สภาฯรับหลักการ 4 ร่างพ.ร.บ.ปศุสัตว์ ฉบับปรับปรุง
ก.เกษตรฯเผย สภาฯรับหลักการร่างพ.ร.บ.ปศุสัตว์ 4 ฉบับ ชี้ปรับปรุงใหม่ยกระดับมาตรฐานปศุสัตว์ไทย
วันที่ 17 ต.ค. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนิกร จำนงที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงกฎหมายด้านปศุสัตว์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติด้านปศุสัตว์ที่กระทรวงเกษตรฯได้มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่จำนวน 4 ฉบับ สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการอย่างเป็นเอกฉันท์แล้วเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 และอยู่ในขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อแปรญัตติ ซึ่งร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ ดังกล่าว ได้แก่ 1. ร่างพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ............. 2.ร่างพระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ..... 3.ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ... และ 4. ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ....... เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการเร่งรัดดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรของประเทศให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบันที่มีการนำเรื่องมาตรฐานการผลิต ความปลอดภัยทางด้านอาหารมาเจรจาทางการค้ามากขึ้น
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่นั้น ได้แก่ 1. ร่างพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ..... ซึ่งมีหลักการเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 ซึ่งใช้บังคับมาเป็นเวลานาน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงบทบัญญัติบางส่วนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่เกิดกับสัตว์ และการทำงานของสัตวแพทย์ สารวัตร และพนักงานเจ้าหน้าที่ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
2. ร่างพระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ.....ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. 2533 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมสถานพยาบาลสัตว์ของราชการ องค์การของรัฐ สภากาชาดไทย และสถานพยาบาลสัตว์อื่น ให้มีมาตรฐานเดียวกันกับสถานพยาบาลสัตว์ของเอกชน โดยการแก้ไขกฎหมายให้รัฐมนตรีมีอำนาจหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับสถานพยาบาลสัตว์ กำหนดขั้นตอนในการขออนุญาตจัดตั้งสถานพยาบาลสัตว์ รวมทั้งปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
3. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ... ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายสัตว์ ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ.2535 ที่พบว่าบางประเด็นไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการฆ่าสัตว์ที่ยังขาดเอกภาพ ระบบการควบคุมและตรวจสอบสุขอนามัยในกระบวนการฆ่าสัตว์ยังไม่ได้มาตรฐานและไม่ครอบคลุมถึงกระบวนการขนส่งเนื้อสัตว์ ดังนั้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้มีเอกภาพ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาอนุญาตตั้งแต่ต้น และสร้างระบบการควบคุมตรวจสอบคุณภาพในกระบวนการฆ่าสัตว์ และการขนส่งเนื้อสัตว์ เพื่อการจำหน่ายให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น และเพื่อสร้างความปลอดภัยด้านอาหารอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขอนามัยจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้
และ4. ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ และจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งมีหลักการและเหตุผลเพื่อคุ้มครองสัตว์ มิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง โดยกำหนดให้กลุ่มองค์กรนิติบุคคลที่ทำงานด้านสัตว์ต้องขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรจัดการสวัสดิภาพสัตว์อย่างถูกต้อง และให้จัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ ในทุกภูมิภาคของประเทศ
ที่มาภาพ ::: http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK12/chapter5/t12-5-l1.htm