พลิกรายงาน กมธ.ศก.วุฒิสภา “จำนำข้าว” ก่อหนี้สาธารณะ ทำลายอุตฯ ข้าวไทย (จบ)
จากที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศราได้ประมวลรายงานผลสรุปจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ในตอนแรก เปิดรายงาน กมธ.ศก ฉายภาพ "นโยบายประชานิยม" โซ่ผูกคอสู่หนี้สาธารณะ (1) ที่ กมธ.เศรษฐกิจฯ วิเคราะห์ และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 14 หน่วยงานมาให้ข้อมูล
ในส่วนที่ 2 นี้จะขอกล่าวถึงผลการศึกษากรณีของโครงการประชานิยมที่เกี่ยวกับนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกประจำปี 2554/55 ของรัฐบาล ที่ กมธ.เศรษฐกิจฯ ทำการศึกษาและวิเคราะห์อย่างละเอียด พร้อมตารางสรุปสั้น ดังนี้
สรุปผลการพิจารณาศึกษาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้า และข้าวหอมมะลิอันเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่อาจจะส่งผลกระทบถึงเกษตรกร สภาวการณ์หนี้สาธารณะและปัญหาเศรษฐกิจในอนาคต
ประเด็นปัญหา
1.รัฐบาลได้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกประจำปี 2554/2555 โดยรับจำนำข้าวทุกเมล็ดไม่จำกัดปริมาณ โดยกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือก ณ ความชื้น 15% ดังนี้
การกำหนดราคาดังกล่าวข้างต้น เป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดประมาณ ร้อยละ 40ทำให้เกษตรกรไม่ไถ่ถอน รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ต้องรับภาระด้านงบประมาณตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ได้ใช้งบประมาณการรับจำนำข้าวไปแล้ว 517,958 ล้านบาท ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวได้น้อย จากการประมูลขายข้าวได้ประมาณ 260,000 ตัน ขายหน่วยราชการประมาณ 800,000 ตัน และขาย G to G ให้กับไอเวอร์รี่โคสต์ 2.4 แสนตัน (ยังไม่ส่งมอบ) มีข้าวเหลือในสต็อกไม่น้อยกว่า 10 ล้านตันที่รอระบายออกเป็นภาระค่าบริหารจัดการและเงินหมุนเวียนมารับจำนำข้าวต่อ รวมถึงข้าวอาจเสื่อเสียหายได้
2.รัฐบาลใช้กลไกของรัฐรับจำนำำข้าวราคาสูงกว่าตลาดมาเก็บไว้ในสต็อกแต่เพียงผู้เดียว โดยหวังจะขายในตลาดโลกในราคาสูง แต่ต้นทุนของไทยสูงกว่าเวียดนาม อินเดียและพม่า ซึ่งขายได้โดยเฉลี่ย ตันละ 450 เหรียญ แต่เป้าหมายของไทยจะขาย 800-900 เหรียญ ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกมากที่สุดเหมือนปีก่อนๆ หากขายในราคาตลาด ขณะนี้ขาดทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท การที่รัฐเก็บไว้เช่นนี้ ทำให้กลไกตลาดไม่ทำงาน และยอดการส่งออกลดลงเดือนละ 6,000 ล้านบาท หรือ 72,000 ล้านบาท/ปี (ลดลง 35% จากปีก่อน)
3.เกษตรกรที่ทำนามีประมาณ 4 ล้านครัวเรือน แต่การรับจำนำข้าวปี 2554/2555 มีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำประมาณ 1 ล้านราย อีก 3 ล้านราย จะเป็นชาวนาที่จน มีที่นาไม่มาก ไม่สามารถมีผลผลิตมาจำนำได้ รายได้เพิ่มขึ้นจากการรับจำนำ จึงตกอยู่กับชาวนารวย ซึ่งมีที่นามาก หรือนายทุนที่มีที่นาให้เช่าเท่านั้น โดยมีตัวเลขเม็ดเงินเข้าถึงเกษตรกรเพียง 37% ที่เหลือเป็นประโยชน์ต่อนายทุน โรงสีและผู้มีสายสัมพันธ์อันดีกับนักการเมือง
