เปิดใจ 3 ครูไทยหัวใจสีขาว
ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.) จะมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่‘22 ข้าราชการไทยหัวใจสีขาว’ สำนักข่าวอิศราพาไปเปิดใจ 3 แม่พิมพ์ของชาติผู้อุทิศตนเพื่อเด็กชายขอบ
ครูสมประสงค์ ร.ร.อุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก – 'ครูของเด็กดอยผู้ต่อยอดการศึกษา'
“ถ้าไม่มีคนอาสา ก็ไม่มีใครอยากไปพัฒนาโรงเรียนที่ห่างไกล” ครูสมประสงค์ มั่งอะนะ วัย 58 ปี เล่าย้อนไปเมื่อ 11 ปีก่อนถึงเหตุที่เลือกมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอุ้มผางวิทยา จ.ตาก โรงเรียนมัธยมบนภูเขาที่ห่างไกลติดชายแดนพม่าห่างและห่างจากตัวจังหวัดขึ้นไปกว่า 200 กิโลเมตร โดยภารกิจแรกของครูคือการต่อยอดโอกาสทางการศึกษาให้เด็กชาวเขาในอ.อุ้มผางที่ยากไร้ให้ได้เรียนต่อชั้นมัธยม จนวันนี้จากเด็กชาวเขารุ่นแรก 30 คนเพิ่มจำนวนเป็น 400 คน ที่เข้ามาเป็นนักเรียนบ้านไกลพักนอนประจำของร.ร.อุ้มผางวิทยาคม ครูให้เหตุผลว่า “เด็กชาวเขาที่จบชั้นประถมฯจากร.ร.ตชด.เกือบ 100 เปอร์เซ็นไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ เพราะความห่างไกล ความยากจน และพ่อแม่เห็นว่าเรียนไปก็ไม่ได้อะไร ขณะที่บางคนก็เป็นเด็กไร้สัญชาติ”
ปัจจุบันร.ร.อุ้มผางฯมีนักเรียนกว่า 1200 คน แบ่งเป็นนักเรียนไป-กลับบ้านใกล้ 800 คน อีก 400 คนคือนักเรียนชาวเขาในที่ห่างไกลจำเป็นต้องพักนอนประจำ และในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไร้สัญชาติ อย่างไรก็ดีเนื่องจากร.ร.อุ้มผางฯไม่ใช่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ที่ได้รับงบประมาณช่วยเหลือรัฐมากเท่าใดนัก ภาระที่เกินหน้าที่ของครู ซึ่งนอกเหนือไปจากการสอน คือ การเลี้ยงดูนักเรียนกินนอนด้อยโอกาสหลายร้อยคนให้มีกินด้วย
“เป็นหน้าที่ของครูเมื่ออยากให้เขาเรียนหนังสือก็ต้องเลี้ยงดูเขา เริ่มแรกผมและภรรยาเป็นคนออกเงินค่าใช้จ่ายเอง เราซื้อแต่ข้าวสารเพราะปลูกผักกินกันเองและอาหารหาได้จากธรรมชาติ แต่เมื่อเด็กมีจำนวนมากขึ้น จึงต้องขอรับบริจาคโดยพยายามเลี่ยงการรับเงินแต่ขอเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ผ้าอนามัย ฯลฯ แทน”
ทุกๆวันครูสมประสงค์จะตื่นแต่เช้ามืดร่วมกับนักเรียนเตรียมหุงหาอาหารมื้อเช้าและเตรียมเผื่อมื้อกลางวัน เมื่อได้เวลาเรียนเนื่องจากอัตราครูที่โรงเรียนขาดแคลนกว่า 10 อัตรา ทำให้บางครั้งผู้อำนวยการเช่นครูสมประสงค์ต้องช่วยสอนเด็กด้วย และช่วงเย็นถึงค่ำก็เป็นเวลาที่ครูต้องสอนวิชาชีวิตให้กับนักเรียนกินนอนซึ่งเป็นชาวเขาที่มาจากต่างเผ่า ให้เรียนรู้ที่อยู่ร่วมกับนักเรียนคนอื่นและสังคมภายนอกได้
ไม่เพียงต้องการให้เด็กเรียนจบชั้นมัธยมแต่การศึกษาระดับอุดมศึกษาคือสิ่งที่ครูอยากให้เด็กทุกคนก้าวไปให้ถึงโดยเฉพาะเด็กชาวเขาไร้สัญชาติ เพราะเชื่อว่าความรู้เป็นโอกาสที่ทำให้เขามีสถานะทางกฎหมายที่ถูกต้องในสังคมไทยได้ และไม่นานมานี้เด็กนักเรียนด้อยโอกาสที่มมีผลการเรียนดีในร.ร.อุ้มผางฯกว่า 80 คนก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ครูสมประสงค์ปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง
แม้วันนี้ครูจะสุขใจที่ได้เห็นเด็กชายขอบมีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมเด็กอื่นๆขึ้นมาบ้าง แต่สิ่งที่ครูกังวลคือในไม่ช้าเมื่อครูเกษียณอายุราชการ จะหาใครมาสานต่อสิ่งที่ครูทำเพราะมันไม่ใช่หน้าที่
“ตอนแรกผมตั้งใจจะมาอยู่อุ้มผางแค่ 4 ปี หนึ่งวาระ ไปๆมาๆก็รู้สึกว่าทิ้งโรงเรียนนี้ไม่ได้ ปัจจัยสำคัญคือเด็ก ทุกวันนี้เหมือนเราอยู่กลางทะเล แล้วก็ดึงมือของเด็กให้อยู่พ้นน้ำ วันหนึ่งถ้าเราปล่อยมือเขา ผมเชื่อว่าเขาจะจม และไม่รู้ว่าจะมีคนมาดึงเด็กให้ลอยต่อไปหรือไม่” ผอ.ร.ร.อุ้มผางฯ กล่าว
ครูสามารถ ร.ร.บ้านก้อจัดสรร จ.ลำพูน - 'ครูเรือนแพคนเดียวในประเทศไทยผู้สอนให้อยู่อย่างพอเพียง'
กว่า 7 ปีที่ครูสามารถ สุทะ อาศัยกินนอนสอนนักเรียนอยู่บนห้องเรียนแพลอยน้ำ-ห้องเรียนสาขาของร.ร.บ้านก้อจัดสรร ซึ่งห้อมล้อมด้วยขุนเขากับสายน้ำในเขื่อนภูมิพล ห้องเรียนที่ไม่มีไฟฟ้าและถูกตัดขาดจากความเจริญของโลกภายนอก ถือว่าเป็นระยะเวลายาวนานเมื่อเทียบครูคนก่อนๆที่มาสอนที่นี่ได้คนละไม่กี่เดือน ห้องเรียนสาขาเรือนแพก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 เพื่อให้ขยายโอกาสการศึกษาแก่ลูกหลานชาวประมงที่อาศัยอยู่บนแพเหนือเขื่อนภูมิพล โดยใช้เวลากว่า 40 นาทีในการต่อเรือเข้ามาถึงแพ โดยปัจจุบันมีเด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 –ป.6 จำนวน 7 คนที่พักอาศัยประจำและเรียนหนังสืออยู่บนเรือนแพกับครูและแต่ละปีจะมีจำนวนไม่เกิน 10 คน ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวประมงกว่า 40 ครอบครัวละแวกนั้น
“ผมเป็นเด็กขาดโอกาสในการศึกษามาก่อน กว่าจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาก็อายุ 21 แล้ว จึงอยากช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสเหมือนตัวเองในอดีต” และนั่นคือสาเหตุที่ครูหนุ่มจากจังหวัดเชียงรายตัดสินใจมาเป็นครูเพียงคนเดียวที่สอนทุกวิชาให้แก่เด็กๆทุกระดับชั้น ณ ที่แห่งนี้
ทุกๆวันจันทร์ครูสามารถจะออกไปซื้อเสบียงอาหารข้างนอก เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ มาเก็บไว้เพื่อทำเป็นอาหาร 15 มื้อต่อสัปดาห์สำหรับ 8 ชีวิตบนแพ นอกจากนี้แล้วครูยังสอนให้เด็กรู้จักหาอาหารตามธรรมชาติกินเองด้วย
“ นอกเหนือจากการสอนหนังสือ สิ่งที่ผมทำทุกวันนี้คือปูพื้นฐานในการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ภายใต้ข้อจำกัดคือการอาศัยอยู่บนแพให้กับเด็กๆ โดยเน้นความยั่งยืนในการใช้ชีวิต เช่น สอนให้เด็กเลี้ยงปลาในกระชัง สอนให้ปลูกผักกินกันเองบนแพ เพื่อให้เด็กรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เราไม่ต้องไปซื้อก็สามารถหากินเองได้ทุกวัน โดยทุกๆวันนักเรียนจะช่วยกันทำกับข้าวและทำความสะอาดโรงเรียนมีการแบ่งเวรกัน ทำให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในโรงเรียน ซึ่งเป็นเหมือนสังคมหนึ่ง”
