6 ปีตากใบ (1)...เมื่อกระบวนการยุติธรรมมิอาจให้ความเป็นธรรม
เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อบ่ายวันที่ 25 ต.ค.2547 และการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมตัว ด้วยการสั่งถอดเสื้อผ้า มัดมือไพล่หลัง แล้วนำขึ้นไปเรียงซ้อนกันบนรถยีเอ็มซีของทหาร เพื่อส่งไปสอบสวนต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิตรวมกันถึง 85 รายนั้น ได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากเป็นลำดับต้นๆ ของเมืองไทย
แต่ดูเหมือนเสียงเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมให้กับพวกเขา กลับแผ่วเบาและกำลังเลือนหายไปกับกาลเวลา...หรืออาจจะเป็นเพราะว่า ผู้เสียชีวิตคือประชาชนตาดำๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังปราศจากกลุ่มการเมืองใดๆ หนุนหลัง
ที่น่าตกใจก็คือ “กระบวนการยุติธรรมไทย” ที่มิอาจตอบโจทย์ความเป็นธรรมได้ ไม่ว่าจะกับครอบครัวผู้สูญเสียเอง หรือสังคมก็ตาม
ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม?
ตลอด 6 ปีหลังจากเกิดเหตุการณ์ มีการเคลื่อนไหวสำคัญๆ ในกระบวนการยุติธรรม ดังนี้
1.พนักงานอัยการถอนฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน (ต่อมาเสียชีวิต 1 คน) เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2539 โดยให้เหตุผลต่อสาธารณะว่า “...การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะและอาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ”
2.คดีแพ่งที่ญาติผู้เสียชีวิต ตลอดจนผู้บาดเจ็บและทุพพลภาพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อเรียกค่าเสียหายในกรณีเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ตากใบ มีจำนวน 7 สำนวน ระหว่างปี 2548-2549 ต่อมาได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงยอมรับค่าเสียหายทางแพ่ง
3.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จำนวน 7 คน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากอยู่ในช่วงเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างการชุมนุม จึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งให้งดการสอบสวน
4.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิต 78 คนจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมนับพันคนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งไต่สวนการตาย เนื่องจากเป็นกรณีการเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ หรือเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด
“ยุติธรรมเพื่อสันติภาพ”จี้ กสม.ยื่นฟ้องแทนชาวบ้าน
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “6 ปีตากใบ: ความล้มเหลวกระบวนการยุติธรรมไทยกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” มีเนื้อหาสรุปว่า
วันที่ 25 ต.ค.2553 เป็นวันครบ 6 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนหน้า สภ.ตากใบ อันถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีการสูญเสียมากที่สุดครั้งหนึ่งของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และแม้รัฐบาลที่ผ่านมาจะได้เพียรพยายามเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้รอดชีวิต รวมถึงชุมชนและสังคม แต่สิ่งเดียวที่รัฐบาลในทุกสมัยไม่เคยให้แก่ประชาชนคือ “ความยุติธรรม”
ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ตากใบ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพจึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและองค์กรอิสระซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนี้
1.ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดทบทวนความเห็นในการสั่งไม่ฟ้องคดีตากใบ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลในการหาความเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่
2.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ควรเพิ่มบทบาทในการช่วยเหลือผู้เสียหายกรณีตากใบและครอบครัวให้เข้าถึงความยุติธรรม โดยการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 257 (4)
3.รัฐบาลต้องมีมาตรการในการให้ความคุ้มครองพยานซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตให้มีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อสามารถให้การเป็นพยานในชั้นศาล และสามารถนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้
4.สังคมไทยต้องนำบทเรียนของเหตุการณ์การละเมิดสิทธิต่อประชาชน รวมทั้งการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมชนของประชาชน มาเป็นธงนำในการเรียกร้องให้ใช้ “สันติวิธี” ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทุกกรณี โดยไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และร่วมกันเฝ้าติดตามการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของกรณีการละเมิดสิทธิในเหตุการณ์ตากใบ
จากก้นบึ้งหัวใจของแม่เหยื่อตากใบ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2553 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 เดือนรอมฎอน ตามปฏิทินจันทรคติ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้จัดกิจกรรมทำบุญรำลึกถึงผู้เสียชีวิตกรณีเหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ 23 ต.ค.2547 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 เดือนรอมฎอน ตามปฏิทินจันทรคติเช่นกัน
