลก ไม่ต้องการให้ใครมายุ่งและแทรกแซงกิจการภายใน แต่ก็มองในแง่บวกหากจะพูดกันเป็นการภายในเพื่อช่วยให้เกิดสันติภาพและไม่มีความรุนแรง โดยทุกวันนี้ก็มีความคืบหน้าในเชิงบวกอย่างมากในการแก้ไขปัญหาโดยรัฐบาล
"ขอย้ำว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นให้เกิดสันติภาพและสันติสุขในภาคใต้ และมีการป้อนข้อมูลความคืบหน้าต่างๆ ให้โอไอซีทราบเป็นระยะ อย่างไรก็ดี หากโอไอซีจะเข้ามาเสริมอะไร ก็ต้องดูจากสิ่งที่รัฐบาลได้ทำไปเสียก่อน ทั้งนี้รัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย-ตะวันออกกลาง หรือ อาเหม็ด ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้ และคงจะได้พูดคุยกันเพิ่มเติม"
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเห็นอย่างไรหากโอไอซีจะเข้ามาทำหน้าที่เป็น "คนกลาง" เจรจาระหว่างผู้ก่อเหตุในภาคใต้ของไทยกับรัฐบาลไทย นายกษิต กล่าวว่า ไม่รับ ไม่ต้องมีใครเป็นคนกลาง เราพูดกันเองได้ ก็รู้ว่าใครเป็นใครและรู้ว่าจะพูดกับใคร เพราะเป็นพลเมืองไทย พูดภาษาไทยกันรู้เรื่อง หากมีประเด็นคับข้องใจ เอาความจริงมาพูดกันได้ แต่การใช้ความรุนแรงไม่ได้แก้ปัญหา และพิสูจน์แล้วทั่วโลกว่าไม่มีทางได้รับชัยชนะและไม่มีใครเล่นด้วย ยืนยันว่าสังคมไทยเรามีสิทธิเสรีภาพเต็มที่
เปิดรายงาน "เนชั่น" อ้างโอไอซีจัดถกกลุ่มป่วนใต้
อนึ่ง หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น รายงานเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า องค์การการประชุมอิสลาม หรือ (โอไอซี) ซึ่งมีชาติสมาชิกถึง 56 ประเทศ ได้เริ่มเข้ามาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยซึ่งมีชาวมลายูมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ เพื่อค้นหาแนวทางทางการเมืองในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งซึ่งถูกระบุว่ามีผู้คนต้องสังเวยชีวิตไปแล้วมากกว่า 4,200 ศพ ตั้งแต่เดือน ม.ค.2547 เป็นต้นมา
ข้อมูลที่อ้างว่ามาจากฝ่ายต่างประเทศของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนปัตตานี-มาเลย์ ระบุว่า โอไอซีจัดให้มีการประชุมพร้อมกันระหว่างหัวหน้ากลุ่มดังกล่าวนี้ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และนครเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 30 ก.ย. และ 1 ต.ค.2553
แหล่งข้อมูลเดียวกันยังอ้างว่า ศ.ดร.เอกเมเลดดิน อิซาโนกลู เลขาธิการโอไอซี นั่งเป็นประธานการประชุมที่เจดดาห์ด้วยตนเอง ส่วน นายทาลาล เอ ดาอุส ผู้นำองค์กรของกลุ่มที่มีประชากรมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย นั่งเป็นประธานการประชุมที่กัวลาลัมเปอร์ โดยการประชุมครั้งล่าสุดจาก 2 เมืองใหญ่ดังกล่าวมีตัวแทนจากขบวนการพูโล บีอาร์เอ็น บีไอพีพี (กลุ่มที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย) และผู้นำอาวุโสของกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมหารือด้วย
ผู้นำกลุ่มเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นให้ผสานความร่วมมือเพื่อจัดตั้งองค์กรนำทางการเมือง ขณะที่ โอไอซี ให้คำมั่นว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดกระบวนการพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย โดยรัฐบาลมาเลเซียได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการพบปะกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และนั่นทำให้เข้าใจได้ว่ามาเลเซียทำงานอย่างใกล้ชิดกับโอไอซีในฐานะเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการนี้
แหล่งข้อมูลเดียวกันยังอ้างการเปิดเผยของนักการทูตรายหนึ่งว่า โอไอซีได้กระตุ้นให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนผสานความร่วมมือเพื่อจัดตั้งสหพันธ์ประชาชนปัตตานี (United Patani People Council : UPPC) และทันทีที่องค์กรนำนี้เป็นรูปเป็นร่าง ก็จะมีการจัดตั้งสภาประชาชนปัตตานี (Patani People Congress : PCC) ขึ้น แนวคิดนี้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนมุสลิมในพื้นที่ที่ยึดมั่นในประวัติศาสตร์ที่ว่า ดินแดนของพวกเขาถูกยึดครองโดยสยาม ทำให้ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกรุงเทพฯมานานกว่า 1 ศตวรรษ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายกษิืต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ภาพจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)
2 สัญลักษณ์โอไอซี
3 ศ.ดร.เอกเมเลดดิน อิซาโนกลู เลขาธิการโอไอซี ซึ่งถูกระบุว่าเป็นตัวจักรสำคัญในการจัดการประชุมระหว่างโอไอซีกับแกนนำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของไทย (ภาพจากเว็บไซต์โอไอซี http://www.oic-oci.org/)