ย้อนดู "หัวทางโมเดล" ต้นแบบ "ชุมชนจัดการตนเอง" อีกหนึ่งทฤษฎีดับไฟใต้
ภาวการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยามนี้ หลายคนเรียกว่า "สงครามอาชญากรรม" คือมีการก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ในลักษณะอาชญากรรมรายวันปะปนไปกับการใช้วิธีการก่อการร้ายของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ทำให้สถานการณ์ค่อนข้างสับสนอลหม่าน ถอดรหัสไม่ถูกว่าเหตุการณ์ไหนก่อเหตุโดยใคร และมีมูลเหตุอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลัง
นั่นเพราะในพื้นที่เองก็มีปัจจัยความขัดแย้งในระดับชุมชนท้องถิ่นซ้อนทับอยู่กับการสร้างสถานการณ์โดยกลุ่มที่จงใจให้เกิดความวุ่นวาย กลายเป็นช่องโหว่ช่องว่างของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้
พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ในฐานะหัวหอกในการนำ "ทฤษฎีตำรวจสมัยใหม่" มาใช้แก้ไขปัญหาอาชญากรรม เคยให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" เอาไว้ว่า ระบบงานของตำรวจไทยผิดทิศผิดทางมาตลอด เพราะใช้วิธีการทำงาน "เชิงรับ" ด้วยการรอรับแจ้งความอยู่บนโรงพัก และทำงานเมื่อมีการกล่าวหากล่าวโทษทางอาญาเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทำให้ไม่สามารถลดสถิติอาชญากรรมได้ มีแต่เพิ่ม
ขณะที่แนวทางที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในปัจจุบันนี้คือตำรวจต้องเข้าไปทำงานในชุมชน คลุกคลีสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในชุมชน และใช้พลังของชุมชนนั่นแหละ แก้ไขปัญหาภายในชุมชนเอง
พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ การันตีว่า หากใช้แนวทางที่ว่านี้ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดทันที โดยที่ยังไม่ต้องจัดการปัญหาด้านอื่นเลย
ทฤษฎีของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ สอดรับกับระบบ "ผู้นำสี่เสาหลัก" ที่ฝ่ายปกครองพยายามนำมาใช้ และยังสอดคล้องกับทฤษฎี "ยุติธรรมชุมชน" ที่กระทรวงยุติธรรมขับเคลื่อนอยู่ในหลายพื้นที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาด้วย
แต่โครงการนำร่องของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เห็นผลอย่างรวดเร็ว เพราะใช้ตำรวจเข้าไปปฏิบัติงานจริง ในขณะที่ "ตำรวจ" คือหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
ด้วยเหตุนี้ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังค้นหาทางสว่างไม่พบ จึงมีตำรวจกลุ่มหนึ่งทดลองแก้ไขปัญหาด้วยศาสตร์แขนงใหม่โดยไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเติมเชื้อไฟในพื้นที่ แต่ใช้ทฤษฎี "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" หรือ Community Policing โดยมี "ชุมชนเป็นศูนย์กลาง" ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ
เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มนี้เลือกพื้นที่นำร่องใน จ.สตูล จังหวัดที่เต็มไปด้วยชุมชนมุสลิมไม่ต่างจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่าการแก้ไขปัญหาในชุมชนด้วยคนในชุมชนเอง น่าจะนำความสงบและสันติสุขกลับมาได้อย่างยั่งยืน
พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผู้กำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม (ผกก.6 บก.ป.) เป็นหัวหอกของโครงการนี้ ภายใต้แนวคิดขับเคลื่อนโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ที่เล็งเห็นว่าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน จะต้องให้ชาวบ้านในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และนั่นได้ทำให้ พ.ต.อ.ทินกร เดินทางลงไปสำรวจพื้นที่ ก่อนจะเลือกชุมชนบ้านหัวทาง ชุมชนมุสลิมเล็กๆ แห่งหนึ่งใน ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล เป็นโครงการนำร่องในการจัดการปัญหาภายในชุมชนในแบบให้ชาวบ้านจัดการปัญหากันเอง โดยมีตำรวจกองปราบปรามเป็นเพียงพี่เลี้ยง
