ผ่า 2 ปมบึ้มถี่ที่ธารโต...ฮุบสวนยาง-เล่นงาน จนท.ซ้ำ
นาซือเราะ เจะฮะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เหตุระเบิดถี่ยิบที่ อ.ธารโต จ.ยะลา หนึ่งในอำเภอชายแดนอันสงบเงียบซึ่งมีเขตติดต่อกับ อ.เบตง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นอำเภอสันติสุขใต้สุดแดนสยาม กำลังถูกตั้งคำถามถึงสาเหตุและเบื้องหลังอันสลับซับซ้อนทั้งในแง่ผลประโยชน์และการต่อต้านอำนาจรัฐ จนทำให้อำเภอแห่งนี้เต็มไปด้วยความเงียบงันที่แฝงไปด้วยความน่าสะพรึง
หากย้อนดูบันทึกวัน-เวลาที่เกิดเหตุการณ์ จะพบสถิติที่ชวนตกใจ....
วันจันทร์ที่ 19 ก.ค.2553 ด.ต.นิยม สุวรรณมณี ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม (ผบ.หมู่ ป.) สภ.ธารโต เหยียบกับระเบิดขณะนำกำลังออกสืบสวนหาข่าวกลุ่มคนร้ายในพื้นที่บ้านผ่านศึก หมู่ 2 ต.คีรีเขต อ.ธารโต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุลอบวางกับระเบิดไว้ตามร่องสวนยางพาราเป็นประจำ แรงระเบิดทำให้ ด.ต.นิยม ขาซ้ายขาด อาการสาหัส
วันศุกร์ที่ 16 ก.ค.2553 หรือก่อนหน้านั้นเพียง 3 วัน เพิ่งเกิดเหตุสลด เมื่อ นางแดง มณีโชติ อายุ 52 ปี เจ้าของสวนยางพารา เดินไปเหยียบกับระเบิดจนขาขาดทั้งสองข้าง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุเกิดในสวนยางพาราท้องที่บ้านผ่านศึก หมู่ 2 ต.คีรีเขต
หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง ส.ต.ท.พิภพ ศรีกันยา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเก็บกู้และทำลายล้างวัตถุระเบิด (อีโอดี) ของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ได้นำกำลังเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ และพลาดเหยียบกับระเบิดอีก 1 ลูกซึ่งถูกวางไว้ในละแวกเดียวกันกับที่นางแดงโดน แรงระเบิดทำให้ ส.ต.ท.พิภพ ได้รับบาดเจ็บสาหัส และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ส่วนเพื่อนตำรวจอีกสองนายได้รับบาดเจ็บ
เหตุระเบิด 2 ลูกซ้อนเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.ค. ทำให้ ด.ต.นิยม นำกำลังเข้าสืบสวนหาข่าวในวันจันทร์ที่ 19 ก.ค. และเหยียบกับระเบิดจนขาขาดดังกล่าว
วันอังคารที่ 6 ก.ค.2553 หรือ 10 วันก่อนหน้านั้น นายจั่ว แซ่ย่าง อายุ 30 ปี ชาวม้ง ซึ่งมีอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา เหยียบกับระเบิดในสวนยางท้องที่บ้านซาไก หมู่ 3 ต.บ้านแหร อ.ธารโต โดยจุดเกิดเหตุอยู่บนภูเขาท้ายหมู่บ้านใกล้เขตแดนไทย-มาเลเซีย ห่างจากโรงเรียนบ้านซาไกราว 2-3 กิโลเมตร แรงระเบิดทำให้ นายจั่ว เสียชีวิตคาที่ในสภาพขาซ้ายขาด โดยมีเศษซากสะเก็ดระเบิด เศษถังแก๊ส และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระจายเกลื่อน
เพื่อนของนายจั่ว ซึ่งเป็นคนงานกรีดยางในสวนข้างเคียง ให้การกับตำรวจว่า สวนยางพาราที่เกิดเหตุเป็นของ นายลิ่ม พงศ์ทอง เพื่อนๆ เคยเตือนนายจั่วแล้วให้ระวังกับระเบิด เพราะที่สวนยางของนายลิ่มเคยเกิดเหตุลักษณะคล้ายๆ กันนี้มาแล้ว 2-3 ครั้ง นายลิ่มเองก็เคยได้รับบาดเจ็บ แต่นายจั่วก็ยังคงนำอุปกรณ์ออกไปกรีดยางตามปกติ กระทั่งถูกระเบิดจนเสียชีวิต