กิจกรรมในงานคือเชิญครอบรอบผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพพลภาพ รวมถึงชาวตากใบทั่วไป และอำเภอใกล้เคียง ร่วมกันทำบุญ เลี้ยงอาหาร และละศีลอดพร้อมกัน เพื่อรำลึกถึงบรรดาผู้สูญเสียและผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงเข้าร่วมงานด้วย เช่น พ.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส รองผู้กำกับการ สภ.ตากใบ และหน่วยทหารพรานในพื้นที่ เป็นต้น
อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ชาวตากใบรวมถึงครอบครัวผู้สูญเสียส่วนใหญ่ยังมีอาการโศกเศร้าเมื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สลดที่เกิดขึ้น แม่ของเด็กชายอายุ 14 ปีรายหนึ่งบอกว่า หากลูกชายของเธอไม่ถูกนำตัวขึ้นรถทหารเพื่อเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธ โดยนอนอยู่แถวล่างสุด ลูกชายก็คงไม่เสียชีวิต และหากยังมีชีวิตอยู่ วันนี้คงสามารถทำงานช่วยเหลือครอบครัวได้มาก
แม่ของผู้เสียชีวิตอีกรายหนึ่งกล่าวทั้งน้ำตาว่า เธอหย่ากับสามีเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว โดยมีลูกชายอายุ 19 ปีเป็นหลักในการดูแลครอบครัว วันเกิดเหตุลูกของเธอออกไปตลาดเพื่อหาซื้ออาหารละศีลอด แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว และพบว่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา เธอบอกด้วยว่าประชาชนทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวกำลังอยู่ระหว่างการถือศีลอด จึงมีสภาพร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ทราบดี เมื่อถูกนำตัวไปนอนทับซ้อนกัน ย่อมทำให้ขาดอากาศหายใจ และจากการสอบถามผู้รอดชีวิต ทำให้ทราบว่าผู้ถูกควบคุมตัวที่อยู่ชั้นล่างพยายามร้องขอความช่วยเหลือ แต่จะถูกเจ้าหน้าที่ทุบตีเพื่อมิให้ส่งเสียง สิ่งที่เสียใจมากที่สุดคือการที่รัฐไม่บอกความจริงแก่ประชาชน
“ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มาร่วมงาน ให้ความเห็นคล้ายๆ กันว่า รัฐยังไม่ได้เยียวยาด้านความยุติธรรมให้กับประชาชน อีกทั้งไม่มีคำตอบว่าทำไมจึงเกิดการเสียชีวิตของคนจำนวนมากขนาดนี้ได้ ครอบครัวผู้สูญเสียส่วนใหญ่ต้องการให้มีผู้รับผิดและรับผิดชอบต่อการเสียชีวิต บาดเจ็บ และทุพพลภาพ รวมทั้งคาดหวังว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงความเป็นธรรมโดยการฟ้องร้องคดีอาญาแทนประชาชน” อังคณา กล่าว
ความเจ็บปวดไม่เคยจางหาย...
แยนะ สะแลแม หรือ “ก๊ะแยนะ” ซึ่งสูญเสียลูกชายในเหตุการณ์ตากใบ และทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานผู้เสียหายในคดีตากใบ รวมทั้งตัวแทนกลุ่มผู้หญิงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันครอบครัวผู้สูญเสียส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ติดตามคดีกันแล้ว เพราะดูไม่ค่อยมีหวัง และหลายๆ คนเลือกที่จะลืม ขอทำงานเลี้ยงครอบครัวดีกว่า แต่ก็มีอีกหลายคนที่รู้สึกไม่พอใจภาครัฐที่ไปตัดสินทำนองว่าขาดอากาศหายใจ จึงตัดสินใจดำเนินการฟ้องกลับ เพราะทุกคนที่ร่วมในเหตุการณ์ต่างรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
“ขณะนี้กำลังประสานกับกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่จะเข้ามาช่วยเหลือ และทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเองก็เห็นด้วยถ้าชาวบ้านจะฟ้องกลับ และข้อมูลที่ทางเรามีอยู่ก็มากพอ เตรียมการเรียบร้อยเมื่อไหร่จะยื่นฟ้องทันที อย่างน้อยรัฐจะได้รู้ว่าเจ้าหน้าที่ทำอะไรบ้างในเหตุการณ์วันนั้น” ก๊ะแยนะ กล่าว
ไม่เพียงแต่เรื่องคดีความ แต่เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาก็มีปัญหามาตลอดเช่นกัน
“แรกๆ ชาวบ้านก็เรียกร้องนะ แต่ช่วงหลังๆ ชาวบ้านไม่สนใจแล้ว ได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร มีบางคนที่คิดว่าสิทธิของเขายังมีอยู่ ก็พยายามเรียกร้องในสิ่งที่พึงได้ แต่ไม่รู้ว่าจะเรียกร้องที่ไหน กับใคร เพราะรัฐไม่ได้เข้าไปดูแลและไม่ให้ความสนใจตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว”
“เหตุการณ์ผ่านมาครบ 6 ปี ถามว่าความเจ็บปวดมันจางหายไปไหม บอกได้เลยว่าความเจ็บปวดไม่ได้จางหายไปแม้แต่วินาทีเดียว ก๊ะยังรู้สึกปวดเหมือนกับเพิ่งเกิดเหตุเมื่อวาน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”
แต่ทั้งหมดนี้และสิ่งที่กำลังจะเผชิญต่อไป ไม่ทำให้ ก๊ะแยนะ ท้อถอย
“เคยรู้สึกหมดหวังกับคำตัดสินของศาลที่ว่าเป็นการขาดอากาศหายใจ แต่เมื่อมันผ่านไปแล้ว ก็ต้องมาตั้งต้นสู้ใหม่ ก๊ะยังหวังลึกๆ ว่าสิ่งที่ก๊ะเรียกร้องมาตลอดหลายปีนี้ จะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมาสักวันหนึ่ง”
เป็นเสียงจากผู้สูญเสียกรณีตากใบซึ่งกระบวนการยุติธรรมไม่อาจให้ความเป็นธรรมกับพวกเขาได้...แม้ว่าวันเวลาจะล่วงผ่านมานานถึง 6 ปีแล้วก็ตาม!
--------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 - เหตุการณ์ตากใบ เมื่อ 25 ต.ค.2547 (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
2 - เด็กๆ ในครอบครัวเหยื่อตากใบที่ไปร่วมกิจกรรมรำลึก 6 ปีตากใบ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