พ.ต.อ.ทินกร กล่าวว่า การเข้าไปในชุมชนบ้านหัวทาง เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2554 โดยให้ ด.ต.สุทธินันท์ อนันธขาล ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม (ผบ.หมู่ กก.6 บก.ป.) พร้อมด้วยเพื่อนตำรวจรวม 4 นายเป็นคนเลือกเฟ้นพื้นที่ และในสุดก็คัดเลือกชุมชนบ้านหัวทาง เนื่องจากมีความคุ้นเคยกันมาก่อน โดยในระยะแรกที่เข้าไปนั้น ตำรวจยังไม่ได้แสดงตัว เพียงแต่เข้าไปเช่าบ้านอยู่ในชุมชนเพื่อรับทราบถึงปัญหาในเบื้องต้น
หลังจากนั้นราว 3 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปอยู่ในชุมชนก็เริ่มแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และอธิบายว่าที่เข้ามาอาศัยอยู่ด้วยนั้นก็เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชน โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่บ้านกับโต๊ะอิหม่าม หรือผู้นำศาสนาก่อน
หลังจากแสดงตัวแล้วก็ให้ผู้ใหญ่บ้านจัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อให้รับรู้ถึงสภาพปัญหาที่แท้จริง กระทั่งทราบว่าในชุมชนนั้นเต็มไปด้วยปัญหายาเสพติดที่ลูกหลานของคนในชุมชนเองเป็นทั้งผู้เสพและผู้จำหน่ายรายย่อย
นอกจากนั้นสิ่งที่ชาวบ้านกำลังกังวลใจนั่นก็คือแก๊งรถจักรยานยนต์ซิ่ง หรือที่เรียกคุ้นปากว่า "เด็กแว้น" ขณะที่ปัญหาลักเล็กขโมยน้อยก็สร้างความกริ่งเกรงให้กับชาวบ้านอยู่ทุกค่ำคืน
หลังจากทำประชาคมและพูดคุยกับชาวบ้านแล้ว ยังทำให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะชาวบ้านไม่สามัคคีกัน และไม่มีทิศทางการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญที่สุดคือชาวบ้านไม่ไว้เนื้อเชื่อใจตำรวจท้องที่ด้วย
หลังจากรวบรวมปัญหามาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มนี้ได้นำสิ่งที่ได้รับฟังมากลับมายังกรุงเทพฯ พร้อมกับหารือถึงวิธีการการแก้ไขปัญหาตามแนวทาง Community Policing หรือ "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" โดยยืนอยู่บนหลักการให้ชาวบ้านแก้ไขปัญหากันเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้หลักนิติศาสตร์เข้ามาจัดการปัญหาตามแนวคิดเดิม เพราะจะทำให้การแก้ไขปัญหาในชุมชนเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืน และในบางบริบทยังเป็นการตอกลิ่มให้ชาวบ้านไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้นด้วย
จากนั้นตำรวจชุดนี้จึงเริ่มเดินหน้าสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับชาวบ้าน โดยเข้าร่วมกิจกรรมแทบทุกอย่างของชุมชน เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
"อย่าเข้าใจผิดนะครับ ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนนี้ ไม่ใช่ทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์เหมือนที่เคยทำกันในอดีต แต่มันตรงข้ามกันอย่างชัดเจน ทฤษฎีที่ผมกำลังทำอยู่นี้พัฒนาขึ้นภายใต้ความเชื่อที่ว่า ความร่วมมือร่วมใจของตำรวจและสุจริตชนในชุมชนคือคุณสมบัติสำคัญที่จะเอาชนะปัญหาอาชญากรรมส่วนใหญ่ได้" พ.ต.อ.ทินกร กล่าว และว่าจุดเด่นของตำรวจผู้รับใช้ชุมชนนั้น คือการเข้าไปฝังตัวทำงานในชุมชนเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวนาน การวัดผลสำเร็จดูได้จากความหวาดกลัวอาชญากรรมของประชาชนลดลง เช่น การแต่งตัวด้วยเครื่องประดับราคาแพง กล้าพกเงินมากๆ เดินถนนโดยไม่กลัวถูกทำร้าย ไม่ด่าตำรวจ ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งที่วัดผลได้ในเบื้องต้น
