เปิดสถิติ"ครู-นักเรียน-โรงเรียน"เหยื่อไฟใต้ กับบทวิเคราะห์ 4 ปัจจัยโหมความรุนแรง
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
คงไม่มีคำพูดใดที่จะอธิบายความรู้สึกอกสั่นขวัญหายของ "ครู" ที่ชายแดนใต้ในยามนี้ หลังจากคมกระสุนพรากชีวิต ครูวิลาศ เพชรพรหม กับ ครูคมขำ เพชรพรหม สองสามีภรรยาวัยล่วงเลย 50 ปีไปอย่างไม่มีวันกลับ จากการก่อเหตุรุนแรงเพียงครั้งเดียวที่ ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 7 ก.ย.2553 นับเป็นบุคลากรทางการศึกษารายที่ 134 และ 135 ที่ต้องสังเวยลมหายใจให้กับเปลวไฟความไม่สงบ
ความรุนแรงไม่ได้คุกคามเฉพาะ "ครู" ในฐานะตัวแทนรัฐไทย และเป็นเป้าหมายอ่อนแอแทบไม่มีทางสู้เท่านั้น แต่ยังมีนักเรียน และโรงเรียนที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ด้วย
จากการรวบรวมข้อมูลของสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 12 กระทรวงศึกษาธิการ รับผิดชอบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่นับจากปี 2547 เป็นต้นมา มีข้าราชการครูเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงไปแล้ว 108 ราย บาดเจ็บ 103 ราย บุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 19 ราย รวมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิตทั้งสิ้น 135 ราย บาดเจ็บ 122 ราย
ขณะที่นักเรียนเสียชีวิตจากเหตุรุนแรง 36 ราย บาดเจ็บ 158 ราย ทรัพย์สินของครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียหาย 56 เหตุการณ์
ทั้งนี้ หากนับเฉพาะปี 2553 มีข้าราชการครูเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ 14 ราย เป็นชาย 10 ราย หญิง 4 ราย ส่วนบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิต 2 ราย เป็นชายทั้ง 2 ราย
สถานศึกษาที่ถูกลอบวางเพลิงเผาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุปัน เกิดเหตุทั้งสิ้น 327 ครั้ง โดยในปี 2553 เกิดเหตุการณ์ลอบวางเพลิงสถานศึกษา 2 ครั้ง
4 เดือน 7 ศพ...ดั่งใบไม้ร่วง
ปี 2553 เป็นปีที่บุคลากรทางการศึกษาถูกลอบสังหารอย่างต่อเนื่อง กรณีล่าสุดก่อนการประกบยิงครูวิลาศกับครูคมขำ คือเมื่อวันที่ 26 ส.ค. คนร้ายใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 กราดยิง ส.ต.ท.ธงชัย บุตรนนท์ อายุ 30 ปี ครู ตชด. สอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนบ้านตืองอ หมู่ 3 ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส จนเสียชีวิต
วันที่ 17 ส.ค. เวลา 20.10 น. ที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี คนร้ายไม่ทราบจำนวนบุกเข้าไปในบ้านเลขที่ 41/42 หมู่ 3. ต.ปะนาเระ แล้วใช้อาวุธปืนจ่อยิง นายสัญชัย อัครพงษ์พันธ์ อายุ 57 ปี เจ้าของบ้าน และเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนอก อ.ปะนาเระ กระสุนเจาะเข้าที่ศีรษะและลำตัว เสียชีวิตคาชามข้าวต่อหน้าบุตรและภรรยา
วันที่ 21 ก.ค. เวลาประมาณ 17.30 น. คนร้ายประกบยิง นายพิชัย เสือแสง อายุ 55 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนดุซงปาแย อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เสียชีวิตคารถกระบะ ขณะกำลังขับรถออกจากโรงเรียนมุ่งหน้ากลับบ้าน เหตุเกิดบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ท้องที่หมู่ 3 บ้านจาแบปะ ต.ตอหลัง อ.ยะหริ่ง
วันที่ 3 มิ.ย. คนร้ายดักยิง ครูบุญนำ ยอดนุ้ย อายุ 41 ปี ครูโรงเรียนบ้านท่าคลอง อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์อยู่กับเพื่อนครูบนถนนสายโคกโพธิ์-เทพา
วันที่ 7 พ.ค. เกิดเหตุคนร้ายจำนวน 3 คน ขี่รถจักรยานยนต์ 2 คัน ใช้อาวุธปืนพกขนาด 11 ม.ม. ประกบยิง นายภาศ ลาภเจือจันทร์ อายุ 45 ปี ครูโรงเรียนบ้านกรือเซะ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เสียชีวิตขณะขับรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ สีเลือดหมู หมายเลขทะเบียน บกค 491 ยะลา มุ่งหน้ากลับบ้าน เหตุเกิดบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 ท้องที่ ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง
นับเฉพาะ 4 เดือนของภาคการศึกษาแรกประจำปี 2553 คือเดือน พ.ค.-ก.ย. มีครูถูกยิงเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 7 ราย เฉลี่ยมากกว่าเดือนละ 1 คน!
