สำรวจชุมชนไทยพุทธใกล้ร้าง ชาวบ้านสะอื้น...ต้องอยู่เพราะไม่มีที่ไป!
แม้ตลอดห้วงเวลาเกือบ 7 ปีของสถานการณ์ไฟใต้จะคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 4,000 รายโดยไม่เลือกศาสนา และพี่น้องมุสลิมต้องประสบกับความสูญเสียมากกว่าพี่น้องไทยพุทธ แต่ด้วยความที่ "ไทยพุทธ" เป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่สามจังหวัด และเหตุร้ายที่เกิดกับคนไทยพุทธแทบทุกครั้งล้วนมีนัยยะของการกดดันขับไล่ให้พ้นแผ่นดินเกิดด้วย จึงทำให้ข่าวคราวการฆ่าสังหารคนไทยพุทธเป็นเรื่องราวที่น่าสลดใจไม่น้อยไปกว่าเหตุการณ์อื่นๆ
ข้อมูลจากศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ศจฉ.พตท.) ณ สิ้นเดือน ส.ค.2553 ระบุว่า ยอดผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงนับตั้งแต่ 1 ม.ค.2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตมากถึง 4,036 ราย แยกเป็นศาสนาพุทธ 1,658 ราย อิสลาม 2,263 ราย ไม่ระบุศาสนา 115 ราย บาดเจ็บรวม 7,085 ราย แยกเป็นศาสนาพุทธ 4,347 ราย อิสลาม 2,255 ราย และไม่ระบุศาสนาอีก 483 ราย
จากข้อมูลย่อมชัดเจนว่าคนทุกกลุ่ม ทุกศาสนาหนีไม่พ้นการตกเป็นเป้าสังหาร แต่หากคิดตามสัดส่วนของคนไทยพุทธที่มีอยู่ในสามจังหวัดไม่ถึง 20% ของประชากรทั้งหมดราว 1,800,000 คนแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าอัตราความสูญเสียบนคราบเลือดและน้ำตาของพี่น้องไทยพุทธพุ่งสูงอย่างน่าตกใจจริงๆ
และเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธสงครามเอ็ม 16 บุกยิงชาวไทยพุทธเสียชีวิตถึง 4 ราย ทั้งยังจุดไฟเผาบ้านจนวอดอีก 3 หลัง เมื่อกลางดึกของคืนวันเสาร์ที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ในท้องที่บ้านฮูแตยือลอ หมู่ 6 ต.บาเร๊ะใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ก็ได้กระตุกให้สังคมไทยหันมาตื่นตระหนกกับชะตากรรมของพี่น้องไทยพุทธในพื้นที่อีกครั้ง
ที่สำคัญทั้งหมดเป็นไทยพุทธครอบครัวสุดท้ายในหมู่บ้านฮูแตยือลอ...
วิบากกรรมไทยพุทธที่ปลายขวาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ของพี่น้องไทยพุทธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา อยู่ในภาวะวิกฤติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริบทการตกเป็นเป้าของกลุ่มก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ให้พ้นพื้นที่ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งล่าสุดนี้ที่บ้านฮูแตยือลอไม่ใช่ครั้งแรก
ย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ คือช่วงระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค.2553 หรือราวๆ 2 เดือนกับ 11 วัน เกิดเหตุระเบิดในสวนยางพาราในท้องที่ อ.ธารโต จ.ยะลา ทั้งสิ้น 5 ครั้ง ระเบิด 6 ลูก มีผู้เสียชีวิตทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้านรวม 3 ราย บาดเจ็บสาหัสถึงขั้นขาขาดอีก 3 ราย โดยสวนยางพาราที่เกิดเหตุล้วนเป็นสวนของชาวไทยพุทธ
สุรชัย วงค์ศุภลักษณ์ นายอำเภอธารโต ยอมรับกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า สาเหตุของระเบิดถี่ยิบในท้องที่ อ.ธารโต มาจากเรื่องไล่ที่ ซึ่งมีมานานแล้ว เป็นการรังควาญคนไทยพุทธไม่ให้ทำมาหากินสะดวกด้วยวิธีกดดันหลายวิธี ทั้งใช้อาวุธปืนไล่ยิง เผาบ้านชาวบ้าน กระทั่งล่าสุดหันมาลอบวางระเบิด โดยใช้กับระเบิดแบบเหยียบ
