เสียงครวญจากสวนลองกอง...เมื่อผลไม้มิตรภาพต้อง "พังพาบ" เพราะความรุนแรง
เหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงเข้าไปในกลุ่มผู้ค้าจากนอกพื้นที่ที่กำลังเจรจาต่อรองซื้อลองกองกับชาวสวนและชาวบ้านกลุ่มใหญ่บริเวณหน้าศูนย์รับซื้อผลไม้ในท้องที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี้ เมื่อค่ำวันอังคารที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 5 ราย และบาดเจ็บอีก 3 คนนั้น นับเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่อันโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมอีกครั้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่งผลทั้งสร้างความตื่นกลัวและกระทบกับเศรษฐกิจท้องถิ่นไปพร้อมกัน
ที่น่าตกใจก็คือ เหตุการณ์ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่างหน่วย คือ ตำรวจ กับ ทหาร กลับสรุปเหตุการณ์และสันนิษฐานกันไปคนละทาง ทำให้ประชาชนและผู้สนใจติดตามข่าวสารรู้สึกวังเวง ไม่รู้จะเชื่อใครดี
ตร.-ทหารไปคนละทางอ้างฝีมือแก๊งป่วนต่างกลุ่ม
เริ่มจากตำรวจก่อน เมื่อวันพุธที่ 29 ก.ย. พ.ต.อ.อำนาจ ดี ผู้กำกับการ สภ.สายบุรี ได้นำกำลังพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐานปัตตานี เข้าไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 21 หมู่ 2 ต.มะนังดาลำ ซึ่งเปิดเป็นศูนย์คัดแยกและรับซื้อผลไม้ ทั้งลองกองและมังคุด โดยเจ้าหน้าที่พบคราบเลือดจำนวนมากและปลอกกระสุนปืนอาก้า เอ็ม 16 และ 9 มม.รวม 28 ปลอก ห่างจากศูนย์คัดแยกผลไม้ประมาณ 50 เมตร ยังพบรถกระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน หมายเลขทะเบียน บน 7227 ชุมพร จอดอยู่ในสภาพถูกเพลิงเผาได้รับความเสียหายด้วย
สำหรับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ นางอนงค์ โพธิ์กลม อายุ 35 ปี ผู้รับซื้อลองกอง ชาว จ.นครศรีธรรมราช นายศรีวิชัย วิเศษ ชาว จ.ศรีษะเกษ นายภูวนาท ม่วงไหมทอง ชาว จ.สุรินทร์ ทั้งสองเป็นลูกจ้างที่มากับนางอนงค์ นอกจากนั้นยังมี นายมะไปรู กายูมี อายุ 18 ปี และนายมัสลัน ยูโซ๊ะ อายุ 23 ปี ชาว ต.มะนังดาลำ ถูกยิงเสียชีวิต
ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นายพรชัย อินทศรี ชาว จ.สุรินทร์ ลูกจ้างรับซื้อลองกอง ด.ญ.นูรอัยนี เจ๊ะเต๊ะ อายุ 10 ปี และ ด.ช.อับดุลบาซิ เจ๊ะเต๊ะ อายุ 8 ปี สองพี่น้อง ลูกของ นายมูฮำมัด เจ๊ะเต๊ะ เจ้าของบ้านที่เกิดเหตุซึ่งเปิดเป็นศูนย์รับซื้อลองกองและมังคุด
พ.ต.อ.อำนาจ กล่าวว่า จากการสอบสวนพยานในเบื้องต้น คาดว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนร้ายในพื้นที่ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มของ นายมะนัง บือราเฮง และนายยาการียา ปาโว ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคงที่เคลื่อนไหวในพื้นที่รอยต่อ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อย่างต่อเนื่อง โดยจุดประสงค์ของคนร้ายคือทำให้เกิดความหวาดกลัว และเป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เพิ่งวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยไปหลายราย
ด้าน พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า เหตุการณ์สังหาร 5 ศพที่เกิดขึ้นนี้ เบื้องต้นเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มแนวร่วมที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เนื่องจากเป็นพื้นที่รอยต่อกับ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี อีกทั้งก่อนหน้านี้พบว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มดังกล่าวมีสมาชิกประมาณ 20 คน แยกเป็น 3 กลุ่มย่อย มีแกนนำรับผิดชอบแต่ละพื้นที่ และเน้นปฏิบัติการก่อความรุนแรงเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนจะเป็นกลุ่มคนร้ายที่ลงมือสังหารโหดคนไทยพุทธ 4 ศพที่บ้านฮูแตยือลอ หมู่ 6 ต.บาเร๊ะใต้ อ.บาเจาะ เมื่อคืนวันที่ 18 ก.ย.ด้วยหรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนขยายผล
ผู้ว่าฯปัตตานีตื่นสั่งอารักขาเข้มผู้ค้าต่างถิ่น
นายธีรเทพ ศรียะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ได้สั่งการด่วนถึงทุกหน่วยให้วางระบบการดูแลความปลอดภัยให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่เข้าไปรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรอย่างเข้มงวด และที่สำคัญได้ขอความร่วมมือให้มีการจัดทำข้อมูลนัดหมายในการนำผู้ค้าจากนอกพื้นที่เข้ามาติดต่อซื้อผลผลิตจากสวนอย่างเร่งด่วนด้วย จะได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปอารักขาเพื่อความปลอดภัย
