7 ปีคดีฆ่าเผาพระ-เด็กวัดพรหมประสิทธิ์...ศาลฎีกาจำคุกตลอดชีวิต5จำเลย
ย้อนกลับไปช่วงกลางดึกย่างเข้าสู่วันที่ 16 ต.ค.2548 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว หลายคนคงยังจำเหตุการณ์โหดเหี้ยมและสะเทือนความรู้สึกชาวพุทธทั่วทั้งประเทศได้เป็นอย่างดี เมื่อมีคนร้ายไม่ทราบจำนวนบุกเข้าไปในวัดพรหมประสิทธิ์ หมู่ 2 บ้านเกาะ ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ฆ่าและเผาพระและเด็กวัด รวมทั้งจุดไฟเผากุฏิ ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 3 ราย
เหยื่อความรุนแรงในครั้งนั้น คือ พระแก้ว โกสโร อายุ 78 ปี ถูกคนร้ายใช้ไม้ตีและใช้มีดพร้าฟันจนมรณภาพพร้อมจุดไฟเผาศพ นายหาญณรงค์ คำอ่อง อายุ 17 ปี และ นายสถาพร สุวรรณรัตน์ อายุ 15 ปี ซึ่งทั้งคู่เป็นเด็กวัด ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง ใช้มีดพร้าฟัน และใช้ไม้ตีจนเสียชีวิต จากนั้นนำศพไปไว้บนกุฏิ แล้วใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟเผาทำลายกุฏิ
นอกจากนั้นกลุ่มคนร้ายยังใช้ท่อนไม้ ก้อนหิน มีดพร้า และอาวุธปืน ทุบ ฟัน และยิงข้าวของภายในโบสถ์ รูปปั้นยักษ์เก่าแก่หน้าประตูโบสถ์ และรูปหล่อหลวงพ่อพรหมที่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์จนได้รับความเสียหาย
7 ปีล่วงมา...คดีอันน่าสลดนี้ได้เดินมาสุดทางแล้ว เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลย 5 คนที่ร่วมกันกระทำความผิด
ผู้คนในแวดวงกระบวนการยุติธรรม ยืนยันว่า นี่คือคดีความมั่นคงคดีแรกตลอดเกือบ 9 ปีไฟใต้ที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาและศาลสั่งลงโทษจำเลย ขณะที่คดีอื่นก่อนหน้านี้มีคดีที่ขึ้นสู่ศาลสูงอยู่เหมือนกัน แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง
ความเป็นมาของเหตุการณ์ ตลอดจนพยานหลักฐานของคดีที่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิด จึงนับว่าน่าสนใจไม่น้อย...
3 ศาล 7 ปีคดีวัดพรหมประสิทธิ์
ปลายเดือน ต.ค.2448 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งเพิ่งประกาศใช้ได้ไม่นาน ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในคดีทั้งสิ้น 16 ราย และส่งไปซักถามยังศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) อ.เมือง จ.ยะลา จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานประกอบสำนวนและส่งให้อัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ 11 ราย
ทั้งนี้ พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องแยกเป็น 3 สำนวน โดยสำนวนแรกเป็นโจทก์ยืนฟ้อง นายอัดนัน วาเต๊ะ นายอับดุลเลาะ สาเมาะ, นายมะโซเร เจะสะนิ หรือเจะสนิ, นายมูฮามัด หรือมูฮาหมัด ดือเระ, นายมะรอสะลี ตีมุง, นายซุกรี หรือสุกรี บิงมะ, นายอับดุลเลาะ หรือเลาะ อาแว, นายตอเฮ หรือมะตอเฮ สาเระ และนายเพ็ญดี หรือดี แบวา เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดเกี่ยวกับศาสนา ทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 120/2549 และคดีหมายเลขแดงที่ 256/2551
สำนวนที่ 2 พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายมะหามะ แบฮะ เป็นจำเลยที่ 10 ในความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดเกี่ยวกับศาสนา ทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เป็นคดีหมายเลขดำ 705/2549 และคดีหมายเลขแดงที่ 257/2551
สำนวนที่ 3 พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีเป็นโจทก์ยืนฟ้อง นายอับดุลฮาเล็ง สาเระ เป็นจำเลยที่ 11 ในความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดเกี่ยวกับศาสนา ทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เป็นคดีหมายเลขดำ 1176/2549 และคดีหมายเลขแดงที่ 258/2551
