เกาะติด15 ปากีฯถูกคุมตัวที่ชายแดนใต้ พบเส้นทางเงินส่อโยงก่อการร้าย...ไฉนทหารรีบปัด?
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ยังไม่ยืนยันว่าชายชาวปากีสถานกลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ แม้บางคนจะมีชื่อและนามสกุลพ้องกับบุคคลเฝ้าระวังการทำธุรกรรมทางการเงินขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็ตาม เพราะผลการตรวจสอบยังไม่มีความชัดเจน
ต่อข้อถามถึงความเกี่ยวพันกับขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.อ.บรรพต ตอบว่า “ยังอีกห่างไกล” รวมถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นกลุ่มที่เข้ามาฟอกเงินผิดกฎหมายในพื้นที่ด้วย
“เรื่องขบวนการฟอกเงินยิ่งไม่ใช่ใหญ่ เพราะถ้าหากเขาจะเข้ามาทำอย่างนั้นจริงๆ คงไม่แสดงตัวชัดเจนขนาดนี้” พ.อ.บรรพต กล่าว
ท่าทีของ พ.อ.บรรพต สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (พตท.) ที่รับผิดชอบหน่วยกำลังและหน่วยข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยืนยันว่า ชายชาวปากีสถานทั้ง 15 คนเป็นแค่ผู้ต้องสงสัย และยังไม่มีการฟันธงว่าเกี่ยวพันกับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ เบื้องต้นคนเหล่านี้กระทำผิดกฎหมายคนเข้าเมืองเท่านั้น และคาดว่าไม่มีอะไรมากกว่านี้
เช่นเดียวกับ นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ที่กล่าวว่า ชายชาวปากีสถานพยายามจะโอนเงิน และมีบางธุรกรรมที่น่าสงสัย ตำรวจจึงไปเชิญตัวมาทำประวัติ และพบว่ากระทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง ส่วนการก่อการร้ายข้ามชาตินั้น ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง
ส่อโยงเจไอ-พบสารเสพติดปนเปื้อน
อย่างไรก็ดี ท่าทีทั้งหมดสวนทางกับข้อมูลของหน่วยงานด้านความมั่นคงจากนอกพื้นที่ชายแดนใต้ที่ได้ตรวจสอบหลักฐานในเชิงลึก และพบว่าชายชาวปากีสถานบางคนมีพฤติกรรมต้องสงสัย น่าจะมีความเชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้าย
แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง เปิดเผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ชายชาวปากีสถาน 4 คนจาก 15 คน มีชื่อและสกุลพ้องกับบุคคลเฝ้าระวังการทำธุรกรรมทางการเงินของยูเอ็น ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ หรือเจไอ และยังมีอีก 2 คนเดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีประวัติการเดินทางที่ไม่ปกติ
นอกจากนั้น จากการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ยังพบสารเสพติดปนเปื้อนมากับสิ่งของที่ชายชาวปากีสถานบางคนในกลุ่มนี้ถือมาด้วย โดยเป็นสารเสพติดที่ไม่มีใช้ในประเทศไทย และทางหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์ ได้รายงานข้อมูลไปยังรัฐบาลแล้ว
ย้อนรอยคุมตัว 15 ปากีฯกลางเมืองยะลา
การควบคุมตัวชายชาวปากีสถานทั้ง 15 คน เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยศูนย์สืบสวนคดีสำคัญ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ร่วมกับทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 11 และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.เมืองยะลา ซึ่งได้สนธิกำลังจำนวน 30 นายเข้าตรวจค้นห้องพักของโรงแรมยะลามายเฮาส์ ในเขตเทศบาลนครยะลา และควบคุมตัวชายชาวปากีสถาน 15 คน ภายหลังได้รับแจ้งเบาะแสจากพนักงานธนาคารแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.ยะลา ว่า ชายชาวปากีสถานกลุ่มนี้พยายามโอนเงินกลับไปยังประเทศปากีสถาน โดยบัญชีปลายทางเป็นบัญชีของบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเจไอ เครือข่ายของขบวนการก่อการร้ายอัลกออิดะห์ หรือ อัลไกด้า
ทั้งนี้ ชายชาวปากีสถานทั้งหมดพักอยู่ในห้องพักของโรงแรมยะลามายเฮาส์ จำนวน 4 ห้อง รวม 15 คน ประกอบด้วย
1.นายซูฟีการ์ อาลี อายุ 33 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ FU 1794181
2.นายมูฮำหมัด อามี อายุ 24 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ AN 1227772
3.นายมูฮำหมัด อิมราน อายุ 25 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ DN 1228861
4.นายมูฮำหมัด นาดีน อายุ 25 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ AV 9454601
5.นายมุฮำหมัด จาฟา อายุ 27 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ AJ 8527942
6.นายมูฮำหมัด มุมตาซ อายุ 48 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ AE 0279401
