เทียบอัตราเบี้ยเลี้ยง-เงินเสี่ยงภัย "ตำรวจ-ทหาร-ขรก.ชายแดนใต้" พร้อมเกณฑ์คิดเงิน พ.ส.ร.
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ข้อเรียกร้องของกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้รัฐบาลดูแลสวัสดิการ เพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัย และปูนบำเหน็จให้ 7 ขั้นหากเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมถึงขอพิจารณารับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ หรือ พ.ส.ร. ซึ่งทั้งหมดคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการนั้น ทำให้มีคำถามถึงการดูแลสวัสดิการข้าราชการกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่
"ทีมข่าวอิศรา" ได้สำรวจอัตราเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย และเงินเพิ่มพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการและผู้ช่วยเจ้าพนักงานทุกกลุ่มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ดังนี้
1) ทหาร
- ยศ จ่าสิบตรี ถึง จ่าสิบเอก ได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 180 บาท ค่าเลี้ยงดูเพิ่มเติมอีกวันละ 6 บาท เบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท หักค่าอาหารวันละ 21 บาท
- ยศ จ่าพิเศษ ถึง พันเอก ได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 210 บาท ค่าเลี้ยงดูเพิ่มเติมวันละ 6 บาท เบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท หักค่าอาหารวันละ 31 บาท
- ยศ พันเอกพิเศษ ถึง นายพล ได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 240 บาท ค่าเลี้ยงดูเพิ่มเติมวันละ 6 บาท เบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท หักค่าอาหารวันละ 41 บาท
- สรุปเบี้ยเลี้ยงพิเศษที่ทหารแต่ละนายได้รับในแต่ละเดือน เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ยศจ่าสิบตรี ถึง จ่าสิบเอก ได้รับเดือนละ 5,400 บาท ยศ ร้อยตรี ถึง พันเอก ได้รับเดือนละ 6,300 บาท ทั้งนี้ยังไม่รวมเบี้ยเสี่ยงภัยที่จะได้รับทุกคนเท่ากันคือ 2,500 บาท
- เงิน พ.ส.ร. ผู้ที่มีสิทธิได้รับจะต้องบรรจุและปฏิบัติงานใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปีขึ้นไปจึงจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อพิจารณารับเงิน พ.ส.ร.
2) ตำรวจ
- ชั้นประทวน (ยศสิบตำรวจตรี ถึง ดาบตำรวจ) ได้เบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 1,500 บาท
- ชั้นสัญญาบัตร (ยศร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) ได้เบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท เบี้ยเลี้ยงเฉลี่ยเดือนละ 4,000 บาท
- ข้าราชการตำรวจบางตำแหน่ง จะมีค่าตำแหน่งอีกเดือนละ 3,000 บาท
- ทุกชั้นยศที่ปฏิบัติงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จะได้สิทธินับเวลาราชการทวีคูณ (ปฏิบัติราชการ 1 ปีคิดเป็น 2 ปี) ซึ่งจะส่งผลต่อขั้นเงินเดือน การขอขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ และลำดับอาวุโส
- มีสิทธิได้รับเงิน พ.ส.ร.
3) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
- ทุกระดับได้เงินเดือนตามอายุงาน และเบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท
4) ฝ่ายปกครอง
- ทุกระดับตั้งแต่ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท
- ข้าราชการฝ่ายปกครองบางตำแหน่งและบางคนที่สังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ หรือเงิน พ.ส.ร. ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบ บ.ท.ช. (อ่านรายละเอียดด้านล่าง) ส่วนใหญ่จะได้คนละ 600 บาทต่อเดือน
5) อาสารักษาดินแดน (อส.)
