เปิดรายงานฝ่ายความมั่นคง (2) ประเมินแนวโน้มไฟใต้-เป้าหมายตอกลิ่มศาสนา-ระวังระเบิดพลีชีพ!
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
สถานการณ์ความรุนแรงแบบถี่ยิบและขยายวงกว้างตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะระยะหลังข่าวร้ายจากปลายขวานก็เริ่มจางๆ ไป ประกอบกับรัฐบาลประชาธิปัตย์และฝ่ายความมั่นคงพยายามบอกกับสาธารณชนอยู่เสมอว่าเหตุการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น สถิติเหตุรุนแรงลดลง และ...เราเดินมาถูกทางแล้ว!
อย่างไรก็ดี หากเรามองย้อนไปสู่ห้วงเวลาของการตั้งโจทย์ของฝ่ายความมั่นคงเอง ก็คือบทวิเคราะห์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ประเมินสถานการณ์ไฟใต้ในห้วงปี 2553 นี้ ก็จะพบคำตอบว่าแท้ที่จริงแล้วในสายตาของฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ได้คาดหมายว่าสภาพการณ์โดยรวมจะดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะแกนกลางของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข กลุ่มคนที่ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีก็ยังมีเหมือนเดิม (โดยที่เมื่อเกิดสถานการณ์จริงก็ไม่สามารถป้องกันอะไรได้) หนำซ้ำยังมีสิ่งบอกเหตุว่าจะมีความรุนแรงในมิติที่ซับซ้อนและหนักหน่วงยิ่งขึ้นอีกต่างหาก
“ทีมข่าวอิศรา” เปิดเอกสารลับของฝ่ายความมั่นคง เพื่อยืนยันว่าสถานการณ์ไฟใต้ที่ภาครัฐท่องเป็นแผ่นเสียงตกร่องว่าดีขึ้นนั้น ที่แท้เป็นแค่ “มายาคติ” เท่านั้น
มุ่งโจมตีครู-ผู้หญิง-เด็ก
เอกสารที่เป็นบทวิเคราะห์ของฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า ภาพรวมสถานการณ์การก่อเหตุความรุนแรงในห้วงเวลาต่อไป (ช่วงครึ่งหลังของปี 2553) คาดว่ารูปแบบการก่อเหตุยังคงเน้นให้เกิดความรุนแรง ความโหดเหี้ยม การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนและองค์กรต่างประเทศ
เป้าหมายหลักที่จะก่อเหตุจะเน้นให้เป็นเสรีการปฏิบัติของแต่ละเครือข่ายในการก่อเหตุตามโอกาส และความชำนาญโดยใช้ยุทธวิธีที่มีความเสี่ยงน้อยแต่มีผลสำเร็จสูง เลือกเป้าหมายสังหารผู้บริสุทธิ์ทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมที่ให้ความช่วยเหลือแก่ทางราชการหรือบุคคลที่ต่อต้านกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอย่างชัดเจน รวมทั้งเป้าหมายที่มีการระวังป้องกันตนเองต่ำ อาทิ ข้าราชการครู สตรี เด็กและเยาวชน ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นที่น่าสนใจของสื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้ปัญหาขึ้นสู่ระดับนานาชาติ
ระวังระเบิดลวง-ล็อคเป้าสาธารณูปโภค
ทั้งนี้ คาดว่าการก่อเหตุของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะเพิ่มการก่อเหตุต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ โดยมีการวางแผนเป็นอย่างดีและหลากหลายสลับซับซ้อนมากขึ้น หรือก่อเหตุขนาดเล็กแล้วลวงเจ้าหน้าที่ให้เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุแล้วโจมตีซ้ำ หรือจุดระเบิดขนาดใหญ่ก่อให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก
จะมีการลอบวางระเบิดและซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะประจำ ทั้งชุดลาดตระเวนคุ้มครองครู ชุดลาดตระเวนดูแลเส้นทาง และอื่นๆ รวมถึงการเข้าโจมตีต่อที่ตั้งหน่วยที่มีกำลังน้อยหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลเพื่อแย่งยึดอาวุธ กระสุน นำไปก่อเหตุต่อไป
การยิงโจมตีรถยนต์ประจำทาง รวมถึงรถไฟ การทำลายเสาไฟฟ้าแรงสูง และการวางระเบิด ณ สถานที่ราชการต่างๆ รวมทั้งการวางระเบิดในแหล่งเศรษฐกิจและการท่องเทียวในพื้นที่ ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน
ห่วงเวทีโลกจับจ้องปัญหาใต้มากขึ้น
เอกสารที่ตีตรา “ลับ” ของฝ่ายความมั่นคง ยังสรุปแนวโน้มสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้เป็นข้อๆ ว่า
1. กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะยังคงดำรงไว้ซึ่งการก่อเหตุรุนแรงต่อเป้าหมายสำคัญให้ปรากฏข่าวสารสู่สาธารณชน เพื่อให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
2. กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงดำรงความมุ่งหมายต่อสู้เพื่อการแบ่งแยกดินแดนในอนาคต ดังจะเห็นได้จากมีการต่อสู้ในเวทีระดับประเทศ ทั้งการพยายามนำเสนอปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระการประชุมขององค์การการประชุมอิสลาม หรือโอไอซี และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ
3. กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะใช้ “องค์กรจัดตั้ง” แสวงประโยชน์จากเงื่อนไขที่เกิดขึ้น โดยเรียกร้องกดดันรัฐบาลเปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงหรือยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือของบรรดาองค์กรต่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และสื่อมวลชน ตลอดจนองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งปัจจุบันองค์กรเหล่านี้สนใจปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานด้านความมั่นคง ทำให้การปฏิบัติงานแก้ไขปัญหามีความยุ่งยากและต้องมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
การข่าวแจ้งเตือน “ระเบิดพลีชีพ”
4. กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังดำรงการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐฯในทุกมิติและทุกวิถีทาง ทั้งการทหาร การเมือง และการต่างประเทศ อีกทั้งเปิดแนวรุกทางการเมืองเพื่อแย่งชิงมวลชนกลับคืน
นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้โดยการพัฒนารูปแบบการก่อเหตุ และนำเทคนิคจากต่างประเทศมาใช้ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความได้เปรียบ เพราะสามารถชิงจังหวะการนำและเป็นฝ่ายริเริ่มการปฏิบัติได้ก่อนเจ้าหน้าที่รัฐเสมอจากการติดตามสถานการณ์ด้านการข่าวมีสิ่งบอกเหตุและแนวโน้มที่จะนำ “ระเบิดพลีชีพ” เข้ามาใช้ในพื้นที่ด้วย
5. กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงใช้ “อัตลักษณ์ความเป็นมลายู” ชี้นำต่อประชาชน กลุ่มเป้าหมายเพื่อต่อต้านรัฐบาลไทย นั่นคือ ชาติ – มลายู, ศาสนา-อิสลาม, มาตุภูมิ-ปัตตานี และยังปลูกฝังอุดมการณ์แนวคิดในการต่อสู้ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง
6. กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงดำรงความพยายามที่จะใช้เงื่อนไขเหตุการณ์ที่กลุ่มคนร้ายใช้อาวุธสงครามบุกยิงราษฎรในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส (เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2552 มีผู้เสียชีวิต 10 ราย ล่าสุดตำรวจสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา) รวมทั้งประเด็นความไม่เป็นธรรมอื่นๆ ที่ผ่านมาเพื่อสร้างกระแสให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนไทยมุสลิม เพื่อนำไปสู่การรวมตัวต่อต้านของประชาชนเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ยกระดับปัญหาขึ้นสู่เวทีสากล จนอาจบานปลายนำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาได้ในที่สุด
ทั้งหมดนี้คือบทประเมินสถานการณ์ของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ณ ปัจจุบันแล้ว ต้องบอกว่าถูกต้องแม่นยำเกือบทั้งหมด แต่ปัญหาก็คือเมื่อรู้ลึก รู้ละเอียดเช่นนี้ เหตุใดจึงหยุดวงจรความรุนแรงไม่ได้เสียที...
นี่คือสิ่งที่รัฐต้องเร่งหาคำตอบ!
---------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- เปิดรายงานฝ่ายความมั่นคง (1) แฉเส้นทางลำเลียงยาเสพติดชายแดนใต้