22 ตุลาฯ ปิดเขื่อนปากมูล
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ.กล่าวถึงมาตรการในการเตรียมรับมือภัยแล้งว่า กบอ.วางแนวทางการแก้ปัญหาไว้ 7แนวทาง โดยเน้นพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง อาทิ การทำฝนเทียมร่วมกับสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร และกองทัพอากาศ โดยมีชุดปฏิบัติการ 5 ชุด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 2 ชุดที่ภาคกลาง ทั้งนี้จะเป็นการโปรยฝนทั่วทุกพื้นที่ภาคอีสาน ไม่ได้ทำเฉพาะพื้นที่ การปล่อยน้ำเข้าทุ่ง แทนที่จะปล่อยลงลำน้ำเพื่ออกทะเล เพื่อให้เกษตรกรทำนาปรังได้ การทำระบบน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค ที่จะซ่อมของเก่าและเสริมของใหม่ และจะมีการสร้างระบบสูบน้ำและส่งทางท่อโดยเน้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้กำลังสำรวจพื้นที่ว่าจะทำที่ไหนบ้าง นอกจากนี้
นายปลอดประสพ ยังกล่าวด้วยว่า เขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ที่ขณะนี้กำลังประสบกับภาวะน้ำน้อย ได้รับอนุญาติจากประชาชนในพื้นที่ให้สามารถปิดเขื่อน เพื่อกักเก็บน้ำจากแม่น้ำมูลและรักษาระดับน้ำในเขื่อนไว้ใช้ในยามแล้ง โดยจะปิดในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ เวลา 09.00 น. ซึ่งเป็นการปิดก่อนกำหนด 1 เดือน และต้องขอบคุณประชาชนที่เห็นแก่ประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
ด้านศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี ปัจจุบัน(19 ต.ค. 55) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ นับได้ว่าอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก อาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่โครงการฯได้ในอนาคต
ดังนั้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง (JMC)ขึ้น เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดสรรน้ำร่วมกัน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้
1. ให้กรมชลประทานส่งน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าว ซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤต พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 78,965 ไร่ โดยมีแปลงข้าวที่ออกรวงแล้ว ประมาณร้อยละ ๒๐ และอยู่ระหว่างตั้งท้องอีกประมาณ ร้อยละ๘๐ เริ่มส่งน้ำตั้งแต่ 11 – 25 ต.ค. 55 โดยให้จัดสรรน้ำจากเขื่อนห้วยหลวงผ่านประตูปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาและฝั่งซ้าย รวมกันแล้วไม่เกิน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร
2. การจัดสรรน้ำเพื่อการประปาในค่ายทหารของอ่างเก็บน้ำหนองสำโรง ในที่ประชุมมีความเห็นว่า ปัจจุบันหนองสำโรงมีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพียงพอ และสามารถบริหารจัดการโดยการผันน้ำบางส่วนไปยังบ่อสูบของการประปาได้ จึงไม่จำเป็นต้องส่งน้ำเพิ่มเติมน้ำให้กับหนองสำโรง
3. การจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ของหนองประจักษ์ ซึ่งอยู่ในความดูแลขอเทศบาลนครอุดรธานี ในที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกันแล้ว มีมติให้จัดสรรน้ำให้หนองประจักษ์ จำนวน 1 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะส่งน้ำในช่วงระหว่างวันที่ 11 – 25 ต.ค. 55 พร้อมๆ กับการจัดสรรน้ำให้ภาคการเกษตรในคราวเดียวกัน เพื่อลดการสูญเสียน้ำในระบบส่งน้ำ และให้เทศบาลนครอุดรธานีกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก ช่วยลดการสูญเสียน้ำที่จะไหลลงสู่หนองประจักษ์
4. ให้กรมชลประทานจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการอุตสาหกรรม ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2555 ถึงเดือนเมษายน 2556 รวมกันเป็นจำนวน 14 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรและประชาชนที่ใช้น้ำจากเขื่อนห้วยหลวง ร่วมมือร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงได้ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ พร้อมทั้งขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย