พื้นที่การศึกษาที่หายไปของเด็กหญิงชายขอบ
การศึกษาเป็นรากฐานความเจริญของชีวิต แม้รัฐมีนโยบายให้เด็กไทยเรียนฟรี 12 ปี แต่เด็กหญิงชายขอบในชนบทส่วนใหญ่กลับเข้าไม่ถึงโอกาสนี้เพราะสถานะยากจน ความเป็นคนไร้สัญชาติ และความไม่เสมอภาคทางเพศ
องค์กรสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 11 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันสิทธิเด็กหญิงสากล’ (International Day of the Girl Child) โดยเริ่มต้นปีนี้เป็นปีแรก เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาและความทุกข์ยากของเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะเด็กในชนบทของประเทศกำลังพัฒนา จากสถิติพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กผู้หญิงทั่วโลกยังขาดโอกาสทางการศึกษาเนื่องจากความยากจนและการเลือกปฏิบัติ นำไปสู่การตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ บังคับขายบริการทางเพศและบังคับใช้แรงงาน…ประเทศไทยก็เช่นกัน
องค์กรพัฒนาเอกชน แพลนอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เปิดเผยผลวิจัยเรื่องเด็กหญิงกับการศึกษาในภาคเหนือของประเทศไทย จากการสำรวจโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในจ.เชียงรายและเชียงใหม่ 4 แห่ง ภายใต้โครงการรณรงค์ ‘เพราะฉันคือเด็กผู้หญิง’ (Because I am a girl) โดยชี้ให้เห็นถึงประเด็นการขาดสิทธิและโอกาสทางการศึกษาของเด็กผู้หญิงในชนบทที่สังคมขาดการเหลียวแลไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
ความหวังมืดมัวทางการศึกษา : เพราะความยากจนและเป็นคนไร้สัญชาติ
“บางทีหนูก็คิดว่าทำไมเราถึงไม่มีเงินเหมือนคนอื่น ทำไมคนอื่นมีเงินแต่ไม่อยากเรียน ถ้าเรามีเงินเราจะตั้งใจเรียนแน่ๆ...แต่หนูเป็นคนไม่มีสัญชาติ ไม่สามารถขอยืมเงินเรียนต่อจากรัฐบาลได้ หนทางเดียวคือต้องออกไปทำงาน” อาบะ มอโปกู่ เด็กสาวเผ่าอาข่า วัย19 ปี เปิดเผยความยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษาที่เธอมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับชีวิตตัวเอง ครอบครัวและชุมชนให้ดีขึ้นได้ แม้ขณะนี้อาบะจะได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อปริญญาตรีจากองค์การแพลนฯแล้ว แต่อาบะบอกว่ายังมีเพื่อน ๆ อีกหลายคนที่ไม่มีโอกาสดีเช่นเธอ
แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายให้เด็กหญิงและเด็กชายมีโอกาสเท่าเทียมในการเข้าศึกษาในโรงเรียนจนถึงชั้นมัธยมปลาย โดยไม่เสียค่าใช่จ่าย อย่างไรก็ดียังมีเด็กอีกหลายคนที่เข้าไม่ถึงโอกาสนี้และส่วนใหญ่สิ้นสุดการเรียนลงที่ระดับมัธยมปลาย โดยพบว่าปัญหาความยากจนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้นักเรียนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้เนื่องจากครอบครัวไม่มีเงินพอส่งเสีย ซึ่งเด็กไร้รัฐจะประสบปัญหาด้านนี้มากกว่าเมื่อเทียบกับนักเรียนกลุ่มอื่น แม้ว่าครอบครัวจะมีทัศนคติเชิงบวกต่อการให้ลูกหลานเรียนต่อระดับสูงเพื่อยกสถานะทางสังคมของตน แต่เนื่องจากรัฐไม่มีนโยบายการศึกษาแบบให้เปล่าที่นอกเหนือจากการศึกษา 12 ปี แรกสำหรับเด็กไร้สัญชาติ และแม้ว่าเด็กกลุ่มนี้จะต่อสู้ดิ้นรนจนได้เรียนและมีวุฒิบัตรรับรองจากสถาบันอุดมศึกษาแล้ว แต่ปัญหาที่ต้องเจอคือหางานทำไม่ได้ เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน
นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่าเด็กไร้รัฐในโรงเรียนชนบทส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยน้อยกว่านักเรียนคนอื่นๆ เพราะการขอทุนการศึกษาต้องมีสถานะทางกฎหมาย จึงมีข้อเสนอแนะให้รัฐศึกษาความเป็นอยู่ของเด็กกลุ่มนี้และวางแผนรับมือกับจำนวนบุคคลไร้รัฐที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตด้วย
