เสียงคนชายแดนใต้...ทั้งหนุนทั้งค้านงดใช้ พ.ร.ก.-หยุดส่งทหารลงพื้นที่
แวลีเมาะ / ปรัชญา / นาซือเราะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้ที่ผ่านมารัฐบาลทุกรัฐบาลจะต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วถึง 20 ครั้ง รวมระยะเวลา 5 ปี นับจากเดือน ก.ค.ปี 2548 เป็นต้นมา
แต่เมื่อคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน เสนอให้ทดลองงดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และงดส่งทหารลงพื้นที่เป็นเวลา 3 เดือนเพื่อประเมินสถานการณ์และความร่วมมือของประชาชนนั้น เสียงจากคนพื้นที่เองก็ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย คือทั้งสนับสนุนเต็มที่ แบ่งรับแบ่งสู้ และคัดค้าน รวมทั้งยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจกลับไปยังรัฐบาล เช่น ให้ทดลองถอนทหารแค่บางพื้นที่ด้วย
อดีต กอส.หนุนสุดตัว
อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี และอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปเป็นทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม เพราะที่ผ่านมารัฐบอกว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่เหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียก็ไม่ได้ลดลง ขณะนี้มันกลับย้อนไปเหมือนตอนต้นของการเกิดเหตุการณ์ ซ้ำการใช้กฎหมายพิเศษยังทำลายขวัญกำลังใจของประชาชน และควบคุมกลไกชีวิตชุมชนในบางพื้นที่และหลายๆ พื้นที่อีกด้วย
การที่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปเสนอมาอย่างนี้เป็นทางเลือกที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นบางพื้นที่ เหมือนกับที่ กอส.เคยนำเสนอ แต่ไม่ได้รับการปฏิบัติตามจนถึงทุกวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่าตลอดมาความพยายามของกลไกฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง แต่มักจะตอบสนองความต้องการของรัฐบาลซึ่งควบคุมกลไกเหล่านั้นมากกว่า
“ผมว่าข้อเสนอของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป จริงๆ ก็เป็นแนวคิดเดิมของ กอส. (นพ.ประเวศ เป็นอดีตรองประธาน กอส.) เพียงแต่บอกรายละเอียดว่าให้ยกเลิกการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเปิดทางว่าให้สามารถประกาศใหม่ได้หากเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น นั่นแสดงว่าเป็นข้อเสนอที่แบ่งรับแบ่งสู้พอสมควร คิดว่าเป็นทางออกที่ดีของรัฐบาล แต่ถ้ารัฐยังดึงดันดื้อดึง ไม่ทำตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ก็ไม่รู้จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำไม มันไม่มีประโยชน์ที่จะไปสร้างความรู้สึกหรือกระแสว่ารัฐกำลังใช้แนวทางสันติวิธี”
ส่วนข้อเสนอที่ให้งดส่งทหารลงพื้นที่นั้น อัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันรัฐใช้กำลังทหารจำนวนเท่าไหร่ และสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันอย่างไร เป็นที่รู้กันเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์รู้เลยว่าขณะนี้กำลังพลมีเท่าไหร่ รู้แต่เพียงว่ามันไม่ได้ลดลงเลย ฉะนั้นน่าจะมีข้อสรุปว่าไม่ควรส่งเพิ่มลงมาอีกแล้ว และเมื่อข้อเสนอของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปออกมาเช่นนี้ ทำให้น่าคิดว่ารัฐบาลกำลังมีแนวคิดจะส่งทหารลงมาเพิ่มอีกใช่หรือไม่ และอาจจะคิดว่านี่คือแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมันไม่ใช่
เยาวชน-ชาวบ้านขานรับ
นายมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เยาวชนจาก อ.ยะรัง จ.ปัตตานี กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป แต่ก่อนที่จะประกาศยกเลิกหรืองดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควรมีการประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ รอบด้าน เพราะอาจกลายเป็นแรงจูงใจให้ฝ่ายที่ไม่อยากให้ยกเลิกกฎหมาย ก่อเหตุรุนแรงหรือก่อกวนในลักษณะสร้างสถานการณ์ขึ้นก็ได้ การประเมินสถานการณ์ทั้งก่อนและหลังตัดสินใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
นายอาเซ็ง สาแล๊ะ ชาวบ้านในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า สมควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯตั้งนานแล้ว เข้าใจว่าข้อเสนอนี้มีมาตั้งแต่สมัย กอส.ยังทำงานอยู่ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล พอมาถึงคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปก็มีการนำเสนออีกครั้ง
“บอกตรงๆ ว่าผมรู้สึกเฉยๆ เพราะคิดว่ารัฐบาลไม่ยอมรับข้อเสนอแน่นอน ทั้งๆ ที่พวกเราใช้ชีวิตกันอย่างปกติ ฉะนั้นถ้าเลิกได้ก็นับว่าเป็นข่าวดี แม้จะเป็นการทดลองในระยะเวลาแค่ 3 เดือนก็ตาม”
นางมารียัม บือราโอ ชาวบ้าน ต.กรือเซะ อ.เมือง ปัตตานี กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ตลอดหลายปีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ รัฐต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่รู้กี่สิบครั้งแล้ว มันเลยกลายเป็นความเคยชิน ฉะนั้นการจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก ส่วนตัวมองว่ามีค่าเท่ากัน แต่ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป และอยากให้รัฐบาลนำไปพิจารณา เนื่องจากจะส่งผลดีมากกว่าเสียแน่นอน
“การทดลองดับไฟใต้ด้วยการงดส่งทหารลงในพื้นที่สามจังหวัด ฉันเห็นด้วยนะถ้าทำได้ เพราะสภาพพื้นที่ตอนนี้ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงหรือมีความจำเป็นที่จะต้องส่งกำลังทหารลงมาเพิ่มเติม และประชาชนก็ยังใช้ชีวิตอย่างปกติสุขดีอยู่”
อีกกลุ่มค้านถอนทหาร-อ้างเหตุอุ่นใจช่วย รปภ.