ความหวังของครูสามารถคือการได้เห็นนักเรียนของตนเรียนต่อในระดับชั้นสูงๆ แต่ปัญหาที่ครูพบคือผู้ปกครองมักไม่ยอมให้ลูกไปเรียนต่อชั้นมัธยมในเมือง เพราะต้องการให้ลูกอยู่ช่วยทำประมงหารายได้ให้ครอบครัวต่อไป “ผมอยากให้ชาวแพเห็นความสำคัญของการศึกษาและอยากให้ลูกศิษย์ของตัวเองเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยขั้นแรกจะพยายามพัฒนาห้องเรียนสาขาแพเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนก่อน”
การปลูกฝังให้ชาวบ้านในถิ่นห่างไกลเห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้นจึงเป็นโจทย์ยากอีกอย่างที่ครูสามารถต้องสู้ต่อไป
ครูนิภาพร น้ำค้าง ร.ร.บ้านวังยาว จ.สุพรรณบุรี – 'ครูผู้สละทรัพย์ส่งเสียเด็กยากไร้เรียนจบป.ตรี'
“มีคนถามว่าทำไมต้องไปเสียเงินส่งเสียเด็กที่ไม่ใช่ลูกหลานเรียนด้วย เราบอกว่าก็ดีกว่าไปส่งเสียเด็กที่ไม่อยากเรียน ถ้าเขาอยากเรียนก็จะให้เรียน เรียนไปเท่าที่จะเรียนได้”
ครูนิภาพร น้ำค้าง ร.ร.บ้านวังยาว จ.สุพรรณบุรี กล่าวอย่างภาคภูมิใจที่ได้เสียสละทุนทรัพย์ของตนประกอบกับความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องเพื่อเลี้ยงดูและส่งเสียเด็กชาวเขา 3 คนจนจบปริญญาตรีและมีอนาคตที่สดใส แม้จะไม่ได้ร่ำรวยแต่เพราะเป็นลูกชาวนาลำบากมาก่อนจึงเข้าใจถึงคำว่าขาดโอกาสและทำให้ครูนิภาพรไม่เสียดายเงินทองที่แลกมาด้วยการต่อยอดโอกาสการศึกษาให้เด็กที่ยากไร้เลย
ครูนิภาพรเคยสอนอยู่ที่ร.ร.ศึกษาสงเคราะห์พนมทวน จ.กาญจนบุรี กว่า 20 ปี ก่อนที่จะย้ายมาสอนที่บ้านเกิดในจ.สุพรรณ โดยเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกสังคมรังเกียจ และขาดโอกาสทางการเรียน
“เด็กคนแรกที่ส่งเรียนเป็นชาวเขาเผ่าเย้า วันหนึ่งเขาเดินร้องไห้มาหาเรา ถือจดหมายหนึ่งฉบับ ครูถามว่าเป็นอะไร เขาก็หยิบจดหมายส่งให้อ่าน เนื้อหาคือปู่สั่งให้กลับไปทำงานที่บ้านไม่ต้องเรียนหนังสือแล้ว เลยถามว่าอยากเรียนไหม ถ้าอยากเรียนจะส่งให้ แต่ขอให้ทำตัวเป็นคนดี เขารับปาก ก็ส่งเขาเรียนจนจบคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน...เราจะบอกเขาเสมอว่าอนาคตอีกไม่กี่ปีแม่ก็ตาย ขอให้พวกเราอยู่ต่อไปให้ทำตัวทดแทนคุณแผ่นดินแทนแม่”
“จะเก่งหรือไม่ แต่ขอให้เป็นคนดีและมีความสุข” ครูนิภาพรกล่าวถึงความคาดหวังต่อเด็กๆที่ครูส่งเสียเหมือนลูกหลานรวมทั้งเด็กนักเรียนคนอื่นๆของครูด้วย
“เด็กสมัยนี้ถูกปลูกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมน้อยลง ไม่เหมือนแต่ก่อนจะมีผู้หลักผู้ใหญ่คอยสอนและเด็กไม่ห่างวัดห่างศาสนา ซึ่งถือเป็นการสอนโดยตรง แต่เด็กเดี๋ยวนี้เห็นแก่ตัวมากขึ้น เช่น เห็นของตกก้ไม่มีใครเก็บ ครูทุกคนก็บ่นว่าทำไมเด็กเป็นแบบนี้ ก็ต้องค่อยๆสอน ค่อยๆฝึกไป”
และนั่นทำให้การสอนของครูนิภาพรเน้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเป็นหลัก เพราะครูมองว่า ถ้าเด็กเป็นคนดีทุกอย่างจะดี ประเทศชาติก็จะดีด้วย
……………..
