"ทนายมุสลิม-องค์กรสิทธิ์"ช็อคสั่งไม่ฟ้อง"สุทธิรักษ์" ถาม...แล้วใครฆ่าที่ไอร์ปาแย?
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
การลงความเห็นของคณะพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ที่สรุปสำนวนและ “สั่งไม่ฟ้อง” นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ ผู้ต้องหาในคดีใช้อาวุธสงครามกราดยิงพี่น้องชาวไทยมุสลิมเสียชีวิต 10 ศพและบาดเจ็บอีก 12 คนที่มัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส นั้น ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับกลุ่มทนายความมุสลิม และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้ติดตามความเคลื่อนไหวของคดีนี้อย่างใกล้ชิดมาตลอด
ทนายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า การที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ซึ่งทางศูนย์ทนายความมุสลิมไม่สามารถล่วงรู้ได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ แม้การสรุปสำนวนเช่นนี้จะแสดงให้เห็นว่าพยานหลักฐานจากการสืบสวนสอบสวนตลอด 1 ปี 2 เดือนที่ผ่านมาไม่เพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคดีก็ตาม
“แต่คดีนี้เป็นคดีใหญ่มาก ถูกเฝ้าจับตาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นเรื่องที่กระทบความรู้สึก ฉะนั้นอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าคดีจบแล้ว เพราะพนักงานสอบสวนต้องส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง”
อย่างไรก็ดี ทนายสิทธิพงษ์ ซึ่งเกาะติดคดีนี้มาตั้งแต่ต้น ตั้งข้อสงสัยว่า การที่ศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหา แสดงว่าตำรวจต้องมีพยานหลักฐานตามสมควรที่นำไปเสนอต่อศาล จึงสามารถออกหมายจับได้ ดังนั้นพนักงานสอบสวนก็น่าจะขยายผลจากพยานหลักฐานตรงนั้น และนำไปสู่พยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักมากกว่าเดิม แต่สุดท้ายกลับสั่งไม่ฟ้อง จึงรู้สึกแปลกใจ และคิดว่าข้อเท็จจริงแย้งกันอยู่พอสมควร
ทนายสิทธิพงษ์ ยังเห็นว่า คดีนี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว แต่ความคืบหน้าของคดียังไปไม่ถึงไหน แสดงถึงการขาดความเป็นมืออาชีพของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกันยังมีประเด็นน่าพิจารณาว่า เมื่อพี่น้องมุสลิมตกเป็นผู้ต้องหา คดีกลับดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่กับคดีกราดยิงมัสยิดกลับตรงกันข้าม ตรงนี้อาจมีการมองว่าเจ้าหน้าที่ทำงานสองมาตรฐานได้เหมือนกัน
“ในความเป็นนักกฎหมาย เราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าเจ้าพนักงานสั่งไม่ฟ้องด้วยเหตุผลอะไร แต่การดำเนินคดีต้องบอกว่ามีความล่าช้าอย่างมาก ทั้งๆ ที่เป็นคดีสำคัญและส่งผลทางความรู้สึกมากกว่าคดีอื่นๆ“
“สิ่งที่ผมอยากให้ช่วยกันติดตามหลังจากนี้ก็คือ เรื่องการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงซึ่งอาจเกิดขึ้นตามมา ขอให้ดูตัวอย่างกรณีของ นายสุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ที่พบเป็นศพผูกคอเสียชีวิตอยู่ในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศูนย์ซักถาม ตั้งอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ก็มีความรุนแรงตามมาหลายจุด ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกัน ฉะนั้นกรณีของคดีกราดยิงมัสยิดก็ต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะส่งผลสะเทือนยิ่งกว่า เนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์มากกว่า” ทนายสิทธิพงษ์ ระบุ
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า รู้สึกช็อคเมื่อได้ทราบข่าวตำรวจสั่งไม่ฟ้องคดีไอร์ปาแย และน่าคิดว่าภาครัฐจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะเป็นคดีสะเทือนขวัญที่ส่งผลทางความรู้สึกต่อพี่น้องมุสลิมอย่างกว้างขวาง ทั้งในพื้นที่สามจังหวัด ในประเทศไทย และทั่วโลก
“เมื่อตำรวจสั่งไม่ฟ้อง ก็แสดงว่านายสุทธิรักษ์ไม่ได้เป็นคนกระทำผิด คำถามก็คือแล้วใครที่เป็นคนก่อเหตุอุกอาจเช่นนี้ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมต้องร่วมกันค้นหาคำตอบต่อไป ไม่ใช่หยุดแค่มีคำสั่งไม่ฟ้องเท่านั้น” นางอังคณา กล่าว และว่า ประเด็นนี้จะก่อความยุ่งยากกับรัฐบาลไทยในการชี้แจงทำความเข้าใจต่อโลกมุสลิม โดยเฉพาะในเวทีองค์การการประชุมชาติอิสลาม หรือ โอไอซี อย่างแน่นอน
ด้านความเคลื่อนไหวของฝ่ายความมั่นคง ก็แสดงความวิตกกับผลของคดีเช่นกัน โดยเมื่อเช้าวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (ผบ.พตท.) ได้เรียกประชุมหน่วยกำลังในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหารือถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากคดีไอร์ปาแย โดยมีการคาดการณ์ว่าอาจมีการฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตามมา จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยเพิ่มมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญ และเป้าหมายอ่อนไหวต่างๆ อย่างเข้มงวด
แหล่งข่าวระดับสูงจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.สน.) กล่าวถึงข้อวิจารณ์ของฝ่ายต่างๆ ในประเด็น “สองมาตรฐาน” กรณีการดำเนินคดีไอร์ปาแย ซึ่งผู้ต้องหาชาวไทยพุทธได้รับการประกันตัว ขณะที่คดีความมั่นคงอื่นๆ ผู้ต้องหาที่เป็นชาวไทยมุสลิมกลับไม่ได้รับการประกันตัว ว่า ไม่ใช่เรื่องสองมาตรฐาน เพราะเงื่อนไขของการให้ประกันหรือไม่ให้ประกันมีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เช่น การยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เป็นต้น ที่สำคัญการให้ประกันตัวเป็นอำนาจของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ไม่เกี่ยวกับฝ่ายความมั่นคง