รุกวิจัยข้าวทั้งระบบ แก้โจทย์ “จำนำข้าว”ทำไทยหลุดแชมป์ส่งออกพรีเมียม
กษ.รุกวิจัยข้าวช่วยชาวนา 4 ล้านครัว เน้นคุณภาพ-จัดระบบปลูก หวังไม่เสียแชมป์ข้าวเกรดสูงให้เวียดนาม-อินเดีย-กัมพูชา พม่า เลขาฯ วช.แนะรัฐฟังวิจัยก่อนกำหนดประชานิยมเกษตร
วันที่ 18ต.ค.55 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.)จัดสัมนาเสนอผลงานวิจัยในรอบ 5 เดือน 60 โครงการ ภายใต้แผนงานวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วน ปีงบประมาณ 2555 กลุ่มเรื่องข้าว ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยนายชวลิต ชูขจร ปลัด กษ.กล่าวว่าข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยมากทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ไทยส่งออกข้าวมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิส่งออกอันดับหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน
เพื่อรักษาสถานภาพดังกล่าว ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมข้าวไทยและช่วยชาวนาซึ่งมีกว่า 4 ล้านครัวเรือนคิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ของเกษตรกรทั่วประเทศมีความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพ จึงจำเป็นต้องทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและหาแนวทางในการส่งเสริมทั้ง เกษตรกรและภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบให้มีองค์ความรู้ที่จะทำ ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปลัด กษ.กล่าวต่อไปว่าผลงานวิจัยด้านข้าวยังมีบทบาทสำคัญในการเตรียมภาคเกษตรเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งนอกจากความร่วมมือที่ไทยได้จัดทำกับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังจะต้องพัฒนางานวิจัยภายในประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ซึ่งทางคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ได้กำหนดเป็นกรอบงานวิจัยด้านข้าวในช่วง 5 ปีนับจากนี้
ได้แก่ ด้านพัฒนาพันธุ์ข้าว ด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าว ด้านเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ด้านเทคโนโลยีการแปรรูป และด้านเศรษฐกิจและการตลาดข้าว โดย กษ.มีนโยบายชัดเจนในการผลักดันให้เกษตรกรปลูกข้าวคุณภาพในระบบการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) และข้าวอินทรีย์ ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานวิชาการต่างๆ แปรรูปเพิ่มมูลค่า ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ได้เปรียบคู่แข่งจากประเทศอื่น และจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาวมากกว่าเน้นเฉพาะการผลิตเชิง ปริมาณ อันจะทำให้ไทยยังมีขีดความสามารถในการครองตลาดข้าวพรีเมี่ยมซึ่งมีมูลค่าสูง ควบคู่การจัดระบบปลูกข้าวเพื่อลดความเสี่ยงด้านต่างๆ ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ศ.นพ.สุทธิพร จิตติ์มิตรภาพ เลขาธิการ วช. กล่าวว่าได้จัดสรรงบประมาณ 228 ล้านบาท ให้ สวก.สนับสนุนงานวิจัยข้าว โดยมีโครงการที่ได้รับทุน 60 ชุดโครงการ เนื่องจากปัจจุบันข้าวไทยมีขีดความสามารถในการส่งออกลดลง ขณะที่ประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา และพม่า มีศักยภาพส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวียดนามที่คาดว่าส่วนแบ่งการตลาดจะเพิ่มเป็นร้อยละ 19.83 และอินเดียเพิ่มขึ้น 22.57 ในปี 2555
เลขาธิการ วช.ยังกล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวมากขึ้น นับเป็นความท้าทายของนักวิจัยที่จะคิดตอบโจทย์การพัฒนาที่เหมาะสมทั้งระยะสั้นที่เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายข้าว และระยะยาวด้านการพัฒนาคุณภาพให้ยังคงเป็นที่หนึ่งในฐานะผู้ส่งออกข้าวของโลกทั้งด้านราคาและคุณภาพ รวมถึงวิธีการเก็บสต็อกข้าวที่จะเพิ่มมากขึ้นจากการดำเนินโครงการ ซึ่งหากรัฐบาลนำความรู้จากงานวิจัยไปประกอบการพิจารณา ก็จะทำให้การกำหนดนโยบายก่อเกิดประสิทธิผลต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมการเกษตรทั้งระบบอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง .
ที่มาภาพ ::: http://americaninvetors.blogspot.com/2010/03/rice-and-wheat-strains.html