เด็กหญิงหลังห้อง : เพราะไม่มีทางไปจึงกลายเป็นแม่คน
“ในชั้นเรียนเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่มักนั่งอยู่หลังห้อง เด็กผู้ชายนั่งหน้า และครูมักจะเรียกแต่เด็กผู้ชายตอบคำถาม ขณะที่เด็กหญิงจะนั่งเงียบ” นางสาวอภิรดี ชัปรพงศ์ ผู้จัดการด้านสื่อสารองค์กร องค์การแพลนฯ ประเทศไทย ในฐานะผู้ร่วมวิจัยเล่าให้ฟังถึงลักษณะการเรียนการสอนและการแสดงออกของเด็กหญิงในโรงเรียนชนบทของภาคเหนือ ทั้งนี้ผู้วิจัยวิเคราะห์เหตุที่ห้องเรียนมักเป็นพื้นที่ของเด็กชายมากกว่า อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมของชาวเหนือที่นิยมให้ผู้หญิงมีความนอบน้อมประกอบกับเมื่อครูไม่ปลูกฝังให้มีส่วนร่วมในชั้นเรียนเท่าเด็กผู้ชาย ทำให้เด็กนักเรียนหญิงในชนบทส่วนใหญ่โดยเฉพาะนักเรียนหญิงกลุ่มชาติพันธุ์ไม่กล้าแสดงออกซึ่งต่างจากนักเรียนหญิงโรงเรียนในเมือง
นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบว่ามีเด็กนักเรียนหญิงตั้งครรภ์ระหว่างเรียนในทุกโรงเรียน ทั้งในพื้นที่ชนบทและชุมชนเมือง โดยผู้วิจัยเปรียบเทียบให้ฟังว่าหากสัมภาษณ์เด็กหญิง 10 คน จะพบว่ามี 8 คนที่ตั้งท้อง ขณะที่ยังเรียนหนังสืออยู่ และปัญหาเหล่านี้จะร้ายแรงมากขึ้นในกลุ่มเด็กหญิงไร้รัฐ เนื่องจากเมื่อไม่มีสัญชาติไม่มีบัตรประชาชนก็ไม่สามารถเรียนต่อได้ ส่วนใหญ่จึงต้องอยู่ช่วยทำไร่ทำนาที่บ้าน แต่งงานและเลี้ยงลูกขณะที่อายุยังน้อย ขณะที่เด็กหญิงไร้สัญชาติบางส่วนจำต้องไปทำงานตามร้านคาราโอเกะบาร์เพราะไม่อาจทำงานอื่นๆที่ต้องใช้แรงงานอย่างเด็กผู้ชายได้ ทั้งนี้ยังพบว่าเด็กหญิงชายขอบมีความเชื่อว่าหากแต่งงานกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย จะทำให้สถานะทางการเงินของตัวเองดีขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดีครูทุกโรงเรียนเห็นตรงกันว่าเด็กหญิงตั้งครรภ์เหล่านี้ควรได้รับโอกาสกลับเข้ามาเรียนหลังจากคลอดบุตรแล้ว แต่ครูก็กังวลว่าอาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กนักเรียนคนอื่นเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรมมีผลต่อพฤติกรรมของเด็กหญิงในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กหญิงชายขอบ จึงมีข้อเสนอแนะให้มีการจัดทำโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเด็กหญิงในโรงเรียน เพื่อให้ตระหนักถึงสิทธิ์ของตน และมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น มิเช่นนั้นพฤติกรรมไร้สิทธิ์ไร้เสียงอาจดำเนินต่อเนื่องและกลายเป็นปัญหาชีวิตของเด็กหญิงแม้ว่าจะออกจากโรงเรียนไปแล้ว
“ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้เขาไม่รู้ว่าตัวเองจะสามารถพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างไรโดยไม่ต้องพึ่งผู้ชายและอยู่บ้านเลี้ยงลูกอย่างเดียว การศึกษาจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อยอดชีวิตให้เด็กผู้หญิงได้มากมาย” นางสาวอภิรดีกล่าว
ครูขาจรในพื้นที่ห่างไกล : ภาระงานหนักลดคุณภาพการสอน
“เด็กๆส่วนใหญ่พอถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร จะตอบว่าอยากเป็นครู เพราะเขาสงสารครูและอยากเป็นคนทำให้คนในชุมชนมีความรู้ เพราะความรู้ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่นมากขึ้น” ผู้วิจัยเล่าสะท้อนความนึกคิดของเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เห็นภาพครูต้องทำงานหนักเสมอ โดยครูคนหนึ่งต้องสอนเด็กกว่า 40 คน ซึ่งเป็นเด็กหลายชั้นเรียนรวมกัน ทำให้ครูสอนได้ไม่เต็มศักยภาพ และจากการศึกษายังพบว่าครูเสียเวลาทำงานธุรการมากกว่าเตรียมการสอน ทำให้เกิดปัญหาการย้ายออกจากโรงเรียนบ่อยครั้งซึ่งทำให้การเรียนการสอนขาดความต่อเนื่อง กระทบต่อคุณภาพการศึกษาและการบริหารจัดการโรงเรียน
ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อเสนอแนะให้รัฐปรับปรุงนโยบายการศึกษาด้านบุคลากรครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ชนบท โดยควรส่งเสริมคุณภาพการสอนและให้โอกาสครูพัฒนาศักยภาพและทักษะทางวิชาชีพของตน ทั้งนี้ควรมีการพิจารณาปรับปรุงนโยบายเพื่อส่งเสริมไม่ให้ครูย้ายออกนอกพื้นที่ และเพื่อเพิ่มบุคลากรด้านงานธุรการเพื่อสนับสนุนการทำงานของครูในโรงเรียนชนบทด้วย นอกจากนี้ควรฝึกอบรมครูเรื่องสิทธิเด็กและความเสมอภาคทางเพศในชั้นเรียน เพื่อให้ครูเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเด็กหญิงได้
สัญชาติ : ปัญหาใหญ่ที่รัฐไทยต้องเร่งแก้
ย้อนกลับไปถึงโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน จะเห็นได้ว่าการไม่มีสัญชาติเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายไร้รัฐไม่อาจยกระดับชีวิตตนได้ นางสาวอภิรดีกล่าวว่า เด็กไร้สัญชาติบางคนแม้จะจดทะเบียนแรกเกิดแล้วแต่ต้องรอการพิสูจน์สัญชาตินาน 5 -10 ปี และทำให้หลายคนพลาดโอกาสในการเรียนและทำงานดีๆที่ถูกต้องตามกฎหมายไป เพราะขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติของราชการที่มีความล่าช้าเกินกว่าเหตุ (เนื่องจากพระราชบัญญัติ สัญชาติ (ฉบับที่4) พ.ศ. 2551 และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้กำหนดว่าระยะเวลาที่นายทะเบียนต้องใช้เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน จึงเป็นสาเหตุให้การดำเนินงานล่าช้าหากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใส่ใจ)
นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สัญชาติซึ่งเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ต้องออกเองยังมีราคาสูง โดยการพิสูจน์ดีเอ็นเอระหว่างพ่อแม่-ลูกคู่หนึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 8,000 บาท และ30,000 บาทระหว่างญาติพี่น้อง ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญในการได้มาซึ่งสัญชาติ ซึ่งรัฐควรเร่งแก้ไขให้ความช่วยเหลือ
สุดท้ายอาบะ เด็กสาวเผ่าอาข่าได้ฝากความหวังแทนเด็กหญิงชายขอบทุกคนไว้ว่า “อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆช่วยกันแก้ไขเรื่องสัญชาติ เพราะแม้หนูมีใจอยากเรียนอยากทำงานดีๆแต่ก็ท้อเพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้าเรียนจบไปคงต้องทำงานในพื้นที่ไปก่อน และอยากให้ผู้ใหญ่สนับสนุนเด็กผู้หญิงกับการเรียนทั้งในเมืองและชนบทให้ทั่วถึงด้วยค่ะ”
............
“รู้สิ่งไรก็ไม่สู้รู้วิชา ไปเบื้องหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ” คุณของการศึกษาข้อนี้เป็นสิ่งที่เด็กผู้หญิงชายขอบตระหนักและเชื่อว่าจะนำพวกเธอไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าการเป็นภรรยาและแม่ก่อนวัยอันควร ... ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่รัฐไทยจะสนใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อมอบโอกาสแก่เด็กชาย-หญิงที่อาศัยบนผืนแผ่นดินไทย...อย่างเท่าเทียม
ภาพประกอบ :: องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ::: ผลวิจัยวันสิทธิเด็กหญิงสากล ด.ญ.อยู่หลังห้อง-ท้องก่อนแต่ง-ถูกผลักสู่บาร์ http://bit.ly/QlbQhZ