การขาดพื้นที่และโอกาสทางการศึกษาของเด็กยากไร้ แม้เป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆก็ไม่อาจแก้ไขได้โดยง่าย แต่สำหรับคนเป็นครู ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่อุปสรรคที่บั่นทอนกำลังใจ ในทางกลับกันปัญหาคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ครูอุทิศตนเพื่อชี้นำศิษย์ไปสู่อนาคตที่สดใสได้ เช่น ครูรางวัลข้าราชการไทยหัวใจสีขาวทั้งสามท่านที่กล่าวมา....
ภาพประกอบ ::: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.)
ล้อมกรอบ
……………………
รายชื่อ22 ข้าราชการไทยหัวใจสีขาว ผู้ผ่านการคัดเลือกจากข้าราชการที่ถูกเสนอชื่อ 500 คนทั่วประเทศ
1.นายภานุพงศ์ ลาภเสถียร นักจัดการในพระองค์ สังกัดกองวัง สำนักพระราชวัง
2. นายสมภพ สีดารณพ นักการภารโรง กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวี
3.นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผอ.โรงพยาบาลลำสนธิ จ.ลพบุรี
4.นายจำเริญ คนชาน พนักงานขับรถรพ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
5.พ.ต.ท.ศิลายุทธ์ จิตติยาธีรากูล รองผกก.ฝ่ายสืบสวนสอบสวนสภ.เกาะช้าง จ.ตราด
6.นางเครือวัลย์ คนชม พนักงานสาธารณสุขอาวุโส จ.ยโสธร
7. นายวีระยุทธ เพชรประไพ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเสิงสาง จ.นครราชสีมา
8.พญ.มนธนา จันทรนิยม โรงพยาบาลขอนแก่น
9. นพ.สุชาติ ทองแป้น โรงพยาบาลมหาสารคาม
10. นายไพโรจน์ ทองเพ็ง ผอ.โรงเรียนเย็นศิระบ้านหมากแข้ง จ.เลย
11.ทพญ.มณฑลิกานต์ ปาระมี ทันตแพทย์ชำนาญการ โรงพยายาลเวียงป่าเป้า
12. นางอุบล ยะไวทย์ณะวิชัย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว จ.เชียงใหม่
13.นายสามารถ สุทะ ครูผู้ช่วยโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร (ห้องเรียนสาขาเรือนแพ) จ.ลำพูน
14.นายสมประสงค์ มั่งอะนะ ผ.อ.โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก
15.นางเกสร วงศ์มณี เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
16.ร.ต.ต.สืบศักย์ สืบเสาะ รองสารวัตรอก.ผอ.ฝ่ายอำนวยการ 8 บก.อก.ภ.7
17. น.ส.นิภาพร น้ำค้าง ครูชำนาญการพิเศษ ร.ร.บ้านวังนายาว จ.สุพรรณบุรี
18.พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช
19.พ.อ.จำรัส สังขะวร ผอ.ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กองทัพภาคที่ 4 จ.นครราชสีมา
20.นายเฉลิม กาญจนพิทักษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช
21.นายสุนันท์ หลีเจริญ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านประมง สำนักงานประมงจังหวัดปัตตานี
22. พล.ต.ต.นพดล เผือกโสมณ ผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 9 จ.สงขลา.