เมื่อกลุ่มผู้เลี้ยงหอยเผชิญหน้าประมงชายฝั่ง...ปมแย่งชิงทรัพยากรปะทุที่ชายแดนใต้
ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรจนนำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรงได้ปะทุขึ้นหลายครั้งแล้วในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ดูเหมือนภาครัฐจะยังนิ่งนอนใจ เพราะทุ่มความสำคัญไปที่สถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น ทั้งๆ ที่ปัญหานี้ส่อเค้าบานปลาย ดังเช่นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกลุ่มประมงชายฝั่ง กับกลุ่มผู้เลี้ยงหอยแครง ถึงขั้นรวมพลไปแสดงพลังที่หน้าโรงพักเมืองปัตตานีกันเลยทีเดียว
เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มประมงพื้นบ้านซึ่งส่วนหนึ่งมีอาชีพ "ลากหอยแครง" รอบอ่าวปัตตานี จากหลายตำบล หมู่บ้านริมอ่าวในเขต อ.เมืองปัตตานี จำนวนกว่าครึ่งร้อย ได้ไปชุมนุมกันที่หน้า สภ.เมืองปัตตานี เพื่อให้กำลังใจชาวบ้าน 6 คนซึ่งถูกออกหมายเรียกในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ซึ่งก็คือ "หอยแครง" ในอ่าวปัตตานีนั่นเอง
เรื่องของเรื่องเกิดจาก นายมูฮามัดซุลกิฟลี ดาโอ๊ะ และนายประกิจ แซ่ตัน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นนายทุนผู้เลี้ยงหอยแครง เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.เมืองปัตตานี ให้ดำเนินคดีกับ นายอามะ ปะจูมะ นายแวอูเซ็ง สะนิ นายอาลี มามะ นายสมาน โต๊ะเร็ง นายเจะมือดา แวหามะ และนายกอเดร์ สาแม ฐานลักหอยแครง เมื่อหมายเรียกถูกส่งถึงตัวผู้ถูกกล่าวหา ทำให้ทั้ง 6 คนและชาวบ้านซึ่งเป็นกลุ่มประมงชายฝั่งไม่พอใจ จึงพากันไปชุมนุมที่หน้าโรงพัก และให้ผู้ถูกออกหมายเรียกทั้ง 6 คนเข้าแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อตำรวจ พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี บรรยากาศดำเนินไปอย่างตึงเครียด
เสียงจากประมงชายฝั่ง
ชาวบ้านคนหนึ่งที่มาร่วมชุมนุม เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงชายฝั่งและลากหอยนั้น มีอยู่ทั่วไป ครอบคลุมตลอดอ่าวปัตตานีราวๆ 11 หมู่บ้าน กระจายไปหลายตำบล อาทิ ต.บานา ต.แหลมโพธิ์ ต.บูดี ต.ดาโต๊ะ เป็นต้น มีคนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการลากหอยกว่า 1,000 ครัวเรือน เมื่อเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน 6 คนถูกออกหมายเรียก จึงสร้างความหวาดกลัวและต้องออกมาชุมนุม เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป อีกนับพันครัวเรือนต้องโดนแบบเดียวกันอย่างแน่นอน
“ปัญหาทั้งหมดเกิดจากพวกนายทุนมาเช่าที่ทำฟาร์มเลี้ยงหอยในอ่าวปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านทำมาหากินกันมานานแล้ว โดยการลากหอยเป็นอาชีพเสริมจากการทำประมง เพราะทุกวันนี้รายได้จากประมงชายฝั่งค่อนข้างน้อย หลายครอบครัวจึงหันมายึดการลากหอยเป็นอาชีพเสริม จริงๆ ก็ทำมาตั้งแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ และไม่เคยมีปัญหา กระทั่งมีนายทุนมาครอบครอบที่สาธารณะซึ่งเป็นปากท้องของชาวบ้าน กลายเป็นต้นตอความขัดแย้ง"
