เสนอกองทุนกสทช. ดันงบวิจัยเชิงปฏิบัติวชช.-ทีวีดิจิตอลชุมชน
นักวิชาการสื่อชี้เกรดวิจัยไทยต่ำ เหตุรัฐปันงบแค่ 0.2% จีดีพี เสนอ 1% แนะกองทุนกสทช. หนุนวิจัยเชิงปฏิบัติวิทยุ-ทีวีชุมชน สร้างเทคโนโลยีใหม่และเนื้อหาเพื่อท้องถิ่น
วันที่ 19 ต.ค. 55 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงานกสทช.) จัดเสวนา ‘กองทุนกสทช. กับทิศทางการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา’ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว โดยนายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการบริหารกองทุนฯ กล่าวว่า การบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนาด้านกิจการโทรคมนาคมเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถนำงานวิจัยที่พัฒนาไปสู่การปฏิบัติได้ ทำให้งานวิจัยหลายชิ้นขึ้นหิ้ง ส่วนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ควรสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่มีทิศทางชัดเจน เพื่อสามารถพัฒนาต่อยอดด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการของคนพิการ
ดร.กันยิกา ชอว์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า งานวิจัยสื่อสารมวลชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมักไม่ได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย และยากที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ทำให้หลายครั้งที่ขอทุนสนับสนุนการวิจัยมักได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าใช้งานไม่ได้จริง ซึ่งการนำไปใช้ไม่ได้จริง เพราะผู้ผลิตมักคำนึงถึงเนื้อหารายการที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจง่าย เพื่อดึงดูดค่าโฆษณาจากยอดเรตติ้ง โดยลืมคำนึงถึงคุณภาพ แต่หากรายการเนื้อหาดีรู้จักดัดแปลงให้เข้าใจง่ายจะสร้างผลดีต่อผู้บริโภคได้
นายปัญญาสาร ปริศวงศ์ กรรมการบริหารสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ความสามารถเรื่องการแข่งขันด้านงานวิจัยของไทยตกอันดับลงเรื่อย ๆ เพราะมีงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐเพียง 0.2% ของจีดีพี จากที่เคยเสนอ 1% ดังนั้นกสทช. ต้องผลักดันงบประมาณพัฒนางานวิจัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ต้องมุ่งเน้นให้เกิดการนำวิจัยไปพัฒนาองค์ความรู้ และต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีทางโทรคมนาคมที่ช่วยเหลือประชาชนให้เกิดขึ้นในประเทศ นอกจากนี้ต้องสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ขึ้นมาด้วย
ผศ.พ.ต.ท.หญิง ดร.ศิริวรรณ อนันต์โท คณะนิเทศศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดการวิจัยด้านสื่อสารมวลชนต้องพัฒนาบุคลากรและหลักสูตรการวิจัยให้มีคุณภาพ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีอาจารย์นิเทศศาสตร์หลายคนไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสื่อ จะส่งผลให้การพัฒนาล่าช้า ตราบใดที่บุคลากรยังไม่เข้าใจกฎหมายและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่วนจะนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปใช้อย่างไรมากกว่า อย่างไรก็ตามพบว่าข้อเสนอแนะในงานวิจัยหลายชิ้น กสทช. หรือองค์กรอื่นมักเลือกข้อที่ตนเองสนใจมาเปิดเผย ทำให้งานวิจัยถูกเลือกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง
ขณะที่น.ส.รวี ธนารักษ์ ผู้ปฏิบัติงานประจำในกรรมการกสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า วิทยุชุมชน ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบการพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ มิใช่ศึกษาในเชิงทฤษฎีที่ ละเลยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยให้นักวิจัยทำงานร่วมกับวิทยุชุมชนและประชาชนผู้รับสื่อในท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ต้องมุ่งเน้นไปที่วิทยุชุมชนที่กำลังจะยื่นขออนุญาตทดลองประกอบกิจการ เพื่อส่งเสริมขีดความเข้มแข็งให้เกิดวิทยุชุมชนที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ซึ่งต้องเป็นงานศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัย วิทยุชุมชน และผู้รับสื่อในท้องถิ่น
ส่วนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิตอลของกิจการโทรทัศน์ ซึ่งพบท้องถิ่นหลายแห่งต้องการทำทีวีชุมชนในรูปแบบดิจิตอลทีวี ซึ่งปี 56 นโยบายของกสทช. จะให้ใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทชุมชน แต่หลายพื้นที่ยังขาดความรู้ว่าการทำทีวีชุมชนจะต้องมีขั้นตอนอย่างไร ดังนั้นงานวิจัยควรเข้าไปสนับสนุนในการเตรียมความพร้อมแก่ท้องถิ่นที่อยากทำทีวีดิจิตอลชุมชน โดยอาจทำให้ลักษณะชุดโครงการใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อจะศึกษาในหลายมิติ เช่น การพัฒนาบุคลากรผู้ประกอบกิจการในชุมชน การบริหารจัดการกลุ่มชุมชน หรือการผลิตเนื้อหาที่ถูกต้อง และรับรองว่างานวิจัยจะไม่ขึ้นหิ้ง เพราะเกิดจากความต้องการของคนในพื้นที่และนักวิชาการในท้องถิ่นเอง
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) มีหน้าที่ในการบริหารกองทุนและนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรเงินกองทุน เพื่อใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ตามม. 52 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 โดยมุ่งเน้นให้มีการบริการทั่วถึง การบริการสังคม และชุมชน การผลิต การวิจัย การพัฒนา การใช้เทคโนโลยี และการคุ้มครองผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามสำนักงานกสทช. จะจัดเสวนาขึ้นอีก 2 ครั้ง ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค คือ 16 พ.ย. 55 หัวข้อ ‘กองทุนกสทช. กับทิศทางส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร’ และ 23 พ.ย. 55 หัวข้อ ‘กองทุนกสทช. กับทิศทางส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค’.