หวั่นเปิดประตูอาเซียน แรงงานต่างด้าวทะลัก รพ.ไทยหนี้เพียบ วอนรัฐเร่งจัดการ
ถกปัญหาแรงงานต่างด้าว 3.6 ล้านคน ช่วยเพิ่มรายได้ไทยปีละ 6 หมื่นล้าน แต่ รพ.แบกหนี้อื้อบริการ วอนรัฐเร่งจัดระบบ หวั่นปัญหาโรคระบาดเข้าประเทศ สปส.เผยเข้าระบบประกันสังคมแล้วกว่า 2 แสนคน
วันที่ 16 ต.ค.55 ที่โรงแรมทีเคพาเลซ คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และเครือข่าย จัดประชุม "สุขภาพแรงงานข้ามชาติ ทางออกที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ" โดย นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติและกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจำนวนมาก ทั้งภาครัฐและเอกชนในระบบสาธารณสุขจำเป็นต้องเร่งทำความเข้าใจและระดมข้อเสนอเพื่อบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรค
"ต้องทำความเข้าใจจริงจังว่าต้องการกำลังคนในระบบสาธารณสุขจำนวนเท่าไรให้เพียงพอรองรับการให้บริการทั้งคนไทย แรงงานข้ามชาติ ผู้ย้ายถิ่น คาดว่าภายใน พ.ย.นี้จะได้ตัวเลขที่ชัดเจนขึ้นหลังได้หารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)" รองปลัด สธ.กล่าว
นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่าปัจจุบันกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยมีประมาณ 3.6 ล้านคน แบ่งเป็นบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เช่น คนกลุ่มน้อย ชาวเขา คนไร้รัฐ 513,792 คน ผู้อพยพลี้ภัยตามค่ายอพยพชายแดนไทย-พม่าอีกราว 137,815 คน ชาวต่างด้าว เข้าเมืองถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงานอีก 839,913 คน แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยอีก 886,507 คน แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตทำงานอีก 1,339,986 คน และกลุ่มคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งไม่มีตัวเลข อย่างไรก็ตาม องค์กรแรงงานระหว่างประเทศพบว่าคนเหล่านี้มีผลต่อการเพิ่มรายได้ของประเทศปีละ 60,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามปัญหาการเข้ารับบริการด้านสุขภาพก็มากขึ้นด้วย ซึ่งก่อให้เกิดภาระทางการเงินของโรงพยาบาลหลายแห่ง จนเกิดข้อถกเถียงกันว่าไม่เป็นธรรมกับสุขภาพคนไทย เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนในการจ่ายภาษีหรือร่วมจ่ายเงินสมทบเข้าระบบสุขภาพ แต่หากมองเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องบริหารจัดการกันเอง บ้างก็ใช้เงินกองทุนสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาล หรือบริหารจัดการร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ แต่สุดท้ายก็ยังมีภาระหนี้สิน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ต้องระวังคือ ปัญหาโรคภัยที่ตามมา หากไม่ดูแลอาจเกิดการระบาดมาไทยได้ ซึ่งจากข้อมูลโรงพยาบาลชายแดนต่างๆ ที่ผ่านมาพบว่าการเจ็บป่วยของแรงงานกลุ่มนี้ที่ใช้บริการสูงสุดมีโรคมาลาเรีย ปอดบวม ไข้รากสาด
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า ขณะนี้ระบบสาธารณสุขไทยมองเรื่องเงินมากเกินไป เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งประสบภาวะขาดทุนจากการดูแลรักษากลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มคนไร้สิทธิและสถานะทางสัญชาติ อยากให้มองกลุ่มคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพในฐานะที่พวกเขาเป็นมนุษย์ ซึ่งหากไม่ดูแลโรคระบาดอาจเข้ามาสู่ไทยได้
"รพ.อุ้มผางมีหนี้อยู่ปีละประมาณ 30 ล้านบาท ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วย ต้องบริหารจัดการกันเอง ขอรับบริจาคบ้าง ขอภาคเอกชนในเรื่องเครื่องมือแพทย์บ้าง ยิ่งใกล้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ยิ่งมีปัญหาแน่ๆ ภาครัฐต้องเตรียมรับมือตรงนี้ด้วย" ผอ.รพ.อุ้มผาง กล่าว
น.ส.ณหทัย จุลกะรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สมุทรสาคร กล่าวว่า แรงงานส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมาจาก จ.ตาก กาญจนบุรี และระนอง ซึ่งมาทำงานตามโรงงานต่างๆ เฉลี่ยมีประมาณแสนกว่าคน โดยแรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาสุขภาพมาก เพราะสุขลักษณะไม่ดีพอ ทำให้เกิดโรคต่างๆ พบมากสุดคือ อุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย วัณโรค ปัญหาคือผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ทำให้ รพ.มีหนี้ค้าง ซึ่งไม่รักษาก็ไม่ได้ เพราะเป็นเพื่อนมนุษย์ โดยปี 2551-2555 รพ.ต้องใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์รวมแล้วกว่า 39 ล้านบาท หากในอนาคตมีการเปิดการค้าเสรีจะต้องมีปัญหาเพิ่มแน่นอน เรื่องนี้จึงอยากให้ สธ.เตรียมพร้อมและเข้ามาช่วยเหลือ
ด้านนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่าแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติและได้รับใบอนุญาตในการทำงานแล้วจะเข้าสู่ระบบประกันสังคมและอยู่ในฐานะผู้ประกันตน โดยปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้ว 217,972 คน เป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า 103,799 คน ลาว 8,826 คน กัมพูชา 40,935 คน และแรงงานชาติอื่นๆ 64,412 คน แรงงานต่างด้าวที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมจะได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับผู้ประกันตนที่เป็นคนไทยทุกประการใน 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ว่างงาน และเสียชีวิต นอกจากนี้ เมื่อแรงงานต่างด้าวเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานสามารถใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนที่อยู่ในความดูแลของ สปส.เข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมได้ .