ชาวบ้าน 7 ภาคร้องร.ฟ.ท. แก้ปมไล่รื้อทำรถไฟรางคู่-เร็วสูง
ชุมชนแออัดร้องผลกระทบโครงการรถไฟรางคู่-ความเร็วสูง เฟสแรก บางซื่อ-ตลิ่งชันไล่รื้อแล้ว 8,087หลังคา หวั่นอีกหลายเส้นทางทั่วประเทศกำลังมา วอน ร.ฟ.ท. หาที่รองรับ ระบุค่าเช่าตร.ม. ละ 150 บ. แพงเกิน
วันที่ 17 ต.ค. 55 ที่สถานีรถไฟหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ทั้ง 7 ภาคกว่า 200 คน ร่วมเดินขบวนรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลก และยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อให้แก้ไขปัญหาการไล่รื้อที่อยู่อาศัยของคนจนในที่ดินรถไฟ ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งทางรางกับโครงการรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง พัฒนาจุดวางสินค้า และแผนพัฒนาย่านสถานีและที่ดินแปลงย่อยของร.ฟ.ท.
ซึ่งข้อเสนอมีดังนี้ 1.ให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของผู้เดือดร้อนในที่ดินการรถไฟ โดยมีโครงสร้าง คือ ผู้แทนจากสอช. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) นักวิชาการ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง 2.ร.ฟ.ท.ต้องจัดการที่ดินเพื่อรองรับผลกระทบในที่ดินเดิม หรือจัดหาที่ดินใหม่ให้กับผู้รับผลกระทบระยะไม่เกิน 2 กม. 3. รัฐบาลต้องจัดงบประมาณให้เพียงพอต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย พร้อมพัฒนาสาธารณูปโภคให้ผู้รับผลกระทบ และ4. กระทรวงคมนาคมต้องจัดประชุมร่วมกับสอช. เพื่อเปิดเผยแผนพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมีการเสวนา ‘เปลี่ยนเมืองสร้างโอกาส พัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินรถไฟ’ โดยนางอารีย์ พรหมทม ผู้เดือดร้อนจากสหกรณ์เคหะสถานกัลยาณมิตร จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ อนุมัติก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ของร.ฟ.ท. มีระยะทาง 15.2 กม. ทำให้เกิดการไล่รื้อชุมชนริมทางรถไฟกว่า 8,087 ครัวเรือน งบประมาณก่อสร้างกว่า 8.4 พันล้านบาท ซึ่งร.ฟ.ท. ได้ว่าจ้างให้กลุ่มบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนดคอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาและไล่รื้อชุมชนเมื่อปี 51 จนเกิดการต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรมกว่า 3 ปี ภายหลังชุมชนได้ขอแบ่งปันพื้นที่บางส่วน เพื่อขอเช่าและพัฒนาที่อยู่อาศัย กระทั่งร.ฟ.ท. ได้อนุมัติพื้นที่จำนวน 10,000 ตร.กม. รองรับผู้ได้รับผลกระทบ 240 ครัวเรือน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์เคหะสถานกัลยาณมิตร ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการถูกไล่รื้อ โดยก่อสร้างบ้านหลังละ 2.2 แสนบาท ขนาด 4*7 ม. บนที่ดินของรถไฟ ซึ่งจ่ายค่าเช่าครัวเรือนละ 8,000 บาท/ปี หรือตารางเมตรละ 150 บาท ถือว่าแพงมาก
“ตอนไล่รื้อช่วงแรกชาวบ้านไม่มีสิทธิเก็บของได้เลย เหมือนโจรปล้นบ้าน เก็บทันก็ทัน เก็บไม่ทันก็หมด หากไม่ได้โครงการบ้านมั่นคง ชาวบ้านคงไม่มีที่อยู่ แม้จะช่วยเหลือได้บ้าง แต่บางครัวเรือนก็ยังนอนเพิงพักซึ่งส่วนตัวคิดว่าการนำเรื่องเข้าสู่โต๊ะเจรจาเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด”
ผู้เดือดร้อนสหกรณ์เคหะสถานกัลยาณมิตร กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ร.ฟ.ท. รีบไล่รื้อชุมชน เพื่อก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายสีแดงนั้น เพราะโครงการดังกล่าวมีเม็ดเงินมหาศาลล่อใจอยู่ โดยยังไม่มีแผนรับมือกับผู้เดือดร้อน ส่วนกรณีการถูกครหาจากสังคมว่าพวกตนเป็นตัวถ่วงความเจริญนั้น อยากให้เข้าใจว่าคนจนอยากพัฒนาประเทศเหมือนกัน ไม่มีใครอยากขัดขวาง ขอเพียงเข้าใจและแบ่งปัน เพื่อให้คนจนมีที่ยืนในสังคม มีอาชีพที่มั่นคงและเข้าถึงบริการด้านต่าง ๆ ของรัฐ มิใช่มุ่งสนับสนุนแต่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อหวังรองรับการเข้าสู่ เออีซีอย่างเดียว โดยไม่เหลียวแลคนระดับล่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีเสวนาเกิดการถกเถียงกันในประเด็นการปกปิดข้อมูลแผนพัฒนาระบบรางของร.ฟ.ท. ว่าขาดช่องทางการสื่อสารระหว่างรัฐกับชาวบ้าน เนื่องจากไม่มีตัวแทนสอช. มีส่วนในคณะกรรมการชุดดังกล่าว อีกทั้งการทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาไม่มีตัวแทนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินรถไฟมีส่วนร่วมเลย ทำให้หลายภาคกังวลจะโดนไล่รื้อเหมือนเส้นรถไฟฟ้าสายสีแดง
ด้านนางทิพรัตน์ นพลดารมณ์ ผอ.พอช. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาใช้ที่ดินรถไฟที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายควรเปิดโต๊ะเจรจาร่วมกัน โดยแต่ละฝ่ายนำข้อเท็จจริงอภิปรายหาทางออก เพราะเชื่อว่าคนจนริมทางรถไฟไม่ปฏิเสธการพัฒนาโครงการดังกล่าว เพราะเป็นประโยชน์ส่วนรวม เพียงแต่ต้องมีการวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนเหล่านี้ไปพร้อมกันด้วย
ขณะที่นายอุดร ขันชลี รองผอ. ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท. ชี้แจงว่า ที่ดินการรถไฟเกิดจากการเวนคืนที่ดินของเอกชน เพื่อดำเนินกิจการขนส่ง รวมถึงจัดสรรไว้เพื่อเว้นระยะความปลอดภัย ฉะนั้นจึงไม่อนุญาตให้ผู้ใดอยู่อาศัย แต่กรณีที่หลายคนอ้างว่าได้อยู่อาศัยมานานนั้น ร.ฟ.ท.ได้อนุโลมให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราว แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่จึงต้องขอความร่วมมือย้ายครัวเรือน เพื่อพัฒนาประเทศ โดยภายหลังได้อนุมัติก่อสร้างรถไฟสายสีแดง นอกจากผู้ที่ยินยอมออกจากพื้นที่แล้ว ร.ฟ.ท.ยังจัดสรรพื้นที่ว่างบริเวณศาลาธรรมสพน์ เพื่อเป็นที่อยู่ใหม่ให้กับคนจนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย แต่มีบางครัวเรือนที่ไม่ยอมออกจากพื้นที่จนกลายเป็นปัญหา อย่างไรก็ตามยินยอมให้ตัวแทนสอช. พอช. และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินเกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม เพื่อจะได้รับทราบความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการต่อไป.
ที่มาภาพ : http://i170.photobucket.com