เสียงชาวนาวอน รับฟังกันบ้าง! หยุดโยง 'จำนำข้าว' กับการเมือง
หากกล่าวถึงนโยบายจำนำข้าวในเวลานี้ จับทิศทางลมแล้ว ไม่ว่าจะมีนักวิชาการหรือภาคการเมืองฝั่งฝากไหนส่งเสียงเตือน หรือร้องขอให้ทบทวนก็คงไม่เป็นผล มิหนำซ้ำยังถูกลากเข้าไปโยง 'เรื่องการเมือง' จนได้
ยิ่งโดยเฉพาะล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังประจำปี 2555 เป็นกรณีพิเศษ จำนวน 1.39 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)
เมื่อรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าต่อ เสียงจากคนในแวดวงการข้าว เห็นอย่างไร และอยากให้ปรับปรุงเรื่องใดบ้าง เพื่อให้ประโยชน์ 'ถึงมือ' ชาวนาที่ตรงกลุ่ม และไม่ทำให้ประเทศไทยมีหนี้สินล้นพ้นตัว...
คนแรก "วิชัย ศรีประเสริฐ" นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าว บอกว่า ตามปกติแล้ว ใน 1 ปี ประเทศไทยจะมีข้าวประมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งเป็นข้าวที่เกษตรปลูกเหลือใช้ เพื่อระบายออกต่างประเทศ โดยจะใช้กลไกรัฐ หรือกลไกตลาดระบาย ฉะนั้น การตั้ง 'ราคา' จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อระบายข้าว ในราคาที่ดีที่สุด แต่หากตั้งราคาไม่ถูกต้องก็ย่อมมีปัญหาแก่การระบาย
"ครั้งนี้รัฐบาลตั้งราคาโดยนึกถึงหัวใจเกษตรกรก็จริง แต่ไม่คำนึงถึงการระบายและผู้ซื้อเลย"
การจะตั้งราคาให้สูง เขาย้ำชัดว่า ต้องดูด้วยว่า สูงเท่าไหร่ถึงจะขายได้อย่างยั่งยืน ไม่อย่างนั้นข้าวก็จะค้างสต็อก อยู่ในคลังของรัฐบาลเช่นนี้ต่อไป โดยเฉพาะข้าวหอม ยิ่งเก็บไว้นานราคาก็จะเสื่อม คุณภาพเสีย อุตสาหกรรมข้าวที่เคยต้องระบายปีละ 10 ล้านตันมาตลอด หากสะดุดไปทุกอย่างก็จะพัง เพราะชาวนามีแต่จะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อสนองนโยบาย
ผู้คร่ำหวอดในวงการส่งออกข้าว บอกด้วยว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของนโยบายจำนำข้าว เป็นเรื่องจริงที่ชาวนาได้ประโยชน์ ไม่เดือดร้อน ก็เพราะได้เงินสูงและได้แน่นอน แต่ชาวนาก็ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลก็มีข้อจำกัดเรื่องเงินและ คลังเก็บสินค้าเช่นกัน
ขณะนี้ชาวนาอาจยังมองไม่เห็นว่า 'พิษ' ของนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดนี้อยู่ตรงไหน
แต่สำหรับพ่อค้าแล้ว พวกเขารู้ดีว่า ขณะนี้ขายข้าวไม่ได้ โกดังล้น และข้าวเสื่อมคุณภาพ เท่ากับว่าเราไป 'กางร่ม' ให้ประเทศอื่นๆ ได้ประโยชน์
สุดท้ายคำถามอยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างนี้ต่อไปได้อีกนานเท่าไหร่...?
เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้จะตั้งราคารับจำนำไว้สูง และชาวนาจะขายข้าวได้ราคาดีกว่าที่เคยได้ แต่ท้ายที่สุด ชาวนาก็ยังไม่รวย เพราะต้นทุนก็สูงขึ้นตามไปด้วย ยิ่งตั้งราคาสูง ยอดส่งออกก็จะหด ชาวนาจะยิ่งจนมากขึ้น โดยเฉพาะชาวนาที่ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง
"การตั้งราคาควรอิงตามกลไกตลาด ปรับเพิ่มลดได้ตามสถานการณ์โลกที่ไม่นิ่ง แต่รัฐบาลกลับตั้งราคาเองและเป็นราคาเดียว แล้วคิดไปเองว่า ทั่วโลกจะตาม ตอนนี้ผ่านมา 12 เดือน ก็ชี้ชัดแล้วว่า ไม่มีใครตาม การตั้งราคาสูงจึงส่งผลเพียงให้ประเทศได้เงินน้อยลง เพราะยอดส่งออกหดตัวเท่านั้น"
เมื่อเป็นเช่นนี้ ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าว เขาเน้นย้ำว่า เกษตรกรควรมองเห็นปัญหาได้แล้ว แม้เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากขายข้าวได้ราคาดี แต่รัฐบาลคงรับซื้อในราคานี้ไปไม่ได้ตลอด
คำถามคือ แล้วความยั่งยืนของภาคเกษตรจะอยู่ตรงไหน
"เรื่องพวกนี้พ่อค้าก็พูดไม่เก่งนัก พอออกมาพูด แนะนำหรือชี้ให้เห็นปัญหาก็ถูกมองว่า เป็นผู้คัดค้านหรือขัดผลประโยชน์แล้วออกมาเรียกร้อง และหากไม่มีการปรับปรุงนโยบาย คนที่จนจริงๆ คงไม่ได้อานิสงค์ และประเทศจะเสียหายร้ายแรงกว่าประสบปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ"
ก่อนจะทิ้งท้ายเอาไว้ว่า 1 ปีที่ผ่านมานโยบายยังไม่เห็นผล และรัฐบาลจะขอพิสูจน์ต่ออีก 2-3 ปี เราคนไทยต้องถามว่า รัฐบาลจะเอาข้าวไปไว้ที่ไหน หรือจะปล่อยทิ้งให้เน่า...!?!
'จำนำข้าว' ทำมาหลายครั้ง ไม่เห็นชาวนามีกิน 'ยั่งยืน' เสียที
เรื่องราคารับจำนำ แม้ว่าชาวนาจำนวนหนึ่งพอใจ ไม่ได้ปฏิเสธโครงการ แต่คงไม่ใช่ทุกคน บางคนมองอีกแบบหนึ่ง ว่าเป็นการทำลายอนาคตข้าวไทยในอนาคต กลัวว่าสักวันจะถึงทางตัน ต้องใช้งบประมาณประเทศชาติจำนวนมาก หนึ่งในคนที่คิดเช่นนี้ คือ "ประสิทธิ์ บุญเฉย" นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย พร้อมกับมองเห็นอนาคตข้างหน้าว่า จะต้องมีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
"ขณะนี้จังหวัดอยุธยาและชัยนาท ไม่ได้รับเงินจากการรับจำนำ ทั้งที่ได้รับใบประทวนแล้ว ในอำเภอเล็กๆ ก็ต้องใช้เงินกว่า 200 ล้านบาทแล้ว โดยที่ ธกส.ในพื้นที่ไม่สามารถให้คำตอบได้"