วันเสาร์ที่ 29 พ.ค.2553 หรือย้อนหลังไปราว 1 เดือนเศษ เกิดระเบิดในสวนยางพาราท้องที่หมู่ 2 ต.ธารโต อ.ธารโต ทำให้ นายอานนท์ สกุลทอง อายุ 21 ปี คนงานกรีดยางได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขวาขาด
วันเสาร์ที่ 8 พ.ค.2553 นายวิชิต ดวงเต็ม อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 68 หมู่ 2 ต.ธารโต เหยียบกับระเบิดในสวนยางของตนเอง ขณะออกกรีดยางตอนเช้า แรงระเบิดทำให้ขาซ้ายขาด ได้รับบาดเจ็บสาหัส
สรุปว่าในห้วงเวลาเพียง 2 เดือนกับ 11 วัน เกิดเหตุระเบิดในสวนยางพาราในท้องที่ อ.ธารโต ไปแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง ระเบิด 6 ลูก มีผู้เสียชีวิตทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้านรวม 3 ราย บาดเจ็บสาหัสถึงขั้นขาขาดอีก 3 ราย
ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส และชาวบ้านกับเจ้าของสวนยางพาราที่ถูกระเบิดอีกหลายครั้งก่อนหน้านั้นแต่ไม่เป็นข่าว!
แดนสนธยาที่ธารโต
ข้อมูลจากเว็บไซต์อำเภอดอทคอม (www.amphoe.com) ทำให้คนทั่วไปรู้จัก อ.ธารโต นอกเหนือไปจากความเป็นอำเภอหนึ่งในพื้นที่สีแดงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เล็กน้อย
ข้อมูลระบุว่า เดิม อ.ธารโตอยู่ในเขตปกครองของ ต.แม่หวาด อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งกรมราชทัณฑ์จัดตั้งทัณฑสถานเพื่อกักขังนักโทษการเมืองและนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่ส่งมาจากทั่วประเทศ โดยเรียกทัณฑสถานแห่งนี้ว่า "นรกธารโต"
ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ยกเลิกทัณฑสถานดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ.2500 จากนั้นกรมประชาสงเคราะห์ได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองธารโตขึ้น ทำให้พื้นที่อำเภอนี้มีชาวไทยพุทธซึ่งอพยพมาจากนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และภูมิภาคอื่นของประเทศ เข้ามาอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่น
อ.ธารโต ได้รับการกล่าวขวัญถึงในแง่ของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะเป็นที่อยู่ของเงาะป่าซาไก และยังมีทะเลสาบในหุบเขาที่เชื่อมต่อกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง มีน้ำตกสวยงาม ดังที่ปรากฏในคำขวัญของอำเภอที่ว่า “ธารโตเมืองดาหลา เงาะป่าซาไก ทะเลใหญ่บนหุบเขา ถ้ำยาวธารน้ำลอด”
ปัจจุบัน อ.ธารโต แบ่งการปกครองออกเป็น 4 ตำบล คือ ต.ธารโต ต.บ้านแหร ต.แม่หวาด และ ต.คีรีเขต ทิศเหนือติดกับ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทิศตะวันออกติดกับ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทิศใต้ติดกับ อ.เบตง จ.ยะลา และทิศตะวันตกติดกับรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย
ประชากรส่วนใหญ่ใน อ.ธารโต ซึ่งมีทั้งไทยพุทธและมุสลิมมีอาชีพหลักคือทำสวนยางพารา และมีอาชีพเสริมคือทำสวนผลไม้ จึงไม่แปลกที่เมื่อมีกลุ่มคนร้ายลอบนำกับระเบิดไปวางในสวนยาง จะมีผู้เคราะห์ร้ายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น กระจุกตัวอยู่ในท้องที่ ต.บ้านแหร และ ต.คีรีเขต เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเขาลึกเข้าไปใกล้แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เรียกว่าอยู่ใน “เขตอำนาจรัฐเข้าถึงยาก” เสียงระเบิดที่ดังขึ้นถี่ยิบตลอด 2 เดือนเศษที่ผ่านมา ทำให้บางช่วงชาวบ้านถึงกับไม่กล้าออกไปกรีดยาง และมีเจ้าของสวนหลายแห่งที่ใช้วิธีจ้างคนงานจากนอกพื้นที่เข้ามากรีดแทน โดยแบ่งส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่สูงเพื่อดึงดูดความสนใจให้ยอมเสี่ยงแม้อันตราย
เหตุระเบิดใน อ.ธารโต เกิดขึ้นบ่อยครั้งและยังไร้หนทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ถึงขนาดที่ว่าทางอำเภอต้องออกมาเรียกร้องให้สถาบันการศึกษาช่วยประดิษฐ์เครื่องมือตรวจหาระเบิดหรือวัตถุต้องสงสัยอย่างง่าย เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้านเอาไว้ป้องกันตัวเองกันเลยทีเดียว!
ฝีมือแก๊งฮุบสวนยาง?
เป็นที่น่าสังเกตว่าสวนยางพาราที่ถูกวางระเบิดทั้งหมดเป็นสวนยางของชาวบ้านไทยพุทธ และระเบิดเกือบทุกลูกแม้จะเป็นระเบิดแสวงเครื่อง แต่มีลักษณะเป็น “กับระเบิด”
ความน่ากลัวของ “กับระเบิด” เป็นอย่างไร “ทีมข่าวอิศรา” จะกล่าวถึงในลำดับต่อไป แต่ในชั้นนี้ขอวิเคราะห์ข้อสังเกตว่าด้วยจุดเกิดเหตุซึ่งล้วนเป็นร่องสวนยางของชาวบ้านไทยพุทธก่อน
แน่นอนที่ข้อสังเกตดังกล่าวย่อมทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสรุปฟันธงในเบื้องต้นว่า สาเหตุประการหนึ่งของการลอบวางระเบิดน่าจะเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการกดดันให้เจ้าของสวนยางพาราชาวไทยพุทธอพยพออกจากพื้นที่ไป
เป้าหมายก็คือฮุบสวนยาง และกรีดยางขายนำรายได้เข้ากลุ่มขบวนการ!
ประเด็นนี้มีน้ำหนักไม่น้อย เพราะต้องไม่ลืมว่า อ.ธารโต เคยเกิดเหตุรุนแรงชนิดยิงแล้วจุดไฟเผาทั้งบ้านทั้งคน กระทั่งชาวบ้านไทยพุทธหลายสิบชีวิตต้องอพยพไปอาศัยอยู่ที่วัดนิโรธสังฆาราม ในเขต อ.เมือง จ.ยะลา มาแล้วเมื่อปลายปี 2549
นายสุรชัย วงค์ศุภลักษณ์ นายอำเภอธารโต ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า สาเหตุของระเบิดถี่ยิบในท้องที่ อ.ธารโต มาจากเรื่องไล่ที่ ซึ่งจริงๆ ก็มีมานานแล้ว แต่คนร้ายปรับวิธีการจากยิง เผา มาเป็นลอบวางระเบิด
“เหตุการณ์รังควาญคนไทยพุทธไม่ให้ทำมาหากินสะดวกเกิดขึ้นมาตลอด โดยใช้วิธีการกดดันหลายอย่าง ทั้งใช้อาวุธปืนไล่ยิง เผาบ้านชาวบ้าน กระทั่งลอบวางระเบิด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ใช้ระเบิดแสวงเครื่อง จุดชนวนด้วยวิธีลากสาย หรือกดด้วยโทรศัพท์มือถือ แต่ได้ผลน้อย หน้ำซ้ำยังถูกเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมได้ง่าย ล่าสุดจึงเปลี่ยนวิธีการมาใช้กับระเบิดแทน”
นายอำเภอธารโต กล่าวต่อว่า วิธีการลอบวางระเบิดสร้างความสูญเสียได้มาก จึงได้ผลทางจิตวิทยามากกว่าการยิงด้วยอาวุธปืน หลังๆ จึงเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้บ่อย