ผู้ร่วมชุมนุมรายนี้บอกว่า หลังจากนี้จะไปประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดต่อ เพื่อให้ทางจังหวัดเข้ามาจัดการปัญหา เพราะอ่าวปัตตานีเป็นพื้นที่สาธารณะ ทุกคนมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ นอกจากนั้นจะยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกลุ่มนายทุนด้วย เพราะทำให้กลุ่มประมงชายฝั่งขาดรายได้มานานนับเดือนแล้วตั้งแต่มีข้อพิพาทกัน
ชาวบ้านอีกคนหนึ่งที่มาร่วมชุมนุมเช่นกัน บอกว่า อยากให้ปัญหานี้จบเร็วๆ เพราะยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือนแล้ว กระทั่งส่งผลกระทบต่อรายได้และชีวิตความเป็นอยู่
“เราอยากให้ทางราชการยื่นมือมาช่วยเหลือประชาชน อย่าให้ชาวบ้านดิ้นรนเอง หรือจัดการปัญหากันเอง เพราะเราไม่มีหัวหน้า ไม่มีใครเป็นแกนนำ เราอยากให้ทางราชการเป็นแกนประสานจัดการปัญหานี้ให้เรา นี่ยังมีอีกหลายคนนะที่จะมารน่วมด้วย พวกเขามากันเอง ไม่มีใครไปชักนำ เพราะเป็นเรื่องปากท้องของพวกเราจริงๆ อยากให้ทางราชการใส่ใจประชาชนบ้าง อย่าเอาแต่สนใจนายทุนจนลืมว่าอาชีพลากหอยมีชาวบ้านเกี่ยวข้องเยอะ และเราก็ทำกันมานานแล้วด้วย”
“อ่าวปัตตานีเป็นของสาธารณะ หอยในทะเลก็เป็นของธรรมชาติ มีบ้างที่นายทุนเอามาปล่อยหรือเลี้ยงไว้ แต่นายทุนเล่นเหมารวมว่าเป็นของเขาทั้งหมด ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะจริงๆ มันการกันเขตอยู่ ที่สาธารณะไม่มีใครครอบครองได้ ต้องเป็นของทุกคน จู่ๆ นายทุนจะมาครอบครองเป็นของตัวเองได้อย่างไร พวกเขาน่าจะผิดมากกว่าพวกเรา เพราะมาบุกรุกที่สาธารณะ พอชาวบ้านเข้าไปเก็บหอย เขาบอกว่าเป็นของเขา เพราะพันธุ์หอยมาจากส่วนที่เขาปล่อยไป แล้วอย่างนี้ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร” ผู้ชุมนุมรายนี้ กล่าว
นายแวอูเซ็ง สะนิ อายุ 59 ปี หนึ่งใน 6 ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายเรียก กล่าวว่า ได้อาศัยพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีทำมาหากินมาตั้งแต่เกิด ไม่เคยมีสักครั้งที่ต้องถูกดำเนินคดี แต่วันนี้กลับโดนหลังจากนายทุนเข้าแย่งพื้นที่ทำกินมานานถึง 20 ปี ที่ผ่านมาลำบากมาตลอด หนำซ้ำยังมาถูกออกหมายเรียกอีก
"ตั้งแต่เล็กจนโตผมอยู่กับทะเลนี้มาตลอด เรียกตัวเองว่าประมงเรือเล็ก ออกเรือไปทั่วริมอ่าวปัตตานีเพื่อหาหอย ปู ปลา กุ้ง บางวันก็ได้เยอะ บางวันได้น้อย อยู่ที่น้ำทะเลว่าไหลเร็วหรือช้า ถ้าน้ำไหลเร็วก็ได้สัตว์น้ำเยอะ วันไหนน้ำไหลช้าก็ได้น้อยหรือไม่ได้เลย แต่ก็ไม่เป็นไร พอวันนี้มาถูกออกหมายเรียก ทั้งๆ ที่ครอบครัวพึ่งทะเลผืนนี้มาตลอด 50 ปี จะไม่ให้ตกใจได้อย่างไร” แวอูเซ็ง ตั้งคำถาม
