แกะรอยระเบิดการเมือง...โยงไฟใต้จริงหรือ?
เหตุระเบิดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นระเบิดการเมืองอันสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงและการสลายการชุมนุมเมื่อ 19 พ.ค.2553 ก็คือระเบิดที่อาคารสมานเมตตาแมนชั่น อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี พื้นที่ติดขอบกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา เหตุระเบิดครั้งนี้มีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่
เงื่อนปมสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายเชื่อและให้น้ำหนักก็คือ รถกระบะของผู้เช่าห้องที่เกิดระเบิด ติดป้ายทะเบียน "นราธิวาส" และอุปกรณ์ประกอบระเบิดที่พบ ไม่ว่าจะเป็นถังดับเพลิง ปุ๋ยยูเรีย (แอมโมเนียมไนเตรท) และอื่นๆ มีลักษณะเป็นระเบิดชนิดแสวงเครื่องคล้ายๆ กับที่เคยพบในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
คำถามก็คือ นี่เป็นเพียงการลอกเลียนแบบนวัตกรรม หรือมีความเชื่อมโยงในลักษณะนำมือระเบิดจากชายแดนใต้มาทำหรือฝึกสอน และที่ร้ายที่สุดก็คือเป็นไปได้หรือไม่ที่กลุ่มก่อความไม่สงบจะขยายอิทธิพลมาถึงพื้นที่ชานกรุงเทพฯ โดยอาศัยจังหวะที่การเมืองในส่วนกลางเต็มไปด้วยความปั่นป่วน ขัดแย้ง และรุนแรง
ก่อนอื่นขอกลับไปตั้งต้นที่เหตุการณ์ระเบิดในห้องพักหมายเลข 202 อาคารสมานเมตตาแมนชั่นเสียก่อน...
"นายสมัย วงศ์สุวรรณ มาติดต่อขอเช่าห้องพักกับสามีภรรยาคู่หนึ่งตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. ระหว่างที่เข้าพัก นายสมัยจะเป็นคนเงียบขรึม ไม่ค่อยคุยกับใคร และเข้าออกไม่เป็นเวลา กระทั่งเมื่อวันก่อนเกิดเหตุ 1 วัน เห็นทั้ง 3 คนขนตะกร้าและเสื้อผ้า รวมทั้งลังกระดาษสี่เหลี่ยมอีก 1 ใบเข้ามาในแมนชั่น โดยใส่มาในรถกระบะโตโยต้า สีบรอนซ์ทอง ทะเบียนนราธิวาส จากนั้นก็ไม่พบอีกเลยจนมาเกิดระเบิด"
นี่คือเบาะแสสำคัญจากปากคำของ แม่บ้านผู้ดูแล "สมานเมตตาแมนชั่น" และนำมาสู่ "ปม" ที่ต้องแกะกันต่อไป 2 ปมสำคัญ คือ 1.ประวัติของนายสมัย และสองสามีภรรยา ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเสียชีวิตในที่เกิดเหตุหรือไม่ กับ 2.ป้ายทะเบียนรถกระบะที่ระบุว่าเป็นทะเบียน "นราธิวาส"
ปมแรก ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า นายสมัยเป็นแนวร่วม "คนเสื้อแดง" เพราะเคยไปร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์ และเคยถูกดำเนินคดีปาประทัดยักษ์ใส่สำนักงานของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2552 ข้อมูลเหล่านี้อธิบายจากหลักฐานที่พบ ไม่ได้มุ่งให้กระทบ "กลุ่มคนเสื้อแดง" เพราะการกระทำของนายสมัยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับขบวนการเสื้อแดงเสมอไป
แต่จากข้อมูลที่รวบรวมได้ สรุปได้ว่าระเบิดเที่ยวนี้น่าจะเป็นระเบิดการเมือง ทว่าไม่ใช่การลอบวางระเบิด แต่น่าจะเป็นอุบัติเหตุจากการนำระเบิดไปซุกซ่อนไว้ในห้องจำนวนมาก หรือเกิดความผิดพลาดในช่วงของการต่อวงจรเพื่อเตรียมนำไปก่อวินาศกรรม จนเกิดระเบิดขึ้นมากกว่า
ปมที่สอง คือป้ายทะเบียนรถที่นายสมัยและบุคคลร่วมห้องใช้ มีพยานระบุว่าเป็นทะเบียน "นราธิวาส" จึงนำไปสู่การพยายามเชื่อมโยงจากบางฝ่ายว่า นี่อาจเป็นปรากฏการณ์ "ไฟใต้ลามกรุง"
การจะไขปมนี้ ต้องย้อนกลับไปพิจารณาเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ถูกระบุว่าเป็น "ระเบิดการเมือง" โดยข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2553 ถึงวันที่ 5 ต.ค.2553 มีเหตุรุนแรงซึ่งเชื่อว่าสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองราว 130 เหตุการณ์ แยกเป็นพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 112 เหตุการณ์ และในภูธร 18 เหตุการณ์
เมื่อจำแนกเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น จะพบว่าแบ่งได้หยาบๆ เป็น 2 รูปแบบ คือ
1.ระเบิดแบบขว้างหรือยิงจากวัตถุระเบิดที่เป็นยุทธภัณฑ์ มีอยู่ 4 ชนิด คือ ระเบิดขว้างแบบเอ็ม 26 กับเอ็ม 67 และระเบิดที่ใช้ยิงจากเครื่องยิงเอ็ม 79 กับ เอ็ม 203 เหตุระเบิดรูปแบบนี้มักพุ่งเป้าไปยังสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง แต่ไม่ค่อยสร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากนัก
2.ระเบิดแสวงเครื่อง ซึ่งหมายถึงการนำเอาวัสดุที่มีอยู่รอบตัว หรือวัสดุที่สามารถจัดหาได้ง่าย เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท (ยูเรีย) ซึ่งมีอยู่ทั่วไป นำมาประดิษฐ์เป็นระเบิด โดยนำมาผสมกับสารเคมี เช่น น้ำมัน อุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ต่างๆ
ระเบิดแสวงเครื่องที่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในการจุดระเบิด เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากประดิษฐ์ได้ง่าย สามารถกำหนดเวลา, ควบคุมจังหวะการทำงานได้แน่นอน ทั้งยังควบคุมการทำงานได้ในระยะไกล สามารถสร้างความซับซ้อนตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของผู้ประดิษฐ์ได้หลายรูปแบบ
สำหรับองค์ประกอบของวัตถุระเบิดแสวงเครื่องระบบไฟฟ้า มีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน คือ 1.แหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า เช่น ถ่านไฟฉาย หรือแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ 2.ตัวจุดระเบิด ได้แก่ เชื้อปะทุชนวน หรือเชื้อปะทุไฟฟ้า ซึ่งมีทั้งแบบที่ใช้ในทางทหารและทางพลเรือน 3.ดินระเบิดหลัก ได้แก่ ดินระเบิดมาตรฐานทางทหาร ทางพลเรือน หรือวัตถุระเบิดที่ทำเอง เช่น ปุ๋ยยูเรีย (แอมโมเนียมไนเตรท) หรือเพาเวอร์เจล 4. ระบบสวิทช์ควบคุม ได้แก่ สวิทช์ปลอดภัย (Safety Swith), สวิทช์พร้อมระเบิด (Arming Swith), สวิทช์จุดระเบิด (Firing Swith) หรือวงจรสวิทช์อิเลคทรอนิคส์ชนิดต่างๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่าระเบิดป่วนเมืองจำนวนหนึ่งเป็น "ระเบิดแสวงเครื่อง" ซึ่งสร้างความเสียหายมากกว่าระเบิดแบบยิงหรือขว้าง!
ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์กันต่อก็คือ เหตุระเบิดราวๆ 130 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกือบทั้งหมดไม่ได้สร้างความสูญเสียอะไรมากนัก และส่วนหนึ่งไม่ได้มุ่งเป้าไปยังสถานที่สัญลักษณ์ทางการเมือง ทำให้มีการมองว่ามีเรื่องส่วนตัวผสมโรงอยู่ด้วยหรือไม่?
ประเด็นนี้ แหล่งข่าวจากชุดคลี่คลายคดีระเบิด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วิเคราะห์แบบฟันธงว่า ไม่น่าเป็นไปได้
"เราเชื่อว่าระเบิดเกือบทุกเหตุการณ์หวังผลทางการเมือง แต่สาเหตุที่ระเบิดบางจุดไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรง มีความเป็นไปได้ว่าเป็นการทดลองประสิทธิภาพของระเบิด หรือไม่ก็เป็นสนามซ้อมของกลุ่มผู้ก่อเหตุที่ระดมคนเข้ามาร่วมขบวนการ และอาจเป็นไปได้ว่าบางเหตุการณ์เป็นการก่อเหตุเพื่อทดสอบดูประสิทธิภาพและวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อหาช่องโหว่ในการวางระเบิดจริงที่มีขนาดใหญ่กว่า สร้างความเสียหายได้มากกว่า ซึ่งวิธีนี้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ใช้อยู่บ่อยๆ เช่นกัน"
แหล่งข่าวคนเดิม ชี้ว่า ตามทฤษฎีก่อการร้าย การก่อเหตุรุนแรงไม่จำเป็นต้องมุ่งไปที่สถานที่เชิงสัญลักษณ์ เพราะการสร้างความปั่นป่วนในเขตเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศได้ ไม่ว่าจะมีเสียงระเบิดดังขึ้นตรงจุดใด ก็จะกลายเป็นข่าวใหญ่และลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลตลอดจนหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ทั้งสิ้น
ย้อนกลับไปที่เหตุระเบิดคาห้องพักสมานเมตตาแมนชั่น ย่านบางบัวทอง จากวัตถุพยานที่พบ ชัดเจนว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่อง และบุคคลที่อยู่ในห้องน่าจะกำลังต่อระเบิดอยู่แล้วเกิดความผิดพลาด แต่ปมที่ต้องไขกันต่อไปก็คือ รถกระบะทะเบียน "นราธิวาส" ไปเกี่ยวอะไรด้วย และเกี่ยวพันกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่
แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคง ให้ความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ชายแดนใต้จะขยายอิทธิพลมาก่อเหตุถึงชานเมืองหลวง เนื่องจากอยู่นอกพื้นที่เป้าหมาย และโดยลักษณะการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการ จะปฏิบัติการในพื้นที่ที่ตนเองได้เปรียบหรือปลอดภัย 100% เท่านั้น เห็นได้จากการเลือกก่อเหตุในจุดที่มีมวลชนของตนเองรองรับ มีการแบ่งงานกันทำ เช่น ฝ่ายส่งอาวุธปืนหรือระเบิด ฝ่ายพาผู้ก่อเหตุหนี ฝ่ายโค่นต้นไม้ โปรยตะปูเรือใบเพื่อสกัดกั้นการติดตามของเจ้าหน้าที่ และยังมีบ้านของแนวร่วมเป็นจุดพักเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าและซ่อนอาวุธ เป็นต้น
"ฉะนั้นประเด็นที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ อาจมีการจ้างหรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางประการกับบรรดามือประกอบระเบิดจากภาคใต้ เพื่อให้ขึ้นมาต่อระเบิดในกรุงเทพฯและปริมณฑล จุดประสงค์ก็เพื่อสร้างความสับสน ไม่ให้ฝ่ายความมั่นคงจับทางได้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มใดแน่"
"ระเบิดแต่ละลูกจะมีลายเซ็น หรือ signature ของผู้ประกอบ เช่น พันสายไฟจากขวาไปซ้าย ใช้เทปกาวสีนั้นสีนี้ ใช้กรรไกรตัดสายไฟยี่ห้อนี้ ซึ่งจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร คนในวงการจะรู้กันดีและจับทางได้ ฉะนั้นจึงแก้ลำด้วยการนำมือประกอบระเบิดจากชายแดนใต้ขึ้นมาทำงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าขบวนการก่อความไม่สงบขยายพื้นที่มาก่อเหตุในกรุงเทพฯ เพราะเป็นการรับงานส่วนตัวของมือระเบิดแต่ละคน"
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์หน่วยหนึ่ง ให้ข้อมูลสอดรับกันว่า เหตุระเบิด 9 จุดเมื่อวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธ.ค.2549 (ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549) เมื่อตรวจสอบวัตถุพยานทั้งหมดแล้ว น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มบุคคลจากชายแดนใต้ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ทุกอย่างตรงกันหมด สอดคล้องกับผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศออสเตรเลียที่มาช่วยจัดตั้ง "บอมบ์ ดาต้า เซ็นเตอร์" หรือศูนย์ข้อมูลระเบิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ยืนยันตรงกันว่าน่าจะมาจากผู้ประกอบระเบิดชุดเดียวกัน
กรณีของ นายถวัลย์ศักดิ์ แปแนะ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีลอบวางระเบิดธนาคาร 22 แห่งพร้อมกันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2549 ซึ่งกลายมาเป็นผู้ต้องสงสัยวางระเบิดหนึ่งใน 9 จุดวันส่งท้ายปีเก่าด้วย คือตัวอย่างอันดีและมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด...
ขณะที่นายตำรวจระดับสูงจากหน่วยงานด้านการข่าว วิเคราะห์ว่า มีโอกาสสูงมากที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองแนว "ฮาร์ดคอร์" หรือนิยมความรุนแรง ซึ่งมีกลุ่มคนมีสีรวมอยู่ด้วย จะมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้บางกลุ่มในลักษณะความสัมพันธ์ส่วนตัว หรืออาจจะเคยจับกุมกันมา และ/หรือเป็น “สาย” ให้เจ้าหน้าที่ เพราะต้องไม่ลืมว่าบรรดา "คนมีสีนอกแถว" ทั้งหลาย แทบทุกรายมีชื่อ "ช่วยราชการภาคใต้" ทั้งสิ้น
แม้แต่กลุ่มคนมีสีที่ตกเป็นผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยในคดีลอบยิง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อเช้ามืดวันที่ 17 เม.ย.2552 สาวไปสาวมาก็ปรากฏชื่อ “ช่วยราชการภาคใต้” เช่นกัน
ฉะนั้นเมื่อพลิกสถิติเหตุระเบิดการเมืองที่พุ่งสูงถึง 130 ครั้งในห้วงเวลาเพียง 9-10 เดือน สูสีกับเหตุระเบิดที่ชายแดนใต้นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2553 จนถึงสิ้นเดือน ก.ย.2553 ซึ่งนับได้ 152 ครั้ง...
ทั้งหมดจึงเป็นข้อมูลอันน่าหนักใจยิ่งของผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง ณ ขณะนี้!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สภาพความเสียหายของ "สมานเมตตาแมนชั่น" อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึ่งเกิดระเบิดอย่างรุนแรงจากภายในห้องพักเลขที่ 202
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น