“ขณะนี้พื้นที่ อ.ธารโต จัดเป็นพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะบริเวณ ต.บ้านแหร ต.ธารโต และ ต.คีรีเขต ที่น่าจับตาคือ ต.คีรีเขต เพราะเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคงน้อยที่สุด แต่กลับมาเกิดระเบิดบ่อยครั้งในระยะหลัง” นายสุรชัย กล่าว
แม้จะตั้งประเด็นเรื่องระเบิดไล่ที่ แต่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่ก็ยอมรับว่า เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน โดยเฉพาะสวนยางพารา ยังคงไม่มีอะไรผิดสังเกต กล่าวคือไม่มีสถิติการซื้อขายมากผิดปกติ แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่ากลุ่มคนร้ายแค่ต้องการไล่เจ้าของสวนออกไปเฉยๆ เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง ไม่ได้ต้องการครอบครองที่ดินในแง่ของทะเบียน
“แต่ที่น่าแปลกคือสถิติการย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่นี้มีมากกว่าย้ายออก แม้จะเกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้งก็ตาม” เจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎร์ ให้ข้อมูล
หวังผลเล่นงาน จนท.ซ้ำ
สำหรับข้อสังเกตเรื่อง “กับระเบิดแบบเหยียบ” นั้น เท่าที่สอบถามแหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงต่างแสดงความหวั่นวิตก โดย พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ (สนว.ตร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งคลุกคลีอยู่กับการเก็บพยานหลักฐานจากเหตุระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายปี เคยให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า การวางระเบิดแบบ “กับระเบิด” นั้นเป็นวิธีการวางระเบิดที่ป้องกันยากมาก ไม่สามารถใช้เครื่องป้องกันประเภทเครื่องตัดสัญญาณใดๆ ได้เลย และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีโอกาสทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป อยู่ที่ว่าใครจะเคราะห์ร้ายเดินไปเหยียบเท่านั้น
“ปกติแล้วกับระเบิดไม่ค่อยพบบ่อยนักในพื้นที่ แต่ถือเป็นรูปแบบการวางระเบิดที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะป้องกันยาก” พล.ต.ท.อัมพร กล่าว
สอดคล้องกับแหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานด้านความมั่นคงซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ จ.ยะลา อยู่ในปัจจุบัน ที่บอกว่า คนร้ายใช้วัตถุระเบิดชนิดเหยียบลักษณะเดียวกับที่กลุ่มโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ในอดีตเคยทำ รูปแบบการประกอบไม่ซับซ้อนนัก แต่มีการเพิ่มความแรงของระเบิดเข้าไป โดยบางจุดนำถังแก๊สเข้ามาพ่วงหรือนำมาเป็นภาชนะบรรจุระเบิดด้วย
แหล่งข่าวคนเดียวกัน ยังให้ความเห็นว่า การวางกับระเบิดในสวนยางพารา ไม่ได้หวังผลทำร้ายแค่เจ้าของสวนยางอย่างเดียว แต่ยังพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงด้วย เนื่องจาก อ.ธารโต เป็นพื้นที่ป่าเขา เต็มไปด้วยสวนยางพารา การเดินทางของเจ้าหน้าที่โดยมากก็ต้องใช้เส้นทางตามสวนยาง คนร้ายจึงสามารถเลือกวางกับระเบิดสกัดตามเส้นทางที่เจ้าหน้าที่ชอบใช้
