ผ่าปมตั้ง"สมคิด บุญถนอม" เมื่อการเมืองสะเทือนถึงศาสนา
กลายเป็นปัญหาบานปลายและเป็นกระแสที่ฉุดไม่อยู่เสียแล้ว สำหรับการตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (ผบช.ภ.5) ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วยผบ.ตร.) เพราะนอกจากจะกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียแล้ว ยังส่งผลสะเทือนถึงการประกอบพิธีฮัจญ์ของพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศด้วย ถึงขั้นที่จะมีการละหมาดฮายัตที่มัสยิดกลางจังหวัดสงขลา ในวันพุธที่ 22 ก.ย. และอาจมีการละหมาดใหญ่ทั่วภาคใต้ในวันศุกร์ที่ 24 ก.ย.
ชนวนเหตุมาจากเรื่องที่ไม่ควรจะเป็นเรื่องด้วยซ้ำ เพราะ พล.ต.ท.สมคิด เพิ่งถูกอัยการคดีพิเศษยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล ในคดีร่วมกันสังหาร นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจเชื้อพระวงศ์ชาวซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2553 แต่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ก็ยังเดินหน้าตั้ง พล.ต.ท.สมคิด ขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. คล้ายปูนบำเหน็จให้ยังไงยังงั้น
ทั้งๆ ที่หากจะพูดกันอย่างเป็นธรรม ตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.มีศักดิ์สูงกว่าผู้บัญชาการภาคเพียงแค่โครงสร้างการบังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นที่ทราบกันดีในวงการตำรวจว่า ตำแหน่งผู้บัญชาการภาคมีอำนาจ บารมี และผลประโยชน์มากกว่าตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.มากมายนัก หากนายตำรวจที่มีอายุราชการไม่ถึงขั้นลุ้นเป็น ผบ.ตร. หรือ รองผบ.ตร. ซึ่งครองยศ "พลตำรวจเอก" ได้ ถามใจร้อยทั้งร้อยไม่มีใครอยากขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.แน่นอน
เพราะยศเท่ากันแต่อำนาจน้อยกว่า!
แต่เรื่องแบบนี้ทางการซาอุดิอาระเบียคงไม่เข้าใจ และจะว่าไปก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร เพราะข้อใหญ่ใจความอยู่ที่เหตุใดรัฐบาลโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่สั่งพักราชการ หรือสั่งให้ พล.ต.ท.สมคิด ออกจากราชการไว้ก่อน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ต่างหาก
และนั่นได้นำมาสู่การแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ทางการทูตผ่านทาง นายนาบิล เอช อัซรี อุปทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย ด้วยการออกแถลงการณ์คัดค้านการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด ถึง 3 ฉบับในห้วงเวลาไม่ถึงครึ่งเดือนที่ผ่านมา
หนำซ้ำปัญหายังบานปลาย ไม่กระทบเฉพาะความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯเท่านั้น แต่ยังลุกลามเป็นปัญหาการเมืองภายในประเทศซึ่งฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายของพวกเขาซึ่งมีตำแหน่งแห่งหนอยู่ในองค์กรทางศาสนา หยิบมาเล่นเป็นเกมดิสเครดิตรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีฐานเสียงใหญ่อยู่ในภาคใต้และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่มีพี่น้องชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีกระแสข่าวที่ไม่ยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ปัญหานี้ได้ส่งผลสะเทือนไปถึงการขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของผู้แสวงบุญชาวไทยอีกราว 13,000 คนในปีนี้ แม้รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศจะออกมายืนกรานเสียงแข็งว่า วีซ่าล็อตแรกจำนวน 392 คน ทางการซาอุฯออกให้เรียบร้อยแล้ว และความล่าช้าที่ผ่านมาเป็นเพียงปัญหาทางเทคนิคและความเข้าใจผิดกันก็ตาม แต่นั่นก็ได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้แสวงบุญที่รอวีซ่าอยู่อีกนับหมื่นคน เพราะเกรงจะไม่ได้เดินทางไปแสวงบุญยังนครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ดังที่ตั้งใจ
แกะรอยซาอุฯเล่นเกมระงับวีซ่า?