4.เกษตรกรที่มารับจำนำกับโรงสี จะถูกเอาเปรียบเรื่องของน้ำหนัก ความชื้นและสิ่งเจือปน จึงไมได้รับเงินตามที่รัฐบาลกำหนดรวมถึงการทุจริตตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ไม่ตรงกับจำนวนที่นาจริง การสวมสิทธิ์ข้าวจากเพื่อนบ้าน โรงสีจำนำข้าวที่กดราคา ซื้อราคาถูกมาสวมสิทธิ์การรับจำนำ ทำให้มีช่องว่างกระบวนการรับจำนำข้าวที่ไม่สุจริต และการเอารักเอาเปรียบเกษตรกร
5.การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดด้วยราคาสูงกว่าราคาตลาด 40% ทำให้เกษตรกรรีบเร่งการปลูกข้าวอายุสั้น หรือปนคละข้าวหลายพันธุ์มาจำนำ ส่งผลต่อคุณภาพข้าวไทยในตลาดโลกลดลง รวมถึงเกษตรกรอาจเปลี่ยนการปลุกพืชไร่อื่นๆ หันมาปลูกข้าวแทน ทำให้ไม่เกิดความสมดุลของการผลิตพืชไร่ในอนาคต
6.การที่ใช้กลไกของรัฐในการรับจำนำข้าวและขายข้าวแทนเอกชน จะทำให้ผู้ประกอบการค้าข้าวและโรงสีอาจปิดกิจการ และอาจไปรับใช้ประเทศเพื่อนบ้านจำหน่ายข้าวแทน รวมถึงเป็นปัญหาแรงงานกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและอุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบได้
7.การที่รัฐบาลระบายข้าวออกในราคาที่ต่ำกว่าทุน เพื่อให้สามารถระบายข้าวในราคาตลาดได้ ส่งผลต่อการขาดทุน ซึ่งเป็นงบประมาณของรัฐที่มาจากภาษีอากรของประชาชน รวมถึงส่งผลในการเพิ่มหนี้สาธารณะจากการกู้ เพราะรัฐบาลจะรับจำนำข้าวต่อในปี 2555/2556 ในวงเงินอีก 405,000 ล้านบาท รวมกับจำนวนสินค้าเกษตรปีที่ผ่านมา 517,958 ล้านบาท จะใช้งบประมาณจำนำสินค้าเกษตร รวมประมาณ 920,000 บาท ซึ่งส่วนที่ขาดทุนควรนำไปพัฒนาในทางอื่นได้ประโยชน์มากกว่า
8.การที่รัฐบาลบริหารจัดการอุตสาหกรรมข้าว อาจหมิ่นเหม่ต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 7 แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจมาตรา 84 (1) "สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาดและสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน..... และจะต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน....."
9.นโยบายและมาตรการการรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นนโยบายที่ล้มเหลวที่สุด ตั้งแต่ทำกันมา เมื่อปี พ.ศ.2529 สูญเสียเงินละลายน้ำไปมากมาย โดยผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงมือเกษตรกรอย่างที่คิด ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสี ผู้ส่งออก ลานตากมัน รัฐบานตรีที่เกี่ยวข้อง พรรคพวกของนักการเมือง จึงไม่มีใครยอมเลิกโครงการนี้ และยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชั่นจากโครงการจำนำสินค้าเกษตร รัฐบาลเสียเงินขาดทุนมากมาย
ข้อเสนอแนะ
1.รัฐบาลควรทบทวนนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกทั้งระบบ เช่น กำหนดปริมาณการรับจำนำไม่ทุกเมล็ด หรือกำหนดวงเงินการรับจำนำ โดยเน้นเกษตรกรรายเล็กหรือเกษตรกรรายได้ต่ำ ให้มีโอกาสเข้าถึงโครงการให้เป็นส่วนใหญ่ ให้ราคารับจำนำต่ำกว่าตาด หรือใกล้เคียง เพื่อให้เกษตรกรสามารถมาไถ่ถอนได้ภายหลังและขายได้ในราคาตลาด จะลดการใช้งบประมาณและลดการขาดทุนในระบบปัจจุบันและสามารถควบคุมหนี้สาธารณะได้
2.วิเคราะห์ปัญหาเพื่อปรับปรุงกระบวนการรับจำนำข้าว ตั้งแต่เกษตรกร การแจ้งข้อมูลพื้นที่และผลผลิตในการจดทะเบียนเกินจริง การตรวจสอบคุณภาพและน้ำหนักของโรงสี การควบคุมโกดังกลางให้มีความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบเกษตรกรหรือมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการ
3.เปิดโอกาสให้ใช้กลไกตลาดภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการระบายข้าวในสต็อกในการส่งออกโดยเร็ว เพื่อป้องกันคุณภาพข้าวเสื่อม หากเก็บไว้นานจะมีต้นทุนในการบริหารจัดการเพิ่มเติม ทั้งนี้ จะช่วยให้การระบายข้าวขาดทุนน้อยที่สุด และสามารถนำเงินที่ระบายข้าวได้กลับมาหมุนเวียนการรับจำนำข้าวให้ ธกส.ได้เพิ่มขึ้น
4.การขาย G to G รัฐบาลควรพิจารณาประเทศเป้าหมายรายใหม่ เช่น สเปน อเมริกาใต้ แอฟริกา เพิ่มเติม โดยต้องเปิดเผยปริมาณและราคาให้ประชาชนรับทราบ
5.รัฐพึงวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบโดยเฉพาะพันธุ์ข้าวไทย ให้ได้ข้างคุณภาพดี เพื่อขายได้ราคาสูง พร้อมๆ กับการสนับสนุนเกษตรกรในการลดปัจจัยการผลิตที่เป็นต้นทุนที่สูงและให้สามารถได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เป็นกำไรเพิ่มมากขึ้น เพราะคำนวณการจากต้นทุนการผลิต 10 ไร่ จำนำราคาปัจจุบัน จะมีกำไรเพียง 16,000 บาท หรือเดือนละประมาณ 1,400 บาทเท่านั้น
6.รัฐพึงทบทวนนโยบายการถือครองที่ดินของกลุ่มนายทุน โดยเฉพาะนายทุนต่างชาติที่ใช้ตัวแทนคนไทยเป็นเข้าของรายใหญ่ โดยเกษตรกรขายที่ดินให้และกลับมารับจ้างทำนา ผลประโยชน์จึงตกอยู่กับชาวนารวยหรือนายทุนที่มีที่นามาก
7.จำนวนชาวนาที่ได้รับประโยชน์จากโครงการจำนำ จำแนกตามวงเงินที่ได้
ที่มา : คำนวณโดยสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย จากข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2555
บทสรุป
นโยบายประชานิยมเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์และส่งผลดีในระยะยาว ให้แก่คนจนผู้มีรายได้น้อย เพื่อลดช่องว่างฐานะทางสังคมให้น้อยลง จึงเป็นทฤษฎีที่จะส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวและอาจเลิกนโยบายในบางเรื่อง หากผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์แล้วในภายหลังได้
นโยบายประชานิยม บางโครงการพึงต้องตระหนักถึงผลกระทบในภาพรวมที่อาจมีความเสียหายที่สูงต่อเศรษฐกิจมหภาค หนี้สาธารณะและกระบวนการที่ไม่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ้งโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล มีแนวโน้มที่จะก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น รัฐทุ่มตลาดเป็นผู้ค้าข้าวเพียงผู้เดียว โดยรับจำนำสูงกว่าตลาด ส่งผลให้ไม่สามารถระบายข้าวสู่ตลาดโลกในราคาตลาดได้ หรืออาจจำหน่ายในราคาต่ำกว่าทุนเป็นผลให้ประสบสภาวะขาดทุนและเสียโอกาส ในตลาดโลกให้กับคู่แข่ง
รวมถึงทำลายกลไกตลาด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมข้าวไทย จะมีศักยภาพตกต่ำลงและส่งผลไปสู่รัฐบริหารจัดการแทนเอกชนในบริบทของเศรษฐกิจการค้าเสรี ซึ่งจะไม่ประสบผลดีดังหลายประเทศที่มีประสบการณ์ล้มเหลว เช่น พม่า ลาว เวียดนามและรัสเซียมาแล้วในที่สุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดรายงาน กมธ.ศก.วุฒิสภาฯ ฉายภาพ "นโยบายประชานิยม" โซ่ผูกคอสู่หนี้สาธารณะ (1)