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2551 ศาลจังหวัดปัตตานี (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 2, 3, 4 และ 9 ประกอบด้วย นายอัดนัน วาเต๊ะ, นายอับดุลเลาะ สาเมาะ, นายมะโซเร เจะสะนิ หรือเจะสนิ, นายมูฮามัด หรือมูฮาหมัด ดือเระ และนายเพ็ญดี หรือดี แบวา มีความผิดจริงตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
ส่วนจำเลยที่ 5, 6, 7, 8, 10 และ 11 ประกอบด้วย นายมะรอสะลี ตีมุง, นายซุกรี หรือสุกรี บิงมะ, นายอับดุลเลาะ หรือเลาะ อาแว, นายตอเฮ หรือมะตอเฮ สาเระ, นายมะหามะ แบฮะ และนายอับดุลฮาเล็ง สาเระ พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่ชัดเจน เป็นเพียงคำซัดทอดของจำเลยบางคนว่าร่วมกระทำผิดด้วย โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานชี้ชัดว่าจำเลยทั้ง 6 คนร่วมก่อเหตุ และตั้งแต่ในชั้นสืบสวนจำเลยทั้ง 6 คนให้การปฏิเสธมาตลอด
หลักฐานนิติวิทย์มัดแน่น
คดีนี้ทางฝ่ายโจทก์มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย สืบเนื่องมาจาก พระมหาอนุชา อนุชาโต เจ้าอาวาสวัดพรหมประสิทธิ์ และ นายเจริญ ประทุมเทศ ซึ่งในคืนเกิดเหตุได้บวชเป็นพระอยู่ที่วัด เป็นประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ในคืนที่เกิดเหตุ จำหน้าตาและชี้ตัวยืนยันจำเลยที่ 1, 2, 3, 4 และ 9 ได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงคำรับสารภาพของจำเลยทั้ง 5 ที่ได้สารภาพในชั้นควบคุมตัวระหว่างที่ถูกซักถามที่ ศปก.ตร.ส่วนหน้า จ.ยะลา โดยยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ จนพนักงานสอบสวนนำเอาผลการสารภาพเข้าสู่สำนวน และไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ
ส่วนพยานวัตถุนั้น ระหว่างทำแผนประกอบคำรับสารภาพ จำเลยได้รับสารภาพว่าได้ตัดต้นไม้ คือต้นปาล์มบังสูรย์จากท้ายวัด เอามาขดกับเศษผ้าเพื่อวางเพลิงเผาวัดและเป็นอาวุธทำร้ายพระกับเด็กวัด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ซักถามและพนักงานสอบสวนได้รับคำแนะนำจาก แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้พาไปนำชี้ต้นปาล์มบังสูรย์ เพื่อนำชิ้นส่วนของต้นปาล์มไปตรวจเปรียบเทียบกับท่อนไม้ต้นปาล์มบังสูรย์ที่จำเลยขว้างไปอยู่บนหลังคาวัด ตลอดจนมีดพร้าที่ใช้ในการก่อเหตุ และเสื้อผ้าที่จำเลยใส่ขณะก่อเหตุ โดยใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ความละเอียดสูง ปรากฏว่ารอยต่อต้นปาล์ม (ที่ถูกตัด) ตรงกันพอดี ถือเป็นพยานวัตถุที่ตรงกับคำรับสารภาพในชั้นศาลและชั้นสอบสวน ทำให้คดีมีทั้งพยานบุคคลและพยานวัตถุครบถ้วนสมบูรณ์ตามข้อเท็จจริง
อีกทั้งในช่วงที่จำเลยถูกควบคุมตัวระหว่างซักถาม ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ซักถามได้ถ่ายวีดีโอและภาพนิ่งเอาไว้ โดยเฉพาะท่าการฝึกเป็นอาร์เคเคที่สมบูรณ์แบบ ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการฝึกที่ทะมัดทะแมง ใช้เวลานานนับปี เจ้าหน้าที่ซักถามไม่สามารถชี้นำหรือฝึกหัดให้ในระยะเวลาอันสั้นได้ ดังนั้นข้อต่อสู้ของทนายจำเลยที่อ้างว่าจำเลยถูกข่มขู่ทำร้าย บังคับ จึงไม่น่าเชื่อถือ เพราะมีจำเลยเองเบิกความว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์ซักถามไม่ได้ทำร้ายร่างกายร่างกายตามที่ทนายต่อสู้แต่อย่างใด
ไม่มีซ้อมทรมาน-ปรักปรำ-กดดัน