ย้อนรอยวิบากกรรมแม่พิมพ์ชาติ
เหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยเฉพาะภาคการศึกษานี้ ทั้งๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงยืนกรานว่าสถานการณ์โดยรวมดีขึ้น ทำให้สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ทนไม่ไหวอีกต่อไป ถึงขั้นไฟเขียวให้โรงเรียนในพื้นที่ จ.นราธิวาส ทั้งหมด 365 โรง หยุดการเรียนการสอนอย่างน้อย 3 วัน
สภาพการณ์ที่ปลายด้ามขวานเหมือนย้อนกลับไปช่วงปี 2549-2550 ที่เหตุร้ายรายวันพุ่งสูงถึงปีละกว่า 2,000 เหตุการณ์ โดยปี 2550 เป็นปีที่เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุด คือ 2,475 ครั้ง บุคลากรทางการศึกษาตกเป็นเหยื่อการประทุษร้ายถึงขั้นโรงเรียนในพื้นที่สีแดงหลายอำเภอต้องปิดการเรียนการสอนยาวนานนับเดือนมาแล้ว เพราะครูไม่กล้าไปสอน ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่กล้าส่งบุตรหลานไปโรงเรียน
หากยังจำกันได้ เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2549 คนร้าย 4 คนบุกยิง ครูประสาน มากชู อายุ 48 ปี ถึงหน้ากระดานดำในห้องเรียนโรงเรียนบ้านบือแรง ต.ลาโล๊ะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ต่อหน้าต่อตานักเรียนหลายสิบคน ทั้งๆ ที่มือของครูประสานยังถือชอล์คคาอยู่
ก่อนหน้านั้นเพียง 2 เดือนเศษ คือเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2549 เกิดเหตุกรุ้มรุมทำร้าย ครูจูหลิง ปงกันมูล ครูสาวของโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส จนเสียชีวิตอย่างหฤโหด
แม้ในปีถัดๆ มาสถิติเหตุร้ายรายวันเริ่มลดจำนวนลง แต่ "ครู" ก็ยังตกเป็นเป้าอย่างต่อเนื่องไม่มีลด...
ในปี 2552 ทั้งๆ ที่เป็นปีที่สถิติเหตุรุนแรงลดลงอย่างฮวบฮาบเหลือเพียง 1,347 ครั้ง แต่ก็ยังมีเหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิง ครูอัจฉราภรณ์ เทพษร ซึ่งกำลังตั้งท้องได้ 8 เดือน เสียชีวิตคารถปิคอัพขณะเดินทางไปหาสามีเพื่อพากันไปหาหมอตรวจครรภ์ เมื่อต้นเดือน มิ.ย.
นี่คือวิบากกรรมของครูที่ปลายขวาน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ครูน้อยหรือครูใหญ่ ครูอัตราจ้างหรือครู ตชด. หรือแม้แต่ครูสอนศาสนา ล้วนเคยตกเป็นเหยื่อสถานการณ์ความไม่สงบมาแล้วทั้งสิ้น
วันนี้สภาพเลวร้ายดังกล่าวกำลังจะย้อนกลับมาหลอกหลอนอีกหรือ?
วิเคราะห์ 4 ปัจจัยโหมไฟลุกโชน
หลายคนกำลังสงสัยว่า ทำไมเหตุร้ายรายวันจึงเกิดขึ้นถี่ยิบ และรุนแรงขยายวงอย่างยิ่งในห้วงนี้...
จากการรับฟังข้อมูลและข้อสังเกตของฝ่ายต่างๆ พอจะสรุปเหตุปัจจัยได้หลายประการ กล่าวคือ
1.ข้อสันนิษฐานของฝ่ายความมั่นคงหลายระดับที่รับผิดชอบอยู่ในพื้นที่ สรุปค่อนข้างตรงกันว่าเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างข่าวในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม ประเด็นนี้นับว่าน่าสนใจ เพราะแม้ฝ่ายความมั่นคงจะไม่ขยายความต่อ แต่ก็พออนุมานได้ว่าหมายถึงการกระทำของกลุ่มผู้ก่อการหรือแนวร่วมซึ่งได้รับการบ่มเพาะอุดมการณ์ต่อต้านรัฐและแบ่งแยกดินแดน โดยใช้การบิดเบือนหลักคำสอนทางศาสนาเป็นเครื่องมือ
แต่ประเด็นที่น่าคิดก็คือ ห้วงเดือนรอมฎอนของทุกปี คลื่นความรุนแรงมักพุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจนแทบจะเป็นกิจวัตร แต่รัฐกลับไม่สามารถป้องกันหรือระงับยับยั้งเหตุร้ายที่รัฐเองเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผู้ก่อการหรือแนวร่วมที่ได้รับการบ่มเพาะแนวคิดผิดๆ ได้เลย นักการทหารสายวิชาการอย่าง พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ อดีตโฆษกกระทรวงกลาโหม และที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "การผลิตซ้ำทางความคิด" ซึ่งหากข้อสังเกตนี้เป็นความจริง ก็ต้องถือว่ากระบวนการ "ถอนแกนความคิด" ที่ดำเนินการโดยฝ่ายรัฐตลอดหลายปีที่ผ่านมาเพื่อดึงเยาวชนกลุ่มเสี่ยงออกมาจากขบวนการ...ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง!
