กระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้าสร้างโครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชร
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 20 กันยายน 2548 ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานดำเนินการศึกษาโครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชร เพื่อทบทวนความเหมาะสมของโครงการ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ หลังจากที่ครม.ได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งรัดการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำโปร่งขุน เพชรให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)ต่อไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 สำหรับผลการศึกษาโครงการศึกษาสิ่งแวดล้อมด้านสังคมโครงการโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ กรมชลประทานได้ว่าจ้างที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการ ซึ่งได้สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2553 โดยในการศึกษาครั้งนี้ได้แบ่งเป็น 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1. การทบทวนความเหมาะสมของโครงการ โดยจากผลการศึกษาพบว่า ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการก่อสร้างโครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชร จะมีพื้นที่รับน้ำเหนือที่ตั้งเขื่อน 458 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำรายปีเฉลี่ย 74.76 ล้านลบ.ม. ความจุอ่างเก็บน้ำในระดับเก็บกักน้ำปกติ 43.7 ล้านลบ.ม.พื้นที่รับประโยชน์รวม 28,000 ไร่ แบ่งเป็น 1.พื้นที่รับประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำฯ 12,000 ไร่ 2. พื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตามลำน้ำชีในฤดูฝน 16,000 ไร่ และในฤดูแล้ง 4,800 ไร่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ อีกด้วย
2. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม กรมชลประทานได้ศึกษาโครงการตามหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบตามแนวทางจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำนวน 18 แผน และแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำนวน 15 แผน เนื่องจากโครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ ไม่เข้าข่ายโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้ง ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ
3. การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยในการศึกษาครั้งนี้ได้ดำเนินการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมโดยใช้กลไกการ สร้างนักวิจัยท้องถิ่น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจน โดยมีการจัดประชุมกลุ่มย่อย ประชุมเวทีชาวบ้าน และจัดอบรมศักยภาพการพัฒนาชุมชนเพื่อการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ชุมชนส่วนใหญ่ในพื้นที่โครงการร้อยละ 85.45 มีแนวโน้มให้การยอมรับต่อโครงการโปร่งขุนเพชร
4. ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมทั้งโครงการตามผลการศึกษา เช่น อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ เท่ากับร้อยละ 13.56 มูลค่าปัจจุบันสุทธิเท่ากับ 64.66 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯดังกล่าวข้างต้นถือเป็นการรายงานผลการดำเนิน งานตามมติคณะรัฐมนตรีที่ก่อนหน้านี้ได้มีมติคณะรัฐมนตรีหลายครั้งให้ทบทวน การก่อสร้างโครงการโปร่งขุนเพชร ได้แก่ มติครม.เมื่อ 22 เม.ย. 2539 , 29 เม.ย.2550 25 ก.ค.2543 และ 3 เม.ย.2544 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ และเมื่อผลการศึกษาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จะส่งผลให้สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชรให้แล้วเสร็จ ตามเป้าหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ต่อไป