8 ปีตากใบกับพลวัตปัญหาใต้ "ปณิธาน"ชี้รัฐไทยยังไม่พร้อมรับมือ
25 ต.ค.2555 เป็นวันครบรอบ 8 ปีของเหตุการณ์ตากใบตามปฏิทินไทย ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 จนมีผู้เสียชีวิตถึง 85 ราย
ยิ่งใกล้วันที่ 25 ต.ค.ดูเหมือนสถานการณ์ที่ชายแดนใต้จะตึงเครียดมากขึ้น ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่พากันวิตกกังวล บ้างก็หวาดผวา ฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็เคร่งเครียด วางแผนจัดกำลังรับมือกันอย่างเต็มพิกัด และเป็นอย่างนี้มาแทบทุกปี
ทว่าในมุมมองของ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ซึ่งเคยคลุกวงในร่วมงานกับฝ่ายบริหารในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว เขามองว่าพัฒนาการของปัญหาและกลุ่มที่เคลื่อนไหวในภาคใต้ก้าวไปไกลเกินกว่าที่ฝ่ายความมั่นคงจะมุ่งรับมือกับสถานการณ์ตามวาระหรือครบรอบวันสำคัญเท่านั้น
"ดูตามสถิติทั้งของตำรวจ ทหาร นักวิชาการ และศูนย์ข่าวอิศรา จะพบว่าตัวเลขไม่ต่างกันมาก คือความรุนแรงลดลง 30-40% ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา สรุปได้ว่าความสูญเสียและความรุนแรงลดลง การจัดกำลังขนาดใหญ่เพื่อแยกดินแดนหรือโจมตีรัฐหรือทำสงครามกองโจรแบบในอดีตทำได้ยากขึ้น และขบวนการที่เคลื่อนไหวเองก็ทราบดีว่าแนวทางนี้ไม่สำเร็จ จึงหันมาดำเนินวิธีการใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว"
ปณิธาน ขยายความว่า วิธีการใหม่ที่เขาพูดถึงคือการใช้วิธีการก่อการร้าย ซึ่งหมายถึงการสร้างสถานการณ์อะไรก็ได้ที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวในวงกว้าง ก่อผลทางจิตวิทยาในระดับสูง เพื่อกดดันให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงาน หรือยอมพูดคุยเจรจา
"การก่อการร้ายที่กลุ่มทางภาคใต้ใช้เป็นเทคนิคระดับท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับระดับสากล จะสังเกตเห็นได้ว่าระยะหลังเขาไม่จำเป็นต้องยึดติดความถี่ (ก่อเหตุบ่อยครั้ง) หรือก่อความสูญเสียขนาดใหญ่ เขาจะมุ่งสร้างความหวาดกลัวในวงกว้างเพื่อต่อรองทางการเมือง ไม่ได้มุ่งแยกดินแดน แต่มุ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง หรือให้ปรับเป็นรูปแบบการปกครองแบบพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลยังตอบรับความเคลื่อนไหวนี้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร"
ปณิธาน อธิบายว่า ยุทธวิธีที่กลุ่มก่อการในพื้นที่เลือกใช้เริ่มเปลี่ยนไป หันไปใช้การก่อการร้ายในเขตเมือง ใช้ประชาชนเป็นเป้าเพื่อต่อรองกับรัฐ โดยการเคลื่อนไหวยึดโยงกับการสะท้อนอัตลักษณ์ เช่น เรื่องหยุดวันศุกร์ หรือปักธงชาติมาเลย์กว่า 300 จุด เพื่อชี้ว่ารัฐไทยล้มเหลว ไม่มีความเหมาะสม และไม่มีธรรมาภิบาลในการปกครองพื้นที่นี้ กลุ่มที่เคลื่อนไหวจึงต้องต่อต้านให้ชาวโลกได้เห็น
"จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวลักษณะนี้มีมากขึ้น แต่การก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เพื่อแยกดินแดนลดลง หันมาเรียนรู้การเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์เชิงสัญลักษณ์และการเมืองมากกว่าเดิม ไม่ได้ช่วงชิงชัยชนะทางยุทธวิธีด้วยการคุมพื้นที่ เพราะแม้แต่หมู่บ้านของเขาเองก็อาจจะไม่ได้ควบคุม เนื่องจากพื้นที่สู้รบไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้านอีกแล้ว แต่อยู่ในหัวคน อยู่ในโลกไซเบอร์ สร้างความหวาดกลัวอย่างกว้างขวาง ส่งผลทางจิตวิทยาสูง แล้วนำไปสู่เรื่อง Self determination หรือการเรียกร้องสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง"
"วิธีการแบบนี้เป็นทิศทางกดดันผู้มีอำนาจให้แบ่งปันอำนาจ ในอนาคตไทยอาจเป็นแบบฟิลิปปินส์ในกรณีปัญหามินดาเนา (เพิ่งเจรจาจนบรรลุข้อตกลงสันติภาพ) ซึ่งถ้าทิศทางไปแบบนั้นจริงแล้วกองทัพยังไม่สามารถปรับยุทธศาสตร์รองรับให้ทัน ก็จะกลายเป็นปัญหา"
"ผมคิดว่าเริ่มต้นต้องยอมรับความจริงก่อนว่าสิ่งที่เจอในภาคใต้ปัจจุบันเป็นการก่อการร้ายแล้ว ไม่ใช่แค่ก่อความไม่สงบหรือก่อเหตุรุนแรง แต่เป็นการก่อการร้ายเพื่อกดดันรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งโดยใช้ประชาชนเป็นเหยื่อ มีการโจมตีสถานที่ของพลเรือนและเอกชน ทั้งอาคารบ้านเรือน ร้านค้า ตลาด ธนาคาร และจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน เพียงแต่สิ่งที่ทำจะส่งผลทางจิตวิทยาสูง สะเทือนถึงฝ่ายการเมืองและต่างประเทศ"
ปณิธาน ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวในภาคใต้มีพัฒนาการค่อนข้างเร็ว เพราะ 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้เอาใจใส่กับปัญหาอย่างจริงจัง
"กลุ่มที่เคลื่อนไหวเขาทำมาเป็นปีแล้ว เพียงแต่ตอนนี้ชัดเจนขึ้น เพิ่งรวมตัวกันติดเมื่อปีที่แล้ว แต่ปัญหาคือ 1 ปีเศษรัฐบาลไม่ได้ถกกันเรื่องนี้เลย ถ้าจะมีถกบ้างก็ไปถกเรื่องที่ทำให้วงแตก เช่น เอาโน่นเอานี่ไปแลกเปลี่ยน ซึ่งกลุ่มที่เคลื่อนไหวเป็นเด็กรุ่นใหม่เขาไม่สนใจ เพราะส่วนใหญ่เขาต้องการรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งเขาทำมานานแล้ว มีการเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนวิถีชีวิต ปฏิเสธทุนนิยม แต่ฝ่ายความมั่นคงเราจับสัญญาณไม่ค่อยได้"
"ฉะนั้นการจะพลิกฟื้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ต้องมีเจตจำนงที่ชัดเจนจากฝ่ายการเมือง รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจเปิดเจรจา และมีข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น จะใช้รูปแบบการบริหารแบบพิเศษไหม หรือสมมติเรื่องหยุดวันศุกร์จะเอาอย่างไร เพราะร้านค้าจำนวนหนึ่งก็หยุดอยู่แล้ว เราจะพูดคุยกันถึงความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่แล้วปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตหรือไม่ หรือจะไม่ยอมเลย ผมคิดว่ารัฐบาลต้องเริ่มค้นหารูปแบบที่คนในพื้นที่พอใจ คนไทยส่วนใหญ่รับได้ และไม่ขัดต่อกฎหมาย เงื่อนไขคือปฏิเสธการแยกดินแดนตั้งรัฐใหม่ ปฏิเสธการใช้กำลังให้ชัดเจน แล้วเริ่มพูดคุยกัน"
