สสส.-สกส. หวัง SE สังคม-ชุมชน แก้โรคทุนนิยม
สสส.-สกส. หวัง ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ ขยายตัว แก้ปมประเทศป่วยหนักจากทุนนิยม เอกชนมองไม่แก้คอร์รัปชั่น SE เกิดยาก โชว์ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ สถาปนิกชุมชน ศิลปะเด็กชายขอบ
วันที่ 18 ต.ค. 55 สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) จัดงานเจรจาจับคู่ธุรกิจ เพื่อพัฒนากิจการเพื่อสังคมไทย ภายใต้ชื่อ ‘SE Matching Day ก้าวหน้า ก้าวไกล ก้าวไปด้วยกัน’ ณ โรงแรม เอส 31 กรุงเทพฯ
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังเกิดปัญหาหนักหน่วงท่ามกลางระบบทุนนิยม เช่น สภาพสิ่งแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ล้วนมีผลกระทบต่อชุมชน จึงต้องผลักดันให้เกิดธุรกิจที่มุ่งเน้นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise - SE) ขึ้น ซึ่งร่วมจดทะเบียนแล้ว 400 องค์กร แต่ส่วนตัวคิดว่ามีมากกว่านั้น หากคิดเป็นตัวเลขทางจีดีพีเติบโตแล้วเกือบ 1% ขณะที่อังกฤษมีการเติบโตของ SE ถึง 5% อย่างไรเชื่อว่าไทยจะสามารถเติบโตได้อีก เพราะเด็กยุคใหม่เริ่มหันมาใส่ใจธุรกิจที่มีส่วนในการดูแลสังคมมากขึ้น
“SE มิใช่การทำ CSR อย่างที่ธุรกิจหลายองค์กรกำลังทำ และไม่ใช่มูลนิธิที่รับเงินบริจาคเพื่อดูแลสังคม แต่ SE อยู่กึ่งกลางจัดตั้งขึ้นเพื่อตั้งใจจะทำงานเพื่อสังคม โดยไม่มีนโยบายขอรับบริจาคทุนจากภาคส่วน แต่สิ่งสำคัญให้เกิดความยั่งยืนคือการบริหารการเงินอย่างเป็นระบบมากกว่า และเชื่อมั่นว่าการจับมือของภาคเอกชนจะพัฒนาได้ดีกว่ารัฐ”
นายวิเชียร พงศธร กก.ผจก.ใหญ่ กลุ่มบริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนต้องใส่ใจต่อการดูแลสังคมภายใต้การเปลี่ยนแปลง 5 ระดับ ได้แก่ 1.ทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม รักษาคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ ซึ่งวันนี้ไทยยังไม่เข้มแข็ง เพราะหลายองค์กรยังสนับสนุนการคอร์รัปชั่นอยู่ 2.ต้องแบ่งปันทรัพยากรต่อสังคม เพราะที่ผ่านมากรณีการทำ CSR ที่มากขึ้น คนในชุมชนกลับไม่เข้าใจและรู้สึกว่าตนได้รับประโยชน์อะไรจากกิจกรรมเหล่านี้ 3.ควรมีการมอบความรู้ให้ประชาชนได้พัฒนาด้วยตนเอง 4.ไม่ควรให้ความสำคัญกับการร่วมลงทุนมากนัก แต่ SE มุ่งเน้นการช่วยเหลือความรู้ด้านธุรกิจมากกว่า และ5.เมื่อธุรกิจดำเนินกิจการด้วยความมั่นคั่งแล้ว อยากให้แบ่งปันเพียง 1% ในการช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืน โดยพัฒนากองทุนเพื่อสังคมต่อไป
ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอธุรกิจที่ดำเนินกิจการเพื่อสังคม 20 กิจการ เพื่อจับคู่กับองค์กรขนาดใหญ่ หนึ่งในนั้น คือ อุไร เพ็ชรรัตน์ ผู้ประกอบการผักสลัดสดปลอดสารพิษ ภายใต้ชื่อ นะโม น้ำมนต์ ฟาร์ม เปิดเผยว่า ธุรกิจเกิดขึ้นจากแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมของราคาพืชผลทางการเกษตร และผู้บริโภคต้องเสี่ยงกับสารเคมีที่ตกค้างในผักต่าง ๆ จึงริเริ่มปลูกผักปลอดสารพิษด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์ด้วยตนเอง พร้อมตั้งเป็นศูนย์กลางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในฟาร์ม โดยรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรด้วยราคาเป็นธรรม จากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย อีกทั้งสร้างงานและรายได้ให้เกษตรกรด้วย ซึ่งคาดว่าอนาคตไทยจะเกิดการแข่งขันธุรกิจผักปลอดสารพิษมากขึ้น โดยยึดคุณภาพและราคาที่เหมาะสมเป็นหลัก
ด้านนพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ผู้ประกอบการธุรกิจคลินิกเป็นสุข กล่าวว่า ปัจจุบันคนเมืองเกิดปัญหาสุขภาพมากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เนื่องจากละเลยการรักษาสุขภาพ และขาดการบริโภคที่ถูกหลักโภชนาการ นอกจากนี้ยังเห็นว่าการดูแลสุขภาพมุ่งเน้นการรักษาเพียงอย่างเดียว ทำให้ประชาชนขาดความรู้ในการเฝ้าระวังสุขภาพก่อนเจ็บป่วย ทั้งยังไม่มีบริการให้ประสบการณ์ที่ดี ด้านการสร้างเสริมสุขภาพผ่านสินค้าและบริการออร์แกนิก และขาดงานวิจัยหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยัน
“ต้องเข้าใจว่าเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถแบกรับต้นทุนด้านสารเคมีได้ และเมื่อเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ผลผลิตต่อไร่น้อยและราคาสูงกว่าท้องตลาด จึงจำกัดเฉพาะคนมีรายได้สูง แม้จะมีการรับรองมาตรฐานสากล แต่ไม่สามารถตีตลาดได้ จึงมีริเริ่มกิจการเป็นสุขขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ”
ผู้ประกอบการธุรกิจคลินิกเป็นสุข ยังกล่าวถึงขนาดของเกษตรอินทรีย์ในประเทศว่า มีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่งเติบโตประมาณ 30% ทุกปี และเกือบ 80% ของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นข้าวอินทรีย์ ถือว่าข้าวเป็นช่วงขยายตัว ทั้งนี้ธุรกิจดังกล่าวสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้ 2 ด้าน คือ เศรษฐกิจและสุขภาพ โดยทำให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์มีรายได้ที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับเคมี และมีสุขภาพที่ดี เพราะลดใช้สารเคมีและยังบริโภคข้าวที่ปลูกเองด้วย นอกจากนี้ยังทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นเติบโต ตราบใดที่มีการผลิตเชิงอนุรักษ์
ขณะที่นายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร กลุ่มสถาปนิกชุมชน คน. ใจ. บ้าน. กล่าวว่า กลุ่มมุ่งเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัย ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยใช้ทักษะในการออกแบบของสถาปนิกสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมากำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ เช่น ให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกแบบ หรือใช้เครื่องมืออย่างง่ายในการทำความเข้าใจพื้นที่ของตน เช่น โครงการผังตำบล-ผังชีวิต ที่จัดการมรดกทางวัฒนธรรมในสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่
โดย 3 ปีที่ผ่านมา ได้ออกแบบระดับพื้นที่แล้ว 14 โครงการ ในจ.เชียงใหม่ และอื่น ๆ รวม 64 ชุมชน 6 ตำบล ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนจากฐานรากตามความต้องการชุมชน ซึ่งอีก 3 ปีข้างหน้า ทางกลุ่มจะส่งเสริมให้มีการออกแบบเมืองในอนาคตร่วมกัน บนความสามารถ จาก 14 โครงการที่กระจัดกระจายให้เชื่อมโยงกันและตั้งอยู่บนแผนเดียวกันจากระดับชุมชน ขยายสู่ตำบล จังหวัด และภูมิภาคต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มี 3 องค์กรให้การสนับสนุน SE แล้ว ได้แก่ บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต สนับสนุน New Haven Reef Conservation Program เพื่อช่วยอนุรักษ์ปะการังและระบบนิเวศทางทะเล บริษัท นานมี สนับสนุน Children Mind & Child Gallery โดยนำงานศิลปะเด็กชายขอบต่อยอดเป็นนิทาน 3 ภาษา พร้อมร่วมพัฒนาหลักสูตรศิลปะ และสนับสนุนอุปกรณ์ศิลปะให้เด็กชายขอบในโครงการ และอุทยานแห่งการเรียนรู้ ทีเค พาร์ค สนับสนุนการเผยแพร่กิจการเพื่อสังคมสู่เยาวชน