7.นายทาร์ริค อาลี อายุ 37 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ BE 3998172
8.นายมูฮำหมัด ซาฮีด อายุ 21 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ CQ 5175211
9.นายมูฮำหมัด อิลิยาส อายุ 22 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ BH 1746021
10.นายฟารียาด ฮัสเส็น อายุ 29 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ BE 6890772
11.นายมูอำหมัด อับบัส อายุ 37 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ EP 1018961
12.นายมูฮำหมัด ไซอุดดีน อายุ 30 ปี ถือ หนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ AL 5971952
13.นายมูฮำหมัด อิมราน อายุ 24 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ AR 1227101
14.นายมูฮำหมัด จาฮันกีร์ อายุ 28 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ AC 8103552
15.นายทาลิบ ฮุสเส็น อายุ 33 ปี ถือหนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน เลขที่ BD 6898731
เจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวชายชาวปากีสถานทั้ง 15 คน ไปที่ สภ.เมืองยะลา เพื่อสอบถามข้อมูล จากนั้นได้ประสานเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ ไปเก็บหลักฐานดีเอ็นเอ (สารพันธุกรรม) เพื่อนำไปตรวจสอบว่าตรงกับสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายหรือไม่ ขณะที่ชายชาวปากีสถานทั้งหมดอ้างว่า เดินทางเข้าพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อขอรับบริจาคเงินไปช่วยเหลือเด็กกำพร้าและผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ประเทศปากีสถาน
ต่อมา วันพฤหัสบดีที่ 14 ต.ค. แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พร้อมทีมงานประมาณ 10 คน ได้เข้าถ่ายรูปทำประวัติ และเก็บหลักฐานดีเอ็นเอของชายชาวปากีสถานทั้ง 15 คน
ก่อการร้ายหรือ 18 มงกุฎ
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตั้งประเด็นสอบสวนเอาไว้ 2 ประเด็น คือ สงสัยว่าชายชาวปากีสถานกลุ่มนี้อาจเกี่ยวโยงกับขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ เพราะมี 4 คนที่มีชื่อพ้องกับบุคคลเฝ้าระวังการทำธุรกรรมทางการเงินของยูเอ็น แต่เลขพาสปอร์ตไม่ตรงกัน จึงอาจเป็นไปได้ว่าทั้งหมดเดินทางมาเพื่อหลอกลวงขอเงินบริจาค โดยอ้างสถานการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงที่ประเทศปากีสถาน เนื่องจากทั้งหมดเข้ามาขอบริจาคโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา
พ.ต.อ.ปิยวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้กำกับการ สภ.เมืองยะลา กล่าวว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งว่ามีชาวปากีสถานจะโอนเงินกลับไปยังประเทศปากีสถาน แต่ธนาคารไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องของบัญชีปลายทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำตัวทั้งหมดมาซักถามและตรวจสอบประวัติ เนื่องจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาการก่อความไม่สงบอยู่ จึงมีความจำเป็นต้องตรวจสอบบุคคลต้องสงสัยเป็นกรณีพิเศษ
อย่างไรก็ดี ชายชาวปากีสถานทั้งหมดอ้างว่าเข้ามารับเงินบริจาค แต่เมื่อตรวจสอบไปยังคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะยา ก็ได้รับการยืนยันว่าไม่ได้อนุญาตหรือยินยอมให้ชาวปากีสถานกลุ่มนี้เข้ามาเรี่ยไรหรือรับบริจาคเงินแต่อย่างใด เบื้องต้น ตำรวจจึงดำเนินคดีพื้นฐานไปก่อน คือตั้งข้อหาเป็นคนต่างด้าวประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต
ขณะที่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ได้ตรวจดีเอ็นเอทั้งจากร่างกายและสิ่งของที่ชาวปากีสถานทั้งหมดนำติดตัวมา และจะแจ้งผลให้ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) และตำรวจ ภายใน 1-2 วัน
กรณีที่มีข่าวว่าชายชาวปากีสถาน 4 คนจาก 15 คนมีชื่อพ้องกับบุคคลเฝ้าระวังการทำธุรกรรมทางการเงินของยูเอ็นนั้น แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ตรวจสอบแล้วพบว่ามีชื่อพ้องกันจริง แต่หมายเลขพาสปอร์ตไม่ตรงกัน คือ นายมูฮำหมัด อิมราน อายุ 25 ปี นายมูฮำหมัด นาดีน อายุ 25 ปี นายมูฮำหมัด อิลิยาส อายุ 22 ปี และ นายมูฮำหมัด จาฮันกีร์ อายุ 28 ปี ส่วนพาสปอร์ตที่ถือจะเป็นพาสปอร์ตปลอมหรือไม่ เป็นหน้าที่ของฝ่ายตำรวจที่จะต้องตรวจสอบต่อไป
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ขณะพาทีมงานเข้าเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์กับชายชาวปากีสถาน 15 คน ที่ สภ.เมืองยะลา