- เงินเดือน 4,000-8,040 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 3,500 บาท เบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท และเบี้ยเลี้ยงอีกไม่เกินเดือนละ 600 บาท
6) ฝ่ายปกครองระดับตำบลและหมู่บ้าน
- กำนัน ได้เงินเดือน 8,000 บาท (จะปรับเป็น 12,000 บาท เริ่มสิ้นเดือน ต.ค.2553)
- ผู้ใหญ่บ้าน ได้เงินเดือน 7,250 บาท (จะปรับเป็น 10,000 บาท เริ่มสิ้นเดือน ต.ค.2553)
- ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ได้เงินเดือน 6,250 บาท (จะปรับเป็น 8,000 บาท เริ่มสิ้นเดือน ต.ค.2553)
- ฝ่ายปกครองระดับตำบลและหมู่บ้าน ไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยเสี่ยงภัย
7) บุคลากรทางสาธารณสุข
- ระดับชำนาญการ เงินเดือน 22,000 บาทขึ้นไป เงินประจำตำแหน่ง 3,500 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 1,500 บาท และเบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 3,000 บาท
- ระดับชำนาญงาน เงินเดือน 18,000-19,000 บาท เบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 1,800 บาท
- ระดับปฏิบัติการ เงินเดือน 7,000–10,000 บาท เบี้ยเสียงภัยเดือนละ 900 บาท
สวัสดิการครูตามเกณฑ์ใหม่ที่ ครม.อนุมัติ
มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันอังคารที่ 14 ก.ย. ให้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยและสวัสดิการแก่ข้าราชการครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าพบและเสนอต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ก.ย. หลังจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบไปแล้วถึง 135 ราย กรณีล่าสุดคือเหตุการณ์ลอบยิง ครูวิลาศ และครูคมขำ เพชรพรหม สองสามีภรรยา เสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา
มติ ครม.มีสาระสำคัญดังนี้
1.กรณีที่ครูเสียชีวิต ให้เลื่อนตำแหน่งเป็นกรณีพิเศษ เช่น จากครู ค.ศ.1 (ครูและบุคลากรทางการศึกษา 1) เป็นครู ค.ศ.3 พร้อมทั้งเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษไม่น้อยกว่า 7 ขั้นเพื่อนำไปคำนวณเป็นบำเหน็จ
2.ทายาทของครูที่เสียชีวิตจะได้รับสิทธิพิเศษในการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครอบครัวละ 1 คน สำหรับกรณีที่เสียชีวิตทั้งบิดาและมารดา ให้ได้รับบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการทุกคน พร้อมทั้งให้หน่วยงานอื่นให้ความสำคัญกับการรับทายาทของครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นกรณีเร่งด่วนและให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษ สำหรับทายาทที่กำลังศึกษาอยู่ ให้ได้รับการศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีทุกคน
เพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยเป็น 3,000บาท-อนุมัติขอ พ.ส.ร.
3.สิทธิพิเศษ สวัสดิการ และสวัสดิภาพครู ครม.เห็นว่าควรเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำหลักเกณฑ์ ระเบียบกฎหมาย และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างรวดเร็ว รวมถึงกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการให้ความช่วยเหลือกระทรวงศึกษาธิการเป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งเร่งรัดให้ ศอ.บต. กระทรวงการคลัง และส่วนราชการร่วมกันพิจารณาบุคคลอื่นที่ยังไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษในพื้นที่เดือนละ 2,500 บาทโดยเร็ว
นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพิ่มเติมโดยมอบให้ ศอ.บต. กระทรวงการคลัง และส่วนราชการร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนจากเดือนละ 2,500 บาท เป็น 3,000 บาท สำหรับการเพิ่มเงินประกันชีวิตที่จะให้เป็น 1 ล้านบาท จากเดิมกรณีเสียชีวิตได้รับเงินจากรัฐบาล 500,000 บาท และเงินสวัสดิการจากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สก.สค.) จำนวน 500,000 บาทนั้น ครม.มอบให้กระทรวงการคลังและส่วนราชการพิจารณาหามาตรการเนินการต่อไป
4.กรณีความดีความชอบเพิ่มเติม 15% ให้ ศอ.บต.มอบสัดส่วนของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการ
5.การขอกู้เงินเพิ่มเติมค่าครองชีพอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 1% และการลดภาษีเงินได้ของครูและบุคลากรทางการศึกษา มอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการ
6.เงินพิเศษสำหรับการสู้รบ หรือ พ.ส.ร. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีระยะเวลาปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องมากกว่า 5 ปีมีสิทธิได้รับเงิน พ.ส.ร.ทุกคน ซึ่งจากการสำรวจที่ผ่านมามีครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ในพื้นที่ 68,737 คน แต่มีผู้ที่ได้รับเงิน พ.ส.ร.เพียง 13,669 คนเท่านั้น
ตั้ง"ศูนย์ประสานงานส่วนหน้า"รับมือปัญหาความไม่สงบ
7.มาตรการรักษาความปลอดภัย ให้กระทรวงศึกษาธิการ ศอ.บต กอ.รมน. และหน่วยงานทางการศึกษารวมถึงสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันกำหนดมาตรการเชิงรุกที่เป็นรูปธรรม ให้หน่วยงานความมั่นคงต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจน มีข้อมูลข่าวกรองแจ้งให้ครูและบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทราบเป็นรายงาน เพื่อร่วมป้องกันและแก้ปัญหา
