นโยบายแก้น้ำท่วมของภาครัฐ กับ ทฤษฎี Polder System โดยรศ.มานพ พงศทัต
ขณะนี้ใครๆ ก็คอยดูว่าน้ำจะท่วมอีกไหม หน้าฝนกำลังมา และน้ำเหนือก็จะไหลบ่าลงมาท่วม “เมืองปลายน้ำ” และเมืองกลางน้ำ คือตั้งแต่ นครสวรรค์ อยุธยาลงมา เมืองปลายน้ำเมืองใหญ่ของประเทศก็มีตั้งแต่ ปทุมธานี (เมืองซึ่ง ผังเมืองแย่ที่สุด) นนทบุรี
เมืองสวนของภาคกลาง (ผังเมืองก็แย่พอกัน) และกรุงเทพมหานครที่มีประชากร 10 ล้านคน สมุทรสงคราม สมุทรปราการ (เมืองที่น้ำท่วมทุกปีตามธรรมชาติ) ปีมหาอุทกภัย 54 ก็ผันน้ำกันจนไปท่วมที่ดอนซึ่ง ไม่ควรท่วมคือดอนเมือง แทนหนอง เช่น หนองงูเห่าที่น้ำไม่ท่วม จึงถูกล้อเลียนว่าเป็นน้ำท่วมแบบ “Human Managed Flood” คือจากฝีมือจัดการให้น้ำท่วมด้วยคนแทนน้ำท่วมตามธรรมชาติ
รัฐบาลนี้ก็ดีใจหาย พอน้ำท่วมเสร็จก็ประกาศ “น้ำท่วมเป็นวาระแห่งชาติ” เสียหายทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการในเมืองมากมาย ทำการตั้งคณะกรรมการชื่อ กนอ. และ กนย. (หายไป 1 คณะกรรมการของ ดร.โกร่ง) เอาคนเก่งของรัฐบาลที่รู้เรื่องน้ำมากที่สุด คือ ดร.ปลอดประสพ เป็นประธาน จะใช้เงินหลายแสนล้านบาททำแผนแก้ปัญหาต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เมื่อเดือนที่แล้วเพิ่งนึกขึ้นมาได้ว่าควรจะมองแบบบูรณาการ จึงออก TOR เชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญมา “วางแนวคิด” “ย้ำแนวคิด” หรือ Conceptual แก้น้ำท่วม หลังจากน้ำท่วมมาแล้วเกือบจะปี
ส่วนที่สั่งการไปแล้ว เช่น เหนือน้ำเหนือเขื่อนต้องเร่งปลูกป่า ต้องทำเขื่อน ต้องทำฝาย ก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทุกคนทุกกระทรวงต่างรอแบมือขอเงินกันทั้งนั้น
เมืองกลางน้ำ น้ำต้องท่วมแน่นอน “เพราะเป็นทุ่งเกษตร” ในอดีตปล่อยเป็นธรรมชาติก็แสนจะอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าวได้เป็นอันดับ 1-2 ของโลก แต่ผังเมืองก็แย่มากเพราะมหาดไทยซึ่งรับผิดชอบการใช้ที่ดินของทั้งจังหวัด โดยเฉพาะผู้บริหารไม่สนใจการจัดระเบียบที่ดิน สนใจว่าใครจะมาเป็น “ผู้ว่าฯ” อีกปี - 2 ปีก็เป็นใหญ่ในกระทรวง รัฐธรรมนูญให้กระจายอำนาจแต่รัฐบาลนี้กลับรวบอำนาจ ไม่ยอมเลือกผู้ว่าฯ เลือกนายกเทศมนตรีให้เข้ามามีโอกาสพัฒนาบ้านเมืองเอง
ดูจีนเป็นตัวอย่าง ทั้งๆ ที่เป็นประเทศ Dictator แต่ก็กระจายอำนาจให้แต่ละมณฑลที่มีประสิทธิภาพ เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง ท้องถิ่นก็ยกระดับตัวเองได้เร็ว ส่วนบ้านเรามีนโยบายกระจายอำนาจท้องถิ่น แต่กลับตั้งศูนย์รวมรวบอำนาจดูทุกกระทรวง เช่น มหาดไทย คมนาคม นักการเมืองประจำประทรวงก็ชอบ เพราะเงินงบประมาณมากองที่เดียว รั่วไหลจากจุดส่วนกลางจุดเดียว การประสานงานไม่ต้องจำเป็นรวมศูนย์ แต่สร้าง Network ประสานงาน เช่น ผังเมืองกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล มหาดไทยควรสร้างศูนย์ประสานงานให้เมืองใหญ่เป็นพี่เลี้ยง ประชุมร่วมกันปรับ “ผังการใช้ที่ดินหรือผังเมืองรวมบูรณาการ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล” ไม่เช่นนั้นปทุมธานีก็จะท่วมไปอีกนาน เพราะไม่รู้ว่าส่วนไหนจะเพาะปลูก ส่วนไหนจะเป็นเมือง จะให้น้ำท่วม น้ำหลาก หรือทำ Channel ช่องน้ำไหล หรือจะเป็นส่วนของพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างไร