อ.ธารโต ยังถูกบันทึกเอาไว้ด้วยว่า เมื่อปลายปี 2549 เคยเกิดเหตุรุนแรงในลักษณะยิงแล้วจุดไฟเผาทั้งบ้านทั้งคน ทำให้ชาวบ้านไทยพุทธนับร้อยชีวิตจากบ้านสันติ 1 และ 2 ท้องที่ ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา และ ต.แม่หวาด อ.ธารโต ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน ต้องอพยพหนีตายไปอาศัยอยู่ที่วัดนิโรธสังฆารามในเขต อ.เมืองยะลา เป็นเวลานานหลายเดือน
ขณะที่เหตุการณ์ฆ่าหมู่ไทยพุทธในท้องที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ก็ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกที่บ้านฮูแตยือลอ แต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ปีเดียวกันนี้เอง คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธสงครามทั้งเอ็ม 16 และอาก้าสังหารพรานป่า 6 คนเสียชีวิตอย่างอนาถคารถกระบะบริเวณเชิงเขาบูโด ท้องที่บ้านบาดง หมู่ 6 ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ โดยทั้งหมดเป็นชาวไทยพุทธ
และเหตุการณ์ฆ่าหมู่ไทยพุทธในลักษณะคล้ายๆ กัน ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธสงครามโจมตีรถตู้โดยสารสายเบตง-หาดใหญ่ และสังหารคนไทยพุทธทั้งหมดที่นั่งมาในรถรวดเดียวถึง 8 ศพ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2550
สำรวจชุมชนไทยพุทธ..นับสิบแห่งร่อยหรอ-ใกล้ร้าง
การก่อเหตุรุนแรงกับคนไทยพุทธครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งข่มขู่ คุกคาม เผา และสังหาร ทำให้พี่น้องไทยพุทธจำนวนไม่น้อยต้องอพยพออกจากพื้นที่ หลายชุมชนซึ่งเคยเป็นย่านการค้า หรือเป็นกลุ่มบ้านที่คนไทยพุทธกับมุสลิมเคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเริ่มแปรเปลี่ยนไป บ้านเรือนและร้านรวงที่เป็นของคนไทยพุทธหรือคนไทยเชื้อสายจีนเริ่มร้าง บางชุมชนเหลืออีกไม่กี่ครอบครัวเป็นชุดสุดท้าย ขณะที่บางชุมชนไม่เหลือเลย
"ทีมข่าวอิศรา" สำรวจชุมชนในพุทธในพื้นที่ซึ่งถูกคุกคามอย่างหนักด้วยการก่อเหตุรุนแรงทุกรูปแบบ พบว่ามีนับสิบชุมชนที่คนไทยพุทธร่อยหรอเต็มที...
เริ่มจาก จ.ยะลา ได้แก่
1) ชุมชนสามแยกบ้านเนียง อ.เมืองยะลา ซึ่งเป็นสามแยกจุดตัดของถนนสายปัตตานี-ยะลา หากเดินทางมาจากปัตตานี เมื่อถึงสามแยกนี้ เลี้ยวซ้ายจะเข้าเขตเมืองยะลา เลี้ยวขวามุ่งหน้า อ.ยะหา ทะลุออก อ.สะบ้าย้อย และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาได้ เดิมทีมีคนไทยพุทธเปิดร้านขายของอยู่หลายร้าน แต่ปัจจุบันย้ายถิ่นฐานไปหมดแล้ว
2) หลายตำบลของ อ.บันนังสตา โดยเฉพาะ ต.เขื่อนบางลาง และ อ.ธารโต โดยเฉพาะ ต.แม่หวาด ซึ่งเกิดเหตุรุนแรงถี่ยิบ ทั้งลอบยิง ลอบวางระเบิด ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น
3) ต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการคมนาคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะจากจุดนี้สามารถเดินทางต่อไปได้ทั้ง จ.ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งอำเภอโดยรอบล้วนเป็นพื้นที่สีแดง ครอบครัวไทยพุทธแทบไม่มีเหลือ
จ.ปัตตานี ได้แก่
