"ลุงปรีชา"ช่างทำกุญแจ...เหยื่อไฟใต้ที่พิการแค่กาย แต่หัวใจไม่พิการ
แม้ในปัจจุบันนี้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดำเนินไปอย่างเป็นระบบและครอบคลุมเหยื่อความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจาก ศอ.บต. ทว่าสิ่งหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือการเยียวยาที่ได้ผลที่สุดหาใช่ทรัพย์สินเงินทองไม่ แต่เป็นเรื่องของจิตใจที่ต้องพร้อมต่อสู้ และหยัดยืนอยู่ในสังคมให้ได้ดังเดิม
ลุงปรีชา วงศ์เอี่ยม วัย 58 ปีที่ชาวบ้านร้านตลาดในเขตตัวเมืองยะลารู้จักกันดีในนาม "ลุงปรีชา ช่างทำกุญแจ" คือตัวอย่างของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ยากจะทำใจยอมรับจนร่างกายท่อนล่างต้องพิการ เป็นอัมพาต แต่หัวใจของเขากลับไม่พิการ ลุกขึ้นสู้ชีวิตด้วยสภาพจิตอันกล้าแกร่ง
น้อยคนที่จะทราบว่า ภาพที่เห็นช่างทำกุญแจนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์แบบพ่วงข้าง โดยมีเครื่องมือและลูกกุญแจนับร้อยล้อมรอบตัวเขานั้น หาใช่แค่การประกอบสัมมาอาชีพสุจริตเพื่อหารายได้ประทังชีวิตธรรมดาๆ ไม่ แต่เป็นการหาอาชีพใหม่เพื่อต่อชีวิตหลังจากร่างกายพิการ
"เดิมลุงทำงานกับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ทำหน้าที่ขับรถแบ็คโฮ วันเกิดเหตุจำด้แม่น วันที่ 10 พ.ย.2549 ตอน 6 โมงเย็น ตอนนั้นเลิกงานแล้ว ตั้งใจจะกลับบ้าน ระหว่างเดินทางจากไซต์งานที่ อ.รามัน กลับบ้านในตัวเมืองยะลา ลุงถูกคนร้ายยิงใส่กลางหลัง 2 นัด"
ปี 2549 หากยังจำกันได้ สถานการณ์ความไม่สงบที่ชายแดนใต้กำลังร้อนแรงถึงขีดสุด ความหวาดระแวงระหว่างผู้คนต่างศาสนาแพร่กระจายไปทั่ว แต่ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรก็ยังคงมีอยู่ เพราะคนที่นำลุงปรีชาไปส่งโรงพยาบาลจนรอดชีวิตมาได้ คือเพื่อนที่เป็นมุสลิม
"โชคดีได้เพื่อนมุสลิมขับรถพาไปส่งโรงพยาบาล ลุงจึงรอดชีวิตมาได้ แต่กระสุนโดนเส้นประสาทจนเป็นอัมพาตครึ่งตัว ไม่สามารถทำงานเหมือนเดิมได้อีก จึงต้องยึดอาชีพเป็นช่างกุญแจในตัวเมืองยะลาเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ส่วนเมียก็ออกขายล็อตเตอรี่เสริมรายได้อีกทาง"
แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ ลุงปรีชา บอกว่าเคยคิดฆ่าตัวตายมาแล้ว...
