เรียกร้องสื่อรายงานข่าวภัยพิบัติ ‘อย่าบิดเบือน-ดราม่า สร้างกระแสการบริจาค’
กสทช. เปิดเวที “จรรยาบรรณสื่อกับการนำเสนอข่าวภัยพิบัติ” ผู้ร่วมเสวนาเห็นพ้องสื่อทีวี ไม่ควรนำภาพข่าวเก่า ฉายซ้ำ ขณะที่นักวิชาการ ย้ำชัดระดมทุน รับบริจาคไม่ใช่หน้าที่สื่อ หวั่นสร้างวัฒนธรรมผิดๆ ให้ปชช.เรียกร้องอยู่เสมอ
วันที่ 11 ตุลาคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จัดเสวนาความร่วมมือไตรภาคีเพื่อกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “จรรยาบรรณสื่อกับการนำเสนอข่าวในเหตุภัยพิบัติ” ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล ถ.ศรีอยุธยา โดยมีกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพกิจการกระจายเสียง กลุ่มผู้บริโภคสื่อ และนักวิชาการเข้าร่วม
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงวัตุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้เป็นการกระตุ้นเตือนการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อสารมวลชนให้ สอดคล้องกับจรรยาบรรณที่ถูกต้อง ตามที่ กสทช. ได้ดำเนินการพิจารณายกร่างกรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้ประกอบกิจการ โดยมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญเช่น หลักความถูกต้องเที่ยงตรง ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่บิดเบือนแต่งเติม
นอกจากนี้ กสทช.ได้ออกประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการ โทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว ประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการทุกรายจะต้องจัดส่ง “แผนขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือ เหตุฉุกเฉิน” เพื่อให้คณะกรรมการทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ซึ่งกสทช.ได้เตรียมเชิญผู้ประกอบกิจการด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์เข้ารับ ฟังคำชี้แจง เพื่อให้ดำเนินการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวอย่างถูกต้อง ในวันที่ 17 ตุลาคม 2555 เวลา 9:00-12:00 น. ที่โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ
รับบริจาค แจกของ ชี้สื่อทำเกินหน้าที่
สำหรับประเด็นการบริหารความพอดีระหว่างการทำหน้าที่สื่อและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมของสื่อนั้น ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หน้าที่หลักของสื่อมวลชนคือการรายงานข่าว นำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง สื่อมวลชนไม่ควรลงมือบริหารจัดการภัยพิบัติด้วยตัวเอง ด้วยการเป็นแหล่งระดมทุนรับบริจาคเงิน สิ่งของ และไปแจกของในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพราะจะกลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมสื่อแจกของจนประชาชนส่วนหนึ่งคุ้นเคยและเรียกร้องอยู่เสมอ แต่สื่อควรเป็นตัวช่วยประสานการขับเคลื่อนกลุ่มที่มีพลังสร้างสรรค์ทางสังคมต่าง ๆ ให้มาร่วมมือกับภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะเหมาะสมกว่า
อาจารย์ด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ในสถานการณ์ภัยพิบัติสื่อมวลชนควรร่วมมือกันและแบ่งงานกันทำมากกว่าการแข่งขันทำงานเพื่อชิงความนิยม ในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ไม่มีทางที่สื่อรายใดรายหนึ่งจะตอบสนองต่อคนได้ทุกกลุ่มในเวลาเดียวกัน เพราะจะมีกลุ่มคนที่ปรารถนาและต้องการข่าวสารที่แตกต่างกันหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มคนที่ประสบภัยโดยตรง กลุ่มคนที่ภัยกำลังจะมาถึงตัว และกลุ่มคนที่ไม่ประสบภัยพิบัติ ดังนั้นสื่อแต่ละรายต้องช่วยกันส่งเสริมข้อมูลข่าวสารแก่กลุ่มคนดังกล่าวซึ่งกันและกัน จะได้ไม่ขาดตกบกพร่อง
"สื่อควรทำงานเพื่อสร้างความปลอดภัยและความร่วมมือในสังคมทั้งระยะก่อนเกิด และระหว่างภัยพิบัติ เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่ผู้คนต่อแถวรับน้ำดื่มอย่างเป็นระเบียบระหว่างภัยพิบัติสึนามิ พ.ศ. 2554 ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันจากการเผชิญภัยพิบัติหลายครั้ง จนเกิดวัฒนธรรมความร่วมมือจัดสรรทรัพยากร เป็นต้น"
ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงปัญหาการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์น้ำท่วมในบางจังหวัดที่เพิ่งผ่านพ้นไปว่า ปีนี้น้ำท่วมน้อย แต่สื่อเสนอข่าวเยอะ ซึ่งอาจเป็นความตื่นตัวจากประสบการณ์ที่ได้รับเมื่อปีที่แล้ว และชอบนำเสนอเชิงดราม่า พลังของสื่อจึงไม่เพียงพอที่จะบอกประชาชนว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะมีการนำเสนอข้อมูลน้อยกว่าการนำเสนอข่าว
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตั้งข้อสังเกตว่า พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์มีความรุนแรงกว่าโทรทัศน์ เช่น พาดหัวว่า “อ่วมแน่” ทั้งที่เหตุการณ์จริงไม่รุนแรงถึงขนาดนั้น อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนไทยก็มีพัฒนาการในการทำงาน เห็นได้จากการใช้แผนที่ประกอบการรายงานข้อมูล แต่ยังมีข้อบกพร่องตรงที่สื่อมักใช้ข้อมูลขั้นสุดท้ายมากเกินไป เช่น ประกาศแผนที่อพยพ โดยควรใช้ข้อมูลสารสนเทศระดับกลางให้มากขึ้น เช่น แผนที่ความเสี่ยงเรียงลำดับความรุนแรงสูง กลาง ต่ำ เพราะเป็นข้อมูลสารสนเทศที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีทางเลือกตัดสินใจจัดการกับชีวิตตัวเองได้มากขึ้น
"สื่อนำเสนอแบบดราม่าเพื่อเรียกเรตติ้งก็ได้ แต่ควรมีข้อมูลสารสนเทศที่มีประโยชน์ประกอบด้วย"
คนในพื้นที่เผยสื่อบิดเบือน ขายข่าวเกินจริง
ขณะที่ว่าที่ร้อยตรีกำพล จิตตะนัง จากสำนักงานประสานการจัดการความรู้ภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงความผิดพลาดทางจริยธรรมของสื่อในภาวะภัยพิบัติ โดยยกเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากที่นครศรีธรรมราชเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งตนเคยถูกสื่อสำนักหนึ่งสัมภาษณ์โดยนักข่าวกำหนดประเด็นให้ตนต้องพูดในทำนองว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำป่าเพราะชาวบ้านปลูกยางพาราบนที่เชิงเขา ทำให้เมื่อฝนตกหนักเกิดดินสไลด์ นี่เป็นสิ่งที่สื่อไม่ควรทำอย่างยิ่ง
"นอกจากนี้สื่อยังมีการนำเสนอข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และพยายามขายข่าวเกินจริง อาจส่งผลให้คนบริจาคเงินหรือสิ่งของมากขึ้นเกินความจำเป็น เช่น กรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ภูเก็ตเมื่อต้นปี สื่อบางสำนักใช้มุมกล้องจ่อไปยังภาพชายหาดที่น้ำทะเลที่ลดลงผิดปกติ ทำให้คนดูเกิดการเชื่อมโยงกับประสบการณ์ชุดเดิมว่า ถ้าน้ำทะเลลดลงมาก แปลว่าจะเกิดสึนามิ ทั้งที่จริงแล้วเป็นปรากฏการณ์น้ำลดครั้งใหญ่ในรอบปีที่ชาวประมงจะรู้ดี"
อีกกรณีที่สื่อพยายามสร้างข้อมูลเท็จ คือ เหตุการณ์น้ำป่าที่กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ว่าที่ร้อยตรีกำพล กล่าวว่า ไม่มีอะไรร้ายแรง ไม่มีคนป่วย แค่สะพานขาด เมื่อนำเสนอข่าวไป จากนั้นมีการเอาของบริจาคบรรทุกโดยเฮลิคอปเตอร์ไปให้ชาวบ้าน แต่ภาพที่มีคนมาช่วยเอาของลงจากเฮลิคอปเตอร์ สื่อกลับรายงานเป็นว่า ชาวบ้านมาแย่งกันรับของบริจาค บางสำนักรายงานว่า คนแย่งกันอพยพ ซึ่งที่จริงๆ ไม่ใช่ คนในพื้นที่บ่นกันเยอะมากว่าสื่อบิดเบือน ผลจากข่าว หน่วยงานทุกระดับจึงลงไปที่กรุงชิง
ห่วงสื่อฉายภาพข่าวเก่าซ้ำ กระทบกระเทือนจิตใจ
นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนายังเห็นตรงกันเรื่องที่สื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์ ไม่ควรนำภาพข่าวเก่ามาเสนอซ้ำ เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนพบว่า ในภาวะภัยพิบัติ สื่อโทรทัศน์เป็นสิ่งที่ผู้คนพึ่งพามากที่สุด และคนจะดูตอนรายงานสดมากที่สุด โดยผู้ประสบภัยพิบัติที่ถูกสำรวจความคิดเห็นตอบตรงกัน 100% ว่าไม่อยากให้โทรทัศน์เอาภาพเก่าหรือแฟ้มภาพของเหตุการณ์มาฉายแทรกซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าตอนรายงานข่าว เพราะเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนใจต่อคนที่ได้รับผลกระทบมาก
สอดคล้องกับ อ.ประพันธ์ แจ้งเอี่ยม จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ที่ระบุว่าสื่อควรนำเสนอภาพการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุมากกว่า
ด้านผู้สื่อข่าวจากช่องโมเดิร์นไนน์ ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ในสถานการณ์ภัยพิบัติ สื่อต้องร่วมมือกัน อย่าแข่งขัน ตอนนี้เรายังไม่มีนักข่าวที่มีความรู้เรื่องภัยพิบัติโดยเฉพาะ ดังนั้นสื่อทุกสื่อควรร่วมมือกันสร้างเครือข่ายนักข่าวภัยพิบัติ ให้เกิดขึ้น
ที่มาภาพ : http://bit.ly/RMUJIk