"ผมคิดว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ปฏิเสธกลุ่มเก่า แม้จะยังไม่ถึงกับมีผู้นำทางจิตวิญญาณ แต่ต่อไปจะมีคนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในลักษณะตัวแทนแน่นอน ฉะนั้นต้องหาคนเหล่านี้ให้เจอเพื่อเจรจา คนที่คิดเรื่องปักธง คนที่คิดเรื่องหยุดวันศุกร์ ถือเป็น strategic thinker ต้องดึงมาเจรจาให้ได้ ซึ่งกระบวนการเจรจามีมาตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ต้องเจาะจง ทำไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ปล่อยละเลยจนเสียเปรียบไปมากกว่านี้ ฟิลิปปินส์เองก็ใช้เวลาสำหรับช่วงของการเจรจา 20 ปี และมีการเจรจากว่าร้อยครั้ง"
ปณิธาน บอกด้วยว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีโอกาสมากที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ เพราะได้เปรียบตรงที่ไม่มี ส.ส.ในพื้นที่เลย จึงสามารถคิดทำอะไรในเชิงรุกหรือนอกกรอบได้มากกว่า
"รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีลักษณะพิเศษ คือมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ไม่มี ส.ส.ในพื้นที่ (ชายแดนใต้) จึงสามารถเปลี่ยนความเสียเปรียบเป็นความได้เปรียบได้ แต่ที่ผ่านมานายกฯไม่คุ้นเคยกับปัญหาแบบนี้ และไม่ลงมาเล่นโดยตรง ผิดกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ (นายเบนิกโน อากิโน) ที่มีจุดยืนทางการเมืองชัดเจน ถ้ารัฐบาลปล่อยแบบนี้ การแก้ปัญหาจะกระจัดกระจาย ข้อเสนอในพื้นที่ก็จะวน จากกลุ่มเก่าบ้าง กลุ่มใหม่บ้าง ฝ่ายการเมืองในพื้นที่บ้าง แต่หาทางออกให้กับอาร์เคเครุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวอยู่ไม่ได้"
เขาเตือนว่าสถานการณ์กำลังพัฒนาไปสู่การเลือกแนวทางที่จะเรียกร้องสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง ปัญหาคือรัฐไทยได้เตรียมการรองรับแล้วหรือยัง
"ทหารอาจจะมองว่ายังมีเวลา คือสู้กันยาวๆ เหมือนดำน้ำแข่งกัน ใครอึดกว่าก็ชนะ ซึ่งผมก็ยังเชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงเรายังได้เปรียบมาก รอจนพวกที่เคลื่อนไหวอยู่แก่แล้วเลิกไปเองก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือราคาที่ต้องจ่าย นั่นคือชีวิตของพลเรือนอีกเท่าไหร่"
"ฉะนั้นทุกหน่วยงานในพื้นที่ต้องกระตุ้นให้ประชาชนเข้มแข็ง ภาคส่วนต่างๆ ก็ต้องกดดันรัฐบาลให้ดำเนินนโยบายที่ถูกต้อง ฝ่ายความมั่นคงก็ต้องเข้าไปกดดันกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ให้หันกลับมาสู่โต๊ะเจรจา ฝ่ายการเมืองต้องมีข้อเสนอที่น่าสนใจพอ เช่น การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ อาจเสนอพร้อมกันหลายๆ แห่ง พร้อมกับชายแดนด้านอื่นๆ เช่น แม่สอด (ชายแดนไทย-พม่าด้าน จ.ตาก) หรือชายแดนไทย-กัมพูชา โดยหลักการคือให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วม" ปณิธาน กล่าว
ได้เวลานับหนึ่งแก้ปัญหาภาคใต้อย่างจริงจังและถูกทิศถูกทางกันเสียที!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ รศ.ดร.ปณิธาน จากศูนย์ภาพเนชั่น
หมายเหตุ : บางส่วนของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 24 ต.ค.2555 หน้า 14