"ช่วงแรกๆ ท้อมาก เคยคิดฆ่าตัวตาย ไม่อยากเป็นภาระให้ใคร หมอบอกว่า เรื่องเดินไม่ต้องคิด แค่ลุกขึ้นนั่งได้ก็ปาฏิหาริย์แล้ว ทำให้ใจฮึดสู้ ออกกำลังกาย ทำกายภาพบำบัดทุกวันจนดีขึ้นระดับหนึ่ง จากนั้นก็คิดหาอะไรทำ เพราะค่าใช้จ่ายเริ่มเยอะขึ้น จนได้รับความช่วยเหลือจากทีมงาน ศวชต.(ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้) ในเรื่องอุปกรณ์ทำกุญแจ จำนวน 50,000 บาท ซึ่งเป็นเงินยืมให้ลุงผ่อนคืนเดือนละ 2,170 บาท และให้ลุงไปฝึกทักษะจนสามารถประกอบอาชีพได้ ส่วนรถเข็นได้จากผู้ใจบุญบริจาค"
"นับถึงวันนี้ลุงทำมาปีกว่าแล้ว จะออกไปกับภรรยาทุกวัน ใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างตระเวนทำกุญแจในเขตเทศบาลนครยะลา บางวันทำครึ่งวันเพราะแดดร้อน ใจเราสู้ แต่ร่างกายมันไม่ไหว บางวันไม่มีลูกค้าจ้างทำสักดอกก็มี ต้องกลับบ้านมือเปล่า"
ลุงปรีชา เล่าว่า การทำกุญแจต้องใช้ทุนเยอะ รายได้ไม่แน่นอน บางวันก็ได้ 200-300 บาท แต่บางวันก็ไม่ได้เลย และรายได้ส่วนหนึ่งยังต้องนำกลับมาเป็นทุนซื้อกุญแจดอกใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับที่ลูกค้านำมาให้ทำ
"บางคนถามว่าลุงเป็นอัมพาตแล้วทำกุญแจได้อย่างไร จริงๆ เวลาจะทรงตัวหรือยกของต้องใช้เครื่องทุ่นแรงยก ส่วนตัวลุงเองอยู่บนรถตลอด ไม่ไปไหน มีเครื่องปั่นไฟอยู่ข้างหลัง ดอกกุญแจอยู่ข้างๆ อุปกรณ์จะล้อมตัวเองหมด ยึดหลักการทำงานจนกว่าลูกค้าพอใจ ถ้าไม่พอใจ กุญแจใช้การไม่ได้ ลุงยินดีคืนเงินให้ รับมาเท่าไหร่ก็คืนกลับไปเท่าเดิม"
ลุงปรีชา บอกว่า อาชีพทำกุญแจแม้รายได้จะพอประทังชีวิตไปวันๆ แต่สิ่งที่อยากวิงวอนให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือสร้างบ้านหลังเล็กๆ สักหลังเอาไว้อยู่อาศัยและสามารถเปิดร้านทำกุญแจได้ จะได้ไม่ต้องตระเวนตากแดดตากฝนไปทำงาน
"ใจลุงยังสู้ แต่ร่างกายมันไม่ไหว สภาพอากาศก็ร้อนจัด บางวันก็ฝนตก ทุกวันนี้ต้องเช่าที่พักเดือนละ 1,700 บาท จึงอยากวอนขอให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วย"
เสียงปืนที่คำรามก้องเปลี่ยนชีวิตของลุงปรีชา เจ้าตัวบอกว่าเคยถามกับตนเองซ้ำว่าทำไมถึงต้องทำร้ายกัน
"ลุงเคยตั้งคำถามกับตัวเองอยู่บ่อยๆ แต่ก็หาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมต้องมาทำร้ายลุง ในเมื่อวันๆ เอาแต่ทำงาน ไม่เคยมีปัญหาหรือทะเลาะเบาะแว้งกับใครเลย ลุงก็คบหมดทั้งพุทธทั้งมุสลิม มีงานอะไรก็ไปกินไปอยู่ช่วยเจ้าของงานทุกครั้ง"
ส่วนในเรื่องคดี ลุงปรีชา เป็นคนเล็กๆ อีกคนหนึ่งในสังคมนี้ที่ต้องยอมรับกับความผิดหวัง และรอคอยความยุติธรรมที่ไม่มีวันมาถึง...
"คดีไม่มีอะไรคืบหน้า จับคนร้ายไม่ได้ ถามว่าโกรธคนที่ทำไหม แรกๆ ยอมรับว่าโกรธแค้นมาก เพราะเราไม่เคยไปทำร้ายใคร พออยู่ไปๆ ก็ทำใจได้ คิดว่าใช้เวรใช้กรรมก็แล้วกัน อาฆาตมาดร้ายใครก็ทุกข์ใจตัวเองเปล่าๆ เลยยอมรับชะตาในสิ่งที่เกิดกับตัวเอง ถ้าชาติหน้ามีจริงก็ไม่ต้องมาทำร้ายกันอีก หมดเวรหมดกรรมกันไป โกรธไปก็ทำอะไรไม่ได้"
บทเรียนชีวิตที่เรียนรู้ได้จากลุงปรีชาก็คือ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ถ้าใจไม่สู้ก็จบ
"เราต้องสู้เพื่อความอยู่รอด อย่าให้คนอื่นเห็นว่าคนพิการไร้ค่า ต้องสู้ให้ถึงที่สุด” ลุงปรีชากล่าว และไม่ใช่แค่น้ำเสียงที่มุ่งมั่น แต่เป็นแววตาที่เด็ดเดี่ยว ไม่ย่อท้อ
เพราะความรุนแรงไม่เคยเอาชนะหัวใจแกร่งของลุงปรีชา!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-3 ลุงปรีชา กับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างที่ดัดแปลงเป็นร้านรับทำกุญแจตระเวนไปทั่วเมืองยะลา
4 บ้านเช่าที่ใช้เป็นที่พำนักหลับนอนแต่ค่าเช่าทำให้นอนไม่หลับ (ภาพทั้งหมดโดย แวลีเมาะ ปูซู)