เขากล่าวต่อว่า ด้วยกระบวนการตามทฤษฎี ไม่นานนักชาวบ้านบ้านหัวทางก็เริ่มไว้วางใจและเริ่มพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปในชุมชน และที่เห็นผลแบบทันทีก็คือการที่ตำรวจได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างป้อมยามหมู่บ้าน และชาวบ้านก็เสนอไอเดียให้มีอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านขึ้นมา ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีความเข้มแข็งและสามัคคีกันมากขึ้น และด้วยการตรวจพื้นที่ร่วมกันระหว่างตำรวจกับชาวบ้านเอง ทำให้ปัญหายาเสพติดเบาบางลง ที่เห็นได้ชัดคือเด็กแว้นหายไปจากหมู่บ้านเลย เพราะมีการตั้งด่านตรวจตลอดทุกคืน
"เด็กวัยรุ่นเริ่มเกรงใจ เรารวมคนในหมู่บ้านได้ วัยรุ่นก็เริ่มออกมารวมตัวกัน ขณะที่พวกหัวโจกก็มาอยู่กับเรา ทุกวันนี้ทุกอย่างเดินหน้าได้ พวกเราคิดตรงกันว่า ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ เราต้องเป็นหุ้นส่วนของกันและกัน เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน" พ.ต.อ.ทินกร ระบุ
นายตำรวจกองปราบปราม ยังยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับการจัดการปัญหาในชุมชนว่า เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ช่วยแก้ปัญหาวัยรุ่นที่ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงกัน โดยผู้ใหญ่บ้านได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีกลุ่มวัยรุ่นยิงปืนเข้าไปในบ้าน กระสุนถูกตู้เย็นในบ้านของคู่กรณี ก่อนที่คนร้ายจะหลบหนีไปโดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ตำรวจที่เข้าไปอยู่ในชุมชนได้สืบสวนหาสาเหตุ กระทั่งทราบกลุ่มที่กระทำผิด และพบว่ามีสาเหตุมาจากความขัดแย้งกันเรื่องการขายยาบ้าในพื้นที่ โดยกลุ่มที่ยิงปืนนั้นเป็นเด็กชาวไทยพุทธที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียงกัน ซึ่งปัญหานี้ได้สร้างความวิตกให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกรงว่าหากมีการดำเนินคดีกันจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนไทยพุทธกับมุสลิมบ้านหัวทาง และปัญหาอาจบานปลายกลายเป็นข้อพิพาทต่อเนื่อง
"เมื่อได้รับทราบปัญหา ผมได้ให้ตำรวจที่อยู่ในชุมชนประสานกับโต๊ะอิหม่าม และญาติพี่น้องของวัยรุ่นในชุมชนบ้านหัวทางที่เป็นคู่กรณี และญาติพี่น้องของวัยรุ่นจากนอกชุมชน จนทราบว่าเดิมวัยรุ่นที่มีเรื่องกันนั้นเป็นเด็กดี แต่ทะเลากันเรื่องยาบ้าไม่กี่เม็ด หากดำเนินการถึงที่สุด ปัญหาต่างๆ ก็อาจจะลุกลามบานปลายหรือใหญ่โตขึ้นไปอีก แต่หากมีการเจรจาปรับความเข้าใจกันได้ ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ จึงมีการนัดหมายเจรจากันจากผู้นำชุมชนทั้งสองชุมชน และญาติพี่น้องของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย"
"เราได้ใช้ศาลาประชาคมในหมู่บ้านเป็นสถานที่เจรจาไกล่เกลี่ย โดยให้ชาวบ้านพูดคุยกันเองถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่ตำรวจเป็นเพียงสักขีพยานที่ช่วยไกล่เกลี่ยเท่านั้น ผลปรากฏว่าคู่กรณีสามารถปรับความเข้าใจกันได้ ทำให้ชาวบ้านทั้งสองฝ่ายประทับใจการทำงานของตำรวจที่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครอยากถูกดำเนินคดี และก็ไม่อยากให้ปัญหาบานปลายด้วย ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุก่อนจะลุกลาม ขณะที่เด็กวัยรุ่นทั้งสองคนที่เป็นต้นเหตุก็ต้องเข้ารับการบำบัด ซึ่งเขาก็ยินยอม และจับมือกันภายใต้สัญญาว่าจะไม่ก่อปัญหาขึ้นอีก โดยที่ไม่ต้องมีการดำเนินคดีเกิดขึ้น และไม่ต้องไปสถานีตำรวจ" พ.ต.อ.ทินกร กล่าว
หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ชาวบ้านเชื่อใจตำรวจมากขึ้น พ.ต.อ.ทินกร จึงเดินหน้าต่อด้วยความตั้งใจปลดอาวุธคนในหมู่บ้าน เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านจำนวนมากเคยมีอาวุธปืนเถื่อนไว้ในครอบครองเพื่อป้องกันตัว โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น แต่เมื่อเห็นว่าตำรวจทำงานร่วมกับชุมชนและช่วยเหลือชุมชนเป็นอย่างดี ทำให้ชาวบ้านบางส่วนมั่นใจว่าชุมชนมีความปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องมีอาวุธปืนติดตัวก็ได้
