เปิด"ศูนย์คุ้มครองพยาน 3 จังหวัดใต้" อีกหนึ่งความหวังคลี่คลายคดีความมั่นคง
เป็นที่รู้กันดีว่าการคลี่คลายคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อยู่ในภาวะน่าห่วง ข้อมูลล่าสุดจาก นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขณะไปร่วมสัมมนาของกระทรวงที่ จ.ตรัง เมื่อวันที่ 17-18 ก.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า คดีส่วนใหญ่ที่นำขึ้นสู่ศาล ถูกศาลพิพากษายกฟ้องมากกว่าร้อยละ 60 ทั้งๆ ที่มีคดีอยู่ในกระบวนพิจารณาของศาลไม่กี่ร้อยคดี จากคดีความมั่นคงกว่า 7 พันคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดเกือบ 7 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า ช่วงตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2547 จนถึงวันที่ 31 มี.ค.2553 มีคดีอาญาเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวมทั้งสิ้น 72,731 คดี แยกเป็นคดีความมั่นคงจำนวน 7,439 คดี เป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิด 1,751 คดี จับกุมผู้กระทำผิดได้ 1,227 คดี และไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดมากถึง 5,081 คดี
รัฐมนตรีพีระพันธุ์ ถึงกับวิจารณ์ตรงๆ ว่า ทั้งประสิทธิภาพงานด้านการข่าว การสืบสวนสอบสวน และการบังคับใช้กฎหมายอยู่ในระดับไม่น่าพอใจ!
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้คดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็น "งานหิน" และศาลยกฟ้องกว่าครึ่งนั้น นอกจากประสิทธิภาพของพนักงานสอบสวนในพื้นที่แล้ว ยังมีปัญหาเรื่อง "ไม่มีพยาน" แทบจะทุกคดีด้วย ดังที่มีเรื่องเล่ากันในหมู่พนักงานสอบสวนว่า "ขนาดระเบิดหน้าบ้าน เจ้าของบ้านยังให้การว่าไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยินด้วยซ้ำไป"
แน่นอนว่าในสถานการณ์ที่ชาวบ้านเหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มก่อความไม่สงบซึ่งแฝงตัวอยู่เต็มพื้นที่ การแสดงตัวเป็นพยานให้รัฐ ย่อมอันตรายอย่างยิ่ง
ล่าสุดกระทรวงยุติธรรมจึงอุดช่องโหว่ในเรื่องนี้ ด้วยการตั้งศูนย์ประสานงานคุ้มครองพยานสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศคต.โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กับศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) และเพิ่งมีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ ผบช.ศชต. กับ สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ไปเมื่อไม่นานมานี้
ไพฑูรย์ สว่างกมล ผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองพยาน เปิดเผยกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า การตั้ง ศคต. หรือศูนย์ประสานงานคุ้มครองพยานสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองพยาน และให้ตำรวจสามารถทำงานง่ายขึ้นในการคลี่คลายคดีความมั่นคงที่มีความซับซ้อน โดยเมื่อตำรวจมีพยานหรือได้ตัวพยานมา ก็ให้มาติดต่อที่ศูนย์นี้ สำนักงานคุ้มครองพยานก็จะดูแลเรื่องกฎระเบียบและแนวปฏิบัติ หาช่องทางนำพยานไปอยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่งพยานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ที่เข้าโปรแกรมคุ้มครองพยานจะไม่ได้อยู่ในสามจังหวัด และทางสำนักงานฯจะดูแลคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดให้ด้วย
รู้จักสำนักงานคุ้มครองพยาน
"สำนักงานคุ้มครองพยาน" ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 เป็นหน่วยงานใต้ร่มของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
แม้สำนักงานคุ้มครองพยานในบ้านเราจะไม่ได้มีอำนาจและเครื่องมือเครื่องไม้ในการปฏิบัติงานอย่างเบ็ดเสร็จเหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศที่พัฒนาระบบคุ้มครองพยานตามมาตรฐานสากลแล้ว แต่การมีสำนักงานคุ้มครองพยานก็สามารถยกระดับ "มาตรการคุ้มครองพยาน" ได้ดีกว่าในอดีตมากพอสมควร