2.ข้อมูลจากรัฐบาล นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ระบุทำนองว่า สถิติเหตุรุนแรงที่สูงขึ้นในระยะหลังๆ ไม่ได้มาจากการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐหรือมีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนแต่เพียงอย่างเดียว ทว่ามีสาเหตุอื่นผสมปนเปเข้าไปด้วย
ข้อมูลนี้สอดรับกับความพยายามอธิบายสถานการณ์ของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ทั้งจากกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (พตท.) และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ที่ยืนยันว่าสถิติการก่อคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงลดจำนวนลง แต่เหตุร้ายรายวันที่เกิดขึ้นมาก มีทั้งเหตุล้างแค้นส่วนตัว ชู้สาว ขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่น และขัดผลประโยชน์เรื่องการค้าธุรกิจผิดกฎหมาย
แต่คำถามก็คือ หากข้อมูลนี้เป็นจริง ความรุนแรงที่เกิดจากสาเหตุอื่นจะเกิดขึ้นมากมายได้อย่างไรหากอำนาจรัฐไม่อ่อนแอ?
3.ห้วงเดือน ก.ย.ของทุกปี เป็นช่วงเวลาใกล้สิ้นปีงบประมาณ ซึ่งโดยปกติจะมีการสับเปลี่ยนกำลังครั้งใหญ่ในพื้นที่ รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ตำรวจ และข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูงด้วย ความเปลี่ยนแปลงในแง่ของกำลังพลและผู้คุมนโยบาย ย่อมเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิด "ช่องว่าง" ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จนกลายเป็น "ช่องโหว่" ให้ฝ่ายที่จ้องจะก่อเหตุรุนแรงอยู่แล้ว สามารถปฏิบัติการได้ง่ายขึ้น
ยิ่งปีนี้เป็นปีของการ "ผลัดใบ" ครั้งใหญ่ คือเปลี่ยนทั้งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) และอาจรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัด จึงอาจทำให้ "ช่องว่าง" ยิ่งถ่างกว้าง หนำซ้ำตำแหน่งสำคัญอย่างแม่ทัพภาคที่ 4 ก็เป็นปีที่มี "แคนดิเดต" มากถึง 3-4 คน เรียกว่ามากที่สุดตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา อีกทั้งข่าวคราวก็ค่อนข้างสับสนว่าเก้าอี้แม่ทัพจะตกเป็นของใคร โดยที่ไม่มีใคร "นอนมา" เหมือนปีก่อนๆ จึงเกิดภาวะ "นิ่งงัน" ในช่วงที่ยังไม่มีความแน่นอน ประเด็นนี้นายทหารระดับปฏิบัติในพื้นที่ก็ยอมรับเอง
กระแสการยอมรับหรือไม่ยอมรับผู้นำใหม่หรือผู้บังคับบัญชาคนใหม่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกับความต่อเนื่องของงานยุทธการเช่นกัน!
4.ข้อสังเกตว่าด้วยเรื่องงบประมาณ ประเด็นนี้มีคนพูดถึงกันไม่น้อย เพราะต้องไม่ลืมว่าร่างพระราชบัญญัติบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือร่าง พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับใหม่ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา
หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านทั้ง 2 สภา และมีผลบังคับใช้ งบประมาณก้อนใหญ่ว่าด้วยงานพัฒนาจะถูกโอนไปที่ ศอ.บต.ตามโครงสร้างใหม่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง ขณะที่ทหารโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ซึ่งเดิมเป็นหน่วยบังคับบัญชาของ ศอ.บต. และกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร หรือ พตท. กล่าวคือเคยคุมงบประมาณทั้งด้านยุทธการและงานพัฒนา ก็จะถูกลดบทบาทลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
ล่าสุดกำลังมีแนวคิดยุบตำแหน่ง ผบ.พตท.ที่ทำให้กองทัพภาคที่ 4 มีนายทหารยศ "พลโท" เพิ่มขึ้นอีก 1 คนด้วย โดยให้แม่ทัพภาคที่ 4 ควบเก้าอี้ ผบ.พตท.ไปเลย ไม่แยกเหมือนเมื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมาอีกแล้ว เพราะภารกิจลดและสายการบังคับบัญชาก็สั้นลง
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจมีผลต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มากก็น้อยด้วยเช่นกัน...
ส่วนจะมีผลอย่างไรคงต้องใส่คำตอบกันเอาเอง!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พิธีรดน้ำศพ ครูวิลาศ และครูคมขำ เพชรพรหม ที่วัดลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส เมื่อเย็นวันที่ 7 ก.ย.2553
ขอบคุณ : ภาพโดย จรูญ ทองนวล ศูนย์ภาพเนชั่น