นางพัณยวดี อาแว แกนนำสตรีบ้านยุโย อ.เมือง จ.ปัตตานี กล่าวว่า การถอนทหารอาจเลือกดำเนินการในบางพื้นที่ก็ได้ เพราะชาวบ้านบางกลุ่มในบางพื้นที่ไม่ยอมรับทหารเลย คิดว่าถ้าไม่มีทหารอาจจะดีขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ในชนบท แต่ในเขตเมืองคิดว่าไม่เป็นไร ไม่แปลก มีทหารน่าจะดีกว่า
“ตัวฉันเองอยู่ในเมือง ก็อยากให้มีทหาร เพราะทหารในเมืองไม่มีพฤติกรรมน่ากลัวเหมือนทหารในชนบท พวกเขาเข้ากับชาวบ้านได้ดี ชาวบ้านเองก็กล้าเข้าหาทหาร ต่างจากชาวบ้านในชนบท”
ขณะที่ นางอรณี หมัดสุหลง ชาวบ้าน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการถอนทหารออกจากพื้นที่ เพราะการมีทหารน่าจะดีกว่าไม่มี ในแง่ของการรักษาความปลอดภัย
“สำหรับฉันเองและครอบครัวอยากให้คงกำลังทหารไว้ในพื้นที่ต่อไป เพราะทหารคอยตั้งด่านดูแลความปลอดภัยให้กับชาวบ้านได้ โดยเฉพาะเวลาชาวบ้านออกไปกรีดยางช่วงหัวรุ่ง เมื่อเจอทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่ เราจะรู้สึกอุ่นใจ”
ทหารชี้“ไม่ง่าย” จี้ประเมินผลกระทบก่อนตัดสินใจ
ด้านความเห็นของฝ่ายทหารในพื้นที่ พล.ต.จำลอง คุณสงค์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องการถอนทหาร หรือจะงดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่นั้น เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายความมั่นคงซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับผู้คนและประเทศชาติ
“ข้อเสนอของคุณหมอประเวศนั้น ท่านสามารถเสนอได้ แต่การนำไปใช้หรือจะรับข้อเสนอหรือไม่ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ถ้าฝ่ายความมั่นคงคิดจะรับข้อเสนอจริงก็ต้องมาดูเรื่องกระบวนการ ดูเรื่องนโยบาย และต้องประเมินผลดีผลเสียอย่างชัดเจน เรื่องแบบนี้ไม่ใช่จู่ๆ จะทำได้เลย เหมือนกับคิดจะถอนก็ถอนง่ายๆ คิดจะส่งทหารเข้าไปก็ทำได้ง่ายๆ ความจริงมันไม่ใช่แบบนั้น ที่สำคัญคนที่ออกคำสั่งใดๆ จะต้องรับผิดชอบหากเกิดความผิดพลาดขึ้น ดังนั้นจะต้องพิจารณาสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาอย่างรอบคอบที่สุด”
ขณะที่นายทหารระดับปฏิบัติซึ่งไม่ขอเอ่ยนาม กล่าวว่า ไม่อยากแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล ทหารพร้อมปฏิบัติตามนโยบาย
---------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุระเบิดที่สร้างความสูญเสียให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกลายเป็นความท้าทายอันสำคัญว่าจะสามารถยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษและงดส่งกำลังพลลงพื้นที่ได้หรือไม่