ไพฑูรย์ อธิบายว่า ตามกฎหมายกำหนดให้สำนักงานคุ้มครองพยานเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ประสานงาน วางมาตรฐาน และกำหนดกลยุทธ์ในการคุ้มครองพยานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี พยานส่วนหนึ่งประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคุ้มครองพยานดูแลเอง เพราะบางคดีตำรวจหรือเจ้าพนักงานหน่วยอื่นอาจมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในคดี แต่การทำงานก็มีข้อจำกัด เพราะสำนักงานคุ้มครองพยานไม่มี "หน่วยปฏิบัติการพิเศษ" เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองพยานของตัวเอง จึงต้องสร้างกลไกเครือข่ายให้พยานมีทางเลือกเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
"ถ้าไม่อยากอยู่กับตำรวจ เราก็ต้องประสานให้มีหน่วยอื่นมาสนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจและทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้งทหารและฝ่ายปกครองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และประสานงานการคุ้มครองพยานกันด้วยดีตลอดมา"
สิทธิของพยานในคดีอาญา
ไพฑูรย์ อธิบายต่อว่า ความแตกต่างระหว่างการไม่มีกฎหมายคุ้มครองพยานกับการมีกฎหมายกำหนดมาตรการคุ้มครองพยานก็คือ ในอดีตสิทธิของพยานจะเกิดขึ้นตามระเบียบเกี่ยวกับคดีของกรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ทำให้ตำรวจเป็นเพียงหน่วยเดียวที่มีหน้าที่คุ้มครองพยาน ซึ่งก็จะดูแลเฉพาะคดี ไม่มีงบประมาณสนับสนุน และไม่มีการคุ้มครองบุคคลใกล้ชิดของพยาน แต่หลังจากมีกฎหมายคุ้มครองพยานเมื่อปี 2546 ทำให้มีมาตรการรองรับสิทธิของพยานมากยิ่งขึ้น
หลักๆ ก็คือ 1.ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย เช่น ย้ายที่อยู่ จัดหาที่พักอันเหมาะสม เปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล หลักฐานทางทะเบียน เป็นต้น 2.ได้ค่าตอบแทน ทั้งค่าเลี้ยงชีพและค่าขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ และ 3.ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม เช่น ดำเนินการเพื่อให้มีอาชีพหรือให้มีการศึกษาอบรม หรือดำเนินการใดเพื่อให้พยานสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ตลอดจนช่วยเหลือในการเรียกร้องสิทธิที่พยานพึงได้รับ
ประเด็นสำคัญที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบก็คือ ในกรณีเกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของพยานหรือบุคคลอื่นที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน เพราะมีการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาเนื่องจากการที่พยานจะมาหรือได้มาเป็นพยาน บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควร
ไพฑูรย์ อธิบายอีกว่า กระบวนการคุ้มครองพยานจะเริ่มขึ้นเมื่อได้รับการร้องขอจากพยาน หรือสำนักงานคุ้มครองพยานรวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเห็นว่าพยานน่าจะมีความเสี่ยง ก็จะแนะนำให้เข้าสู่โปรแกรมคุ้มครองพยาน แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับการยินยอมจากตัวพยานด้วย สำนักงานคุ้มครองพยานทำได้เพียงเสนอแนะ เพราะพยานบางคนไม่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงแล้ว สำนักงานฯก็จะแจ้งข้อมูลให้ทราบ แต่การจะเข้าโปรแกรมหรือไม่อยู่ที่การตัดสินใจของตัวพยานเอง
"แต่ก็อย่างที่บอกคือสำนักงานคุ้มครองพยานของไทยเป็นแห่งเดียวในโลกที่ไม่มีหน่วยปฏิบัติการเป็นของตัวเอง ต้องประสานกับหน่วยอื่น แต่ยังดีที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งสำนักบังคับคดีขึ้นมา และในหน่วยงานนี้จะมีชุดคุ้มครองพยานอยู่ด้วย จึงเป็นประโยชน์กับสำนักงานคุ้มครองพยานในการประสานความร่วมมือ และหากมีคดีที่จำเป็นจริงๆ เพราะพยานไม่อยากอยู่กับตำรวจ หรืออยู่ในพื้นที่ไม่ได้ สำนักงานคุ้มครองพยานก็จะมีทีมไปพาตัวพยานมาไว้ในสถานที่ปลอดภัย (เซฟเฮาส์) ซึ่งมีชั้นความลับ แต่ปัญหาที่พบก็คือ พยานบางรายยังต้องการทำมาหากินตามปกติ ขอให้ดูแลเฉพาะช่วงเดินทางไปทำงาน หรือส่งลูกไปโรงเรียน ซึ่งก็เป็นสิทธิของพยาน เราก็ต้องทำตามนั้น"
ทั่วประเทศ 238 คน-ชายแดนใต้ 42 ชีวิต
สำหรับพยานที่มีสิทธิเข้าโปรแกรมคุ้มครองพยาน จะต้องเป็นพยานในคดีอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เปิดช่องเอาไว้สำหรับบางคดีที่อัตราโทษต่ำกว่านี้ เนื่องจากแม้จะเป็นคดีเล็ก มีอัตราโทษต่ำ แต่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลหรือนักการเมืองท้องถิ่น ก็อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายได้
ปัจจุบันมีพยานอยู่ในโปรแกรมคุ้มครองพยานทั้งสิ้น 238 คน ส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีพยานอยู่ในโปรแกรม 42 คน
จะเห็นได้ว่า แม้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา จะมีคดีความมั่นคงเกิดขึ้นมากถึง 7,439 คดีในห้วงเกือบๆ 7 ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีพยานตัดสินใจเข้าสู่โปรแกรมการคุ้มครองพยานเพียง 42 คน ซึ่งสาเหตุก็มาจากปัญหาความเสี่ยงและความไม่ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้สำนักงานคุ้มครองพยานจึงสร้างความมั่นคงด้วยการเปิดศูนย์ประสานงานคุ้มครองพยานสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศคต.ขึ้น ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้น
ไพฑูรย์ บอกว่า ความมั่นใจที่จะมีให้พยาน นอกจากมาตรการปกติทั่วไป เช่น ย้ายที่อยู่ เปลี่ยนชื่อ-สกุล ฯลฯ ซึ่งจะเป็นเหมือนกันทั่วประเทศแล้ว สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ยังมีมาตรการพิเศษเกี่ยวกับคดีความมั่นคงเพื่อใช้ดูแลพยานด้วย ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายยังเขียนไว้ชัดว่าให้ดูแลพยานทั้งก่อน ขณะ และหลังการพิจารณาคดี ฉะนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าเมื่อให้การต่อศาลแล้ว เจ้าหน้าที่จะทอดทิ้ง เพราะสำนักงานคุ้มครองพยานจะดูแลจนกว่าความเสี่ยงของพยานหมดไปในทุกกรณี
"แต่ปัญหาของพยานจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ พยานที่ให้การต่อศาลแล้วหรือคดีสิ้นสุดแล้ว จะกลับลงไปใช้ชีวิตในพื้นที่ได้อีกหรือไม่ หลายๆ กรณีที่กลับไปไม่ได้ ก็ต้องหาที่อยู่ให้ใหม่ และหาอาชีพให้ด้วย โดยเข้าโปรแกรมตามมาตรการพิเศษเกี่ยวกับคดีความมั่นคง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการฝึกอาชีพ หาอาชีพ และได้รับเงินค่าตอบแทนมากขึ้น เพื่อนำไปตั้งต้นชีวิตใหม่"
"ที่ผ่านมามีพยานจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้บางคนไปแต่งงาน และเปิดร้านขายโทรศัพท์มือถือนอกพื้นที่สามจังหวัด โดยใช้เงินที่สะสมเอาไว้ในช่วงที่อยู่ในโปรแกรมคุ้มครองพยาน ซึ่งก็ทำให้พยานมั่นใจในความปลอดภัย และทุกอย่างก็จบลงด้วยดี"
ไพฑูรย์ บอกด้วยว่า การพิจารณาคดีของศาลที่ผ่านๆ มา จะให้น้ำหนักกับพยานที่ตัดสินใจเข้าโปรแกรมคุ้มครองพยานมาก เพราะเท่ากับได้ผ่านการพิจารณามาชั้นหนึ่งแล้วว่าเป็นพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์การกระทำความผิดจริงๆ และถูกข่มขู่คุกคาม หลายคดีพบว่าศาลลงโทษในอัตราสูงสุด ขณะที่คดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็พิพากษาประหารชีวิต
และนั่นจะเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งลดอัตราการยกฟ้องของคดีความมั่นคง!
---------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายชื่อ ศูนย์ประสานงานคุ้มครองพยานสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศคต. ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กับศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้