กลับมาแก้ปัญหา “เมืองปลายน้ำ” เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระดับน้ำทะเลสูงมาก บางแห่งอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล จะทำอย่างไร
ในโลกมีตัวอย่างเมืองปลายน้ำมากมาย เมืองปลายน้ำจะอุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยธรรมชาติ แต่การใช้ที่ดินจัดการลำบากมาก ว่าจะเพาะปลูกหรือจะเป็นเมือง ประเทศที่เก่งที่สุดอยู่ใต้น้ำมาเป็นเวลา 200-300 ปี คือ Dutch ประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและมีปัญหามากกว่าเรา เนื่องจากน้ำทะเลจากทะเลเหนือท่วมเมือง เพราะเปิดสู่ทะเลเหนือที่พายุแรงที่สุด
เขาใช้ทฤษฎี “Polder System” คือจัดกลุ่มเป็นหลุมๆ ของที่ดินแบบลูกอุกาบาต มีเขื่อนคันกั้นรอบติดต่อกันทั้งเมือง และปล่อยให้ระหว่างเขื่อนหรือคันดินเป็นช่องน้ำหรือคูคลอง และไปเชื่อมกับแม่น้ำหลักต่อลงทะเล หน้าทะเลสร้างเขื่อนกันน้ำทะเลหนุน ในแต่ละหลุมจะมีทั้งใหญ่เล็ก ใกล้ถนน และเขื่อนริมแม่น้ำ เป็นต้น ชั้นในเป็นอาคารสูง ชานเมืองเป็นที่อยู่และอุตสาหกรรม กลุ่มนอกเมืองปลูกผัก ปลูกข้าวสาลี ข้าวโพด เกษตรกรรมก็ทำเป็นหลุมจะได้ควบคุมน้ำได้
ดูในบาหลีที่ดัดแปลงเป็นนาขั้นบันได ใช้ Concept เดียวกัน ในแต่ละขั้นก็เป็นคันดินเหมือนคันนาคันสวนบ้านเรา ซึ่งทำให้ใช้น้ำน้อยและใช้ธรรมชาติคุ้มค่า
กรุงเทพฯ ก็ใช้ทฤษฎีมาผสมผสาน มี Polder System เป็นกลุ่ม ใช้ถนนเป็นคัน และใช้ทฤษฎีเขื่อนใหญ่ขึ้น เช่น King ’s Dyke ปี 2535 ด้านตะวันออก และสร้างเขื่อนริมน้ำตลอดเจ้าพระยา (นนทบุรี ปทุมธานี ไม่มี) เหมือน London Paris
แม้ในเอเชียตะวันออกอย่างเกาหลีก็ใช้วิธีนี้กั้นแม่น้ำฮั่นเหมือนกัน ก็ขอให้รัฐบาลนี้หันมาลงรายละเอียดเมืองปลายน้ำด่วน เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีมหาดไทย หน่วยงานรับผิดชอบคือสำนักโยธาและผังเมือง ควรปล่อยให้เมืองใหญ่ทำผังเมืองรวมเอง เช่น เชียงใหม่ โคราช และทำทั้งจังหวัดโดยแบ่งเขตเกษตรออกจากเมืองให้ได้ ต้องดูทั้งน้ำและดิน มิใช่ กนอ. เอาแต่น้ำ ต้องดูรวมกันทั้งน้ำ ดิน ลม (สิ่งแวดล้อม) และไฟ คือ Energy รีบทำเสีย
ง่ายที่สุดคือมุ่งที่ผังเมืองรวม จัดให้ทุกจังหวัดมีแก้มลิงตัวเองรับน้ำให้ประชาชนทั้งจังหวัด จัดการใช้ที่ดินคลุมทั้งจังหวัด จัดกลุ่มเป็น Polder ปลูกข้าว ปลูกสวนก็อยู่ในเขต Polder เขื่อนคันจะสูงเท่าไรก็คำนวณได้ และต้องมีช่องส่งน้ำลงทะเลเป็นระบบ จะเป็น Water Hi way ร่วมกับเจ้าพระยาก็ได้ หรือจะทำ “ถนนน้ำ” เวลาแห้งก็เป็นถนน เวลาน้ำท่วมก็เป็นคลองก็ได้
รีบเสียครับ ท่านนายกหญิงก็ให้ตั้งใจทำงานดีๆ จะได้อยู่ได้นานๆ ครับ
ที่มา: http://www.buildernews.in.th/page.php?a=10&n=247&cno=3935