ประเด็นการระงับวีซ่าหรือไม่อนุมัติวีซ่าสำหรับผู้เดินทางไปแสวงบุญ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ปรากฏร่องรอยและมีข่าวลือหนาหูมาตั้งแต่เดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม (ระหว่างวันที่ 12 ส.ค.ถึง 9 ก.ย.ที่ผ่านมา) แล้ว
เพราะมีกระแสข่าวเล็ดรอดมาจากอนุกรรมาธิการกิจการฮัจญ์ วุฒิสภา ว่า ทางการซาอุดิอาระเบียปฏิเสธที่จะให้วีซ่ากับ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ที่ได้รับเชิญไปทำอุมเราะห์ในช่วงเดือนรอมฎอนกันเลยทีเดียว โดยทางการซาอุฯให้เหตุผลว่า "ที่พักมีจำกัด"
ทั้งนี้ การทำอุมเราะห์ หมายถึงการทำฮัจญ์เล็ก ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ชาวมุสลิมนิยมไปทำช่วงเดือนรอมฎอน เพราะเชื่อว่าจะได้บุญมาก ขณะที่พิธีฮัจญ์ใหญ่ซึ่งมีขึ้นทุกปีที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียนั้น จะเป็นช่วงหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอนราว 2 เดือน โดยปีนี้จะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน
แม้ในเวลาต่อมา นายอาศิส จะออกมาปฏิเสธข่าว และชี้แจงว่าสาเหตุที่ไม่ได้ไปทำอุมเราะห์ เนื่องจากติดภารกิจกระทันหัน และภายหลังจึงทราบว่าทางการซาอุฯงดรับวีซ่า เนื่องจากคนเต็ม ที่พักไม่เพียงพอ ซึ่งการประกาศปิดรับวีซ่าไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศมุสลิมอื่นๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกลุ่มอาหรับด้วย พร้อมยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.ก็ตาม
แต่คำชี้แจงดังกล่าวก็ไม่อาจหยุดยั้งข่าวลือเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้แสวงบุญที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนี้ได้ และมิอาจปฏิเสธได้ว่านี่คือผลกระทบจากประเด็นการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.โดยแท้
"นอกจากท่านจุฬาราชมนตรีจะไม่ได้รับวีซ่าแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่ต้องการไปทำอุมเราะห์ และไม่ได้รับวีซ่าจากทางการซาอุดิอาระเบียเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลซาอุฯให้เหตุผลว่าที่พักไม่เพียงพอ แต่อนุกรรมาธิการฯและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมองว่าน่าจะมีอะไรลึกซึ้งกว่านั้น โดยเหตุผลที่แท้จริงน่าจะเชื่อมโยงกับการไม่ยอมสั่งพักราชการ พล.ต.ท.สมคิด ซ้ำยังตั้งขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร." แหล่งข่าวจากอนุกรรมาธิการกิจการฮัจญ์ กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา"
และถึงวันนี้ ข่าวที่เคยเป็นแค่ข่าวลือได้กลายเป็นความจริงขึ้นมา เพราะทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงวัฒนธรรม ต่างวิ่งวุ่นเคลียร์ปัญหาวีซ่าฮัจญ์ ถึงขั้นที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ต้องบ่นออกมาดังๆ ว่า "หนักใจมาก"
พลิกปูมบาดหมางไทย-ซาอุฯ
หลายคนอาจจะสงสัยว่า เหตุใดการตั้งนายตำรวจขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.เพียงคนเดียว จึงสร้างปัญหาวุ่นวายได้มากมายขนาดนี้ "ทีมข่าวอิศรา" ขอไขข้อข้องใจว่า แท้ที่จริงแล้ว ความไม่พอใจของรัฐบาลซาอุฯ ไม่ได้เริ่มต้นที่มติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2553 ที่อนุมัติแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. แต่เป็นความไม่พอใจที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 20 แล้ว
ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน มีคดีอุกฉกรรจ์ที่เกิดขึ้นกับราชวงศ์ซาอุฯ และบุคคลสำคัญของซาอุดิอาระเบียถึง 4 คดีด้วยกัน ดังนี้