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยอมรับว่าอาจเกิดผลกระทบทำให้กลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารายอื่นๆ ไม่กล้าเข้าไปรับซื้อผลผลิตของชาวบ้านในพื้นที่ จึงได้กำชับให้พาณิชย์จังหวัดเข้าไปดูแล เพื่อช่วยเหลือชาวสวนไม่ให้ได้รับผลกระทบเรื่องราคามากนัก เพราะเชื่อว่าจะมีการฉวยโอกาสฉุดราคาลองกองให้ตกต่ำลงอีก" ผู้ว่าฯปัตตานี กล่าว
ขณะที่ นายลือชัย เจริญทรัพย์ นายอำเภอสายบุรี กล่าวว่า บริเวณศูนย์คัดแยกผลไม้ 2 แห่งในพื้นที่ อ.สายบุรี ซึ่งเป็นของหน่วยงานภาครัฐ และเข้าไปตั้งอย่างเป็นทางการในพื้นที่ ยังสามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ ส่วนจุดที่เป็นปัญหาคือศูนย์รับซื้อผลไม้ชั่วคราวที่เป็นของชาวบ้านเอง เพราะมีเจ้าหน้าที่ไปดูแลเป็นระยะ แต่ไม่ประจำ จึงเกิดช่องว่างให้คนร้ายฉวยโอกาสก่อเหตุได้ ซึ่งล่าสุดได้เข้าไปประสานเพื่อวางมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมแล้ว
รู้จัก "ลองกอง" ผลไม้มิตรภาพ
อันที่จริง "ลองกอง" ได้ชื่อว่าเป็น "ผลไม้มิตรภาพ" เพราะในห้วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อถึงฤดูที่ลองกองออกผลผลิต และราคาตกต่ำ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ความไม่สงบ จึงไม่มีใครกล้าเข้าไปซื้อผลผลิตถึงในสวน ปรากฏว่ารัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้จัดโครงการรับซื้อลองกองล็อตใหญ่ไปจำหน่ายในกรุงเทพฯ พร้อมรณรงค์ให้คนไทยทั่วประเทศช่วยกันซื้อลองกองไปรับประทานและเป็นของฝาก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลองกอง โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งนิยมปลูกกันมากและเป็นพันธุ์ที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะ "ลองกองตันหยงมัส"
ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันอังคารที่ 28 ก.ย. วันเดียวกับที่เกิดเหตุสลดในช่วงค่ำ นายภาณุ อุทัยรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็เพิ่งเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการคาราวานผลไม้และการจำหน่ายลองกอง 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อกระจายผลผลิตออกไปสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยปล่อยขบวนรถขนลองกองและผลไม้อื่นๆ กว่า 70 คัน น้ำหนักกว่า 100 ตัน ที่หน้าศูนย์แสดงสินค้าโอทอป อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
"ลองกอง" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lansium domesticum Corr. อยู่ในตระกูลเดียวกับลางสาด ดูกู และกระท้อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบหมู่เกาะมลายู ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และทางตอนใต้ของประเทศไทย เป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีความชื้นในอากาศสูง ปัจจุบันขยายพื้นที่ปลูกกันมากในเขตภาคใต้ และภาคตะวันออก
ข้อมูลจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา พบว่าว่า พื้นที่ปลูกลองกองระหว่างปี 2550-2552 มีแนวโน้มลดลง แต่พื้นที่หลักที่มีการปลูกและให้ผลผลิตคือจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส โดยในปี 2552 ลองกองมีเนื้อที่ยืนต้นรวม 331,117 ไร่ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 1.4 พื้นที่ยืนต้นกระจายอยู่ในทุกจังหวัดของภาคใต้ จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตหลัก ได้แก่ นราธิวาส 80,143 ไร่ (24%) ยะลา 51,416 ไร่ (16%) ชุมพร 36,329 ไร่ (11%) นครศรีธรรมราช 35,062 ไร่ (11%) และสงขลา 24,742 ไร่ (7%)
ส่วนพื้นที่ให้ผลผลิต ระหว่างปี 2550-2552 มีแนวโน้มลดลงและเพิ่มขึ้นไม่แน่นอน ขึ้นกับอายุการปลูกและสภาพอากาศ ในปี 2552 ลองกองมีเนื้อที่ให้ผลผลิตรวม 252,659 ไร่ (76% ของเนื้อที่ยืนต้น) จังหวัดที่เป็นแหล่งให้ผลผลิตหลักได้แก่ นราธิวาส 65,590 ไร่ (26%) ยะลา 36,799 ไร่ (15%) ชุมพร 34,414 ไร่ (14%) นครศรีธรรมราช 24,644 ไร่ (10 %) และสุราษฎร์ธานี 18,607 ไร่ (7%)
ขณะที่ผลผลิตระหว่างปี 2550-2552 ก็มีแนวโน้มไม่แน่นอนเช่นกัน ขึ้นกับสภาพดินฟ้าอากาศและการดูแลรักษา โดยในปี 2552 คาดว่าลองกองมีผลผลิตรวม 137,217 ตัน ผลผลิตลองกองกระจายทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยจังหวัดที่ให้ผลผลิตหลัก ได้แก่ นราธิวาส 22,957 ตัน (17%) ยะลา 18,400 ตัน (13%) สุราษฎร์ธานี 17,677 ตัน (13%) นครศรีธรรมราช 16,155 ตัน (12%) และชุมพร 14,557 ตัน (11%) สำหรับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เรียกว่า "ฤดูกาลเก็บเกี่ยวลองกองภาคใต้" จะเริ่มราวๆ เดือน พ.ค.ถึง พ.ย. และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สูงสุดในเดือน ส.ค.ถึง ก.ย.
เสียงครวญจากชาวสวนลองกอง
ดังที่เกริ่นเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์สังหารหมู่หน้าศูนย์คัดแยกและรับซื้อผลไม้ใน อ.สายบุรี ย่อมกระทบกับราคาผลผลิตในภาพรวม และส่งผลสะเทือนถึงเกษตรกรชาวสวน ตลอดจนลูกจ้างในภาคเกษตรอย่างไม่ต้องสงสัย
เพราะล่าสุดราคาลองกองตกวูบเหลือกิโลกรัมละ 4-5 บาทเท่านั้น จากราคารับซื้อในปีก่อนๆ จะอยู่ที่ราวๆ 10 บาทสำหรับลองกองคละ และราคาสูงขึ้นตามเกรดของลองกอง โดยลองกองช่อเกรดเอราคารับซื้ออยู่ที่ 20 กว่าบาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ราวๆ 11.50 บาท
ปีนี้ชาวสวนจึงขาดทุนย่อยยับ และชาวสวนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกจำนวนมาก โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส ใน อ.ระแงะ สุคิริน แว้ง ศรีสาคร และสุไหงปาดี จ.ยะลา ใน อ.บันนังสตา ธารโต และรามัน
นายอุสมาน อาบู เจ้าของสวนใน จ.ยะลา กล่าวว่า ราคาลองกองแย่มาตลอดทุกปีอยู่แล้ว แต่ละปีราคายิ่งตก ปีที่แล้วคิดว่าราคาตกมากแล้ว แต่ปีนี้ยิ่งตกมากกว่าทุกปี ยิ่งมาเกิดสถานการณ์ความไม่สงบแบบนี้ โดยเฉพาะเกิดกับพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามารับซื้อลองกองด้วย คงไม่ต้องคิดแล้วว่าราคาจะตกขนาดไหน ต้องทำใจอย่างเดียว
นายสือมัง มูดอ วัย 24 ปี ลูกจ้างขึ้นลองกอง (รับจ้างเก็บผลผลิต) ชาวบ้าน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ได้ยินข่าวจากทางโทรทัศน์และเพื่อนๆ โทรศัพท์มาบอกว่า มีพ่อค้าจากนอกพื้นที่ถูกยิงและมีชาวบ้านเสียชีวิตด้วย ก็รู้สึกตกใจ จึงโทรศัพท์ไปหาเถ้าแก่ (นายทุนที่รับซื้อผลผลิตในพื้นที่) ถามว่ารู้เรื่องนี้หรือยัง เถ้าแก่บอกรู้แล้ว และสั่งให้หยุดทำงานก่อน เพราะกลัวเรื่องความไม่ปลอดภัย และราคากำลังตก
"เก้าแก่บอกว่าตอนนี้ราคาเหลือประมาณกิโลกรัมละ 4-5 บาท ให้หยุดขึ้นลองกองไว้ก่อน เมื่อขึ้นลองกองไม่ได้ก็ต้องขาดรายได้ เลยต้องหันไปรับจ้างเก็บขี้ยาง แม้รายได้ไม่เท่ากันก็ต้องทำ ไม่ทำก็ไม่มีกิน คนหาเช้ากินค่ำก็ต้องหาทางออกให้ตัวรอดไปพอวันๆ" นายสือมัง กล่าว
ขณะที่ นายคอรีเยาะ สาและ พ่อค้าที่รับซื้อลองกองในพื้นที่ จ.ยะลา กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาลองกองดีกว่านี้ จึงลงทุนเหมาเอาไว้ 4 สวน ตอนนี้ราคาตก ทำให้ขาดทุนทั้งหมด โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ยิงพ่อค้ารับซื้อลองกอง ทำให้ราคายิ่งตก และตนเองก็กลัว ไม่กล้าเข้าไปเอาลองกองที่เหมาไว้ งานนี้เจ๊งหมดแน่
เป็นเสียงครวญจากสวนลองกอง และผลกระทบในทางเศรษฐกิจที่ซึมลึกแต่รัฐมักไม่ค่อยให้ความสำคัญ!
-----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-2 ลองกองพวงใหญ่น่ารับประทาน แต่ราคาไม่น่าประทับใจ (ภาพจากอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)