8 ปีตากใบ (1) เมื่อการเยียวยาไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นธรรม
วันที่ 25 ต.ค.2555 เป็นวันครบรอบ 8 ปีของเหตุการณ์ตากใบตามปฏิทินไทย แต่หากนับตามปฏิทินอิสลาม จะตรงกับวันที่ 11 ของเดือนรอมฎอน ซึ่งปีนี้ถือว่าผ่านพ้นไปแล้ว
เหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 หรือวันที่ 11 ของเดือนรอมฎอน ฮ.ศ. (ฮิจเราะห์ศักราช) 1425 สืบเนื่องจากการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเนื่องจากยักยอกปืนของทางราชการ แต่แจ้งความเท็จว่าถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชิงไป (ช่วงนั้นเกิดเหตุคนร้ายชิงปืนจาก ชรบ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านบ่อยครั้ง จนทางราชการต้องคาดโทษ) ซึ่งชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่า ชรบ.ทั้ง 6 คนเป็นผู้ยักยอกปืน จึงมีการจัดการชุมนุมขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่าเป็นการพยายามจัดฉากให้เกิดความรุนแรง
การรวมตัวของผู้ชุมนุมหลายพันคนเริ่มบานปลายและคุมไม่อยู่ จนเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ตัดสินใจใช้กำลังสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 ราย (5 รายมีบาดแผลถูกยิงบริเวณศีรษะ) ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย แต่การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากเกิดขึ้นระหว่างการขนย้ายผู้ถูกจับกุมจากหน้า สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้วิธีให้ถอดเสื้อและมัดมือไพล่หลัง จับขึ้นไปเรียงซ้อนทับกันบนรถยีเอ็มซีของทหาร ทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งอ่อนเพลียอยู่แล้วจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนต้องขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตถึง 78 ราย
เหตุการณ์ร้ายที่มีผู้เสียชีวิตในคราวเดียวกันมากถึง 85 คน และกระบวนการยุติธรรมทางอาญายังมิอาจพิสูจน์ความผิดได้ว่าเกิดจากใครและด้วยเหตุผลใด ทำให้กรณีตากใบกลายเป็นแผลในใจของพี่น้องมุสลิมจำนวนมากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนิสิตนักศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคม ได้จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบอย่างต่อเนื่อง ปีนี้ก็เช่นกัน
แต่ที่ดูแตกต่างออกไปก็คือปีนี้มีกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยรัฐด้วย โดยเฉพาะจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทั้งการทำบุญร่วมกับครอบครัวผู้สูญเสียเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตตามคติความเชื่อของมุสลิมที่หอประชุมบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันพุธที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา, การมอบเงินเยียวยาจิตใจให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีอาญาจำนวน 58 ราย (ในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งภายหลังอัยการถอนฟ้อง) รายละ 32,000 บาท รวมเป็นเงิน 174,0000 บาท เมื่อวันจันทร์ที่ 22 ต.ค.
ขณะที่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวละ 7.5 ล้านบาท ตามมติของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานไปแล้ว โดยจ่ายงวดแรกจำนวน 3.5 ล้านบาท เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ส.ค.2555
แม้ทั้งหมดนี้จะทำให้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐครอบคลุมกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่ความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ เป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าติดตามรับฟังไม่น้อยเหมือนกัน
โดยเฉพาะในยามที่เหตุการณ์ร้ายผ่านพ้นมานาน 8 ปีและภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงแสดงท่าทีไม่อยากให้รื้อฟื้นขึ้นมาพูดถึงกันอีก...
นายมะรีกะห์ บินอูมา หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบทางคดี กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ภาครัฐให้ความสนใจกับปัญหาของเหยื่อตากใบ โดยเฉพาะ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขา ธิการ ศอ.บต.ที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินเยียวยา และยังให้ความสำคัญจัดงานครบรอบ 8 ปีเหตุการณ์ตากใบขึ้นอีกด้วย สิ่งนี้ทำให้รู้สึกดีใจมาก เพราะยังไม่เคยมีหน่วยงานรัฐหน่วยไหนที่ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ตากใบมากขนาดนี้
อย่างไรก็ดี ในความรู้สึกส่วนลึกของ มะรีกะห์ เขาเห็นว่าการเยียวยาก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นธรรม
"อยากให้เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเราคือต้องเดินทางขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นเวลานานถึง 2 ปี (ก่อนที่อัยการสั่งถอนฟ้องในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) การที่ภาครัฐมาช่วยเหลือเยียวยาวันนี้ยังไม่เท่ากับสิ่งที่พวกเราต้องเสียในขณะนั้น ที่สำคัญพวกเราต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดผวา ไม่กล้าไปไหนมาไหน ต้องคอยระวังตัวตลอด เพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐเพ่งเล็ง ประกอบกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้สับสนอลหม่านไปหมด ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และไม่รู้ว่าความรุนแรงเกิดจากเหตุผลอะไรแน่" มะรีกะห์ กล่าว
ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบอีกรายหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าวว่า ดีใจที่วันนี้ภาครัฐให้ความสำคัญดูแลเหยื่อตากใบทุกกลุ่ม แม้จะไม่มากเท่าที่ชาวบ้านต้องสูญเสีย แต่ก็ยังดี เพราะอย่างน้อยก็ทำให้มีความรู้สึกบ้างว่าไม่ใช่หน่วยงานรัฐทั้งหมดที่มองผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ตากใบในแง่ลบ
"ส่วนตัวไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้รับเงินเยียวยา โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกดำเนินคดี ยังคิดว่า ศอ.บต.มาหลอกเอาข้อมูลอีกหรือเปล่า แต่ความจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น" ผู้ได้รับผลกระทบรายนี้ กล่าว
ในสายตาของเขาเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกนำไปผูกโยงกับเหตุการณ์สำคัญๆ บางเหตุการณ์ เช่น ตากใบหรือกรือเซะ จนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่บางเรื่องไม่มีความเกี่ยวโยงกันเลย
"อย่างเหตุการณ์กรือเซะ (ความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547) พอถึงวันครบรอบเหตุการณ์ก็จะมีตลอด ขับรถมาทิ้งใบปลิวบ้าง ยิงใส่มัสยิดบ้าง ใช้รถตู้บ้าง โดยคนที่ก่อเหตุจงใจทำให้เห็นว่าพวกที่มีแนวคิดรุนแรงทำเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในวันครบรอบเหตุการณ์ แล้วก็มีการใส่ข้อมูลสารพัด โดยเฉพาะจากภาครัฐ อ้างว่าทำเพื่อแสดงศักยภาพบ้างอะไรบ้าง ทั้งที่ความจริงคนที่ก่อเหตุมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่พอข้อมูลแบบนี้ออกมา คนที่ได้รับผลเสียไปเต็มๆ ก็คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เพราะจะถูกมองอย่างหวาดระแวงทันที"
"อย่างกรณีตากใบก็เหมือนกัน พอมีการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ อ.ตากใบ หน่วยงานภาครัฐก็ให้ข่าวว่าคนร้ายต้องการสร้างสถานการณ์ในวันครบรอบ 8 ปีตากใบ ทั้งที่รู้ว่าคนร้ายมาจากกลุ่มอิทธิพล ต้องการสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้น แล้วก็กลบเรื่องน้ำมันเถื่อนที่จับกุมกันก่อนหน้านั้น ซึ่งมีทั้งกลุ่มอิทธิพลและคนของรัฐเองเกี่ยวข้อง สื่อก็ต้องการขายข่าว มีใครย้อนดูบ้างไหมว่าความจริงแล้วเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์มีอะไรอยู่เบื้องหลัง"
"อยากบอกว่าคนที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ตากใบ เขานับวันครบรอบตามเดือนในฮิจเราะห์ศักราช ตามปฏิทินอิสลาม ฉะนั้นไม่ใช่เดือนตุลาคมเหมือนปฏิทินไทย พวกเขานับตามเดือนอิสลามซึ่งก็คือเดือนรอมฎอน อยากให้เข้าใจตรงนี้ ส่วนคนที่ก่อเหตุช่วงนี้จะทำเพื่อน้ำมันเถื่อน ผลประโยชน์ หรืออิทธิพลอะไรก็แล้วแต่"
และการใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวงก็เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ตากใบต้องเจอกันทุกคน
"8 ปีแล้วที่พวกเราต้องทนอยู่อย่างหวาดระแวง ไม่ว่าใครมาจากไหนเราก็ระแวงหมด ไม่รู้ว่ากลัวอะไร รู้แค่ว่ากลัว ถือเป็นความรู้สึกที่เลวร้าย ยิ่งบางครั้งมีพรรคพวกของเราโดนยิ่ง ยิ่งทำให้มีความรู้สึกว่าเรามีพื้นที่ปลอดภัยน้อยมาก บางทีต้องหนีไปมาเลย์ สักพักพอเรื่องเงียบค่อยกลับมา อย่างไรเสียเราก็ต้องกลับเพราะครอบครัวเราอยู่ที่นี่ บ้านอยู่ที่นี้ ก็อยากอยู่ที่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตา และก็เชื่อว่าคนที่หนีหลายๆ คนก็หนีเหมือนเรา ต้องหนีไว้ก่อน ผิดหรือไม่ผิดไม่รู้ แต่คิดว่าหนีก่อนปลอดภัยกว่า นี่เป็นความจริงที่เกิดขึ้น เป็นสภาพบังคับที่พวกเราต้องเจอ"
ขณะที่ญาติเหยื่อตากใบอีกรายหนึ่ง กล่าวสั้นๆ ว่า รู้สึกดีใจที่รัฐยังเหลียวแลเรื่องเงินช่วยเหลือเยียวยา แต่ถ้าจะถามว่ารู้สึกได้รับความเป็นธรรมหรือยัง ขอบอกเลยว่ายัง
"อยากให้แยกให้ออกว่าเรื่องเยียวยากับความเป็นธรรมทางคดีเป็นคนละเรื่อง คิดว่าทุกคนน่าจะรู้ รัฐเองก็รู้"
พลิกปูมคดีตากใบทั้งแพ่ง-อาญา
1.พนักงานอัยการถอนฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน (ต่อมาเสียชีวิต 1 คน) ที่ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดียั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย โดยถอนฟ้องเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2549 (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์) โดยให้เหตุผลต่อสาธารณะว่า "...การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะและอาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ"
2.คดีแพ่งที่ญาติผู้เสียชีวิต ตลอดจนผู้บาดเจ็บและทุพพลภาพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อเรียกค่าเสียหายในกรณีเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ตากใบ มีจำนวน 7 สำนวน ระหว่างปี 2548-2549 ต่อมาได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงยอมรับค่าเสียหายทางแพ่ง
3.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จำนวน 7 คน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากอยู่ในช่วงเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างการชุมนุม จึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งให้งดการสอบสวน
4.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิต 78 คนจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมนับพันคนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งไต่สวนการตาย เนื่องจากเป็นกรณีการเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ หรือเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบทางคดีในเหตุการณ์ตากใบ (ภาพโดย นาซือเราะ เจะฮะ)