“สรยุทธ”ดึงบ.ซีเนริโอ“บอย-ถกลเกียรติ”พันคดี 138 ล.-น่าเชื่อทำเอกสารย้อนหลัง?
ปมใหม่คำให้การ“สรยุทธ สุทัศนะจินดา”ซัดทอด บ.ซีเนริโอของ“บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ”น่าเชื่อร่วม อสมท.ทำเอกสารใบส่งโฆษณาส่วนเกินย้อนหลัง รับพบ“มิ่งขวัญ”แค่เจรจาส่วนลด 30%
ในคำชี้แจงข้อกล่าวหาของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2554 กรณีถูกกล่าวหาสนับสนุนพนักงาน อสมท.ยักยอกเงินโฆษณาส่วนเกิน 138 ล้านบาท นายสรยุทธได้กล่าวหา บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ไม่มีหลักเกณฑ์ที่จัดเจนในการปฏิบัติงานตามสัญญาร่วมดำเนินการรายการ “คุยคุ้ยข่าว” พร้อมชี้แจงว่า บริษัท อสมท. กับ บริษัท ซีเนรีโอ จำกัด น่าจะทำเอกสารใบแจ้งโฆษณาส่วนเกินย้อนหลังด้วยหลังจาก บริษัท ซีเนรีโอ จำกัด มีการโฆษณาส่วนเกินไปก่อนหน้านี้แล้ว กล่าวคือ
ข้อกล่าวหาของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ที่ว่า
“ในช่วงแรกของการดำเนินรายการคุยคุ้ยข่าว บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้มีหนังสือลงวันที่ 2 มีนาคม 2548 ขอซื้อเวลาโฆษณาสวนเกินเพิ่มเติมจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และได้ชำระค่าโฆษณาส่วนเกินให้ทางบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)”
ประเด็นนี้นายสรยุทธชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขอซื้อเวลาโฆษณาส่วนเกินตามพฤติการณ์แห่งข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่ถูกต้องตามความจริงและทำให้คณะอนุกรรมการไต่สวนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับทางปฏิบัติทางการค้าในการโฆษณาส่วนเกินเวลาว่า เมื่อบริษัทฯจะลงโฆษณาเกินเวลาที่ได้รับสิทธิ์จะต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) พิจารณาว่ามีเวลาพอให้ลงโฆษณาส่วนเกินหรือไม่ ดังเช่นการซื้อเวลาโฆษณาตามหนังสือฉบับที่คณะอนุกรรมการไต่สวนได้อ้างถึง ดังนั้นจึงขอชี้แจงความเป็นมาของหนังสือฉบับดังกล่าวดังนี้
เอกสารฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยนางสาวมณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่ได้ส่งไปยังบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยโทรสาร (FAX) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2548 ถึงแม้หนังสือจะไม่ได้ระบุวันที่แต่พิจารณาได้จากรายละเอียดของโทรสารด้านบนของหนังวือที่ระบุว่า “BANGKOK GRAMA FAX NO:66222526800 4003 Apr.2005 10:50 AM P.1” ซึ่งหมายถึงการส่งโทรสารจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 (Bangkok Drama)หมายเลขเครื่องส่ง 02-2252-6800 (โดยนางสาวมณฑา ใช้โทรสารของที่นี่ส่งเอกสารที่เกี่ยวกับการโฆษณาไปยังบริษัท อสมท (มหาชน) เป็นประจำหนังเสร็จรายการเรื่องเล่าเช้านี้) วันที่ส่งคือวันที่ 1 เมษายน 2548 เวลา 10.58 นาฬิกา โดยได้มีการจัดทำหนังสือและจัดส่งภายหลังจากที่ได้มีการโฆษณาออกอากาศของเดือนมีนาคม 2548 ไปแล้ว และภายหลังจากการที่บริษัท อสมท (มหาชน) ได้แจ้งให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ของซื้อโฆษณาส่วนเกินรวมทั้งสรุปจำนวนเวลาโฆษณาส่วนเกินที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2548 เพื่อที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะได้ตรวจสอบความถูกต้อง คำนวณค่าโฆษณาพร้อมส่วนลด ดำเนินการในขั้นตอนการทำสัญญาและชำรำเงินตามลำดับต่อไป
โดยหลังจากที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้ส่งโทรสารสรุปและโฆษณาส่วนเกินของเดือนมีนาคม 2548 ไปยังบริษัท อสมท เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2548 แล้ว บริษัท อสมท จึงได้จัดทำสัญญาโฆษณา ฉบับลงวันที่ 3 พ.ค.2548 เพื่อเป็นการขอซื้อโฆษณาส่วนเกิน รวม 3.30 นาที จำนวนเงิน 770,000 บาท โดยบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้รับส่วนลดทางการค้า 30% คงเหลือสุทธิ 539,000 บาท และบริษัทก็ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัท อสมท ภายในกำหนด
@ซัด อสมทมั่ว-บ.ซีเนรีโอทำเอกสารย้อนหลัง
อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตจากสัญญาโฆษณาฉบับดังกล่าวว่า บริษัท อสมท ได้ระบุ “ระยะกำหนดสัญญา” ซึ่งหมายถึงวันที่ที่ได้มีการโฆษณาเกินเวลาไปตรงตามวันเวลาที่ได้มีการโฆษณาเกินจริง โดยระบุว่า “วันที่ 10,7 เมษายน 2548 วันละ 15 วิ 1 ครั้ง) วันที่ 3,4,8,9,11,18 เมษายน 2548 (วันละ 30 วิ 1 ครั้ง)” ทั้งที่เวลาที่บริษัทไร่ส้ม จำกัด ได้มีการโฆษณาส่วนเกินล้วนแต่เกิดขึ้นเดือนมีนาคม 2548 ทั้งสิ้น โดยในเดือนเมษายน 2548 ตามเวลาที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ระบุ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ไม่ได้โฆษณาเกินเวลาแต่อย่างไร จึงแสดงให้เห็นถึง มีพฤติการณ์ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปอย่างถูกต้องและตรงมา ไม่มีหลักเกณฑ์ที่จัดเจนในการปฏิบัติงานตามสัญญาร่วมดำเนินการรายการ“คุยคุ้ยข่าว”
นายสรยุทธชี้แจงอีกว่า พฤติการณ์ของ บริษัท อสมท เช่นนี้ยังเห็นได้จากการปฏิบัติทางการค้ากับบริษัท ซีเนรีโอ จำกัด พันธมิตรผู้ร่วมดำเนินผลิตรายการโทรทัศน์กับบริษัท อสมท โดยหลังจากที่บริษัท ซีเนรีโอ จำกัด ได้มีการโฆษณาเกินเวลาในวันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน 2548 รวมเป็นเวลา 0.45 นาที แล้วในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 บริษัท อสมท จึงแจ้งให้บริษัท ซีเนรีโอ จำกัด ทำหนังสือขอซื้อโฆษณาส่วนเกินของเดือนพฤศจิกายน 2548 ดังกล่าว บริษัท ซีเนรีโอ จำกัด จึงได้ทำใบส่งโฆษณาและส่งทางโทรสารไปยังบริษัท อสมท เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงแม้หนังสือฉบับดังกล่าวจะลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 แต่น่าเชื่อว่าเป็นการลงวันที่ย้อนหลังตามความประสงค์ของบริษัท อสมท เพราะถ้าพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นว่าหนังสือส่งโดยทางโทรสารในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ตามที่ปรากฏในด้านบนขวาของหนังสือว่า “Feb. 16 2006 02:26 PM” และถัดจากนั้นวันเดียวคือวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549 บริษัท อสมท จึงได้จัดทำสัญญาโฆษณาตามที่บริษัท ซีเนรีโอ จำกัด ได้ขอซื้อโฆษณาส่วนเกินดังกล่าว
@พบ“มิ่งขวัญ”เจรจาส่วนลดค่าโฆษณา 30%
ส่วนกรณีในช่วงเดือนมีนาคม2548 นายสรยุทธได้เข้าไปพบนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท ในขณะนั้น ซึ่งอาจทำให้คณะอนุกรรมการไต่สวนเข้าใจไปว่า เป็นการเข้าพบเพื่อติดต่อขอซื้อโฆษณาส่วนเกินของเดือนมีนาคม 2548
นายสรยุทธชี้แจงว่า เป็นการเดินทางไปพบเพื่อหารือเกี่ยวกับโฆษณาส่วนลดค่าโฆษณาที่บริษัท อสมท.จะให้แก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ในอัตรา 30% โดยไม่มีส่วนเพิ่มพิเศษอีก 5% การเจรจาปรึกษาหารือในครั้งนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องการขอซื้อโฆษณาส่วนเกินในขณะนั้นแต่อย่างใด
นายสรยุทธสรุปว่า การที่คณะอนุกรรมการไต่สวนอ้างว่าหนังสือของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่ขอซื้อโฆษณาส่วนเกิน ลงวันที่ 2 มีนาคม 2548 จึงไม่ตรงตามข้อเท็จจริง โดยเฉพาะถ้าพิจารณาจากหนังสือของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยละเอียดแล้วไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่า หนังสือได้ทำขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม 2548 แต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า บริษัท ซีเนริโอ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 9 เมษายน 2547 ทุน 60 ล้านบาท ปัจจุบัน 140 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ ผลิตและรับจ้างผลิตรายการทางวิทยุ,โทรทัศน์,แถบบันทึกภาพ,แถบบันทึกเสียงเพื่อจำหน่ายทั้งในและ ต่างประเทศ ผลิตละครเวที ที่ตั้งเลขที่ 50 ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (เป็นผู้ผลิตละครให้สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีและทีวีดาวเทียม)
ผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2555 นายถกลเกียรติ วีรวรรณ 7,350,543 หุ้น (52.50%) บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) 3,500,000 หุ้น (25%) นายอำนวย วีรวรรณ นายถกลเกียรติ วีรวรรณ น.ส. บุษบา ดาวเรือง นาย นิพนธ์ ผิวเณร และบุคคลอีก 5 คนร่วมเป็นกรรมการ