นอกจากนั้น ฝ่ายโจทก์ยังมีพยานหลักฐานประกอบจากกรณีที่ นายมะโซเร เจะสะนิ จำเลยที่ 3 ออกมาแถลงข่าวรับสารภาพต่อหน้าสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2548 ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าหากไม่ได้กระทำผิดจริง คงไม่สามารถเล่าเรื่องราวได้เป็นขั้นเป็นตอน จึงเป็นการยากที่เจ้าหน้าที่ซักถามและพนักงานสอบสวนจะแต่งเรื่องราวขึ้นมาเพื่อปรักปรำจำเลย
อีกทั้งรายละเอียดในรายงานผลการซักถามและสำนวนการสอบสวนมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน หมายถึงเจ้าหน้าที่บันทึกไปตามคำบอกเล่า จึงถือว่าไม่ได้บังคับขู่เข็ญ น่าจะเกิดจากความสำนึกผิด และยืนยันว่าระหว่างถูกควบคุมตัวระหว่างซักถามที่ ศปก.ตร.ส่วนหน้า ไม่ได้ถูกใส่กุญแจมือ ญาติเยี่ยมได้ทุกวัน ไม่ได้เกิดจากแรงกดดันใดๆ จากเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย
ส่วนกรณีที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้โดยอ้างถิ่นที่อยู่ในวันเกิดเหตุ เช่น อยู่บ้าน อยู่โรงเรียน หรือตลาดนั้น ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุน แตกต่างจากพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์
ศาลอุทธรณ์-ฎีกาพิพากษายืน!
ต่อมาวันที่ 20 เม.ย.2552 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1479/2551 และคดีหมายเลขแดงที่ 860/2552 โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลย 5 คนที่มีประจักษ์พยานชี้ชัดยืนยัน และไม่ให้น้ำหนักคำซัดทอดของจำเลยด้วยกัน จำเลยทั้ง 5 ยื่นฎีกา
ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 10899/2554 สรุปว่า จากที่จำเลยที่ 1, 2, 3, 4 และ 9 ได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นฎีกาที่มิชอบ เพราะคัดลอกข้อเท็จจริงมาจากมาจากคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ส่งผลให้คดีถึงที่สุด
หลังศาลฎีกามีคำพิพากษา ได้ออกหมายจำคุกจำเลยทั้ง 5 ราย คือ นายอัดนัน วาเต๊ะ, นายอับดุลเลาะ สาเมาะ, นายมะโซเร เจะสะนิ หรือเจะสนิ, นายมูฮามัด หรือมูฮาหมัด ดือเระ และนายเพ็ญดี หรือดี แบวา พร้อมส่งตัวเข้าเรือนจำเพื่อรับโทษตามคำพิพากษา
ใช้หลักเมตตาธรรมควบคู่ยุติธรรม
แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมและมีส่วนร่วมในการทำคดีนี้ กล่าวว่า การเบิกความแต่ละประเด็น มีการสืบพยานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและรัดกุม โดยเน้นและชี้ให้ศาลเห็นว่าพยานเอกสาร พยานบุคคล และพยานวัตถุสอดคล้องต้องกันทั้งหมด แม้ว่าทนายจำเลยจะใช้สิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ที่มีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1, 2, 3, 4 และ 9 กระทำความผิดจริง
อย่างไรก็ดี ศาลสถิตย์ยุติธรรมมีความเมตตาและดำรงความยุติธรรม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ถือเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษ พิพากษาลดโทษให้ 1ใน 3 ในแต่ละข้อหา รวมจำคุกตลอดชีวิต แม้ว่าฐานความผิดจะถึงขั้นประหารชีวิตก็ตาม
นับเป็นคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้คดีแรกที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษจำเลย ตลอดสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 9 ปี และเป็นคดีตัวอย่างของการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างเป็นระบบของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย โดยเฉพาะการใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันการกระทำของจำเลย
และยืนยันว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สภาพความเสียหายของกุฏิที่ถูกเผา (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา)