ไหนว่าลับ! โชว์หรา ตัวเลขขายข้าวจีทูจี มติครม. 'รบ.มาร์ค-ทักษิณ1'
จากกรณีที่รัฐบาลออกมาอ้างหนังสือบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ส่งออกข้าวกับต่างประเทศที่มีการระบุว่า รัฐบาลได้ส่งออกข้าวในระบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ไปแล้ว 7.3 ล้านตัน แต่ถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดใดๆได้ เพราะเกรงว่าจะส่งกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประเทศคู่แข่งจับตาการระบายข้าวที่เหลืออยู่ของไทย
เพื่อตอบข้อสงสัยที่ว่า ข้อมูลการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ สามารถเปิดเผยได้หรือไม่ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ค้นมติคณะรัฐมนตรีเก่าๆ ย้อนหลังไปสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์-รัฐบาลทักษิณ 1 พบมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีมติ ครม. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 เรื่องรายงานผลการเดินทางคณะผู้แทนการค้า นำโดย นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรณีเดินทางไปเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า ณ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ (ระหว่างวันที่ 19 - 24 มกราคม พ.ศ.2554)....โดยเนื้อหาในส่วนของการซื้อขายข้าวมีข้อความระบุ ดังนี้
“ผลการเจรจากับสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ในเบื้องต้นฝ่ายบังกลาเทศได้แสดงความสนใจซื้อข้าวนึ่งจากไทยในปริมาณ 200,000 ตัน รวมทั้งจัดทำสัญญาระยะยาว เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารของบังกลาเทศ เนื่องจากบังกลาเทศมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวเฉลี่ยปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งฝ่ายไทยได้เสนอการซื้อขายข้าวในรูปแบบ CIF - LO (Liner out) หรือ FOB รวมทั้งการชำระเงินโดยการเปิด L/C เงินสดขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยจะมอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้เจรจาในนามของรัฐบาลไทย”
หรือหากขยับไปไกลอีกนิด สมัยรัฐบาลพี่ชายนายกฯ ปู หรือ ‘รัฐบาลทักษิณ1’ มี มติ ครม.วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2545 ก็มีข้อมูล ระบุถึง การทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลทำเกาหลีเหนือ ว่า
“รัฐบาลไทยตกลงขายข้าวให้กับรัฐบาลเกาหลีเหนือปริมาณ 300,000 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% 100,000 ตัน ราคา 185 เหรียญสหรัฐ ฯ (FOB) ต่อตัน และข้าวขาว 25% 200,000 ตัน ราคา 162 เหรียญสหรัฐ ฯ (FOB) ต่อตัน การชำระเงิน ชำระเป็นเงินเชื่อระยะเวลา 2 ปี ภายหลังการส่งมอบแต่ละงวด อัตราเบี้ยปรับสำหรับการชำระเงินล่าช้าคิดอัตรา 2.5% ต่อปี ส่งมอบเดือนมกราคม-มิถุนายน 2545 ประมาณ 50,000 ตันต่อเดือน โดยเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการส่งมอบข้าวให้รัฐบาลเกาหลีเหนือตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว ตลอดจนการขายข้าวเงินเชื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือ และให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการขายข้าวดังกล่าว และให้ดำเนินการต่อไปได้ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ”
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า มติ ครม.ของรัฐบาลทั้ง 2 ยุค 2 สมัยดังกล่าว ยังระบุถึงปริมาณและรูปแบบการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐได้อย่างชัดเจน
แตกต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มติครม.มีข้อมูลแบบกว้างๆ ไม่มีรายละเอียดใดๆ เช่น วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2554 ครม.มีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ คือ...อนุมัติการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอินโดนีเซีย และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลบังกลาเทศ
หรือกระทั่งในช่วงต่อมา มติ ครม. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ก็ยังคงเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ คือ
1.การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลบังกลาเทศ โดยมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิได้ทำให้สาระสำคัญในร่างบันทึกความเข้าใจฯ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้อยู่ในดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่จะดำเนินการได้
2. ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ...
ซึ่งเรื่องนี้ สอดคล้องกับกรณีที่พรรคฝ่ายค้าน ออกมาเรียกร้องให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยรายละเอียดสัญญาโดยละเอียด การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 7.3 ล้านต้น เพราะเกรงว่าจะซ้ำรอยสมัยที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นรัฐมนตรี ที่มีการอ้างการทำเอ็มโอยู กับประเทศต่างๆ แต่ท้ายสุดไม่ได้มีการซื้อขายจริง อีกทั้งการที่กระทรวงพาณิชย์พยายามอ้างว่าตัวเลขทั้งหมดเป็นความลับเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น โดยเฉพาะการอ้างประเทศคู่ค้าต้องการให้เก็บเป็นความลับยิ่งฟังไม่ขึ้น