ตัวแทนจากชาวนาไทย บอกว่า นโยบายจำนำข้าวทำมาหลายครั้ง ก็ไม่เห็นว่า ชาวนาจะรวยหรือมีกินอย่าง 'ยั่งยืน' เสียที เป็นการใช้เงินแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาโดยตลอด หากรัฐบาลยืนยันว่าจะดำเนินการต่อก็ได้ แต่แนวนโยบายที่พัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืนก็ต้องมีด้วย เช่น งานวิจัยเพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพข้าวและพันธุ์ข้าว ส่วนนี้ก็ค่อนข้างเห็นได้ชัดว่า 'ไม่สอดรับ' กับนโยบายจำนำข้าว ที่เร่งให้ชาวนาวปลูกข้าวเร็ว ได้ผลผลิตมาก ไม่แบ่งแยกชนิดข้าวและคุณภาพข้าว
เขาเชื่อแน่ว่า หากจะ 'หยุดรับจำนำ' คงไม่ได้แล้ว แต่สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ คือ ปรับปรุงนโยบาย ทั้งลดต้นทุน จัดโซนนิ่ง ให้ราคาตามเกรดคุณภาพข้าว ชาวนาจะได้รู้จักการแบ่งเกรดและผลิตข้าวให้มีคุณภาพ
"อยากให้รัฐมองไกลๆ อย่ามองแค่ว่าให้ 15,000 บาทแล้วชาวนารวยขึ้นและอยู่ได้"
หากไม่ระบายข้าวออกจากสต็อก ห่วงชาวนาล้ม
ฟากชาวนาตัวจริงเสียงจริง นางประทิน นกอยู่ ซึ่งยึดอาชีพนี้มากว่า 50 ปี บนที่นากว่า 80 ไร่ ในเขตคลองสามวา เธอแสดงความเห็นไม่แตกต่างจากเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่นๆ ที่เห็นดีด้วยกับการรับจำนำข้าว เพราะได้ราคาสูง ทำให้ยังพอมีกำไรเหลือบ้าง จากเดิมขายข้าวได้ราคาต่ำ ทำมากี่ปีต่อกี่ปี บอกได้คำเดียว ขาดทุน
"ชาวนาจะได้ประโยชน์จากการรับจำนำข้าวก็ต่อเมื่อ 'ทำนาเอง' และจ้างแรงงานให้น้อยที่สุดหรือไม่จ้างเลย เพื่อลดต้นทุนที่สูงขึ้นกว่าเท่าตัว" ประทิน แสดงความเห็น และอยากให้ยืนพื้นไว้ที่ราคานี้ไปตลอด เพราะหากปรับลง รับรองชาวนาเดือดร้อนแน่นอน !!
ฝั่งนายจำลอง แก้วกระจ่าง ชาวนาเขตเดียวกัน แต่เช่านาทำ 50 ไร่ ก็เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำ แต่ในส่วนกลไกการส่งออกเป็นเรื่องที่ชาวนาไม่สามารถเข้าถึงได้ เขาเลยไม่แน่ใจว่า เป็นกลไกการเมืองหรือไม่ รู้เพียงว่า ผลเสียจากการไม่ระบายออกนี้คงไม่ได้ตกอยู่กับรัฐบาล หรือนายทุน แต่จะตกอยู่กับเกษตรกร
"ห่วงเรื่องสต็อกข้าว ที่เก็บเอาไว้นาน เหมือนการซื้อผักไปเก็บ ถ้าไม่ขายออกไป จะเอาทุนที่ไหนมาซื้อ ยิ่งสต็อกนานยิ่งเน่าเสีย และไม่เห็นด้วยหากจะแก้ปัญหาด้วยการสร้างคลังเก็บเพิ่ม เพราะข้าวไม่ควรจะเก็บข้าวไว้นาน อายุของการเก็บข้าวสารเก็บได้ไม่นานนัก หากสต็อกไว้นานเกินจะมีแต่ผลเสีย แตกต่างจากการเร่งขายข้าวที่มีคุณภาพ ข้าวจะไม่เสียราคา เพราะไทยได้เปรียบเรื่องการผลิตข้าวคุณภาพดีอยู่แล้ว"
ท้ายที่สุด เสียงจากชาวนารายนี้ ฝากไว้ว่า...
"ไม่อยากให้เรื่องจำนำข้าวกลายเป็นเรื่อง 'การเมือง' ที่ต่างก็ตีความกันไปเอง อยากให้รับฟังกันบ้าง เพื่อปรับปรุงให้โครงการนี้เป็นประโยชน์กับชาวนาไทยมากที่สุด"