นอกจากนี้ หน่วยงานความมั่นคงต้องดำเนินการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยดูแลความปลอดภัยทั้งจากชีวิตประจำวันและการปฏิบัติงาน ขณะที่มาตรการรักษาความปลอดภัย มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมหารือกับหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานทางการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เป็นรูปธรรม
8.มาตรการเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อครู มอบหมายให้มีการจัดตั้ง "ศูนย์ประสานงานส่วนหน้า" ที่มีคณะกรรมการดำเนินการในระดับพื้นที่ มีผู้ตรวจราชการจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน และมีผู้แทนจากองค์กรหลักและหน่วยงานทางการศึกษาเข้าร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อเข้าถึงปัญหาอย่างรวดเร็ว
รู้จัก "เงิน พ.ส.ร." และเกณฑ์การขอรับประโยชน์
จะเห็นว่าสวัสดิการที่รัฐบาลเพิ่มให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นกรณีพิเศษที่ชัดเจนที่สุดคือ เบี้ยเสี่ยงภัย จาก 2,500 บาท เป็น 3,000 บาท และเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ หรือ พ.ส.ร. แต่ทั้งนี้ยังต้องรอการเคาะตัวเลขจากกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าเงิน พ.ส.ร.คืออะไร "ทีมข่าวอิศรา" จึงค้นข้อมูลมานำเสนอ
"เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ" หรือ พ.ส.ร. หมายถึงบำเหน็จความชอบอีกประเภทหนึ่งที่พิจารณาให้กับผู้ที่ได้ทำการสู้รบ หรือต่อสู้ จนได้รับอันตราย หรือทำการสู้รบ หรือต่อสู้ได้ผลดี หรือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตรากตรำ เหน็ดเหนื่อย และได้ผลสมความมุ่งหมายของทางราชการเป็นอย่างดี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยบำเหน็จความชอบ ค่าทดแทน และช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือช่วยเหลือราชการเนื่องในการป้องกันอธิปไตยและ รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ พ.ศ.2521 เรียกย่อๆ ว่า “ระเบียบ บ.ท.ช.”
ผู้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับสู้รบ (พ.ส.ร.) ได้แก่ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำในส่วนราชการ องค์การของรัฐ กิจการของรัฐ หน่วยงานอื่นของรัฐ ผู้บังคับบัญชา สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และประชาชนซึ่งทางราชการได้แต่งตั้ง หรือมอบหมายในปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันอธิปไตยและรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ และตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการพิจารณาบำเหน็จพิเศษในเวลาเหตุฉุกเฉิน พ.ศ.2529 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภารกิจ และภารกิจนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
หลักเกณฑ์และแนวทางการเสนอขอรับ พ.ส.ร.ตามระเบียบ บ.ท.ช.มี 2 ประการ คือ กรณีตามพฤติกรรม และกรณีตามระยะเวลา สรุปได้ดังนี้ (เฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้)
- หลักเกณฑ์และคุณสมบัติกรณีตามพฤติกรรม
1.เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกำลังพลในโครงสร้างของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
2.เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เนื่องในการป้องกันอธิปไตยและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
3.เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ย่านอันตรายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส)
4.มีสิทธิได้รับการพิจารณา พ.ส.ร. ตั้งแต่ 1 ขั้น ถึง 4 ขั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของบุคคลแต่ละราย ตามระเบียบ บ.ท.ช. ข้อ 10.1-10.4
5.ไม่เป็นผู้ประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องต่อหน้าที่
- หลักเกณฑ์และคุณสมบัติกรณีตามระยะเวลา
1.เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกำลังพลในโครงสร้างของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
2.เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เนื่องในการป้องกันอธิปไตยและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
3.เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ย่านอันตรายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส)
4.ปฏิบัติงานต่อเนื่องติดต่อกัน 6 เดือนขึ้นไป
5.ไม่เป็นผู้ประพฤติเสื่อมเสียหรือข้อบกพร่องต่อหน้าที่
6.มีสิทธิได้รับการพิจารณา พ.ส.ร. 1 ขั้นในหนึ่งปีงบประมาณ
ปัจจุบันกำลังพลจากทุกหน่วย ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าทุกนาย ซึ่งรวมถึงข้าราชการในสังกัด ศอ.บต. หากปฏิบัติงานต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงิน พ.ส.ร. ทั้งนี้จะมีข้าราชการครูที่บรรจุในอัตรา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต.จำนวนหนึ่งด้วย
-------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- เปิด 7 ข้อเรียกร้องสวัสดิการครูใต้ ครม.รับหลักการเพิ่มเบี้ยเลี้ยง-ปูนบำเหน็จ 7 ขั้น แต่ยังหวั่นเงิน พ.ส.ร.
- ครม.ใต้สั่งยกเครื่องสวัสดิการครูทั้งระบบ-เพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัย จ่อหมายจับ 3 คนร้ายยิง"แม่พิมพ์ชาติ"