ฟังเสียงกลุ่มผู้เลี้ยงหอย
อันที่จริงปัญหานี้กลายเป็นข้อพิพาทจนถึงขั้นเผชิญหน้ากันมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2553 เมื่อชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีรวมกลุ่มเข้าไปงมหอยแครง โดยอ้างว่าถูกแย่งพื้นที่มานานจากนายทุน ส่วนกลุ่มผู้เลี้ยงหอยแครงก็ยืนยันว่านายทุนที่พูดถึงกันนั้น แท้ที่จริงก็คือชาวบ้านกลุ่มเลี้ยงหอยแครงในชุมชนนั่นเอง
หนึ่งในชาวบ้านกลุ่มผู้เลี้ยงหอยแครง เล่าว่า นำเงินอุดหนุนจากโครงการของรัฐ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) รวมทั้งเงินที่ลงหุ้นกันจากชาวบ้าน มาลงทุนเลี้ยงหอย เมื่อได้ผลกำไรก็นำมาปันผลให้สมาชิกปีละ 1 ครั้ง โดยเงินที่ได้จากการขายหอยทั้งหมดจะแบ่งออกเป็นส่วนๆ ได้แก่ คืนให้เป็นรายได้ของผู้ที่ร่วมลงทุนและลงแรง อีกส่วนหนึ่งนำไปปันผลสมาชิก และอีกส่วนหนึ่งส่งเข้าชุมชน โดยจะมอบให้เด็กกำพร้า โรงเรียน และคนชรา
"เราทำกันมา 30 ปีไม่เคยมีปัญหา วันนี้กลับมาบอกว่าเราแย่งพื้นที่ อยากถามกลับว่าทำไมไม่ออกมาเรียกร้องตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มทำกัน" แกนนำกลุ่มผู้เลี้ยงหอยแครง ตั้งข้อสังเกต
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหานี้เริ่มบานปลายเมื่อมีการรวมตัวกันของประมงพื้นบ้านนับพันคน และมีข้าราชการระดับสูงของจังหวัดปัตตานี ประกาศต่อหน้าชาวบ้านว่า "ทะเลเป็นของสาธารณะที่อัลลอฮ์สร้างมา ทุกคนสามารถหาสัตว์น้ำในทะเลได้หมด”
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการระดมกันทั้งงมทั้งลากหอยแครงรอบอ่าวปัตตานี จนเกิดกรณีพิพาทกับชาวบ้านกลุ่มผู้เลี้ยงหอย และนำไปสู่การร้องเรียนต่อ นายกมล ถมยาวิทย์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการจัดทำรายงานผลการพิจารณาปัญหาความไม่สงบและสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน
แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะยังไม่คลี่คลาย กระทั่งมีการแจ้งความดำเนินคดีกันในที่สุด
"การประกาศให้ชาวบ้านงมหอยแครงได้อย่างเสรี ทำให้พวกเรากลุ่มผู้เลี้ยงหอยที่ลงทุนทำกันมานานต้องได้รับความเสียหายเป็นเงินถึง 20 ล้านบาท เพราะกลุ่มที่เข้ามางมหอยก็ระดมกันมาทั้งกลางวันกลางคืน เก็บด้วยมือไม่ไหว ก็ใช้กระสอบลากแล้วยกใส่เรือ ทำให้พวกเราทนไม่ไหว ต้องเข้าแจ้งความ" แกนนำกลุ่มผู้เลี้ยงหอยแครง ให้ข้อมูล
สถานการณ์ ณ วันนี้ ชาวบ้านแตกออกเป็น 2 กลุ่มและเผชิญหน้ากันอย่างเปิดเผย ถึงขั้นที่ว่าเวลาจะนั่งดื่มน้ำชา ต้องแยกนั่งกันคนละร้านเลยทีเดียว
ทางออกที่ยังมืดมน
เมื่อเรื่องถึงโรงพัก พ.ต.อ.นฤชา สุวรรณลาภา ผู้กำกับการ สภ.เมืองปัตตานี จึงเป็นด่านแรกที่ต้องรับหน้าเสื่อคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้า โดยเขายืนยันในเบื้องต้นว่า หมายเรียกที่ออกไป อันที่จริงยังไม่มีการจับใครทั้งนั้น เพราะเป็นหมายเรียกเพื่อมาให้ข้อเท็จจริงเฉยๆ ทว่าเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องเป็นเด็กใหม่ ไม่มีประสบการณ์ จึงออกหมายผิดไป ที่จริงต้องเป็นหมายเรียกพยาน ไม่ใช่หมายเรียกผู้ต้องหา
“ผมจะให้ทางราชการทำหมายเรียกใหม่ เป็นหมายเรียกพยาน เพื่อมาสอบข้อเท็จจริงว่าแท้ที่จริงแล้วเรื่องเป็นมาอย่างไร ผมยืนยันว่าไม่มีการออกหมายจับใครทั้งสิ้น เชื่อสิว่าเดี๋ยวผมก็จัดการให้ ส่วนเอกสารที่ผิดพลาดถือว่าใช้ไม่ได้ ลูกน้องผมยังใหม่ ไม่เข้าใจสถานการณ์ แต่ผมเข้าใจสถานการณ์นี้ดี เรื่องนี้มันมีความขัดแย้งทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและจัดการสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศ ผมทราบปัญหามาก่อน และทราบมาว่าทางจังหวัดปัตตานีได้ให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด (ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์) ไปดูแลแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้”
พ.ต.อ.นฤชา บอกว่า หลังจากนี้ต้องให้ทางจังหวัด คือผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงมาไกล่เกลี่ย มาพูดคุยว่าใครถูก ใครผิด และการใช้ทรัพยากรนั้นฝ่ายไหนควรจะได้พื้นที่ตรงไหนไป อยู่อย่างไรให้สันติสุข
"ปัญหานี้ต้องไปที่จังหวัด ให้จังหวัดออกมาจัดการอย่างจริงจัง ให้เป็นเจ้าภาพตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดการปัญหา อยากให้ชาวบ้านเข้าใจ ผมเชื่อว่าปัญหานี้จะจบลงได้ด้วยการประนีประนอมกัน ไม่ได้จบด้วยการจับกุม เพราะว่ายิ่งจับมันก็ยิ่งไม่จบ เนื่องจากเป็นเรื่องของคนจำนวนมากที่มีส่วนได้เสีย ดังนั้นต้องจบด้วยการเจรจา คือฝ่ายปกครองต้องออกมาเพื่อสร้างกระบวนการเจรจาให้เกิดขึ้น" ผู้กำกับการ สภ.เมืองปัตตานี กล่าว
นายสุนันท์ หลีเจริญ ประมงอำเภอเมืองปัตตานี กล่าวว่า อ่าวปัตตานีเป็นพื้นที่สาธารณะตามกฎหมายประมง ทุกคนสามารถทำการประมงได้ ใครจะทำการประมงเฉพาะต้องขออนุญาตให้ถูกต้องเสียก่อน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครมาขออนุญาต ดังนั้นพื้นที่อ่าวปัตตานี ทุกคนสามารถเข้าไปจับสัตว์น้ำหรือทำประโยชน์ได้ตามปกติ
"ผมคิดว่าน่าเห็นใจชาวบ้านที่ทำกิน รัฐบาลให้งบโครงการไทยเข้มแข็ง ให้ทั้งเรือและเครื่องมือทำมาหากิน แต่พอจะทำกินปรากฏว่าตรงนี้ก็มีเจ้าของแล้ว ตรงนั้นก็มีเจ้าของแล้ว ถามว่าชาวบ้านจะกินอะไร อ่าวก็มีแค่นี้ อ่าวปัตตานีล้วนเป็นของธรรมชาติที่พระเจ้าประทานมา ทุกคนต้องมีสิทธิใช้ประโยชน์" นายสุนันท์ กล่าว
ดูเหมือนปัญหานี้ยังไม่ได้เริ่มต้นแก้ด้วยซ้ำ!
----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อาชีพงมหอยในอ่าวปัตตานี (ภาพโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)
2 บรรยากาศอันร้อนระอุที่หน้าโรงพัก สภ.เมืองปัตตานี
3 พ.ต.อ.นฤชา สุวรรณลาภา ขณะทำความเข้าใจกับชาวบ้าน (ภาพโดย ปรัชญา โต๊ะอิแต)