6 ปีตากใบ (2)...เสียงก้องจากเยาวชนชายแดนใต้ "อย่าปล่อยให้อากาศลอยนวล!"
นี่คือเสียงรำพันผ่านบทกวีในยามแดดร่มลมตกจากนักศึกษามุสลิมที่เข้าร่วมรำลึกเหตุการณ์ 6 ปีตากใบ ณ วงเวียน ม.อ.ปัตตานี หน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา
บทกวีไร้ฉันทลักษณ์สะกดให้ผู้คนที่มาร่วมรับฟังและผู้ที่สัญจรผ่านไปมาได้รับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์วิปโยคในครานั้น ซึ่งว่ากันว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย
กลุ่มนักศึกษาร่วม 200 คนที่เคลื่อนไหวจัดกิจกรรมรำลึก 6 ปีตากใบ มาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ซึ่งประกอบด้วย ม.อ.ปัตตานี ม.อ.หาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
กิจกรรมดำเนินไปอย่างสงบ ผ่านการสื่อสารอย่างสันติและเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ทั้งการล้อมผ้ารอบวงเวียน ปิดหูปิดตา ตะโกนให้ถึงฟ้า ตู้ไปรษณีย์เท่ากับขยะ สามเหลี่ยมเอคโค่ อ่านบทกวี และเขียนลูกโป่งถึงฟ้า
แต่ละกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ได้รับความสนใจจากผู้คนไม่น้อย เริ่มจาก "ตะโกนให้ถึงฟ้า" ที่ได้เชิญตัวแทนนักศึกษาของแต่ละสถาบันออกมาตะโกนประโยคสั้นๆ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเรียกร้องความยุติธรรม เช่น ความยุติธรรมของประชาชนอยู่ที่ไหน, เมื่อไหร่จะจริงใจกับผมครับฟ้า, ความเป็นธรรมมีจริงหรือไม่ ทำไมไม่เห็นสักที ฯลฯ
ส่วน "ตู้ไปรษณีย์เท่ากับถังขยะ" เป็นการกล่าวถึงเสียงของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ส่งถึงผู้นำระดับต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม จุฬาราชมนตรีคนปัจจุบัน เพื่อนร่วมประชาคมประชาชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ผู้นำสหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งองค์การการประชุมอิสลาม หรือ โอไอซี
กลุ่มนักศึกษาเปรียบเทียบให้ฟังว่า เสียงที่ส่งไปเป็นดั่งจดหมายที่ส่งทางไปรษณีย์ แต่ไม่มีการตอบกลับหรือรับฟังจากผู้นำระดับต่างๆ ขณะที่ "สามเหลี่ยมเอคโค่" เป็นการอ่านบทกวีที่มีนักศึกษามุสลิมเป็นผู้อ่าน แล้วมีเสียงสะท้อนจากเพื่อนๆ นักศึกษาที่จัดแถวเป็นสามเหลี่ยม และสุดท้ายคือกิจกรรม "เขียนลูกโป่งถึงฟ้า" สื่อสารความในใจไปให้ฟ้าได้รับรู้
ตัวแทนนักศึกษาซึ่งเคยเป็นคณะกรรมการของสหพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ตัดพ้อถึงเรื่องราวในเหตุการณ์ตากใบที่พวกเขาพยายามสื่อสารไปยังผู้เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจว่า ไม่ว่าเราจะยื่นจดหมายไปสักกี่ครั้ง จัดกิจกรรมรำลึกสักกี่หน เรื่องราวและจดหมายเหล่านั้นก็จะตกอยู่ในถังขยะของผู้มีอำนาจ ไม่รู้ว่าทำอะไรบ้างกับจดหมายที่ส่งไป แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมามีหลายเรื่องราวที่ประชาชนเรียกร้อง แต่ยังไม่เคยได้รับความกระจ่าง
"วันนี้เราจึงมายื่นจดหมายถึงท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายทั้งในประเทศไทยและในโลกอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ได้รับรู้ถึงความทุกข์ระทมที่ยังคงมีอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งทุกคนควรได้รับรู้ว่ามีอยู่จริง เราทำซ้ำมา 6 ปี เมื่อบอกใครไม่ได้เราก็ต้องตะโกนบอกให้ฟ้ารับรู้ อย่าปล่อยให้อากาศลอยนวลเป็นฆาตกรที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์อย่างไร้เหตุผล (เปรียบเปรยกับคำสั่งศาลในสำนวนไต่สวนการตายผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ ที่สรุปว่าตายเพราะขาดอากาศหายใจ) พวกเราทำเพื่อแสวงหาความยุติธรรมที่ผู้สูญเสียควรได้รับ”
“การต่อสู้ด้วยสันติวิธีอาจมองไม่เห็นความสำเร็จในเร็ววัน แต่จะเกิดขึ้นได้จริงในอนาคตแน่นอน ภารกิจของเรายังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ความยุติธรรมยังไม่ปรากฏบนแผ่นดินนี้” ตัวแทนนักศึกษา ให้คำมั่น
ขณะที่ กริยา มูซอ เลขาธิการ สนน.จชต. กล่าวถึงเหตุระเบิดกว่า 26 จุดในวันครบรอบ 6 ปีตากใบว่า เป็นการก่อเหตุที่ตรงกับวันแห่งความสูญเสียพอดี เหตุการณ์เหล่านี้เกิดจากอำนาจที่ไม่สมดุลระหว่างทหารกับประชาชน และเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อย แต่เมื่อความรุนแรงยังคงเกิดขึ้น ก็อยากให้เจ้าหน้าที่ได้ทบทวนว่าเป็นความรุนแรงซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากที่ทหารได้ทำกับประชาชนตากใบเมื่อ 6 ปีก่อนหรือไม่ และหากยังไม่แก้ไขหรือคืนความเป็นธรรมในวันนี้ แล้ววันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะอนาคตย่อมเป็นผลของการกระทำในวันนี้ด้วยเช่นกัน
กลุ่มนักศึกษาให้สัญญากันว่า ในวาระครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์ตากใบในปีหน้า ไม่ว่าความยุติธรรมจะคืนกลับสู่ผู้สูญเสียหรือไม่ พวกเขาและเธอก็จะจัดกิจกรรมรำลึกแบบนี้เช่นเดิม
และหากรัฐยังคงปล่อยให้ “อากาศลอยนวล” ความสงบและสันติสุขคงยากที่จะเกิดขึ้นจริง!
-----------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : 6 ปีตากใบ (1)...เมื่อกระบวนการยุติธรรมมิอาจให้ความเป็นธรรม
http://www.south.isranews.org/index.php?option=com_content&view=article&id=578:6-1-&catid=10:2009-11-15-11-15-01&Itemid=19