ชี้ออกกติกาแพทย์มากเสี่ยงสมองไหล-ซัดกองทุนสุขภาพทำระบบรักษาต่ำ
เครือข่ายสุขภาพชี้ไทยตั้งเกณฑ์บังคับแพทย์มาก เสี่ยงสมองไหล ซัดกองทุนสุขภาพรัฐทำคุณภาพการรักษาต่ำ เตือนสปสช. อย่าทำเกินหน้าที่ แนะสมัชชาสุขภาพเปิดประเด็นบรรจุหลักเกณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ
วันที่ 24 ต.ค. 55 ภาคีเครือข่ายเพื่อระบบสุขภาพที่ดีกว่าของคนไทย จัดเสวนา ‘2012 Thailand Healthcare Summit: คุณภาพการรักษาและความปลอดภัยของผู้ป่วย’ ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ โดยศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาด้านสุขภาพไทยปัจจุบันเกิดจากรัฐลดตำแหน่งบุคลากรทางการแพทย์ กดค่าแรง อีกทั้งบังคับให้ทำงานในอัตราชั่วโมงที่มากเกินไปภายใต้กฎเกณฑ์มากมาย จนส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลง จากเดิมที่ควรให้เวลาตรวจผู้ป่วย 10-15 นาที/คน เหลือเพียง 2-3 นาที/คนเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้อนาคตเมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แพทย์เชี่ยวชาญในไทยอาจย้ายฐานและถูกซื้อตัวไปอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลในมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยไทยทันที
“ไทยกำลังย้อนไปเหมือนอังกฤษเมื่อ 50 ปีก่อน เกี่ยวกับการผลักดันนโยบายรักษาฟรี การบังคับทำงานของแพทย์ ทำให้แพทย์อังกฤษหนีไปทำงานในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียแทน และถูกแทนที่ด้วยแพทย์อินเดีย หากไทยเข้าสู่เออีซีเมื่อไหร่อาจมีแพทย์ฟิลิปปินส์ พม่า เข้ามารักษาคนไทยแทนแพทย์ไทยด้วยกันเองแน่นอน”
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องปลูกจิตสำนึกให้รู้จักหน้าที่ในการดูแลรักษาสุขภาพและเข้าใจถึงสิทธิทางสุขภาพ อีกทั้งเชื่อว่านโยบายการรักษาฟรีจะทำให้ผู้ป่วยไม่ดูแลสุขภาพ และไม่เห็นคุณค่าของยาที่ได้รับ เพราะไม่ได้จ่ายเงินเอง แต่ควรสร้างมาตรฐานทางการรักษาให้ผู้ป่วยมีสิทธิเลือกรับบริการมากกว่า
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ผ่านการขับเคลื่อนร่วมกันของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และต้องบรรจุหลักการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทุกปีนำเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลระบบการเงิน หากแต่สปสช. กลับละเลยการปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัดทำหน้าที่สั่งการว่าปีนี้จะรักษาโรคแต่ละประเภทอย่างไร ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องการทำงานให้มีคุณภาพ แต่กองทุนต่าง ๆ กลับทำให้ระบบการสั่งจ่ายยาล้มเหลว บังคับเราให้ใช้แต่ยาประเภทหนึ่งก่อนกว่าจะได้ยาคุณภาพอีกประเภทหนึ่งคนไข้คงคางเหลืองแล้ว ฉะนั้นเมื่อมีเงินซื้อเครื่องบินเอฟ 16 ก็ควรมีเงินซื้อยาดี ๆ รักษาประชาชนด้วย
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ขณะนี้ได้ขับเคลื่อนร่วมกันสปสช. ในเรื่องการตรวจคัดกรองสุขภาพของผู้ป่วย แต่ยังพบอุปสรรคกฎหมายประกันสังคมไม่เอื้อต่อการรักษา อย่างไรก็ตามคิดว่าการร่วมมือของกองทุนด้านสุขภาพทั้งหมดจำเป็นต้องเร่งเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศในการรักษา เพื่อยกระดับการพยาบาลให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพต่อไป
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ต้องวิเคราะห์เมื่อนโยบายด้านสุขภาพเข้าถึงประชาชนแล้ว ผลลัพธ์การให้บริการเป็นอย่างไร ซึ่งหากเป็นโรคพื้นฐานทั่วไปควรได้รับการรักษาแล้วหายทันที แต่บางโรคที่ซับซ้อนผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาเร็วที่สุดก่อนที่จะมีภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ดียังมั่นใจว่าโรงพยาบาลของไทยยังมีศักยภาพการรักษาที่มีคุณภาพและเข้าถึงอยู่ภายใต้กองทุนด้านสุขภาพ
นางรัชนี แมนเมธี รองประธานชมรมสายใยความหวังผู้ป่วย กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์จะเป็นผู้กำหนดการรักษาให้ทั้งหมด โดยผู้ป่วยจะเป็นผู้รับการรักษาอย่างเดียว ทำให้ความสัมพันธ์ในการรักษาเป็นแนวดิ่ง ซึ่งจะไม่เกิดการพัฒนาในระบบสุขภาพ เพราะผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่าตนเองด้อย เกิดความไม่เชื่อมั่นในตนเอง ทุกอย่างอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้เดียว อาจทำให้ระบบสุขภาพไทยเรื้อรังไปเรื่อย ๆ ขณะที่ระบบสุขภาพของตะวันตกก้าวไกลเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันมาก ทั้งนี้อนาคตไทยควรบูรณาการระบบการรักษาให้ครอบคลุมทั้งการรักษาโรคเฉพาะทางและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยพร้อมกัน แต่จะสำเร็จได้ต้องเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้มีสัดส่วนเท่ากับผู้ป่วยด้วย
ขณะที่น.ส.ชุติกร พูลทรัพย์ ประธานชมรมธาลัสซีเมีย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าระบบสุขภาพถ้วนหน้าสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้ดี แต่ยังมีผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่ยังขาดการรักษาและมักถูกปฏิเสธการรักษาด้วยระบบสุขภาพดังกล่าว เนื่องจากการจำกัดการใช้ยาบางประเภทอาจส่งผลต่ออาการแพ้ได้ ฉะนั้นจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีที่มีราคาแพงกว่า แต่อาจต้องให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายในส่วนต่าง หรือเพิ่มส่วนต่างจากงบที่มีให้ เพื่อนำงบประมาณที่เพิ่มมาไปให้ผู้ป่วยที่ไม่มีจริง ๆ ซึ่งมั่นใจว่าผู้ป่วยอยากเลือกยาที่ดีที่สุดให้ตัวเอง และจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคตของไทยไม่ขาดทุน เพราะของฟรีที่มีคุณภาพไม่มีในโลก
ทั้งนี้ ในเวทียังเสนอให้บุคลากรทางการแพทย์หมั่นลงพื้นที่ให้ความรู้ป้องกันและรักษาโรคแก่ประชาชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างความสันพันธ์และปลูกจิตสำนึกในการรักษาสุขภาพมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยที่ศูนย์สาธารณสุขบริการ 4 ดินแดง ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ได้สอบถามอาการและแนะนำว่าหากจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง โดยไม่ได้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล เพราะจะได้รับยาที่มีคุณภาพกว่า เนื่องจากที่นี่มียารองรับในคุณภาพระดับหนึ่งเฉพาะผู้ถือบัตรหลักประกันสุขภาพเท่านั้น.