1) ต.บ้านนอก ต.บ้านกลาง และ ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ ซึ่งคนไทยพุทธตกเป็นเป้าความรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2553 คนร้ายเพิ่งก่อเหตุยิง นางนฤมล ปราโมทย์ไพบูลย์ หรือ "พี่นิ้ง" เจ้าของร้านชำใน ต.ปะนาเระ เสียชีวิตคาร้าน ซ้ำรอยสามีซึ่งถูกสังหารในลักษณะเดียวกันเมื่อปลายปี 2549
2) ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับ จ.ยะลา จริงๆ แล้ว อ.โคกโพธิ์ เคยได้รับการกล่าวขวัญให้เป็นอำเภอสันติสุขอำเภอหนึ่งในสามจังหวัด และมีชาวไทยพุทธกับชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากร่วมกับพี่น้องมุสลิม ผู้นำระดับท้องถิ่นหลายรายก็เป็นคนไทยพุทธ แต่ระยะหลังเกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับคู่สามีภรรยาสูงอายุ มักถูกดักยิงระหว่างเดินทางไปกรีดยางพารา
จ.นราธิวาส ส่วนใหญ่เป็นชุมชนย่านการค้า ได้แก่
1) ชุมชนบ้านต้นไทร ในเขตเทศบาลตำบลปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ
2) ชุมชนบ้านดุซงญอ อ.จะแนะ
3) ชุมชนบ้านลาโล๊ะ หลังสถานีรถไฟลาโล๊ะ ต.ลาโล๊ะ อ.รือเสาะ
4) ชุมชนในตลาดเทศบาลตำบลยี่งอ อ.ยี่งอ ร้านค้าหลายร้านของคนไทยพุทธแขวนป้ายขาย
ชาวบ้านสะอื้น...ต้องอยู่เพราะไม่มีที่ไป
"ครอบครัวของผมเป็นครอบครัวชาวบ้านไทยพุทธชุดสุดท้ายที่อยู่ในหมู่บ้านฮูแตยือลอ ซึ่งมีเพียง 3 หลังเท่านั้นที่ยังรักบ้านเกิดและยอมทนอยู่มานานมากกว่าคนอื่นที่เขาอพยพไปกันหมดแล้ว หลังเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ หมู่บ้านนี้ก็จะไม่มีชาวไทยพุทธเหลือเลย ผมก็ไม่กล้าอยู่เหมือนกัน จะขอย้ายไปอยู่ที่อื่น และจะไม่กลับมาอีก เพราะไม่กล้าเอาชีวิตมาทิ้งให้เขาฆ่าเล่นแบบนี้" เป็นเสียงของ นายเจียม คงเพชร ลูกชายของ นายชื่น กับ นางห้อง คงเพชร สองใน 4 ไทยพุทธที่ถูกจ่อยิงและเผาบ้านอย่างโหดเหี้ยมเมื่อคืนวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา
แต่ความรู้สึกหวาดหวั่นถึงขั้นขวัญผวาเช่นนี้ ไม่ได้เกิดกับนายเจียมซึ่งเพิ่งประสบเหตุร้ายเข้ากับครอบครัวของตัวเองเป็นรายล่าสุดเท่านั้น ทว่าพี่น้องไทยพุทธในอีกหลายๆ พื้นที่ก็มีความรู้สึกเลวร้ายไม่ต่างกัน
นักธุรกิจสาวรายหนึ่งในพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ เล่าให้ฟังทั้งน้ำตาว่า ในช่วงเวลา 5-6 ปีมานี้ เธอต้องสูญเสียบิดา แม่เลี้ยง พี่ชาย อา น้า และลูกน้อง ไปกับเหตุการณ์ความรุนแรง
"ไทยพุทธที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ตอนนี้ บอกได้เลยว่าเหลือเฉพาะกลุ่มที่อ่อนแอ ไม่รู้ว่าจะย้ายไปไหนดี ถ้าจะไปจากพื้นที่บ้านเกิดตรงนี้ก็ไม่มีที่ไป ส่วนคนที่มีที่ไป เขาบินกันไปนานแล้ว โดยส่วนใหญ่จะย้ายไปเมื่อเหตุการณ์มาโดนเข้ากับตัวหรือคนในครอบครัว เช่น พ่อโดนยิง ลูก 3-4 คนก็จะย้ายและพาครอบครัวหนี ปล่อยบ้านทิ้งร้างเอาไว้ บ้างก็ประกาศขาย แต่บางรายก็ขายไม่ออก ต้องจำใจทิ้งเพราะกลัว ทุกคนเสียดายแต่ก็ไม่มีทางเลือก คิดว่าถ้าอยู่ก็ต้องเป็นฝ่ายโดนกับตัวเองเข้าสักวัน" นักธุรกิจสาวกล่าวพลางสะอื้น จนต้องหยุดพูดเป็นช่วงๆ
เธอเผยความรู้สึกอีกว่า ถ้าจะถามว่ากลัวไหม ขอบอกว่าสุดขีด เกินกว่าคำว่ากลัว แต่ก็ต้องทนอยู่เพราะเป็นคนในพื้นที่ ทำธุรกิจมานานหลายชั่วอายุในลักษณะรุ่นสู่รุ่น ทั้งยังต้องเป็นหลักให้กับพี่น้องคนอื่นๆ บอกตรงๆ ทุกวันนี้ต้องทำตัวให้ดูเข้มแข็ง ทั้งที่ข้างในแอบร้องไห้ตลอดเวลา
"อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ให้เร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยง แล้วเข้าไปช่วยเหลือประชาชน วางมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งต้องทำตลอด ไม่ใช่ทำแค่เฉพาะตอนเกิดเหตุ หรือจ่ายเงินเยียวยาแล้วหายไปเลย ไม่เคยถามเลยว่าเราจะดำเนินชีวิตอย่างไร จะอยู่อย่างไร เวลานี้ประชาชนต้องการที่พึ่ง แต่ไม่รู้จะไปพึ่งใคร การส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ขอให้ส่งคนดีๆ ลงมา และต้องทำงานในพื้นที่จริงๆ ไม่ใช่พอเกิดเหตุขึ้น พี่น้องประชาชนตามหาไม่เคยเจอสักครั้งเดียว" เธอกล่าวและร้องไห้ออกมาอีก
"สังหารหมู่"โดนทุกศาสนา...เมื่อไหร่ความโหดร้ายจะยุติ?
ดังที่อ้างอิงสถิติของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ศจฉ.พตท.) ตั้งแต่ตอนต้นว่า เหยื่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เจาะจงเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่ผู้คนทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ล้วนมีโอกาสถูกไล่ล่าและตกเป็นเป้าความโหดร้ายทารุณไม่แพ้กัน
รายงานพิเศษชิ้นนี้ไม่ได้มีเจตนาพูดถึงความสูญเสียเฉพาะของคนไทยพุทธมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าหลายต่อหลายครั้งพี่น้องมุสลิมก็ถูกสังหารด้วยความป่าเถื่อนเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ฆ่าหมู่ 10 ศพในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2552 หรือเหตุการณ์คนร้ายบุกสังหารครอบครัวของ นายสุเด็ง อาแวบือซา เสียชีวิตรวม 9 ศพ ไม่เว้นแม้กระทั่งทารกวัยเพียง 8 เดือน ที่บ้านกะทอง ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2548
นี่ยังไม่นับรวมเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่ประมาทเลินเล่อและจงใจ อาทิ เหตุการณ์กรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 มีผู้เสียชีวิตถึง 108 ราย หรือเหตุการณ์สลายม็อบและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมกว่า 1,000 คนที่หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ปีเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตรวม 85 ราย เป็นต้น
เรื่องราวอันน่าสลดนี้ถ้าถามใจคนไทยทั้งชาติคงไม่มีใครอยากให้เกิด ไม่ว่าความสูญเสียจะเป็นของผู้ใดหรือศาสนาไหนก็ตาม เพราะคนทุกคนล้วนเป็นพี่น้องกัน ทำมาหากิน เอื้อเฟื้อแบ่งปัน และอยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินเดียวกัน...
แล้วเมื่อไหร่ความโหดร้ายที่ปลายด้ามขวานจะยุติลงเสียที?
----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พระภิกษุยืนมองบ้านของชาวไทยพุทธที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกคนร้ายเผาวอดและสังหารยกครัวอีก 4 ศพ ขณะเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจจุดเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น
อ่านประกอบ :
- ตร.คาดปม "แก้แค้น-ชิงสวนปาล์ม" ชนวนฆ่าหมู่ไทยพุทธ 4 ศพที่บาเจาะ!
- ผ่า 2 ปมบึ้มถี่ที่ธารโต...ฮุบสวนยาง เล่นงาน จนท.ซ้ำ!
- ระอุ! รัวอาก้า เอ็ม 16 ถล่มพรานหาของป่า 6 ศพ
- รอยด่างบนผ้าขาว...ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกระทำ (เหตุการณ์ฆ่าหมู่ 9 ศพทีบ้านกะทอง)
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=416&Itemid=86