คดีที่ 1 เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2532 เกิดคดีฆาตกรรม นายซอและห์ อัลมาลิกิ เจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย
คดีที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2532 นายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยชาว จ.ลำปาง ซึ่งทำงานอยู่ในพระราชวังของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย ปฏิบัติการขโมยเครื่องเพชรจำนวนนับร้อยรายการ มูลค่ามหาศาล ของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด แล้วหิ้วกลับมายังประเทศไทย กรณีนี้ทำให้เกิดคดีแตกลูกอีกมากมายในช่วงของการติดตามเพชรของกลางคืน เช่น คดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกตระกูลศรีธนขัณฑ์ เป็นต้น แต่ที่หนักหนาสาหัสจนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯมากที่สุด คือเพชรของกลางที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยส่งคืนให้รัฐบาลซาอุฯ มี "เพชรปลอม" ปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก
คดีที่ 3 เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2533 คนร้ายใช้อาวุธปืนยิง นายอับดุลเลาะห์ เอ อัลเบซาร์รีห์ เลขานุการโท นายฟาฮัด เอ แซด อัลปาฮลี เลขานุการโท และนายอาหะหมัด เอ อัล ซาอีพ ผู้ช่วยเลขานุการ สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย เสียชีวิตในวันเดียวกันแต่ต่างสถานที่กัน
คดีที่ 4 เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2533 นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุฯ เจ้าของบริษัทจัดหาแรงงาน หายตัวไปอย่างลึกลับ
สำหรับการดำเนินการของฝ่ายไทย แม้จะมีความพยายามสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดในคดีต่างๆ มาตลอด 20 ปี แต่ก็ไม่เป็นผล เพิ่งจะปรากฏเป็นรูปธรรมเมื่อปลายปี 2552 หรือปีที่แล้วนี่เอง กล่าวคือ
วันที่ 5 ส.ค.2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายจับ นายอาบู อาลี ชาวอาหรับ เป็นผู้ต้องหาในคดีลอบยิง นายอับดุลเลาะห์ เอ อัลเบซาร์รีห์ โดยเป็นการออกหมายจับก่อนคดีขาดอายุความ (20 ปี) เพียง 6 เดือน โดยดีเอสไอตั้งประเด็นความขัดแย้งทางศาสนาของชาติยักษ์ใหญ่ในตะวันออกกลางเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่ใช่ปมขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์การจัดส่งแรงงานไปประเทศซาอุฯที่กรมตำรวจเคยตั้งประเด็นเอาไว้ในอดีต
วันที่ 12 ม.ค.2553 อัยการคดีพิเศษมีความเห็นสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ขณะดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.5 พร้อมพวกรวม 5 คน เป็นผู้ต้องหาในคดีอุ้มฆ่าและทำลายศพ นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ ก่อนคดีขาดอายุความ (20 ปี) เพียงแค่ 1 เดือน
ไขปมคาใจ...ทำไมต้องตั้ง "สมคิด"
การตัดสินใจออกหมายจับ นายอาบู อาลี ในคดีลอบสังหารนักการทูตซาอุฯ และการยื่นฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด กับพวกรวม 5 คน ในคดีอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ ซึ่งทั้งสองคดีเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียที่ถูกฝ่ายหลังลดระดับความสัมพันธ์ลงมาอยู่ในขั้นต่ำสุดนานเกือบ 20 ปี พลิกฟื้นดีขึ้นเป็นลำดับ
แต่แล้วสัญญาณดีๆ ก็ถูกทำลายลงสิ้น เมื่อ ก.ตร.มีมติแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด ขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.
จะว่าไปมติ ก.ตร.เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2553 น่าจะถือเป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ของรัฐบาลซาอุฯมากกว่า เพราะทางการซาอุฯจับตาท่าทีของรัฐบาลไทยที่มีต่อ พล.ต.ท.สมคิด มาตั้งแต่อัยการคดีพิเศษยื่นฟ้องคดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ แล้ว เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.2553 ที่ศาลอาญาประทับรับฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐบาลกลับไม่ได้ดำเนินการอะไรกับ พล.ต.ท.สมคิด เลย คงปล่อยให้ดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.5 ต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่นั่นยังพอทน เพราะถือว่ายังอยู่ในตำแหน่งเดิม แต่ความอดทนดูจะขาดผึง เมื่อ พล.ต.ท.สมคิด เสมือนได้ปูนบำเหน็จ เพราะได้ขยับขึ้นดำรงตำแหน่งสูงขึ้น แทนที่จะถูกสั่งพักราชการ!
ทั้งๆ ที่ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95 บัญญัติเอาไว้ว่า ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจตามมาตรา 72 (ผบ.ตร.) หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. มีอำนาจสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยได้
หลายๆ กรณีที่ผ่านมา เมื่อข้าราชการตำรวจตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ก็จะถูกสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนทุกคน ทว่าพอถึงกรณีของ พล.ต.ท.สมคิด ปรากฏว่า พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการแทน ผบ.ตร.ในขณะนั้น กลับไม่ได้สั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยมีการให้เหตุผลกันเป็นการภายในว่า กฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการทุกกรณี แต่เป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา อีกทั้ง พล.ต.ท.สมคิด เคยตกเป็นผู้ต้องหาในคดีการหายตัวไปของ นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ มาแล้วเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ขณะที่กรมตำรวจในสมัยนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับ พล.ต.ท.สมคิด ด้วย แต่ไม่พบความผิด จึงต้องถือว่าเรื่องจบ
เมื่อสถานการณ์บานปลายถึงขั้นอุปทูตซาอุฯ ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจถึง 3 ฉบับ ผู้ใหญ่ในรัฐบาล นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร. และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมใจกันประสานเสียงชี้แจง สรุปความได้ว่า การแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด เป็นอำนาจเต็มของ ก.ตร. ฝ่ายการเมืองไม่เกี่ยว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย หรือสั่งพักราชการ พล.ต.ท.สมคิด ได้ เนื่องจากนายตำรวจผู้นี้ได้รับอานิสงส์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550
ทว่าดูเหมือนคำชี้แจงนี้จะไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะรัฐบาลก็ยังตอบไม่ได้ชัดเจนว่า กฎหมายล้างมลทินที่ออกเมื่อปี พ.ศ.2550 จะมีผลครอบคลุมมาถึงคดีอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ ที่เพิ่งยื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีใหม่ และมี พล.ต.ท.สมคิด เป็นหนึ่งในจำเลย เมื่อต้นปีนี้ได้อย่างไร
เพราะเหตุผลที่ทุกฝ่ายเชื่อว่ามีน้ำหนักมากกว่าก็คือ รัฐบาลประชาธิปัตย์จำต้อง "อุ้ม" พล.ต.ท.สมคิด เนื่องจากเขาคือน้องชายแท้ๆ ของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯ คมช.) ผู้มีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
และอดีตเลขาธิการ คมช. ก็คือ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งวันนี้ลูกชายของเขา นายสกลธี ภัททิยกุล เป็น ส.ส.กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์!
ยิ่งไปกว่านั้น พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐานการทุจริตเลือกตั้งของ "บิ๊ก" พรรคพลังประชาชน แกนนำรัฐบาลชุดที่แล้ว จนนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองพรรคนี้เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2552 กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งหมดนี้คือประเด็นการเมืองที่กระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และส่งผลสะเทือนถึงศาสนาโดยแท้!
------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม
ขอบคุณ : กุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร ช่างภาพศูนย์ภาพเนชั่น เอื้อเฟื้อภาพ