ล่าสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา นายสมาน สตามัน อายุ 33 ปี ชาวบ้านชุมชนบ้านหัวทาง ได้นำอาวุธปืนไทยประดิษฐ์มามอบให้กับตำรวจในชุมชนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยมีโต๊ะอิหม่ามร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งถือเป็นกระบอกแรก และคาดว่าจะมีชาวบ้านนำปืนมามอบให้ตำรวจอย่างต่อเนื่อง
"ความสำเร็จของโครงการนี้ทำให้ตำรวจรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย เดินทางมาดูงานถึงในชุมชนบ้านหัวทาง พร้อมกับบอกว่าแนวทางนี้เป็นวิธีการที่ถูกต้อง เพราะเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นพวกเดียวกับชุมชน พวกเขายังเห็นว่าสมควรนำไปขยายผลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โต๊ะอิหม่ามก็พูดแบบเดียวกันว่าน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด และเราก็เชื่อเช่นนั้น" พ.ต.อ.ทินกร ระบุ
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ทินกร มองว่า การขยายผลโครงการนี้ไปใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง อาจต้องใช้เวลามากกว่า และต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ด้วย ที่สำคัญจะต้องเริ่มจากใช้ตำรวจที่เป็นคนในหมู่บ้านเอวเป็นแกนนำในการแก้ปัญหาก่อน เพราะการจะให้ตำรวจจากนอกพื้นที่เข้าไปทำเป็นเรื่องเสี่ยงมาก และยากที่จะมีตำรวจอาสาเข้าไปอยู่ในพื้นที่แบบนี้ ต้องหาตำรวจที่มีความพร้อมด้วย เนื่องจากความรุนแรงมีมากกว่าใน จ.สตูล หากเป็นคนนอกพื้นที่อาจถูกลอบทำร้ายได้ และทุกวันนี้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความหวาดระแวงกันสูง แต่ในอนาคตอันใกล้อาจนำทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนไปปรับปรุงเพื่อใช้เป็น "โมเดลพิเศษ" สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
ด้านความคิดเห็นของเด็กวัยรุ่นในพื้นที่อย่าง นายวีระวัฒน์ เก็บมาเก็น หนุ่มวัย 17 ปี บอกว่า ทุกวันนี้เป็นอาสาสมัครที่มีอยู่ประมาณ 30 คน ก่อนหน้านี้มีวัยรุ่นในหมู่บ้านดื่มน้ำใบกระท่อม สูบกัญชา แต่เมื่อมีโครงการนี้ เขากับเพื่อนที่เป็นอาสาสมัครก็จะเข้าไปตักเตือนตามแนวทางที่ตำรวจบอกว่าให้เตือนกันก่อน เมื่อเราเตือนดีๆ กลุ่มที่ดื่มน้ำใบกระท่อมหรือเสพกัญชาก็แยกย้ายกันไป ทุกวันนี้สามารถช่วยให้ชุมชนปลอดจากยาเสพติด ไม่มีปัญหาหลักขโมย และไม่มีการแข่งรถจักรยานยนต์
"เมื่อก่อนมีโจรมาก แต่เดี๋ยวนี้รถจักรยานยนต์จอดเสียบกุญแจลืมไว้หน้าบ้าน หรือบนทางเท้าในเวลากลางคืน ก็ไม่หายอีกแล้ว" วีระวัฒน์ บอก
ขณะที่ นายวัชรินทร์ อบทอง โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดเราด่อตุ้ลญันนะห์ ในชุมชนบ้านหัวทาง กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านเดือดร้อนกับการแข่งรถมาก เพราะส่งเสียงดัง ทำให้นอนไม่หลับ นอกจากนี้ยังมีปัญหายาเสพติดและลักเล็กขโมยน้อย เมื่อตำรวจกองปราบลงพื้นที่ ก็เห็นได้ว่าไม่ได้มาเหมือนกับตำรวจหน่วยอื่น แถมยังสนิทใกล้ชิดกันเหมือนญาติพี่น้อง โดยเริ่มจากการถามว่าชุมชนของเราว่าต้องการอะไร ทำให้พวกเรากล้าพูด กล้าแสดงออก ทุกวันนี้ไม่มีความหวาดระแวงว่าตำรวจจะมาทำอะไรให้เราไม่สบายใจ
นอกจากนั้นในเรื่องความสามัคคีระหว่างพี่น้องต่างศาสนาก็ไม่มีปัญหา เพราะชุมชนเรามีพี่น้องไทยพุทธอยู่ 1 ครัวเรือน แต่ก็อยู่กันอย่างพี่น้อง...
นับเป็นอีกหนึ่งโมเดลสำหรับแก้ไขปัญหาในพื้นที่ขัดแย้งเพื่อสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนโดยใช้ทฤษฎี "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" ภายใต้หลักการ "ชุมชนจัดการตนเอง"
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์