“อีกเหตุผลหนึ่งที่คนร้ายลงมือวางระเบิดในสวนยาง คือการหวังผลประโยชน์เรื่องเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เพราะทันทีที่เกิดระเบิด ชาวบ้านหรือเจ้าของสวนยางจะไม่กล้าเข้าพื้นที่ไปกรีดยาง จากนั้นก็จะมีคนแปลกหน้าลักลอบเข้าไปกรีดยางหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตแทน สรุปก็คือมีเป้าหมาย 2 อย่างพร้อมกัน คือขับไล่เจ้าของสวน และลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ” แหล่งข่าว กล่าว
ข้อสังเกตของหน่วยงานความมั่นคง สอดรับกับ นายอำเภอธารโต ที่บอกว่า ลักษณะการวางกับระเบิดในระยะหลังจะมีระเบิดลูกที่สองตามมาด้วยแทบทุกครั้ง ฉะนั้นจึงชัดเจนว่าเป้าหมายไม่ได้จ้องเล่นงานแค่เจ้าของสวน แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย หากพลาดก็มีโอกาสโดน
ชาวบ้านไม่เชื่อบึ้มไล่ไทยพุทธ
อย่างไรก็ดี เมื่อลองสอบถามความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่จริงๆ กลับได้มุมมองที่แตกต่างออกไป
ก๊ะเมาะ ชาวบ้าน อ.ธารโต กล่าวว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นช่วงนี้ส่วนใหญ่ทุกคนมองเป็นเรืองส่วนตัว คือบางครั้ง นาย ก. ทะเลาะกับ นาย ข. แล้วก็หาทางออกโดยการลอบกัด เพราะตอนนี้ระเบิดผลิตกันง่าย หาซื้อก็ไม่อยาก อีกวิธีคือยืมมือกลุ่มก่อความไม่สงบมาก่อเหตุ ทั้งๆ ที่เป็นเรืองส่วนตัว
ขณะที่ นายอับดุลการิม ยูมอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหร อ.ธารโต กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะเป็นระเบิดไล่ที่ เพราะในพื้นที่นี้นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นต้นมาก็ไม่มีคนนอกพื้นที่เข้ามาซื้อที่ดินหรือสวนยางเลย คนจะขายก็มีบ้าง แต่ไม่ได้ขายเพราะต้องการหนี บางรายก็ขายเพราะได้ทำเลอื่นที่ดีกว่า จึงต้องการขายที่ดินตรงนี้เพื่อไปซื้ออีกที่หนึ่ง
ส่วน นายกฎษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ยังคงกล่าวแบบสงวนท่าทีว่า ตอนนี้กำลังหาสาเหตุอยู่ว่าระเบิดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาจากอะไร กำลังนัดประชุมสามฝ่าย (ทหาร ตำรวจ และปกครอง) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน มีการนำแผนที่เกิดเหตุมาพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป โดยตั้งสมมติฐานทั้งเรื่องระหว่างคนสองศาสนาและประเด็นอื่นๆ
“สิ่งที่เรากำลังพยายามเก็บข้อมูล จะมุ่งไปที่การหามาตรการป้องกันด้วย เพราะเรื่องระเบิดไล่ที่ก็ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากดูจากการจดทะเบียนซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินก็ปกติ แต่มีคนย้ายเข้ามากกว่าย้ายออก” ผู้ว่าฯกฤษฎา กล่าว
ความเห็นของชาวบ้านที่สวนทางกับความเชื่อของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ประกอบกับน้ำเสียงห่วงกังวลจากพ่อเมืองยะลา สะท้อนว่ายังมีอะไรๆ ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอีกไม่น้อย ณ อำเภอชายแดนแห่งนี้!
----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ส.ต.ท.พิภพ ศรีกันยา ตำรวจชุดอีโอดี ที่กลายเป็นเหยื่อระเบิดในสวนยางพาราที่ธารโต (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)